ต้อง"ลาพักร้อน"จึงจะใช้ชีวิตเป็น work life balance “พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ”

ต้อง"ลาพักร้อน"จึงจะใช้ชีวิตเป็น work life balance  “พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ”

แม้ในช่วงโควิด-19ระบาดหนัก จะต้องรับบทบาทผู้นำบริหารถึง 2 หน่วยงาน แต่เพราะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองมี “Passion”จึงสนุก มีความสุขและงานออกมาสำเร็จ เหนืออื่นใด “พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ”บอกว่า “ชีวิตก็ต้องมีการพักร้อน” work life balance

      น้อยคนจะทราบว่า “พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง และอดีตผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ คือ หนึ่งในทีมวิจัยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์เป็นเวลา 7 ปี ก่อนที่จะกลายมาเป็น “บัตรทอง 30 บาท”ในทุกวันนี้ และแม้จะถูกทาบทามให้ไปร่วมงานในหน่วยงานใหม่ที่ตั้งขึ้นมาดูแลงานส่วนนี้ แต่ “หมอมิ่งขวัญ” เลือกที่จะกลับมาเป็น “แพทย์ผิวหนัง” เพราะรู้ตัวเองว่าทุกวันที่จะได้ไปตรวจคนไข้ เป็นสิ่งกระตุ้นให้ “อยากที่จะไปทำงานมากกว่า” จึงเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองมีPassion

งานระดับชาติต้องใช้พลังร่วมมือ

       และในช่วงสถานการณ์โควิด-19ระบาดหนักและประเทศไทยต้องเร่งปูพรมการฉีดวัคซีนป้องกันนั้น  “หมอมิ่งขวัญ”ได้รับมอบหมายให้เป็น “ผู้อำนวยการศูนย์ฉัดวัคซีนสถานีกลางบางซื่อ” นับเป็นสิ่งที่ท้าทาย เพราะสถานียังไม่เปิดทางการ ต้องเริ่มต้นงานตั้งแต่ที่ศูนย์ฯยังมีแต่พื้นกับเพดาน ใช้เวลาเพียง 3 วัน ก็สามารถเร่งเปิดบริการได้เร็วที่สุด จึงใช้ “การลุยไปก่อนแล้วค่อยๆปรับ” เพื่อไม่ให้ประชาชนเจ็บป่วยและเสียชีวิตมากขึ้นไปอีก
ต้อง\"ลาพักร้อน\"จึงจะใช้ชีวิตเป็น work life balance  “พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
work life balance สไตล์ “นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช” กก.ผู้จัดการ รพ.เมดพาร์ค
ต้องรู้ก่อน "เสริมความงาม" ทำบ่อย ปริมาณมาก ส่งผลดื้อยารักษาโรค

       “หมอมิ่งขวัญ” บอกว่า  การทำงานในระดับประเทศและส่งผลต่อประชาชนจำนวนมาก สิ่งที่ทำให้เกิดความสำเร็จนั้น เนื่องจากภาครัฐจะทำงานเพียงลำพังไม่ได้ดีอย่างที่คาดหวังแน่นอน ต้องหาพันธมิตร มีการร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และจิตอาสา โดยที่ทุกทีมที่ร่วมทำงานมีเป้าหมายตรงกัน คือ ต้องทำให้สำเร็จ  ดี และรับคนได้จำนวนมาก  ส่งผลให้เกิด “พลังของความร่วมมือ(Power of collaboration)” จับมือกันแน่น เพื่อลุย แก้ปัญหา ชื่นชมกับผลไปด้วยกัน  “เป็นพลังของการร่วมมือกันในภาวะวิกฤติของคนไทยที่พร้อมจะร่วมมือ”

ไม่ใช่ปัญหาแต่คือความท้าทาย

        แน่นอนว่าการทำงานท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตและมีคนเข้าร่วมทำงานจำนวนมาก ย่อมเกิดปัญหาหน้างานให้ต้องแก้ไข แต่ “หมอมิ่งขวัญ” ไม่ได้มองเป็นปัญหา จะมองเป็นความท้าทาย ซึ่งไม่ใช่เพียงคำพูดหรูๆ เพราะถ้ามองเป็นปัญหา ในแต่ละวันอาจจะเจอเป็น 100 ปัญหา หากมองเป็นความท้าทายจะมีแรง เกิดพลังที่จะต้องผ่านสิ่งนี้ไปให้ได้ นอกจากนี้ การเป็นผู้บริหารต้องใจกว้าง เชื่อมั่นในทีมของตัวเอง เปิดโอกาสให้ทีมทุกคนทำงานค่อยๆเรียนรู้กัน 

