ส่องอาการ "บ้านหมุน" จาก "หินปูนในหู" หลุด ชาวทวิตแห่แชร์พ่อ แม่ เป็นบ่อย!
ในหูคนเรามี “หินปูน” ถ้าหาก "หินปูนในหู" เคลื่อนหลุด ก็ทำให้เกิดอาการเวียนหัว "บ้านหมุน" ในวัยทำงาน และวัยผู้สูงอายุได้ ชาวทวิตแชร์รัวๆ พ่อ แม่ หลายครอบครัวเคยเป็นโรคนี้!
เชื่อว่าทุกคนรู้จักอาการ “เวียนหัว” หรือ “บ้านหมุน” กันอยู่แล้ว แต่ที่หลายคนไม่รู้คือ ในหูของคนเรามีตะกอน “หินปูนในหู” ซึ่งอยู่ภายในหูชั้นใน หากหินปูนนี้หลุดออกมาจากตำแหน่งเดิมที่เคยอยู่ ก็จะเป็นสาเหตุของอาการเวียนหัวบ้านหมุนได้
ล่าสุด.. มีผู้ใช้สื่อโซเชียลรายหนึ่งตั้งคำถามเกี่ยวกับ “อาการบ้านหมุน” ที่เกิดกับผู้สูงอายุในครอบครัว จนนำมาสู่กระแสแห่แชร์ประสบการณ์บ้านหมุนของพ่อ แม่ แต่ละคนในโลกทวิตเตอร์ ซึ่งพบว่ามีหลายครอบครัวที่พ่อแม่เคยประสบกับอาการนี้ อีกทั้งยังมีกลุ่ม “วัยทำงาน” บางส่วนก็เคยมีอาการบ้านหมุนด้วย
ในหลายๆ เคส เมื่อตัดสินใจไปพบแพทย์เฉพาะทาง และได้รับการรักษาแบบ "กายภาพบำบัด" ต่างก็ประหลาดใจที่อาการบ้านหมุนแสนทรมาน กลับหายเป็นปลิดทิ้งภายในไม่กี่นาที!
แล้วอาการบ้านหมุนมีความเชื่อมโยงกับตะกอนหินปูนในหูอย่างไร ทำไมถึงทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเวียนหัวอย่างหนัก อาเจียน และลุกเดินไม่ไหว มีวิธีรักษาแบบกายภาพบำบัดอย่างไรบ้าง? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนหาคำตอบไปพร้อมกัน
ภาพจาก : รพ.รามคำแหง
ข้อมูลจาก รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายไว้ในบทความวิชาการ ระบุว่า โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด (BPPV) เป็นโรคเกี่ยวกับอาการเวียนหัวที่พบได้บ่อย ผู้ป่วยจะมีอาการเวียนศีรษะ เป็นๆ หายๆ โดยสาเหตุเกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน
โดยอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน มักสัมพันธ์กับการเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ โรคนี้พบได้ในคนอายุระหว่าง 30-70 ปี แต่ทั้งนี้จะพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และมักพบในคนสูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) มากกว่าคนหนุ่มสาว โรคนี้สามารถเกิดได้กับหูทั้งสองข้าง
- สาเหตุของ “อาการบ้านหมุน” จาก “โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด”
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ปกติแล้วภายใน “หูชั้นใน” ของมนุษย์ มีอวัยวะควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัว และอวัยวะเกี่ยวกับการได้ยิน โดยในอวัยวะควบคุมเกี่ยวกับการทรงตัวนั้น จะมี "ตะกอนหินปูน (otoconia)" ที่เคลื่อนไปมาโดยไม่หลุดอยู่ภายในหู เพื่อรับรู้การเคลื่อนไหวของศีรษะ
หากมีเหตุให้ตะกอนหินปูนดังกล่าวหลุดออกจากตำแหน่งเดิม ซึ่งอาจเกิดได้จากความเสื่อมตามวัย, อุบัติเหตุ, โรคของหูชั้นใน, การผ่าตัดหูชั้นกลางหรือหูชั้นใน, การติดเชื้อ, การเคลื่อนไหวศีรษะไปมาซ้ำๆ, ล้มตัวลงนอน/ลุกจากที่นอนเร็วๆ ฯลฯ ก็จะเกิดการส่งสัญญาณไปยังระบบประสาทส่วนกลาง และกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนขึ้นมาได้
- อาการบ้านหมุนที่เกิดจากหินปูนในหูหลุด เป็นแบบไหน?
