เช็กสุขภาพจิต สุขภาพใจ "เด็ก LGBTQ " ลดซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย
จากผลการประเมิน Mental Health Check In โดยกรมสุขภาพจิต ในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี จำนวน 34,579 คน มีปัญหาสุขภาพจิตที่สำคัญ คือ มีความเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้าและเสี่ยงฆ่าตัวตายสูงกว่าทุกกลุ่มวัย
"เด็กและเยาวชน" ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตมากขึ้นโดยเฉพาะสุขภาพจิตของเด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศจะยิ่งมีความทุกข์ใจมากขึ้น ทั้งจากการขาดแรงสนับสนุนอย่างกลุ่มเพื่อน การที่ไม่สามารถแสดงออกถึงตัวตนที่บ้านได้ หรือแม้แต่เจอเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวต่อตนเอง เด็กและเยาวชนบางส่วนยังถูกกดดัน หรือถูกทำร้ายจากคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว โรงเรียน หรือคนในชุมชน เพียงเพราะไม่ได้เป็นไปตามค่านิยมที่สังคมคาดหวัง
70-80% เด็กหลากหลายทางเพศซึมเศร้า
งานวิจัย สุขภาพจิตและสุขภาวะของเด็กและเยาวชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย ซึ่งมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้ร่วมกันจัดทำขึ้น และนำเสนอในงาน “HEARTS MATTER: สุขภาพใจเยาวชนเพศหลากหลาย” จัดโดยมูลนิธิช่วยเหลือเด็ก (ประเทศไทย) หรือ Save the Children (Thailand) Foundation ร่วมกับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
โดยการสำรวจดังกล่าว จะศึกษาในกลุ่มเยาวชนหลากหลายทางเพศ อายุ 15-24 ปีในประเทศไทย ผ่านแบบสอบถามออนไลน์จำนวน 3,094 คน และสัมภาษณ์ออนไลน์ 38 คน
สรุปผลวิจัยเด็ก 70-80 %ของผู้เข้าร่วมมีอาการวิตกกังวลและซึมเศร้า โดยเยาวชนกลุ่มนี้ถูกกระทำความรุนแรงในหลายรูปแบบ เช่น 75.8 % เคยถูกล้อเลียน 42.4 % เคยถูกบังคับให้พยายามเปลี่ยนตัวตนทางเพศ และเกินครึ่งเคยถูกคุกคามทางเพศทั้งออนไลน์และต่อหน้า ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ เกินครึ่งของผู้เข้าร่วมเคยคิดฆ่าตัวตายในปีที่ผ่านมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ทำอย่างไร? เมื่อลูกเป็น "เด็กเพศหลากหลาย" หยุดเลือกปฎิบัติ ก่อนฆ่าตัวตาย
ดูแลตัวเองอย่างไร เมื่อเผชิญกับ อาการทาง "สุขภาพจิต" หลังติดโควิด
วัยรุ่นวุ่นวาย : LGBTQ+ ทำอย่างไร? เมื่อใจไม่ตรงกับเพศ
ปรับให้เท่าเทียม! “สายการบิน” ต่างชาติให้พนักงานแต่งกายตามเพศสภาพได้
นิสิตนักศึกษาซึมเศร้า เสี่ยงฆ่าตัวตาย
นอกจากนั้น ผลสำรวจ "โครงการ สํารวจพฤติกรรมสุขภาพของนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย" ของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยการสนับสนุนของสํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ทำการสำรวจ นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี จํานวนทั้งสิ้น 9,050 ชุด จากมหาวิทยาลัยเครือข่ายทั่วประเทศ จํานวน 15 แห่ง จาก 5 ภูมิภาค ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจ ขอหยิบยกมาเผยแพร่ต่อดังนี้
