ต้องรู้ก่อน "เสริมความงาม" ทำบ่อย ปริมาณมาก ส่งผลดื้อยารักษาโรค

ต้องรู้ก่อน "เสริมความงาม" ทำบ่อย ปริมาณมาก ส่งผลดื้อยารักษาโรค

การเสริมความงามที่มากเกินไป  ทำบ่อย ปริมาณมาก และในวัยที่ยังไม่เหมาะสม เป็นสิ่งที่แพทย์ผิวหนังเป็นห่วง โดยเฉพาะการฉีดโบท็อกซ์ ที่อาจจะทำให้ดื้อ ซึ่งเท่ากับการดื้อยารักษาโรค ที่ใช้โบทูลินัมท็อกซิน

สมาคมศัลยกรรมตกแต่งใบหน้าแห่งอาเซียน ระบุว่า ธุรกิจศัลยกรรมไทย เติบโตอย่างต่อเนื่อง

- ปี 2560 มูลค่าราว 3 หมื่นล้านบาท

-ปี 2561 เพิ่มขึ้นเป็น 3.6 หมื่นล้านบาท

-ปี 2562 เพิ่มขึ้นอีก 3.96-4.3 หมื่นล้านบาท

-ปี 2563 ก่อนมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 4.5 หมื่นล้านบาท

  • บริการเสริมความงามแบบไม่ต้องผ่าตัด ที่นิยม คือ

- ฉีดฟิลเลอร์

- ฉีดโบท็อกซ์

- ทำเลเซอร์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
11 ยาอันตราย พบลักลอบใส่ใน "ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร"

ฉีดบ่อย! 58 % "ดื้อโบท็อกซ์" กระทบรักษาโรคกล้ามเนื้อ-ระบบประสาทไม่ได้ผล 
โควิดคลี่คลาย "ตลาดความงาม" ฟื้น คาดต้นปี 66 แนวโน้มดีขึ้น
อย.ออกประกาศคุมเข้ม'โบท็อกซ์'
"อุตสาหกรรมความงาม" โต 5-15% “สารลดเลือนริ้วรอย” ครองอันดับ 1
 

  • ส่งเสริมป้องกันผิวหนังผิดจุด

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า การให้บริการเรื่องผิวหนังของสถาบันโรคผิวหนังมีผู้มารับบริการราว 800-1,000 คนต่อวัน จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ โรคผิวหนัง และเสริมความงาม เดิมจะมีสัดส่วยอยู่ที่ 70 % ต่อ 30 %  แต่ปัจจุบันด้วยเทรนด์ที่คนเสริมความงามมากขึ้น สถาบันก็หนีเทรนด์ตรงนี้ไม่ได้ ปัจจุบันจึงมีสัดส่วนอยู่ที่ 50 % ต่อ 50 %

ในส่วนของการรักษาโรคผิวหนังนั้น ประชาชนมีความเข้าใจโรคและเข้าถึงบริการรับการรักษาได้เร็วมากขึ้น จึงไม่ค่อยเจอกรณีที่ผู้ป่วยมาเข้ารับการรักษามากนัก แต่ยังเป็นห่วงในพื้นที่ต่างจังหวัด ซึ่งยังมีอีกราว 8 จังหวัดที่ยังไม่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง

สำหรับ เรื่องการเสริมความงามสิ่งที่เป็นห่วงมาก คือ 1.การที่ไปส่งเสริมหรือป้องกันไม่ตรงจุด อย่างเช่น หากทุกคน มีเงิน 100 บาท แล้วจะป้องกันหรือส่งเสริมให้ผิวสวยขึ้นต้องทำอย่างไร ก็จะบอกให้ต้องใส่หมวกและทาครีมกันแดด แต่กลายเป็นว่าทุกคนไปกินคอลลาเจน ซึ่งไม่ได้ผล หรือพยายามทำหัตถการบางอย่างที่ไม่จำเป็น

  • กระตุ้นเสริมความงามที่ไม่จำเป็น 

สิ่งที่เป็นห่วง เนื่องจากเฟคนิวส์(Fake News)หรือเฟคอินฟอร์เมชั่น(Fake Information) มีค่อนข้างมาก ทำให้เงินหรือทรัพยากรของผู้บริโภคที่ทุ่มไปกับเรื่องนี้ค่อนข้างมาก บางครั้งมากกว่าการรักษาโรคอีก และบางอย่างไม่ได้ถูกทิศทางหรือไม่ถูกต้อง กลายเป็นปัญหาที่ต้องทุ่มเทในการแก้ปัญหานี้มากกว่าปัญหาของการรักษาโรค    

