"อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์" เมื่อโลกเปลี่ยน ต้องไม่หยุดพัฒนา
"Work life balance" กรุงเทพธุรกิจ สัมภาษณ์ “อุ้ม- อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์” ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน ดีแทค กับมุมมองการบริหารทีมจากช่วงเปลี่ยนผ่าน ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม จากยุค CSR สู่ความยั่งยืน
การทำงานกับดีแทคเป็นงานท้าทาย สนุก มีทีมที่ดี และเราต้องพัฒนาตัวเอง ไม่เคยมีปีไหนที่ไม่เรียนหนังสือ ต้องเรียน ต้องอ่าน เพราะสิ่งที่รู้เมื่อวาน ใช้ไม่ได้แล้ว “อุ้ม- อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์” บอกเล่าให้กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ฟังถึงช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ได้ร่วมงานกับ “ดีแทค”
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมเริ่มอิ่มตัว และเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน เพราะผู้บริโภคไม่ใช่แค่มองหาสัญญาณที่ดีจากผู้ให้บริการเท่านั้น แต่ยังมองถึงราคา โปรโมชั่น และคาดหวังบทบาทอื่นๆ
โจทย์ใหญ่ที่ “อรอุมา” ในฐานะผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ต้องเจอในขณะนั้น คือ การที่กลยุทธ์ต้องปรับเปลี่ยน จากการประชาสัมพันธ์เน้นการตลาด มาสู่การสื่อสารองค์กรเชิงกลยุทธ์ เรียกว่าเป็นการทรานฟอร์มจาก CSR แบบเดิมที่มองว่าธุรกิจที่มีกำไรต้องคืนกำไรสู่สังคมหรือการให้เปล่า มาสู่การทำเรื่องของ Sustainability หรือความยั่งยืน
“อรอุมา” บอกเล่าถึงการทำงาน ที่นับเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสำคัญว่า ดีแทค เริ่มนำความถนัด เช่น ด้านไอที เทคโนโลยีต่างๆ มาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มในการแก้ปัญหาสังคมมากขึ้น เช่น โครงการ Safe internet ที่มองว่าดีแทคเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตซึ่งคือความเสี่ยง เนื่องจากกลุ่มผู้ใช้งานมีทั้งเด็กและเยาวชน ดังนั้น ต้องเข้าไปบริหารจัดการความเสี่ยงให้กับผู้ใช้งาน โดยสร้างการรับมือกับภัยเสี่ยงบนโลกออนไลน์
หรือการ นำเอาเทคโนโลยี IoT มาใช้งานได้จริง ในโครงการ Smart farmer โดยร่วมกับ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือ เนคเทค (NECTEC) และ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกษตรกรรายย่อยเข้าถึง และเห็นคุณค่าของโทรศัพท์มือถือว่าสามารถบริหารฟาร์มได้ทั้งฟาร์ม มีการพัฒนา ทดลอง วิจัย จนปัจจุบันกลายเป็นโซลูชั่นที่ขายจริงในตลาด
อีกทั้ง โจทย์ใหญ่สำคัญในปัจจุบัน ที่เกี่ยวกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับเป้าหมายการเป็นองค์กรธุรกิจที่ลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิ 50% จากการดำเนินธุรกิจภายในปี 2030 ภารกิจในการนำพาดีแทคไปสู่ความยั่งยืนจึงไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะทักษะคนทำงาน และการบริหารทีมให้มีประสิทธิภาพ
จาก CSR สู่ความยั่งยืน
เมื่อบทบาทด้านความยั่งยืน ไม่ใช่ CSR แบบเดิม แต่เป็นการหาประเด็นที่ยึดโยงกับธุรกิจ คนที่ทำงานด้านความยั่งยืน จึงต้องพัฒนาโซลูชั่นที่พอดีกับช่องว่าง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสังคมและธุรกิจ ทักษะของคนทำงานในปัจจุบันก็ต้องเปลี่ยนไป