ในประเด็นสุขภาพจิต พบว่ามีจํานวนนิสิตนักศึกษา ร้อยละ 30 รู้สึกเศร้าบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา โดยมี สัดส่วนถึงร้อยละ 4.3 ที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่ามีอาการทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า และโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) เกือบร้อยละ 40 มีความเครียดบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา
โดยกว่าร้อยละ 4 ของนิสิตนักศึกษาทั้งหมด เคยคิดฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้งถึงตลอดเวลา ร้อยละ 12 ได้เคยลงมือทําร้ายร่างกายตนเองแล้ว โดยในจํานวนนี้มี ถึงร้อยละ 1.3 ที่ได้ลงมือทําร้ายร่างกายตนเองบ่อยครั้งถึงตลอดเวลา
ส่วนประเด็นพฤติกรรมการใช้ยาสูบ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดอื่นๆ พบการสูบบุหรี่ภายใน มหาวิทยาลัยสูงกว่าร้อยละ 40 และร้อยละ 9 มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยครั้ง ส่วนการใช้สารเสพติดอื่นๆ เช่น กัญชา กระท่อม พบได้น้อยร้อยละ 0.4 ที่ใช้บ่อยครั้ง และอีกร้อยละ 2 ที่ใช้บ้างนานๆ ครั้ง
ขณะที่ประเด็นเพศสภาพและพฤติกรรมทางเพศ ปัจจุบันมีการเปิดกว้างทางเพศมากขึ้น พบว่าประมาณ 1 ใน 4 ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ และพบมากในนิสิตนักศึกษาชาย ร้อยละ 33.4 นิสิตนักศึกษาหญิง ร้อยละ 27.9 และ กลุ่ม LGBTQIA+ ร้อยละ 19.9 มีการคุมกําเนิดโดยใช้ถุงยางอนามัยเป็นหลักถึงร้อยละ 46.6 แต่ยังมีอีกร้อยละ 5 ที่ไม่ได้ป้องกัน
แนะวิธีสื่อสารกับลูกLGBTQ
ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ อาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าการไม่ได้การยอมรับและสนับสนุนจากสมาชิกในครอบครัวนั้นส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตด้านสังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ เป็นสาเหตุของการฆ่าตัวตาย ภาวะซึมเศร้า ทำให้มีความเชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในตัวเองน้อย เชื่อมโยงกับติดยาเสพติดสูง เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่าง ๆ รวมทั้งการขาดโอกาสทางด้านอาชีพและรายได้ เป็นต้น
เพื่อหาแนวทางลดปัญหารวมทั้งลดความตึงเครียด และสร้างเสริมความเข้าใจ สร้างความเข้มแข็งให้กับครอบครัว และตระหนักถึงตัวตนของลูกหลานที่เป็น LGBTQ ให้เติบโตอย่างมีสุขภาวะ
วิธีการคุยกับลูก LGBTQ ในเบื้องต้นว่า ต้องคุยกันบนฐานความคาดหวังของแต่ละคน คุยกันง่าย ๆ ในครอบครัว เอาความคาดหวังมาคุยกัน พ่อแม่ก็จะคาดหวังไม่กี่ข้อ เป็นแบบนี้แล้วลูกจะอันตรายไหม เป็นแบบนี้แล้วลูกจะโดนรังแกไหม เป็นแบบนี้แล้วลูกจะมีความมั่นคงในชีวิตไหม เป็นแบบนี้แล้วลูกจะติดโรคไหม แล้วลูกเองก็ต้องบอกความคาดหวังของลูกมาว่า ลูกก็อยากให้พ่อแม่ทำอะไร เอาความคาดหวังมาปรับเข้าหากัน แล้วก็หาตรงกลางให้เจอ พ่อแม่ก็จะคลายความกังวลได้
“ถ้าเราปลดล็อคกำแพงความกังวลไปได้มันจะนำไปสู่การยอมรับง่าย ส่วนเรื่องความรู้หรือเทคนิคเฉพาะอาจจะดูในคู่มือหรือหาผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพมาช่วยได้”
