“งีบหลับ” ระหว่างวันบ่อย ๆ อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคร้าย
“การงีบหลับ” ช่วยเพิ่มสมาธิและความคิดสร้างสรรค์ได้ แต่ขณะเดียวกันยังอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้าย ทั้ง “ความดันโลหิตสูง” และ “โรคหลอดเลือดสมอง” ด้วย
การงีบหลับในช่วงกลางวันนั้นเป็นวัฒนธรรมที่แพร่หลายในหลายประเทศทั้งในญี่ปุ่น สเปน จีน และการนอนพักกลางวันได้รับการยอมรับในสถานที่ทำงานสมัยใหม่ ทั้งในชาติตะวันตกและเอเชีย เรามักจะได้ยินถึงประโยชน์ของการงีบหลับระหว่างวันเสมอว่า สามารถช่วยเพิ่มสมาธิและความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพในงานทำงานได้ แต่ตอนนี้อาจจะต้องมาคิดทบทวนกันใหม่ หลังงานวิจัยล่าสุดระบุว่า การงีบหลับระหว่างวันอาจก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้
งีบหลับสัญญาณเตือนโรคร้าย
ตามผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Hypertension โดย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลเซาท์ในเมืองฉางซา มณฑลหูหนาน ของจีนพบว่า ผู้ที่งีบหลับเป็นประจำในระหว่างวันจะมีความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง (Hypertension) เพิ่มขึ้นถึง 12% และมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองในผู้ใหญ่ (Stroke) ถึง 24% เมื่อเทียบกับคนที่ไม่งีบหลับในตอนกลางวัน
การศึกษาครั้งนี้ใช้ข้อมูลจาก UK Biobank ฐานข้อมูลทางการแพทย์ พันธุกรรม และไลฟ์สไตล์ จากอาสาสมัครชาวอังกฤษกว่า 500,000 คน ที่มีอายุระหว่าง 40-69 ปี และผลการศึกษายังพบอีกว่า กลุ่มผู้ชายที่สูบบุหรี่จัดหรือติดแอลกอฮอล์งีบหลับระหว่างวันมีแนวโน้มมีปัญหานอนไม่หลับหรือเป็นคนนอนดึก
ไมเคิล แกรนด์เนอร์ นักวิจัยด้านการนอน แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนาในสหรัฐ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการศึกษานี้ เน้นย้ำว่า การงีบหลับเองอาจไม่ใช่อันตราย แต่งีบระหว่างวันบ่อย ๆ อาจเกิดขึ้นจากการนอนหลับไม่เพียงพอในตอนกลางคืน ซึ่งทำให้สุขภาพย่ำแย่และอธิบายว่าการงีบหลับระหว่างวันไม่สามารถชดเชยการนอนตอนกลางคืนได้
ผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลเซาท์นี้ ยิ่งช่วยตอกย้ำผลการศึกษาก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า การงีบหลับอาจเป็นสัญญาณเตือนความเสี่ยงโรคหัวใจและปัญหาสุขภาพอื่น ๆ เช่น การงีบหลับที่เพิ่มขึ้นในช่วงกลางวันเป็นสัญญาณชี้ว่ากำลังเกิดภาวะสมองเสื่อมในระยะเริ่มต้น แม้ว่าบุคคลนั้นนอนหลับพักผ่อนเพียงพอในตอนกลางคืนแล้วก็ตาม
หวัง อี หัวหน้าทีมวิจัย เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าการศึกษานี้จะมุ่งเป้าไปที่กลุ่มวัยกลางคนและผู้สูงอายุในยุโรป แต่อ้างอิงฐานข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการศึกษาทางคลินิก ถือว่าใช้เป็นภาพสะท้อนกลุ่มประชากรโดยทั่วไปได้
“เรายังไม่ทราบความเชื่อมโยงระหว่างการงีบหลับกับโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคอื่น ๆ ที่ชัดเจน ยังจำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติม” หวังกล่าวปิดท้าย
ประโยชน์ของการงีบหลับ
ถึงกระนั้น การงีบหลับก็ยังมีประโยชน์อยู่ ผลการศึกษาจากฝรั่งเศสพบว่า การงีบหลับช่วงสั้น ๆ สามารถช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ได้ ขณะที่นักวิจัยชาวกรีกตั้งข้อสังเกตว่า การงีบหลับครึ่งชั่วโมง ครั้งหรือสองครั้งต่อสัปดาห์จะสามารถป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ นอกจากนี้ การศึกษาของนักวิจัยในสหรัฐยังระบุว่า การงีบหลับส่งผลดีต่อกลุ่มวัยรุ่น ทั้งในด้านสมาธิและพฤติกรรมการเรียนรู้ โดยไม่เกี่ยวข้องกับการนอนดึกและต้องตื่นเช้าเพื่อไปโรงเรียน
