ชาวออฟฟิศระวัง! นั่งนานเกินไปเสี่ยง "น้ำตาลในเลือด-ความดันสูง"

ชาวออฟฟิศระวัง! นั่งนานเกินไปเสี่ยง "น้ำตาลในเลือด-ความดันสูง"

ผลวิจัยใหม่พบ การเคลื่อนที่ทุกครึ่งชั่วโมง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตให้ต่ำลงกว่าคนที่นั่งอยู่กับที่ทั้งวัน แสดงให้เห็นว่า “การนั่งเป็นเวลานาน” ส่งผลเสียต่อสุขภาพ แม้ว่าจะเป็นคนที่ออกกำลังกายเป็นประจำก็ตาม

การนั่งอยู่กับที่นาน ๆ โดยไม่เปลี่ยนอิริยาบถ เป็นอีกหนึ่งภัยร้ายที่ชาวออฟฟิศต้องระวัง เพราะนอกจากจะเป็นปัจจัยที่ทำให้กล้ามเนื้อเหนื่อยล้าแล้ว ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดออฟฟิศซินโดรม โรคยอดฮิตของมนุษย์เงินเดือนที่ต้องนั่งทำงานอยู่กับที่ ไม่ค่อยได้ลุกไปไหน แต่จากการศึกษาครั้งใหม่ การนั่งโดยไม่เปลี่ยนท่านานกว่า 2 ชั่วโมงอาจจะส่งผลร้ายมากกว่านั้น

จากการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Medicine & Science in Sports & Exercise ประจำเดือนม.ค. 2566 พบว่า กลุ่มผู้เข้าร่วมการทดลองที่ลุกขึ้นเดินเป็นเวลา 5 นาทีในทุกครึ่งชั่วโมง จะมีระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตต่ำกว่าตอนที่นั่งอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน

“ถ้าคุณมีงานประจำที่ต้องนั่งอยู่กับที่ หรือใช้ชีวิตอยู่โต๊ะทำงานเกือบทั้งวัน การลุกเคลื่อนไหวร่างกายทุกครึ่งชั่วโมงจะสามารถช่วยทำให้สุขภาพของคุณดีขึ้นและลดความเสี่ยงจากอันตรายที่แฝงมากับการนั่งนาน ๆ ได้” คีธ ดิแอซ  รองศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์พฤติกรรมจากวิทยาลัยแพทย์และศัลยแพทย์แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย วาเจลอส คอลเลจ และเป็นผู้เขียนนำของการศึกษากล่าวกับสำนักข่าว CNBC

แม้ยังไม่รู้ที่แน่ชัดว่าทำไมการนั่งเป็นเวลานานต่อเนื่องไปโดยไม่เคลื่อนที่เลยจึงส่งผลเสียกับสุขภาพ แต่ดิแอซสันนิษฐานว่า เวลาที่เรานั่งเฉย ๆ ทำให้ร่างกายไม่ได้ใช้งานกล้ามเนื้ออย่างที่ควรจะเป็น

“กล้ามเนื้อเป็นสิ่งสำคัญที่ทำหน้าที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ถ้าเราไม่ใช้มันนาน ๆ ก็อาจจะให้กระบวนการทำงานไม่ถูกต้อง และเมื่อคุณนั่งอยู่เฉย ๆ นาน ๆ เลือดจะคั่งที่บริเวณขา ทำให้ความดันโลหิตขึ้นสูง แต่เมื่อคุณขยับกล้ามเนื้อขาเป็นประจำ จะช่วยให้การไหลเวียนของโลหิตเป็นไปอย่างปรกติ” ดิแอซกล่าวเสริม

  • เคลื่อนไหวทุก 30 นาที

เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในการป้องกันผลเสียที่เกิดจากการนั่งเป็นเวลานาน ดิแอซและทีมของเขา ได้แบ่งการทดลองเป็น 4 รูปแบบ คือ

1. เดิน 1 นาทีหลังจากนั่ง 30 นาที

2. เดิน 1 นาทีหลังจากนั่ง 60 นาที

3. เดิน 5 นาทีหลังจากนั่ง 30 นาที

4. เดิน 5 นาทีหลังจากนั่ง 60 นาที

จากนั้น นำผลที่ได้ในแต่ละรูปแบบไปเปรียบเทียบกับผลของการนั่งโดยไม่ลุกไปไหน

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมการทดลองจะต้องนั่งอยู่บนเก้าอี้ที่เหมาะสมกับสรีระเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ซึ่งจะสามารถลุกขึ้นและเคลื่อนไหวส่วนล่างได้เพียงแค่ตอนไปเข้าห้องน้ำและทำกิจกรรมการทดลองที่กำหนดไว้เท่านั้น 