นอกจากครอบครัวแล้ว บุคลากรทางการแพทย์ก็มีความสำคัญในการสนับสนุนเพื่อสร้างสุขภาวะของคนกลุ่ม LGBTQ “อันดับถัดไปคือ สื่อกับกฎหมายที่จะช่วยกันล้อมวง เพื่อทำให้เกิดการยอมรับได้ กฎหมายในภาพรวมจะช่วยได้ แต่ไม่ได้ให้น้ำหนักมาก เพราะถึงจะมีกฎหมายแต่งงานเพศเดียวกันหรือเปลี่ยนคำนำหน้านามก็ไม่ได้การันตีว่า ทุกครอบครัวจะยอมรับ
“ตอนนี้มีพระราชบัญญัติคู่ชีวิตของกรมคุ้มครองสิทธิ์ ซึ่งเป็นการแต่งงานอีกรูปแบบหนึ่ง เข้าสภาไปแล้ว แต่ยังอยู่ในลำดับท้าย ๆ ของการพิจารณา ขณะที่อีกฝั่งเขาก็รู้สึกว่า ทำไมถึงไม่เป็นการสมรสเหมือนประชาชนทั่วไป ต้องเป็นคู่ชีวิต ก็มีการขับเคลื่อนให้ศาลตีความ ถึงการขับเคลื่อนจะต่างกัน แต่เป้าหมายเดียวกันก็คือ อยากสร้างการยอมรับในทางกฎหมาย” ผศ.รณภูมิ กล่าว
เช็กแอปพลิเคชั่น ดูแลสุขภาพจิต สุขภาพใจ
ตามคำแนะนำทางการแพทย์ หากพบว่าตนเองหรือบุคคลใกล้ชิดมีความเสี่ยง ควรปรึกษาจิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา และนักสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวช แต่ปัญหาก็คือหลายคนอาจจะไม่มีเวลา หรือรู้สึกอาย รู้สึกกลัวที่จะไปพบจิตแพทย์ ซึ่งถ้าใครติดขัดไม่สะดวกไปพบจิตแพทย์ หรือบุคลากรผู้ให้คำปรึกษาอย่างที่ว่ามา ก็ยังมีอีกทางเลือกหนึ่งคือการปรึกษาทางออนไลน์ ซึ่งมีให้เลือกมากมาย อาทิ
Mental Health Check up
แอป Mental Health Check up เป็นแอปใหม่จากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยออกแบบมาเพื่อประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นด้วยตนเอง และคัดกรองปัญหาโรคจิตเวชที่พัฒนาขึ้น ทำให้ผู้มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด -19 นำไปสู่ปัญหาความเครียดสะสม ปัญหาชีวิต และฆ่าตัวตาย ซึ่งพบได้จากข่าวในต่างประเทศว่ามีแนวโน้มสุขภาพจิตแย่มีมากขึ้น
Sabaijai (สบายใจ)
สบายใจ (Sabaijai) แอปพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยภาควิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต เป็นแอปพลิเคชั่นสำหรับป้องกันและช่วยเหลือผู้ที่เสี่ยงต่อการทำร้ายตนเอง
เนื้อหาและบริการหลัก ๆ ในแอปจะมีส่วน “ไขคำถาม…ไขข้อข้องใจ” ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับสาเหตุการฆ่าตัวตาย ความเสี่ยง สัญญาณเตือน การป้องกันแก้ไขปัญหา, “แบบคัดกรอง” ซึ่งมีคำถามให้ตอบ 9 ข้อเพื่อประเมินว่าผู้ใช้มีความเสี่ยงต่อการทำร้ายตัวเองหรือไม่,
“ใครสักคนที่อยากคุยด้วย” ให้บันทึกชื่อและเบอร์โทร.ของคนที่ผู้ใช้รู้สึกใกล้ชิด ไว้ใจ อยากคุยด้วย เพื่อที่จะโทร.ไปหาใครคนนั้นได้ทันทีที่รู้สึกไม่สบายใจ จิตตก โดยไม่ต้องคิดนานว่าจะโทร.หาใครดี เพราะบุคคลนี้คือคนที่เราเลือกแล้วว่าสบายใจที่จะคุยด้วยมากที่สุด, “เติมพลังใจ…กันเถอะ” ส่วนนี้นำเสนอเนื้อหาบทความให้กำลังใจในการใช้ชีวิต และมีหน้า“สายด่วนสุขภาพจิต” ให้กดโทร.ออกได้เลยโดยไม่ต้องหาเบอร์ให้ยาก
HERO App
