วิจัยชี้ กิน "โยเกิร์ต" เป็นประจำ อาจช่วยลดเสี่ยง "โรคหัวใจและหลอดเลือด"
กิน "โยเกิร์ต" เป็นประจำ อาจช่วยลดเสี่ยง "โรคหัวใจและหลอดเลือด" แต่ต้องควบคู่กับการดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ และหลีกเลี่ยงโยเกิร์ตสูตรน้ำตาลสูง
หลายคนรู้อยู่แล้วว่า "โยเกิร์ต" เป็นอาหารที่อุดมไปด้วย "โพรไบโอติกส์" ที่ช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรง ป้องกันไม่ให้ร่างกายติดเชื้อง่าย และช่วยลดการอักเสบของเซลล์ในร่างกายได้ จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมสมัยนี้ (ยุคแห่งไวรัสและโรคระบาด) ผู้คนจึงบริโภคโยเกิร์ตและนมเปรี้ยวมากขึ้น
ยืนยันได้จากรายงานมูลค่าการตลาดของโยเกิร์ตและนมเปรี้ยวในประเทศไทย จากศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร ระบุว่า เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา ตลาดนมเปรี้ยวและโยเกิร์ตในไทย ปี 2564 มีมูลค่า 29,029 ล้านบาท เติบโตขึ้น 6.9% โดยมี Dutch Mill, Yakult, Dutchie และ Betagen เป็นเจ้าตลาด และคาดว่ามูลค่าตลาดในปี 2565-2569 ก็จะมีแนวโน้มที่สูงขึ้นเรื่อยๆ
อีกทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ มีข้อค้นพบเกี่ยวกับประโยชน์ของโยเกิร์ตเพิ่มเติมว่า อาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ด้วย โดยเป็นงานวิจัยจาก Cambridge University (ข้อมูล ณ 9 พ.ย. 65) ที่มุ่งศึกษาหาคำตอบในหัวข้อ “การกินโยเกิร์ตเป็นประจำ มีความสัมพันธ์กับการลดอัตราเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด และมะเร็งหรือไม่ ? ”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
การวิจัยดังกล่าวเป็นการศึกษาแบบ Systematic Review และ Meta-analysis โดยสำรวจและรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยอื่นๆ ที่เป็น Cohort study (การศึกษาแบบสังเกตกับกลุ่มตัวอย่าง) อีกที
นักวิจัยได้ค้นหาฐานข้อมูลงานวิจัยต่างๆ ทั้งจาก PubMed, Web of Science และ Scopus จนได้ชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาทั้งสิ้น 17 ชิ้น ใช้กลุ่มตัวอย่างผู้เข้าร่วมทดลอง 896,871 คน เสียชีวิต 75,791 คน ในจำนวนผู้เสียชีวิตนี้มี 14,623 ที่เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ และอีก 20,926 คนที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง จากนั้นคัดกรองและนำมาวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติ
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติพบว่า ผู้ที่กินโยเกิร์ตเป็นประจำ มีความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด (Cardiovascular disease : CVD) ที่ลดลง เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่กินโยเกิร์ต แต่ไม่มีผลใดๆ ต่อการเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง
ทั้งนี้ ไม่ได้แปลว่าการกินโยเกิร์ตเพียงอย่างเดียวจะช่วยให้ลดอัตราการเสียชีวิตได้ เนื่องจากการศึกษาครั้งนี้เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติเพื่อค้นหาความสัมพันธ์ของ 2 สิ่งที่อาจมีความเชื่อมโยงกันเท่านั้น ไม่ได้วิจัยจากตัวโยเกิร์ตโดยตรง
ดังนั้นจึงอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้กลุ่มตัวอย่างที่กินโยเกิร์ต ลดความเสี่ยงจากโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ เช่น คนกลุ่มนี้อาจเป็นกลุ่มรักสุขภาพอยู่แล้ว นอกจากกินโยเกิร์ต พวกเขายังชอบออกกำลังกาย และเลือกกินอาหารมีประโยชน์ ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น แต่อย่างน้อยข้อมูลสถิติชุดนี้ก็ทำให้เห็นถึงความเชื่อมโยงบางอย่างของโยเกิร์ตกับการเกิดโรคหัวใจได้
อย่างไรก็ตาม การกินโยเกิร์ตเป็นประจำเพื่อหวังผลด้านสุขภาพนั้น ต้องเลือกกินให้ถูกต้องและเหมาะสมด้วย เพราะในท้องตลาดปัจจุบันมีโยเกิร์ตให้เลือกซื้อหลากหลายชนิดมาก และส่วนใหญ่ก็มักจะมีน้ำตาลสูง ซึ่งการบริโภคน้ำตาลเกินปริมาณที่กำหนด แทนที่จะได้สุขภาพที่ดี แต่อาจทำให้เสี่ยงต่อโรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง และเสี่ยงต่อโรคหัวใจได้มากกว่าเดิม
หากต้องการรับประทานโยเกิร์ตเพื่อให้ได้ผลดีต่อสุขภาพมากที่สุด ผู้บริโภคควรรู้วิธีเลือกให้ถูกต้องเหมาะสม ดังนี้
1. โยเกิร์ตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนมวัว จึงไม่เหมาะกับผู้ที่แพ้นมวัวหรือแพ้น้ำตาลแลคโตสในนมวัว
2. เลือกกินโยเกิร์ตรสธรรมชาติ ไม่ใส่น้ำตาลเพิ่ม เนื่องจากโยเกิร์ตมีน้ำตาลแลคโตสอยู่ในนั้นแล้ว หากกินโยเกิร์ตรสหวาน ก็จะทำให้ร่างกายได้รับน้ำตาลมากเกินจำเป็น
3. เลือกกินโยเกิร์ตไขมันต่ำหรือ Low Fat ช่วยหลีกเลี่ยงไขมันและคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ซึ่งส่งผลดีต่อร่างกายมากกว่าโยเกิร์ตแบบ Full Fat
4. เลือกกินกรีกโยเกิร์ตแทนโยเกิร์ตธรรมดา เนื่องจากให้โปรตีนสูงกว่าถึง 2 เท่า แถมยังมีน้ำตาลต่ำ คาร์โบไฮเดรตต่ำ เหมาะกับผู้ที่ต้องการเสริมโปรตีนให้ร่างกายหรือกำลังลดน้ำหนัก
5. เลือกกินโยเกิร์ตที่มี “โพรไบโอติกส์” ชนิดดี ช่วยบำรุงระบบย่อยอาหารให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพ และช่วยเสริมภูมิคุ้มกันของร่างกายให้แข็งแรง (70% ของภูมิคุ้มกันร่างกายอยู่ที่ลำไส้) โดยให้สังเกตข้างถ้วยโยเกิร์ตจะต้องระบุว่าใช้จุลินทรีย์เหล่านี้ในการผลิต ได้แก่ ไบฟิโดแบคทีเรียม, ไบฟิโดแบคทีเรียม แอนิมาลิส, แล็คโตแบซิลลัส เคซิไอ, แล็คโตแบซิลลัส แอซิโดฟิลลัส
ย้ำอีกที! นอกจากกินโยเกิร์ตแล้ว ต้องควบคู่ไปกับการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ กินครบ 5 หมู่ เลี่ยงของทอด/อาหารน้ำตาลสูง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และงดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพด้วย เช่น การนอนดึก นอนน้อย การบริโภคบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น
---------------------------------------
อ้างอิง : Cambridge University, FatFightingClub, Food Intelligence Center