รู้จัก “PTSD” โรคเครียดภายหลังภยันตราย หลังเหตุสะเทือนขวัญ “กราดยิงหนองบัวลำภู”
รู้จัก “PTSD” โรคเครียดภายหลังภยันตราย ซึ่งคนที่ต้องเผชิญอยู่กับเหตุการณ์นั้นๆ ทำให้เกิดมีความเครียดทางด้านจิตใจชนิดรุนแรงมาก โรคนี้ใครเป็นกลุ่มเสี่ยง พร้อมนำทางการรักษา
ภายหลังจากผ่านเหตุการณ์สะเทือนขวัญ หรือรุนแรงที่ไม่คาดฝัน ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นั้น ๆ หรือผู้ที่ติดตามข่าวสารตลอดเวลา อาจเกิดภาวะเครียด ไม่ได้มีเพียงแค่การสูญเสียทางร่างกายเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ที่ประสบเหตุด้วย เช่นเดียวกับเหตุการณ์ “กราดยิงหนองบัวลำภู” จนมีผู้เสียชีวิตทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ รวมถึงผู้ได้รับบาดเจ็บ จำนวนมาก
โดยหนึ่งในโรคที่สำคัญ คือ "โรค PTSD" หรือที่เรียกว่า โรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" จึงรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโรคดังกล่าวว่า เพื่อให้รู้ถึงลักษณะของอาการ กลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรค และมีวิธีการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้อย่างไรได้บ้าง
จากบทความเรื่อง "ภาวะ PTSD ผลกระทบจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด" ของโรงพยาบาลเพชรเวช กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "โรค PTSD" หรือ Post-Traumatic Stress Disorder เป็นโรคจิตเภทชนิดหนึ่งที่เกิดจากสภาวะจิตใจของผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรงจากเหตุการณ์เลวร้าย เช่น การก่อการร้าย สงคราม การถูกข่มขืน ประสบภัยพิบัติ ประสบอุบัติเหตุ เป็นต้น ซึ่งผู้ป่วยอาจจะเป็นผู้ที่ประสบเหตุการณ์โดยตรง หรือเป็นผู้ที่ได้รับการสูญเสียจากเหตุการณ์ทางอ้อม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ขณะที่ กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า "โรค PTSD" หรือที่เรียกว่า โรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย แบ่งอาการเป็นออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่หนึ่ง (1 เดือนหลังเจอเหตุการณ์)
เราจะเรียกว่าระยะทำใจ หรืออาการเครียดเฉียบพลัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดอาการเครียดแล้วเกิดอาการทางประสาทขึ้นมาได้
- ระยะที่ 2 (มากกว่า 1 เดือน) มีลักษณะอาการสำคัญ 4 อย่าง เข้าข่ายเสี่ยงเป็นภาวะ “PTSD”
1. เห็นภาพเหตุการณ์ผุดขึ้นมาซ้ำๆ หรือฝันเห็นบ่อยครั้ง
2. อาการ Flash Back คือ เกิดความตื่นตัว เห็นเหตุการณ์นั้นๆ กำลังจะเกิดขึ้นกับเรา ควบคุมไม่ได้ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ตกใจง่าย ใจสั่น ความดันโลหิตสูง ไม่มีสมาธิ เครียดได้กับสิ่งต่างๆ รอบตัว
3. พยายามหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่จะส่งผลทำให้กระทบกระเทือนต่อจิตใจ เช่น ภาพข่าวเหตุการณ์ การพูดถึงจากบุคคลอื่น
4. มีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ในเชิงลบ รู้สึกว่าชีวิตตัวเองหม่นหมอง ทั้งตัวเองและสิ่งรอบข้าง คิดว่าตัวเองคงไม่มีความสุขได้อีกต่อไปแล้ว ไม่สนใจกิจกรรมที่เคยชอบหรือเคยทำมาก่อนอีกแล้ว ทำให้อาจคิดฆ่าตัวตาย หรือพึ่งสารเสพติดต่างๆ เพื่อต้องการให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้น แต่จริงๆ แล้วอาจจะทำให้เกิดผลร้ายแรงยิ่งกว่าเดิมอีกหลายเท่าตัว
วิธีการรักษา "โรค PTSD" หรือ โรคความผิดปกติทางจิตใจภายหลังภยันตราย มี 5 วิธี คือ
1.ยอมรับตัวเอง ไม่ต้องกลัวการรักษาหรือคิดว่าตัวเองเป็นโรคจิตเวชร้ายแรง
2.ทำจิตบำบัดในเชิงพฤติกรรมบำบัด เช่น ให้เผชิญกับสิ่งที่หวาดกลัว เหตุการณ์ที่เคยหวาดกลัว ให้คนไข้ได้ปรับตัว หาทางที่จะควบคุมอาการที่เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง
3.ฝึกผ่อนคลายความเครียด เช่น การทำสมาธิ ฝึกลมหายใจ ฯลฯ
4.ทำกลุ่มบำบัด โดยนำบุคคลที่เคยเจอเหตุการณ์คล้ายๆ กันมาพบกัน
5.รักษาด้วยยาตามจิตแพทย์สั่ง
ที่มา : กรมสุขภาพจิต, โรงพยาบาลเพชรเวช