แอพประเมินและคัดกรองเด็กที่มีปัญหาการเรียนอันเนื่องมาจากสาเหตุทางสุขภาพ (Health and Educational Regional Operation: HERO App) เป็นแอพที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยเหลือ ครู ผู้ปกครอง และบุคลากรทางการแพทย์ในการคัดกรองเด็กที่อาจมีปัญหาสุขภาพจิตในเด็กด้วยแบบทดสอบทางจิตเวช ตลอดจนให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาโรคจิตเวชเด็ก
ครูและผู้ปกครองที่ได้เข้าร่วมอบรมด้านสุขภาพจิตในเด็กกับผู้เชี่ยวชาญจะสามารถล็อกอินเพื่อทำแบบทดสอบ 3 ประเภท (SNAP, SDQ และ EQ) เพื่อคัดกรองเด็กที่อาจมีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งจะช่วยให้ครูและผู้ปกครองสามารถสังเกตปัญหาพฤติกรรมและการเรียนของเด็กที่มีสาเหตุมาจากปัญหาสุขภาพเบื้องต้นได้ ประวัติของเด็กทุกคนจะถูกเก็บไว้อย่างปลอดภัยในระบบคลาวน์เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้ช่วยให้คำปรึกษา และยังสามารถส่งต่อเด็กให้ครูท่านอื่นดูแลได้อีกด้วย
บุคคลทั่วไปสามารถดาว์นโหลดแอพเพื่อเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการดูแลเด็กและโรคจิตเวชในเด็กได้ แต่จะไม่สามารถทำแบบคัดกรองได้เนื่องจากแบบคัดกรอกจะต้องทำโดยผู้ที่ผ่านการอบรมเท่านั้น
แอพ HERO ออกแบบและพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญและนักจิตวิทยาเด็กจากศูนย์การศึกษาพิเศษเขต 8 จังหวัดเชียงใหม่เพื่อช่วยให้ครูหรือผู้ปกครองสามารถคัดกรองเด็กที่อาจมีปัญหาทางสุขภาพจิตเด็กได้เองแม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและจะไม่สามารถเข้าถึงบุคลากรทางการแพทย์ได้
Mindfit
มายด์ฟิต (Mindfit) แอปพลิเคชั่นที่พัฒนาโดยศูนย์เชี่ยวชาญด้านการป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคซึมเศร้า โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งโรงพยาบาลเฉพาะทางที่ให้การรักษาผู้ป่วยจิตเวชทุกโรค ปัจจุบันมีให้บริการในระบบ Android เท่านั้น แอปพลิเคชั่นนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานง่าย มีการประเมินที่เรียกว่า การประเมินพลังใจ 9 ข้อ เป็นการวัดความเศร้าของตัวเอง
หากผลประเมินออกมาว่าพลังใจมีน้อย ก็จะมีแบบฝึกหัดเป็นการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพลังใจ ซึ่งคล้ายกับการเล่นเกม เน้นการปรับเปลี่ยนความคิด พฤติกรรม และการคิดบวก ในแต่ละวันจะมีการแจ้งเตือนจากแอป โดยการ์ตูนที่มีชื่อว่าน้องมายด์คอยให้กำลังใจและรางวัล ซึ่งหากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 สัปดาห์ ก็จะแนะนำให้ไปปรึกษาจิตแพทย์
BuddyThai
แอปพลิเคชั่น BuddyThai ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่โดนรังแกหรือโดนบูลลี่ที่โรงเรียนและโดนบูลลี่ผ่านโซเชียลมีเดีย และเพื่อบรรเทาปัญหาการฆ่าตัวตายในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสังคมไทย
แอปพลิเคชัน BuddyThai มีคุณสมบัติและฟังก์ชันที่ออกแบบมาเพื่อเป็นที่ปรึกษาแก่เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะ ซึ่งมีจุดเด่นอยู่ 3 ประการ คือ
1. มีปุ่มขอคำปรึกษากับนักจิตวิทยาได้โดยตรง เพื่อให้ เด็กและเยาวชน สามารถกดปุ่มนี้เพื่อติดต่อถึงสายด่วน 1323 ของกรมสุขภาพจิต หรือเลือกแชทกับนักจิตวิทยาผ่าน Facebook ของกรมสุขภาพจิต ผ่านนักจิตวิทยาและอาสา LoveCare Station ของมูลนิธิแพธทูเฮลท์ และผ่าน Facebook ของ BuddyThai App ก็ได้เช่นกัน
