สายโบท็อกซ์ต้องรู้! ฉีดบ่อยดื้อยาได้ เช็กดื้อยาไหมต้องตรวจเลือดเท่านั้น
ส่วนใหญ่เรามักคุ้นเคยกับการใช้ “โบท็อกซ์” เสริมความงาม แต่ความจริงแล้วสารชนิดนี้ ใช้รักษาผู้ป่วยกล้ามเนื้อกระตุกได้เช่นกัน แพทย์เตือนหากฉีดมากไปจนเกิดภาวะ “ดื้อโบท็อกซ์” อาจทำให้รักษาโรคได้ยากในอนาคต
ชื่อของ “โบทูลินัมท็อกซิน” อาจไม่คุ้นหูคนทั่วไปมากนัก แต่หากพูดว่า “โบท็อกซ์” หลายคนคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ในการเสริมความงามบนใบหน้าเพื่อแก้ไขปัญหาริ้วรอยอันไม่พึงประสงค์ ซึ่งมีให้เลือกหลายยี่ห้อมีทั้งผลิตจากยุโรปและเอเชีย
แน่นอนว่าสารอะไรก็ตามที่ฉีดเข้าไปในร่างกายย่อมถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม ทำให้ร่างกายต้องสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมา หากฉีดบ่อยๆ เข้าก็จะส่งผลให้เกิดอาการ “ดื้อโบท็อกซ์” หมายถึงอาการที่ใช้โบท็อกซ์แล้วไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อยกว่าการฉีดในช่วงแรก เช่น จากเดิมตัวยาสามารถอยู่ได้นาน 6 เดือน อาจเหลือเพียงแค่เดือนเดียวเท่านั้น
หากเริ่มสงสัยว่าตนเองมีอาการดื้อโบท็อกซ์หรือไม่ สามารถตรวจสอบได้โดยการตรวจเลือดเท่านั้น นอกจากนี้สำหรับใครที่ไม่เคยฉีดโบท็อกซ์เพื่อความงามมาก่อน ก็มีสิทธิดื้อยาได้เช่นกันแต่มีโอกาสน้อยกว่ามาก เนื่องจากโบทูลินัมท็อกซินเป็นตัวยาตระกูลเดียวกับวัคซีนป้องกันบาดทะยัก
- โบท็อกซ์ ใช้เสริมความงามและใช้ในทางการแพทย์ อย่างไรบ้าง?
สำหรับโบทูลินัมท็อกซินนั้น ถูกใช้ในวงการเสริมความงามอย่างแพร่หลาย โดยสารนี้จะออกฤทธิ์โดยการไปจับกับส่วนปลายของเซลล์ประสาท ทำให้เซลล์ประสาทไม่สามารถหลั่งสารสื่อประสาทได้ เป็นผลให้กล้ามเนื้อไม่สามารถหดตัวได้ หรือเรียกว่าเกิดอัมพาตของกล้ามเนื้อ โดยจะเกิดผลเฉพาะกล้ามเนื้อมัดที่ได้รับการฉีด หลังฉีดจะเริ่มออกฤทธิ์ภายใน 2-3 วัน เห็นผลสูงสุดใน 1-2 สัปดาห์ และมีฤทธิ์อยู่ได้นาน 3-4 เดือน หลังจากนั้นกล้ามเนื้อจะค่อยๆ กลับมาหดตัวได้เหมือนเดิม เนื่องจากฤทธิ์ที่ไม่ถาวรนี้เองจึงทำให้ต้องฉีดอยู่ตลอดเพื่อให้ใบหน้าคงสภาพไว้ตามที่ต้องการ
นอกจากใช้ในด้านเสริมความงามแล้ว ในทางการแพทย์ก็ใช้ “โบทูลินัมท็อกซิน” เพื่อรักษาโรคต่างๆ ได้ด้วย เช่น
1. ภาวะความผิดปกติที่เกิดจากการทำงานมากเกินของกล้ามเนื้อ เช่น ตาเข (Strabismus) หนังตากระตุก (Blepharospasm) กล้ามเนื้อคอเกร็งตัว (Cervical dystonia)
2. การปวดศีรษะแบบไมเกรน (Migrain) หรือ การปวดศีรษะจากความเครียด (Tension)
3. ภาวะกล้ามเนื้อหลังอักเสบเรื้อรัง (Myofascial pain)
4. ภาวะเหงื่อออกมากผิดปกติ (Hyperhidrosis)
- ฉีดโบมากไป ดื้อยาไม่รู้ตัว อันตรายอย่างไร?