เมื่อทำการเปรียบเทียบผลการทดลองพบว่า การเดิน 1 นาทีหลังจากนั่ง 30 นาที การเดิน 5 นาทีหลังจากนั่ง 30 นาที และการเดิน 5 นาทีหลังจากนั่ง 60 นาที ช่วยให้ความดันโลหิตลดลงกว่าตอนนั่งอย่างเดียว 4-5 จุด

สำหรับการเดิน 5 นาทีหลังจากนั่ง 30 นาที เป็นรูปแบบที่ช่วยลดความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือดได้มากที่สุด อีกทั้งยังส่งผลอย่างมากต่อการตอบสนองต่อร่างกายของอาสาสมัครที่มีต่อการรับประทานอาหารมื้อใหญ่ ทำให้ความดันโลหิตลดลง 58% เมื่อเทียบกับการนั่งทั้งวัน นอกจากนี้ยังช่วยลดความเหนื่อยล้าและทำให้อาสาสมัครอารมณ์ดีขึ้นได้อย่างมาก

จากผลการศึกษาจึงสรุปได้ว่า การเดินสามารถช่วยลดผลเสียจากการนั่งเป็นเวลานานได้ แม้ว่าเจ้านายอาจจะจ้องเขม็งเมื่อเห็นพนักงานลุกออกจากโต๊ะบ่อย ๆ ก็ตาม ซึ่งดิแอซกล่าวว่า ก้าวที่สำคัญคือ “การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร

  • ลุกเดินจากโต๊ะอย่างไรให้ไม่เสียงาน

ดิแอซ แนะนำวิธีการเดินออกจากโต๊ะเพื่อไป “ยืดเส้นยืดสายแบบไม่เสียงาน” สามารถทำได้โดย เดินไปคุยงานกับเพื่อนร่วมงานแทนการส่งอีเมลหา สามารถเดินไปคุยโทรศัพท์ไปด้วยก็ได้ หรือแม้กระทั่งพกขวดน้ำเล็ก ๆ ไปดื่มระหว่างวัน จะช่วยให้สามารถลุกจากโต๊ะไปเติมน้ำได้บ่อย ๆ และอาจส่งผลให้เข้าห้องน้ำได้บ่อยขึ้นอีกด้วย

ดร.รอน แบลงค์สไตน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันโรคหัวใจแห่งโรงพยาบาลบริกแฮม แอนด์ วีเมนส์ กล่าวว่า แม้ว่าผลการทดลองในการศึกษาครั้งใหม่นี้ จะไม่ได้เป็นการทดแทนการออกกำลังกายเป็นประจำ แต่อาจช่วยในการลดอันตรายของการนั่งนาน ๆ ที่โรงเรียนและที่ทำงานได้ 

“เรารู้ว่าการนั่งนาน ๆ มีอันตรายมากมาย ความดันโลหิตของคุณจะสูงขึ้นและมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น” แบลงค์สไตน์กล่าว

อย่างไรก็ตาม การลุกขึ้นอยู่หน้าโต๊ะไม่ได้ช่วยอะไร ดิแอซระบุว่ามีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าการยืนนาน ๆ เป็นอันตรายต่อกระดูกสันหลังและหลอดเลือดที่ขา ขณะที่ แบลงค์สไตน์ชี้ว่า การอยู่ในท่าเดียวทั้งวัน ไม่ว่าจะยืนหรือนั่ง ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ดีทั้งสิ้น

ขณะที่ ดร.ดอริส ชาน ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดจาก ศูนย์การแพทย์แลนกอน เฮลท์ ของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าวว่า “มันอาจเป็นจุดเริ่มต้นของบางสิ่งที่ปฏิวัติวงการได้ เราแค่ต้องการผลการศึกษาที่ทดลองกับผู้คนจำนวนมากขึ้น แต่นี่เป็นเหมือนเมล็ดพืชที่ปลูกไว้ มันเปิดประตูสู่การวิจัยประเภทอื่น ๆ ด้วย”

นอกจากนี้ ชานกล่าวว่า การลุกขึ้นและเดินทุกครึ่งชั่วโมง หรือทุก 30 นาที อาจมีประโยชน์อื่น ๆ เช่น การคลายข้อต่อที่แข็งหลังจากนั่งเป็นเวลานาน

“ฉันหวังว่านายจ้างจะได้อ่านผลการศึกษานี้ และตระหนักว่าพวกเขาควรอนุญาตให้พนักงานของตนหยุดพักเพื่อยืดเส้นยืดสายและเคลื่อนไหว มันอาจช่วยปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยซ้ำ”

 

ที่มา: Med Scape, NBC News, US Today