เมื่อราว 10 ปีก่อนจะเจอเรื่องหมอเทียม หมอปลอม หมอกระเป๋า ซึ่งเป็นคนที่ไม่ใช่แพทย์แต่ลักลอบให้บริการเสริมความงามหรือทำหัตถการทางผิวหนัง ตอนนี้ผ่านยุคนั้นมาแล้ว แต่ยังมีประปราย ปัจจุบันเป็นเรื่องของการสร้างความต้องการที่อาจจะไม่จำเป็น หรืออุปสงค์เทียม จนกลายเป็นเทรนด์หรือความนิยมที่เข้าไปจัดการค่อนข้างยาก

  •  เทรนด์วัยรุ่นก็ฉีดโบท็อกซ์

อย่างเช่น 3-4 ปีก่อน เทรนด์ผิวขาว ทั้งที่คนไทยส่วนใหญ่อาจจะผิวไม่ได้ขาวจั๊วะ แต่ควรพูดถึงเรื่องผิวที่มีสุขภาพดีมากกว่า คือ ผิวผ่องใส แต่ก็เกิดเทรนด์ผิวขาว จนมีการไปฉีดผิวขาวกันอย่างมาก ที่อาจจะเป็นสิ่งไม่จำเป็น เปลืองเงิน และอันตรายต่อสุขภาพ

หรือช่วงนี้ที่เจอบ่อย คือ เทรนด์วัยรุ่นฉีดโบท็อกซ์ นิยมฉีดลดกราม ให้หน้าเรียว  ซึ่งจะเร่งฉีดกันเร็วขนาดนั้นทำไม อยู่บนความเสี่ยง และเมื่อไหร่ที่ฉีดตั้งแต่อายุน้อยๆ พอฉีดไปนานๆก็ไม่ได้ผล และเงินที่ใช้มีปริมาณ แพง ส่วนใหญ่ต้องซื้อผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศทั้งสิ้น

“วัยรุ่นฉีดโบท็อกซ์ทำได้ถ้ามีข้อบ่งชี้ แต่ว่าช่วงนี้ส่วนใหญ่ฉีดเพื่อลดกราม ให้หน้าเรียว ซึ่งบางคนหมอคิดว่ากรามก็ไม่ได้ใหญ่อะไรขนาดนั้น หลายคนที่เห็นก็สวยอยู่แล้ว แต่อยากจะหน้าเรียวแหลมมากขึ้นอีก ประมาณวีเชฟ ก็เป็นเทรนด์ ก็หวังว่าจะอยู่ไม่นาน เหมือนกับเทรนด์ผิวขาวก่อนหน้านี้ ที่ทำให้คนไปฉีดวิตามินซีที่เสี่ยง จำเป็นต้องให้คำแนะนำไปเรื่อย”พญ.มิ่งขวัญกล่าว    

  • 2 เช็กก่อนเสริมความงาม

คำแนะนำก่อนรับบริการเสริมความงาม

1.ในฐานะผู้บริโภคให้หาข้อมูลเยอะๆก่อนตัดสินใจ

2.ต้องเช็กดูว่าจำเป็นจริงหรือไม่ ได้ผลหรือไม่ และปลอดภัยหรือไม่

“ถ้าไม่ได้จำเป็น ได้ผล และปลอดภัย แต่ถ้าไม่ได้เงินทองเหลือเฟือก็อย่าไปทำ แต่ถ้าเช็กแล้ว ได้ผลก็ก้ำกึ่ง มีทั้งหลอกและไม่หลอก ความปลอดภัยก็หวาดเสียว ก็ไม่ต้องไปทำ”พญ.มิ่งขวัญกล่าว

  •  58 % ดื้อโบท็อกซ์

ขณะที่ ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดจากการส่งตรวจเลือดของคนไข้ที่สงสัยว่าจะมีภาวะดื้อโบทูลินัมท็อกซิน หรือดื้อโบท็อกซ์ ในช่วงปี พ.ศ. 2564 – 2565 จำนวน 137 ราย