สำหรับใครที่ฉีดโบท็อกซ์บ่อยหรือเริ่มฉีดมาตั้งแต่อายุยังน้อย มีโอกาสทำให้ร่างกายต่อต้านโบทูลินัมท็อกซินได้ โดยจากสถิติของสหรัฐอเมริกาที่รวบรวมผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดโบท็อกซ์จำนวนมาก พบว่าไม่มีอันตรายถึงชีวิตหากฉีดโดยผู้เชี่ยวชาญและใช้ฉีดเพื่อเสริมความงาม แต่ก็มีผลข้างเคียงเล็กๆ น้อยๆ เช่น ปวดศีรษะหรือความรู้สึกเจ็บๆ คันๆ ( 2.5%) รอยช้ำจากการที่เข็มฉีดย 1-3%) อาการปวดบวมบริเวณที่ฉีด (2.5%) กล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉพาะที่ (1.7%) ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้มักหายไปเองใน 1-2 สัปดาห์
แต่ในผู้ที่ฉีดบ่อยๆ ก็จะพบอีกปัญหาที่น่ากังวล นั่นคือ “การดื้อโบท็อกซ์” โดยจะส่งผลให้โบท็อกซ์ออกฤทธิ์สั้นลงและอาจต้องใช้ปริมาณยาเพิ่มขึ้นในการรักษา การดื้อโบท็อกซ์ยานั้นสามารถตรวจพบได้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญซึ่งในปัจจุบันใช้วิธีการตรวจเลือดได้เพียงอย่างเดียวเท่านั้น สำหรับในประเทศไทยสามารถเข้ารับบริการตรวจหาภาวะดื้อยาได้ที่ “ศูนย์บูรณาการความเป็นเลิศทางการแพทย์ศิริราช” หรือคลินิกที่ได้รับการรับรองจากศูนย์ฯ เพื่อเข้ารับคำปรึกษาและหาวิธีรักษาต่อไป เพราะการดื้อยานั้นไม่ใช่แค่เรื่องความสวยงามเท่านั้นแต่เป็นเรื่องของสุขภาพด้วย
- โบท็อกซ์และการรักษาโรค
อ.พญ.ยุวดี พิทักษ์ปฐพี อาจารย์ประจำวิชาภาคอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า โบทูลินัมท็อกซินมีความจำเป็นอย่างมากในการรักษาโรคทางระบบประสาทหลายโรค โดยโรคที่มีผู้เข้ารับการรักษามากที่สุดคือ โรคใบหน้ากระตุกครึ่งซีกและภาวะกล้ามเนื้อคอบิดเกร็ง โดยสารดังกล่าวจะช่วยลดอาการกล้ามเนื้อกระตุกบิดเกร็งซึ่งได้ผลดีมากหากเทียบกับการทานยาเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากผู้เข้ารับการรักษาเกิดอาการดื้อยามาก่อน จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันมากพอสมควร เพราะทำให้ไม่สามารถบังคับนิ้วมือได้ ใบหน้าบิดเบี้ยว หรือหลังค่อมงอ และในปัจจุบันมีผู้ใช้โบท็อกซ์เพื่อความงามเป็นจำนวนมากอาจจะส่งผลให้เกิดการดื้อยาได้และเมื่ออายุมากขึ้นจำเป็นต้องใช้โบทูลินัมท็อกซินเพื่อรักษาโรคก็อาจจะไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรหรืออาจไม่ได้ผลเลย
ทางด้าน ศ.พญ.รังสิมา วณิชภักดีเดชา ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทญศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล อธิบายว่า ภาวะดื้อโบ เริ่มเกิดขึ้นมาสักพักแล้วแต่อาจจะยังไม่ได้เป็นที่จับตามองทางการแพทย์ โดยส่วนใหญ่เกิดจากส่วนประกอบในโครงสร้างของโบทูลินัมท็อกซินกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อต้าน จากข้อมูลการตรวจเลือดคนไข้ล่าสุดช่วงปี 2564-2565 จำนวน 137 คน พบว่ามี 79 คน ที่มีผลการตรวจเป็นบวก เรียกได้ว่ามีภาวะดื้อโบ หรือคิดเป็น 58%
ดังนั้นการใช้โบท็อกซ์เพื่อเสริมความงานนั้นไม่ใช่เรื่องผิด และเป็นเรื่องปกติที่สามารถทำได้ แต่ควรศึกษาหาข้อมูลและเลือกแพทย์ที่มีความชำนาญเท่านั้น หากเริ่มสังเกตว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นเริ่มมีประสิทธิภาพลดลงควรหยุดฉีดก่อนและเข้ารับการตรวจว่าเข้าข่ายดื้อโบหรือไม่ เพื่อจะได้วางแผนในการใช้โบท็อกซ์ รวมถึงป้องกันการดื้อยาหากจำเป็นต้องใช้ยารักษาอาการเจ็บป่วยในอนาคต