จี เสี่ยวเผิง หัวหน้าทีมวิจัยมหาวิทยาลัยเดลาแวร์ ในสหรัฐ ระบุว่า ชาติตะวันตกส่วนใหญ่มักไม่สนใจการงีบหลับระหว่างวัน โดยเห็นว่าการนอนหลับวันละครั้งในตอนกลางคืนรวดเดียว 8 ชั่วโมง หรือ โมโนเฟซ (Monophasic Sleep) นั้น เป็นสัญญาณของการมีวุฒิภาวะทางจิต (mental maturity) ซึ่งแตกต่างจากชาติตะวันออก
“ในประเทศจีน ได้กำหนดตารางสำหรับการงีบหลับในช่วงหลังเวลารับประทานอาหารกลางวัน ทั้งวัยทำงานในสถานที่ทำงาน และนักเรียนที่โรงเรียน”
ขณะเดียวกัน งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Sleep ชี้ว่า ไม่ควรคาดหวังผลที่ได้รับจากการงีบหลับระหว่างวัน เนื่องจากสามารถช่วยเพิ่มความสามารถในการเรียนรู้ได้เพียงแค่เล็กน้อยเท่านั้น และไม่สามารถทดแทนการนอนในเวลากลางคืนได้
“การศึกษาของเราพบว่าการงีบหลับสั้น ๆ สัก 30 นาที หรือแม้แต่ 60 นาที ก็ไม่สามารถวัดผลใด ๆ ได้” คิมเบอร์ลี เฟนน์ (Kimberly Fenn) หัวหน้าทีมวิจัยกล่าว
นอกจากนี้ จากข้อมูลงานวิจัยของแพทย์ด้านการนอนหลับ จากโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ เจเนอรัล ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications การงีบหลับจะมีความสำคัญต่อบุคคล 3 ประเภท คือ คนที่ตื่นเช้ามาก ๆ คนที่นอนไม่พอ และคนที่ต้องการการนอนเพิ่มขึ้นเนื่องด้วยเหตุผลพันธุกรรม
ฮัสซัน ซาอีด ดัชตี หนึ่งในผู้เขียนวิจัยร่วม กล่าวว่า “ผลการศึกษาของเราชี้ให้เห็นว่า การงีบหลับเวลากลางวันเป็นแรงผลักดันทางชีวภาพ ไม่ใช่แค่ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม หรือพฤติกรรมทางเลือก"
ทั้งนี้ ปัญหาสุขภาพ เช่น ความดันโลหิตสูง หรือ โรคอ้วน อาจจะทำให้เกิดความอ่อนเพลียที่มากกว่าคนทั่วไป ทำให้ต้องงีบหลับบ่อยขึ้น มาร์ทา การอเล็ต นักสรีรวิทยา หนึ่งในผู้เขียนงานวิจัย กล่าวว่า จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อสรุปเกี่ยวกับสาเหตุของการงีบหลับ โดยมุ่งไปที่ความต้องการพักผ่อนของแต่ละคน แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการศึกษาที่ระบุว่าระยะเวลาที่เหมาะสมของการงีบหลับ ซึ่งแล้วแต่บุคคลว่ามีความจำเป็นที่ต้องงีบหลับหรือไม่
คำแนะนำในการงีบหลับ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีปัญหาด้านการนอนหลับ เช่น นอนไม่หลับ หรือ นอนหลับยาก ควรหลีกเลี่ยงการงีบหลับในช่วงกลางวัน เนื่องจากจะทำให้ลดความเหนื่อยล้าระหว่างวันลงและหลับยากในเวลากลางคืน ดังนั้น หากจะงีบหลับระหว่างวันไม่ควรจะนอนหลับในช่วงเย็น และควรงีบหลับประมาณ 20-30 นาที เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าสู่ภาวะการหลับฝัน หรือ REM (rapid eye movement sleep) เพราะเมื่อเราตื่นขึ้นมาในช่วงที่เข้าไปสู่ภาวะ REM แล้วจะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เนื่องจากนอนไม่ครบวงจรการนอนหลับนั่นเอง
นอกจากนี้ นักวิจัยในออสเตรเลียเผยเคล็ดลับที่จะช่วยให้ตื่นมาแล้วสดชื่นเต็มที่หลังจากการงีบหลับ นั่นคือ ดื่มกาแฟก่อนงีบหลับ โดยใช้เวลางีบหลับประมาณ 20 นาที เมื่อคุณตื่นขึ้นมาจะเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่คาเฟอีนออกฤทธิ์พอดี จะทำให้คุณยิ่งรู้สึกกระปรี้กระเปร่า พร้อมที่จะทำงานต่อไป
ที่มา: China Xinhua News, Pobpad, Rama Channel, South China Morning Post