พบว่ามีคนไข้จำนวน 79 รายที่มีผลการตรวจเป็นบวก และยืนยันว่ามีภาวะดื้อโบท็อกซ์ คิดเป็นสัดส่วนถึง 58%

ในจำนวนนี้แยกเป็นผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อโครงสร้างโปรตีน 2 รูปแบบ คือ

- ภาวะดื้อต่อ Core neurotoxin หรือโครงสร้างหลักในการออกฤทธิ์ อยู่ที่ 48%

- ดื้อต่อสาร Complexing proteins หรือโครงสร้างเสริมที่ไม่จำเป็นต่อการออกฤทธิ์ อยู่ที่ 18% -ดื้อทั้ง Core neurotoxin และ Complexing proteins อยู่ที่ 8%

ผลการศึกษาพบว่า บางรายที่ดื้อต่อ Complexing proteins อาจจะยังสามารถใช้โบที่มีความบริสุทธิ์สูงที่ปราศจาก Complexing proteins ได้ผลอยู่ แต่ในผู้ป่วยส่วนใหญ่พบว่าดื้อต่อ Core neurotoxin ต้องรอเวลาให้ระดับแอนติบอดีลดลงเท่านั้น จึงจะสามารถกลับมาใช้ใหม่แล้วเห็นผล ซึ่งอาจจะใช้เวลา 6 เดือนหรือบางรายนานกว่านั้น

  • สัญญาณดื้อโบท็อกซ์

สัญญาณที่ต้องสงสัยว่าอาจจะดื้อโบท็อกซ์ คือ

1.ฉีดขนาดเท่าเดิม อยู่ได้นาน 3-4 เดือน แต่กลายเป็นอยู่ได้ 2 เดือน

2.ใช้ยาปริมาณเท่าเดิม แต่ไม่ตึงเท่าเดิม

ทั้งนี้ การดื้อโบท็อกซ์ บางคนดื้อทุกยี่ห้อ แต่บางคนดื้อบางยี่ห้อ ขึ้นอยู่กับ

1.ภาวะร่างกายของแต่ละคน

2.ผลิตภัณฑ์ที่ฉีด บางยี่ห้อกระตุ้นภูมิคุ้มกันมาก ก็จะเกิดการดื้อได้มาก ซึ่งจากการนำผลิตภัณฑ์โบท็อกซ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)มาศึกษา พบว่า ยี่ห้อจากประเทศโซนเอเชีย ดื้อมากกว่าจากฝั่งอเมริกา อังกฤษ และเยอรมัน

3.เทคนิคการฉีด แม้ฉีดปริมาณน้อยๆแต่ฉีดบ่อยๆ ก็จะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงและดื้อ

  • เสริมความงามที่ป้องกันดื้อโบท็อกซ์

การเสริมความงามโดยการฉีดโบท็อกซ์ต้องพิจารณาจาก 5 ข้อหลัก  

1.ฉีดผลิตภัณฑ์โบท็อกซ์ที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจากอย. ไม่ปลอมปน หรือมีสาร อื่นๆน้อย
2.ฉีดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
3.ใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับตัวเอง
4.อย่าฉีดบ่อยกว่า 3-4 เดือน จะต้องพักเพื่อให้ระดับภูมิคุ้มกันลดลง ซึ่งจากการศึกษาพบว่าหลังการฉีด 1 ครั้ง ในระยะใกล้ 3 เดือนระดับภูมิคุ้มกันจะค่อยๆลดลง
5.อย่าฉีดต่อครั้งในปริมาณที่มาก เพราะจะกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันมาก

  • ดื้อโบท็อกซ์เท่ากับดื้อยา

โรคที่ใช้โบทูลินัมท็อกซินต่อการรักษา อาทิ

- โรคทางระบบประสาทในหลาย ๆ โรค
- โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีก
- ภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง

โบทูลินัมท็อกซินจะช่วยลดอาการกล้ามเนื้อกระตุกและบิดเกร็งได้ผลดีมากเมื่อเทียบกับการรักษาโดยการรับประทานยา เมื่อเกิดภาวะดื้อโบจึงเท่ากับดื้อยา จึงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ทั้งในด้านประสิทธิภาพการรักษาและระยะเวลาของยาออกฤทธิ์ที่ลดลง