 “ทีม”หัวใจสำคัญ Balance 2 หน่วยบริหาร

     ช่วงเวลาดังกล่าว จึงเป็นจังหวะหนึ่งของการทำงานที่เรียกได้ว่า“หมอมิ่งขวัญ”ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้บริหารของ 2 หน่วยงานหลัก  เป็นเวลากว่า 4 เดือนก่อนที่ศูนย์ฯจะปิดบริการเมื่อ 1 ต.ค.2565  Balance การทำงานตอนนั้น โดย “ทีมอย่างเดียว”  ที่สถาบันโรคผิวหนังจะเรียกประชุมและบอกให้ทำหน้าที่ตัวเองให้ดีที่สุด เจ้าหน้าที่ที่ต้องบริการงานหลักตรวจ ดูแลคนไข้ที่สถาบันฯก็ฝากไว้กับองค์กรแพทย์เป็นหลัก 
       ส่วนองค์กรพยาบาลที่จะต้องฉีดวัคซีนเป็นหลักก็รับผิดชอบศูนย์ฯบางซื่อ ส่วนเจ้าหน้าที่ส่วนอื่นๆก็กระจายกันสนับสนุนการทำงานทั้ง 2 ส่วน จึงไม่ใช่การทำงานโดดเดี่ยวคนเดียว แต่เป็นทีมที่ต้องเชื่อใจว่าสามารถทำได้
ต้อง\"ลาพักร้อน\"จึงจะใช้ชีวิตเป็น work life balance  “พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ”

 ชีวิตต้องมีพักร้อน

         แม้จะสนุกกับการทำงาน เหนืออื่นใด  “หมอมิ่งขวัญ” บอกว่า การทำงานแบบมีสมดุลกับชีวิตเป็นสิ่งสำคัญ  การทำงานกับการใช้ชีวิตของหมอจึงเป็นหลักเดียวกัน คือ 1.ทำงานเท่าที่จำเป็นเพราะชีวิตไม่ใช่เรื่องของการทำงานอย่างเดียว ทุกคนต้องกลับไปถามตัวเองว่าสิ่งที่ทำเกิดประโยชน์อะไรบ้าง  ส่วนอะไรที่ทำแล้ว ไม่รู้ว่าทำไปเพื่ออะไร  ยังไม่เห็นว่าเหตุผลที่ต้องทำ ก็ควรจะหยุดทำ

         2.เวลาในชีวิตมีน้อยทำแล้วให้เกิดผลที่สุด ส่วนตัวจะคิดเวลาชีวิตตัวเองที่ 7,000 โดยคิดจากอายุขัยเฉลี่ยของผู้หญฺง 74 ปี จำนวนวันคือประมาณ 27,000 ตอนนี้อายุ 50 กว่าปี เพราะฉะนั้นใช้เวลาชีวิตไปแล้วเกือบ 20,000 จึงเหลืออยู่ราว  7,000 วัน จะทำอะไรก็ต้องให้เกิดผลมากที่สุด งานอะไรที่ทำ 1 แล้วได้ 1 ก็คิดก่อน แต่งานไหนที่ทำ 1 แล้วได้ 10,100,1,000 ก็ทำก่อน
         3.ทำในสิ่งที่มี Passion หรือชอบกับสิ่งที่ทำ แม้ในภาครัฐอาจจะไม่สามารถเลือกได้ แต่ถ้ามีโอกาสเลือกได้ ให้ทำสิ่งที่ชอบและมันกับมัน
           และ4.จะต้องมีเวลานอกเหนือการทำงานไปใช้ชีวิตด้านอื่นๆ
ต้อง\"ลาพักร้อน\"จึงจะใช้ชีวิตเป็น work life balance  “พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ”