“อรอุมา” กล่าวต่อไปว่า ความยากจากการเปลี่ยนผ่านจาก CSR แบบเดิม สู่ความยั่งยืน คือ เรื่องทักษะคนในทีม แต่เดิมการทำงานด้าน CSR ที่ใช้ทักษะไม่ซับซ้อนมาก แต่ปัจจุบันการทำเรื่อง Sustainability ทีมต้องมีความเชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม มีความรู้เฉพาะ และ ต้องเป็นกลุ่มคนที่ทำ Partnership ได้เก่งเพื่อทำงานกับภาครัฐ เอกชน การศึกษา ภาคสังคม
ทุกวันนี้ ในทีมมีคนที่เชี่ยวชาญด้านการทำ Partnership development มีคนที่เก่งในเรื่องของ Project management บริหารจัดการโครงการยาวๆ ซับซ้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการทำ Reporting หัวใจสำคัญด้านความยั่งยืนในการวัด Impact ได้
“โลกหมุนเร็วมาก ต้องเรียนรู้ Best Practice หรือแนวปฏิบัติที่ดีจากทั่วโลก ไม่ใช่แค่เรื่องอินอย่างเดียว แต่คนที่ทำงานด้านความยั่งยืน ต้อง Explore New Possibilities มองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้กับองค์กร ทักษะคนทำสื่อสารองค์กรปัจจุบันเปลี่ยน ไม่เหมือนเดิม การทำงานกับดีแทคให้ชีวิตชีวา งานท้าทาย สนุก เพราะมีทีมที่ดี”
ทำงานบน Eco relationship
สำหรับทีมสื่อสารองค์กรและการพัฒนาที่ยั่งยืน ของดีแทค แม้จะเป็นทีมเล็กๆ ซึ่งนับอีกหนึ่งความท้าทายในการบริหารทีม เพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้
“อรอุมา” เผยว่า หลักการบริหาร คือ Share Pain และ Share Gain ร่วมทุกข์ และ ร่วมสุข ทำงานอยู่บน Eco relationship ความสัมพันธ์ที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็น Manager หรือ ลูกทีม สิ่งที่มีเหมือนกัน คือ การที่เราให้คำมั่นและพันธสัญญาร่วม ว่าเราจะขับเคลื่อนภารกิจหนึ่งไปด้วยกัน รู้ว่ารับผิดรับชอบร่วมกัน และความไว้เนื้อเชื่อใจกันในทีมคือสิ่งสำคัญ
“เมื่อมองกลับไปจากจุดเริ่มต้นเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา รู้สึกว่าขอบคุณทีมที่ร่วมเดินทางมาอย่างยาวไกล ทีมเรายังไม่มีใครปล่อยมือจากไป ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีทำให้สามารถ Integrate งานเข้ามาอยู่ในชีวิตได้ง่าย สามารถประชุมผ่านออนไลน์ได้ ทำให้เรารู้สึกว่างานกับชีวิตไปด้วยกัน เทคโนโลยีทำให้การทำงานกลายเป็น Native ของชีวิตประจำวัน”
"อ่าน” เปิดมุมมองให้กว้าง
ขณะเดียวกัน ภายใต้โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว “อรอุมา” มองว่า เราต้องพัฒนาตัวเอง ไม่เคยมีปีไหนที่ไม่เรียนหนังสือ ต้องเรียน ต้องอ่าน ส่วนตัวเป็นคนอ่านหนังสือเยอะมาก โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนโลก เพราะรู้ว่าสิ่งที่เรารู้เมื่อวานใช้ไม่ได้แล้ว ต้องดิสรัปตัวเองทุก 2 ปี อยู่ที่นี่ 10 ปี ไม่เคยจะมีวันไหนที่ทำงานซ้ำกับวันที่ผ่านมา
“การอ่านหนังสือทำให้มุมมองกว้างขึ้น เราเกิดมาในยุคที่ได้เปรียบ ความรู้อยู่รอบตัวเรา เป็นยุคที่ความรู้ไหลบ่า อยู่ที่ว่าเราจะดูดซับได้หรือไม่ ยิ่งเราเป็นคนทำงาน การเป็นคนที่รู้รอบ สำคัญกว่ารู้ลึกในบางที เพราะบางครั้งเราต้อง connect the dots เชื่อมโยงเรื่องนั้นมาปะติดปะต่อเรื่องนี้ และสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา เพื่อช่วยเราในการมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ”
ท้ายนี้ อรอุมา กล่าวถึงเป้าหมายว่า อยากทำงานด้านความยั่งยืนและสื่อสารองค์กรต่อไป ใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหา และสร้างการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ที่เป็นรูปธรรมให้กับสังคม