โควิดคลี่คลาย "ตลาดความงาม" ฟื้น คาดต้นปี 66 แนวโน้มดีขึ้น
"อุตสาหกรรมความงาม" ที่ผ่านมานับว่ามีการเติบโตในทุกๆ ปี กระทั่งโควิด-19 โรงพยาบาลหรือคลินิกที่ให้บริการเสริมความงามมีสัดส่วนลูกค้าลดลงเหลือราว 30-40% ซึ่งขณะนี้ การเปิดประเทศส่งผลให้ลูกค้าต่างชาติกลับมาอีกครั้งราว 10% และคาดว่าจะเริ่มฟื้นในช่วงปี 2566
ข้อมูลจาก สมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งอาเซียน พบว่า ที่ผ่านมามูลค่าตลาดของ ธุรกิจศัลยกรรมไทย เติบโตอย่างต่อเนื่อง
- ปี 2560 มูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท
- ปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 3.6 หมื่นล้านบาท
- ปี 2562 เพิ่มขึ้นอีก 3.96-4.3 หมื่นล้านบาท
- ปี 2563 ก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท
ลูกค้าชาวต่างชาติที่เข้ามารับบริการทำศัลยกรรมความงามในประเทศไทย กลุ่มใหญ่ คือ
- กัมพูชา
- ออสเตรเลีย
- ลาว
- เมียนมา
การเปิดประเทศส่งผลให้ลูกค้าต่างชาติกลับมาอีกครั้งราว 10% และคาดว่าจะเริ่มฟื้นในช่วงปี 2566
“นพ.สุพจน์ สัมฤทธิวณิชชา” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลยันฮี ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาพรวม อุตสาหกรรมความงาม ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ราว 4 หมื่นล้านบาท ตั้งแต่มีโควิด-19 ผู้รับบริการหายไปกว่า 70 % เหลือเพียง 30 % ที่เป็นคนไทย ปัจจุบัน ภาพรวมค่อยๆ ฟื้นขึ้นมาเนื่องจากคนไทยฉีดวัคซีนกันเยอะ กลัวโควิดน้อยลง และอาการไม่รุนแรง ทำให้ผู้รับบริการเพิ่มขึ้นประมาณ 10% และต่างชาติเพิ่มขึ้น 10 %
และคาดว่าแนวโน้มจะดีขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม การเปิดประเทศของไทย นักท่องเที่ยวสามารถเข้าประเทศได้ง่ายขึ้นไม่ต้องกักตัว จุดนี้จะดึงดูดชาวต่างชาติให้เดินทางเข้ามาได้สะดวกมากขึ้น
ศัลยกรรมไทยถูกใจต่างชาติ
สำหรับต่างชาติที่นิยมเข้ามาทำศัลยกรรมในประเทศไทย นพ.สุพจน์ อธิบายว่าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนาม ขณะที่ จีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่แต่ยังไม่สามารถมาได้ เพราะยังไม่เปิดประเทศตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ (ZERO COVID-19) ขณะที่ ยุโรป ยังติดปัญหาสงครามยูเครน รัสเซีย ส่วนสหรัฐอเมริกา เขาถือว่าความงามของเขาเป็นเบอร์หนึ่ง จึงนิยมมาทำในไทยไม่มากนัก เว้นแต่การทำศัลยกรรมที่มีราคาสูง เช่น ผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งที่ไทยราคาถูกกว่า
- บริการที่ลูกค้าฝั่งเอเชียที่นิยมมากที่สุด คือ
- เสริมจมูก
- ผ่าตัดตาสองชั้น
- เสริมหน้าอก
- การเสริมความงามแบบไม่ต้องผ่าตัด ที่นิยม คือ
- ฉีดฟิลเลอร์
- ฉีดโบท็อก
- ทำเลเซอร์
เพราะเมืองไทยฝีมือแพทย์ละเอียดอ่อน และได้ผลดี ดังนั้น กลุ่มที่ยังไม่ถึงขั้นต้องผ่าตัด หรือยังกลัวการผ่าตัดอยู่ก็จะมาใช้บริการในส่วนนี้
ขณะเดียวกัน ประเทศจีน ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ นิยมมาแปลงเพศที่ไทย เนื่องจากกฎหมายที่จีนยังห้ามแปลงเพศ และเสริมหน้าอก ส่วนคนไทย นิยมทำตาสองชั้น และ เสริมจมูกเป็นหลัก
ทั้งนี้ ในส่วนของโรงพยาบาลยันฮีเอง ได้มีการรีโนเวทพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมรับผู้รับบริการหลังโควิด-19 เตรียมกำลังคนทั้งแพทย์และพยาบาล เพิ่มบริการทันตกรรม ตัดกราม พร้อมกับการจัดฟัน และเพิ่ม ศูนย์รักษาโรคกัญชาแพทย์ทางเลือก รวมถึงเตรียมล่ามครอบคลุมทุกภาษาเพื่อรองรับต่างชาติ
“ในปี 2566 หากคนมีกำลังซื้อมากขึ้น เชื่อว่าเศรษฐกิจจะดีมากขึ้น เวลาคนมีกำลังซื้อ มีเงิน เขาจะนึกถึงความสวยความงาม แต่หากเศรษฐกิจไม่ดี เขาก็จะคิดถึงปากท้องมากกว่า ซื้อสิ่งจำเป็นเพื่ออำนวยความสะดวกก่อน เมื่อมีเงินมากขึ้น ก็จะมานึกถึงเรื่องของศัลยกรรมตกแต่ง”
ขณะที่เป้าหมายของไทย ที่จะก้าวสู่ Medical Hub รวมถึงเร่งดึงดูด Medical Tourism “นพ.สุพจน์” มองว่านอกจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว อยากให้ทางภาครัฐโปรโมตเรื่องศัลยกรรมความงามก็จะช่วยให้ต่างชาติเชื่อถือมากขึ้น เพราะหากไม่ดึงนักท่องเที่ยวมาทำศัลยกรรมในไทย เขาก็จะไปที่เกาหลีใต้ เพราะเกาหลี ชูเรื่องศัลยกรรมความงาม เขาโปรโมตดี การตลาดเก่ง
นอกจากนี้ หากมองในเรื่องของการแพทย์ไทย ที่ไม่ใช่แค่ศัลยกรรม ก็ยังมีศักยภาพไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดหัวใจ ข้อกระดูก กระดูกสันหลัง ดังนั้น หากโปรโมตเป็น Medical Hub โดยรวม ต่างชาติจะเชื่อถือมากขึ้น และจะมาเมืองไทยมากขึ้น
“ศัลยกรรมความงาม เติบโตได้อีกมาก ความท้าทายอยู่ที่ว่า หากสามารถโปรโมตให้ทั่วโลกได้รับรู้ว่าเราเก่งเรื่องศัลยกรรมความงาม จะสร้างความน่าเชื่อถือให้คนต่างชาติให้มากันมากขึ้น” นพ.สุพจน์ กล่าว