      “การดูแลสุขภาพก็สำคัญ เมื่อก่อนหมอตีเทนนิส แต่ช่วงหลังๆจะใช้การออกกำลัง อย่างเช่น การเดิน หรือเต้นแอโรบิก ที่สำคัญส่วนตัวหมอจะต้องใช้สิทธิลาพักร้อนทุกปี ส่วนใหญ่ก็จะลาช่วงที่ลูกปิดเทอม เพื่อมีเวลาไปท่องเที่ยว ใช้เวลาร่วมกันระหว่างแม่ลูกนอกเหนือจากวันปกติทั่วไปในทุกๆวัน ขนาดเคยบอกลูกว่าเดี๋ยวแม่ลาออกแล้วไปเที่ยวรอบโลกกัน แต่พอมาถึงตอนนี้ลูกอาจจะไม่อยากให้แม่ออกแล้ว เพราะเขาเริ่มเป็นวัยรุ่น ไม่ติดแม่เท่าไหร่ หรือพักร้อนไปใช้ชีวิตอยู่บ้านสวนที่มีคุณแม่ดูแลอยู่”หมอมิ่งขวัญกล่าวด้วยรอยยิ้ม

      เหนืออื่นใด ในฐานะผู้บริหารองค์กร “หมอมิ่งขวัญ” จะบอกแกมบังคับเจ้าหน้าที่ทุกคนเสมอว่า “ช่วยลาพักร้อนด้วย และคนลาพักร้อนไม่ใช่คนที่ไม่เสียสละ” เนื่องจากข้าราชการแม้จะมีสิทธิลาพักร้อนแต่จะไม่ค่อยกล้าลาพักร้อน จะรู้สึกผิด

     ดังนั้น ในปีที่ 3 ที่มาทำงานที่สถาบันฯจะบอกเลยว่า “ถ้าใครไม่ลาพักร้อนถือว่าใช้ชีวิตไม่เป็น” และไม่ใช่การลาแค่ 2-3 วันเพื่อไปทำธุระบางอย่าง แต่จะต้องลาจริงๆอย่างน้อย 5-7 วัน ไปใช้ชีวิตที่นอกไปจากการทำงาน อย่างการท่องเที่ยว หรือใช้ชีวิตกับครอบครัว หรือทำกิจกรรมอื่นๆ       
ต้อง\"ลาพักร้อน\"จึงจะใช้ชีวิตเป็น work life balance  “พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ”

       “หมอมิ่งขวัญ” ย้ำว่า Work life Balance เป็นสิ่งสำคัญ เมื่ออายุถึงช่วงวัยหนึ่ง จะเริ่มรู้ว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือสุขภาพกายและใจ  เมื่อไหร่ที่ไม่สามารถสร้างสมดุลของชีวิต ระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัว สุขภาพกายก็ไปไม่สุด สุขภาพใจก็ไม่ดี แล้วตอนเด็กๆอาจจะอดทนได้ทุกอย่าง แต่เมื่อสักวัยผ่านไป จะรู้สึกว่า ไม่ไหว แต่เมื่อมองกลับไปก็จะพบว่าสิ่งที่ทำให้ขีดความสามารถหรือขีดจำกัดต่ำลง ก็เป็นการสั่งสมจากที่เคยหนักมาก่อนในช่วงเป็นวัยรุ่น หรือวัยทำงานตอนต้น

        “Work life Balance ไม่ใช่เรื่องของคนแก่หรือผู้บริหารระดับสูง แต่เป็นเรื่องของตั้งแต่วัยเด็กๆแล้วที่ทุกคนจะต้องรู้จักการใช้ชีวิตและแบ่งสมดุลของการใช้ชิวิตและการทำงานให้ชัดเจน”หมอมิ่งขวัญกล่าว  

      ท้ายที่สุด “หมอมิ่งขวัญ” พูดเล่นๆว่า “ถ้าหมอเป็นนายกฯหรือมีอำนาจสั่งการ จะทำนโยบายให้ทำงานสัปดาห์ละ 4  วัน โดยทำงาน  2 วันหยุด 2 วัน ทำงาน 2 วัน หยุด 1 วัน  เพราะว่าในความรู้สึก ไม่ว่าจะเป็นงานอะไร สามารถใช้การบริหารจัดการสลับกันทำงานได้และเทคโนโลยีมากมายที่ช่วยได้ โดยไม่ต้องทำงานหนัก 100 %เหมือนเดิม”