2. มีแบบประเมินตนเอง ด้านความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) รวมถึงมีชุดความรู้และแบบฝึกหัดทักษะการใช้ชีวิต ที่จะทำให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้ว่าจะต้องรับมือกับสถานการณ์ในชีวิตอย่างไร โดยเฉพาะเมื่อโดนบูลลี่ พร้อมมีคำแนะนำดี ๆ จากนักจิตวิทยาที่เชื่อถือได้
3. มีระบบบันทึกข้อมูลอารมณ์ในแต่ละวัน เด็กและเยาวชนสามารถเข้ามาบันทึกอารมณ์ของตัวเองได้ทุกวันและวันละหลาย ๆ ครั้ง และใส่เหตุผลได้ด้วย ข้อมูลอารมณ์จะบันทึกเป็นสถิติรายสัปดาห์และรายเดือน ทำให้เด็กและเยาวชนเช็คได้ว่า ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ตนเองมีอารมณ์หนักไปทางด้านใด เพราะอะไร โดยมีเทคนิคการจัดการอารมณ์ให้เด็กอ่านด้วยตนเอง ในขณะที่ หากพบว่าเด็กและเยาวชนคนไหนบันทึกว่า มีอารมณ์เครียด ซึมเศร้าติดต่อกันเป็นอาทิตย์และมีแนวโน้มคิดฆ่าตัวตาย ทีมแอดมินจะมอนิเตอร์เด็กและเยาวชนคนนี้อย่างใกล้ชิด และสามารถแจ้งไปยังโรงเรียนและคุณครู หรือนักจิตวิทยาสายด่วนในการติดต่อเชิงรุกได้
How We Feel
แอปพลิเคชั่น How We Feel ช่วยบันทึกสุขภาพจิตตัวเองให้เรารับรู้ และเข้าใจสภาวะทางอารมณ์ได้อย่างดี
สร้างสรรค์โดยผู้เชี่ยวชาญทั้งนักวิทยาศาสตร์ ,นักออกแบบ ,วิศวกร ,นักจิตวิทยา และนักบำบัด แอปนี้ก่อตั้งขึ้นในชื่อ How We Feel Project, Inc. ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านวิทยาศาสตร์ นำโดยศาสตราจารย์ Marc Brackett จาก Yale Center for Emotional Intelligence ทางแอปจะเป็นตัวช่วยเพื่ออธิบายความรู้สึกของเรา เพราะแต่ละวันในชีวิตเราต้องเจอปัญหามากมายที่จะเกิดขึ้นตอนไหนก็ไม่รู้ ทำให้เราเจอกับอารมณ์ที่หลากหลายอาจส่งผลไปถึงสุขภาพจิตในการดำเนินชีวิตได้นั่นเองค่ะ การที่เราเข้าใจตัวเองมากขึ้นจะช่วยค้นพบ และติดตามการรับรู้และควบคุมอารมณ์ได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส
เมื่อเริ่มเข้าสู่หน้าแอป ทาง How We Feel จะให้เราตอบคำถามว่าทำไมเราถึงมาอยู่ที่ตรงนี้มีเหตุผลอะไรบ้าง เพื่อให้เข้าใจหลักการทำงานคร่าว ๆ จะมีด้วยกันได้แก่
• ฉันต้องการรู้สึก Positive กับสิ่งรอบตัวมากขึ้น
• ฉันต้องการสร้างความสัมพันธ์ดี ๆ รวมไปถึงวิธีรับมือกับความเครียดหรือความวิตกกังวลให้น้อยลง
• ฉันอยากเข้าใจว่าอารมณ์ของเราทำงานอย่างไร หรือเหตุผลอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุลงไปเป็นต้น
ตัวแอปเองจะพาเราไปค้นพบกลยุทธ์ในการช่วยอธิบายอารมณ์ของเราได้อย่างเหมาะสม พร้อมการติดตามอารมณ์ความรู้สึกแบบรายวัน โดยจะให้เราเลือกอารมณ์ทั้ง 4 แบบในตอนต้น คือ High Energy Unpleasant ,High Energy pleasant ,low Energy Unpleasant และ low Energy pleasant ถ้าเราเลือก พลังงานต่ำ แต่เพลิดเพลินมันจะพาเราไปทำความรู้จักอารมณ์แยกย่อยในอีกขั้นค่ะ ว่าตอนนี้เราเป็นยังไง กำลัง Chill ผ่อนคลายหรือไร้กังวล, สงบ ,ปลอดภัย เพื่อเป็นการเช็คความสำเร็จครั้งแรก!