ผู้ป่วยมักมีอาการ ดังนี้ เวียนศีรษะแบบบ้านหมุนรอบตัว หรือรู้สึกโคลงเคลง หรือเสียการทรงตัว จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวศีรษะในแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว เช่น ล้มตัวลงนอน หรือลุกจากที่นอน ก้มหยิบของ หรือเงยหน้ามองที่สูง ก้มหน้ามองที่ต่ำ เอียงคอ ซึ่งท่าทางเหล่านี้จะมีทิศสวนทางกับแรงดึงดูดของโลก จึงทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของตะกอนหินปูนในหูได้ รวมถึงอาจมีอาการตากระตุก คลื่นไส้ อาเจียน ตามมาได้
ทั้งนี้อาการเวียนศีรษะจะเกิดขึ้นไม่นาน หลังมีการเปลี่ยนท่าทางของศีรษะ 30 วินาที - 1 นาที จากนั้นอาการเวียนศีรษะดังกล่าวจะค่อยๆ หายไป แต่เมื่อผู้ป่วยเคลื่อนไหวศีรษะในท่าเดิมอีก ก็สามารถกระตุ้นให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้อีก
- ปัจจัยอื่นๆ กระตุ้นที่ทำให้เกิด “อาการบ้านหมุน”
นอกจากการเคลื่อนไหวศีรษะในแนวดิ่งอย่างรวดเร็ว เช่น ล้มตัวลงนอน หรือลุกจากที่นอน จะเป็นสาเหตุหลักให้เกิดอาการบ้านหมุนแล้ว ยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการมากขึ้น ได้แก่ มีการเปลี่ยนแปลงของความดันบรรยากาศ เช่น ฝนตก, หิมะตก, มีพายุ, ลมแรง, การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ, ความเครียด เป็นต้น
ภาพจาก : รพ.รามคำแหง
- วิธีรักษา “อาการบ้านหมุน” แบบกายภาพบำบัด หายได้ภายในไม่กี่นาที!
สำหรับวิธีรักษานั้น เบื้องต้นแพทย์มักจะจ่ายยาบรรเทาอาการเวียนศีรษะให้ก่อน จึงจะให้การรักษาด้วยวิธีกายภาพบำบัด ทั้งนี้ แพทย์ต้องวินิจฉัยยืนยันแล้วว่าผู้ป่วยมีอาการเวียนหัวบ้านหมุนจาก “โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด” เท่านั้น (หากพบเป็นการเวียนหัวจากสาเหตุอื่นๆ ก็จะต้องใช้วิธีรักษาอื่นที่ต่างออกไป)
สำหรับการทำกายภาพบำบัด (physical therapy) โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ จะเป็นการขยับศีรษะ และคอของผู้ป่วย โดยใช้แรงดึงดูดของโลกเพื่อเคลื่อนตะกอนหินปูนที่หลุดออกมาให้กลับเข้าที่เดิม การเคลื่อนไหวจะเป็นการเคลื่อนไหวแบบง่ายๆ และช้าๆ ของศีรษะ ในแต่ละท่า เมื่ออาการเวียนหัวหายไปแล้วจะให้ผู้ป่วยคงอยู่ในท่านั้นอีกประมาณ 30 วินาที
โดยแพทย์จะทำกายภาพในขณะที่ผู้ป่วยมีอาการ โดยจะทำให้ผู้ป่วยหายจากอาการเวียนศีรษะได้เร็วกว่าการไม่ทำกายภาพบำบัด การทำเพียง 1-2 ครั้ง ก็มักจะได้ผล นอกจากนี้ แพทย์อาจจะแนะนำการบริหาร และฝึกระบบประสาททรงตัว (vestibular rehabilitation) เพื่อให้อาการเวียนศีรษะดีขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม หากใคยเคยเป็นโรคนี้แล้วไม่อยากเป็นซ้ำอีก ก็ควรหมั่นดูแลตัวเองเพิ่มเติม ด้วยการปรับวิธีการลุกยืน การเงยหน้าก้มหน้า การล้มตัวลงนอน ให้เหมาะสม เช่น หนุนหมอนให้สูงขึ้นหรือใช้เตียงนอนปรับระดับให้ศีรษะสูง หลีกเลี่ยงการนอนราบ, หลีกเลี่ยงการนอนตะแคงในด้านที่กระตุ้นให้เกิดอาการ, ควรลุกขึ้นจากเตียงนอนช้าๆ และนั่งอยู่ตรงขอบเตียงสัก 1 นาทีก่อนก้าวออกจากเตียง, หลีกเลี่ยงการก้มเก็บสิ่งของหรือเงยหยิบสิ่งของที่อยู่สูงด้วยท่าทางเร็วๆ, หลีกเลี่ยงการนอนหงายในท่าเงยคอ เป็นต้น
----------------------------------------
อ้างอิง : Twitter Soundtiss, โรคตะกอนหินปูนในหูชั้นในหลุด (BPPV) คณะแพทย์ศิริราชฯ, โรคตะกอนหินปูนหูชั้นในเคลื่อนหลุด รพ.จุฬาลงกรณ์, โรคหินปูนในหูชั้นในกับอาการเวียนหัวบ้านหมุน รพ.รามคำแหง
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์