ที่สำคัญสามารถเลือกให้แจ้งเตือนได้ด้วยนะคะ ว่าอยากเช็คสัปดาห์ละกี่ครั้ง ตอนเวลากี่โมงแต่นี่ว่าคำแนะนำที่พอเหมาะ 2 ครั้งต่อสัปดาห์จะดีมาก มาถึงหน้าถัดไปเราจะพบกับผู้เชี่ยวชาญที่อธิบายเกี่ยวกับการทำงานของอารมณ์และสมองของเราว่าทำงานอย่างไร รวมไปถึงวิธีการคิดให้เรากล้าตั้งคำถามกับตัวเองมากขึ้น อย่างเช่นหน้าสุดท้ายที่มีประโยคว่า Travel in Time โดยแบ่งความเข้าใจไว้ 6 แบบ
เป็นการตีความให้เรามองถึงปัญหาในชีวิตว่าอารมณ์ส่งผลต่อเราอย่างไร ทำไมถึงรู้สึกแบบนี้ ให้เราจำสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกลำบากใจ กังวล ผิดหวังต่าง ๆ และลองจินตนาการถึงความเป็นไปได้ดูค่ะ ว่าเรายังรู้สึกแบบนี้อยู่มั้ยถ้าในอีก 1 สัปดาห์นับจากนี้ หรือ 1 เดือน > 6เดือน > 1 ปี ให้เรามองในระยะยาวว่ายังกังวลใจเรื่องราวเหล่านั้นอยู่มั้ย เพื่อเป็นการให้เราได้เติบโตขึ้นพร้อมปรับทัศนคติพัฒนาประสบการณ์ด้านอารมณ์ให้ดีกว่าเดิม โดยมองโลกให้ชัดเจนมีเหตุผลมารองรับอย่างที่ควรจะเป็น
ค้นพบตัวเองมากขึ้น
จะเห็นว่าการทำงานไม่มีอะไรซับซ้อน ซึ่งในแต่ละวันเราเข้ามาเช็คอารมณ์ตัวเองได้พร้อมใส่โนตหรือ รูปภาพต่าง ๆ รวมไปถึงสถานะเพื่ออธิบายวันเหล่านั้นว่าเราเป็นยังไง อยู่กับใคร อยู่ที่ไหนเพื่อเรียนรู้และค่อย ๆ ทำความเข้าใจอย่างเป็นระบบ พร้อมดูผลสรุปในรายเดือน รายปี และบทเรียนสอนการเฝ้าดู/ปรับอารมณ์ไปในตัว
ย้ำแนวทางการแก้ปัญหาสุขภาพจิต
ส่งเสียงสะท้อนแทนเยาวชนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ว่าการที่เราไม่ใช่หญิงหรือชายไม่ใช่โรค แต่เป็นความหลากหลายที่สมบูรณ์ ปัญหาสุขภาพจิตของพวกเราไม่ได้เกิดจากการมีความหลากหลายทางเพศ แต่เกิดจากแรงกดดันภายนอก และการไม่ได้รับการโอบกอดจากสังคมอย่างแท้จริง
แนวทางการแก้ปัญหาสุขภาพจิตว่า “ความรักความอบอุ่นและการสนับสนุนที่เป็นมิตร สถาบันครอบครัวและสถานศึกษา ควรเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับพวกเรา อยากให้บรรจุความหลากหลายทางเพศเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการเรียนวิชาสุขศึกษา”
การป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตยังคงประเด็นสำคัญที่สุด ซึ่งหมายถึงการสร้างการยอมรับและการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออกถึงตัวตนของตัวเองอย่างมั่นใจ ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน โรงเรียน ชุมชน หรือทุกที่ในสังคม รวมถึงการได้รับบริการทางสุขภาพจิตที่เป็นมิตรและเข้าถึงได้