รับมือ PM2.5 อย่างไร เมื่อเราอาจต้องเผชิญกับฝุ่นพิษถึง 7 ก.พ. 66

รับมือ PM2.5 อย่างไร เมื่อเราอาจต้องเผชิญกับฝุ่นพิษถึง 7 ก.พ. 66

ในช่วงหน้าหนาวอากาศปิด บวกกับแหล่งกำเนิดฝุ่นทั้งจากการขนส่ง รวมถึงการเผาไหม้จากการเกษตรและป่า ส่งผลให้ขณะนี้ฝุ่น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่ กรมควบคุมมลพิษ คาดว่า เราจะต้องเผชิญกับฝุ่นไปจนถึง 7 ก.พ. และจะเริ่มดีขึ้นในวันที่ 8 กพ.

สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในวันที่ 2 ก.พ. 66 เวลา 07.00 น. ภาพรวมของ PM2.5 ประเทศไทย โดยเฉพาะกทม. ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เกินค่ามาตรฐาน อยู่ในระดับสีส้ม เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ รวมถึงสีแดงในบางพื้นที่โดยเฉพาะ กทม.

 

เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2566 ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ แถลงข่าว "การยกระดับมาตรการเพื่อลดแหล่งกำเนิด PM2.5 และป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย" โดยระบุว่า จากระบบติดตามตรวจสอบของ กรมควบคุมมลพิษ และ กทม. มีการวัดค่าลงในพื้นที่ย่อยระดับเขต เพื่อให้ทราบว่าตรงไหนมีความเสี่ยงสูงกว่าที่อื่น โดยในกทม. หลายพื้นที่เริ่มมีผลกระทบ และมีผลกระทบแล้ว ขณะที่ภาคเหนือ พื้นที่เกือบทั้งหมด ค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง

 

ฝุ่น PM2.5 มาจากไหน

 

หัวใจสำคัญ ต้องเข้าใจว่าฝุ่นที่เกินมาจากค่ามาตรฐานมาจากไหน อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ อธิบายว่า สาเหตุฝุ่นในปัจจุบัน คือ สภาพอากาศปิดในฤดูหนาว ทำให้เกิดการสะสม แต่แหล่งกำเนิดของฝุ่น คือ ภาพรวมทั่วไป ในเมืองคือเรื่องของการจราจร ขนส่ง โดยเฉพาะรถดีเซลเก่าที่ไม่ได้รับการดูแล แต่ภาพรวมของทั้งประเทศ ที่ทำให้สูงขึ้นมาอีก คือ การเผาในพื้นที่เกษตร การเผาป่า ซึ่งต้องได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน

 

จะเห็นว่าในปัจจุบัน มีจุดความร้อน 1,200 จุดในประเทศไทย เป็นค่าเฉลี่ยสูง มีส่วนสำคัญและผลกระทบกับค่าฝุ่นPM2.5 ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือหรือภาคอีสาน เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ค่า PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ในสถานการณ์ปกติ ภาคเหนือ จะมีค่า PM2.5 อยู่ที่ประมาณ 25 มคก./ลบ.ม.

 

รับมือ PM2.5 อย่างไร เมื่อเราอาจต้องเผชิญกับฝุ่นพิษถึง 7 ก.พ. 66

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

ในส่วนของ กทม. อาจจะสูงกว่าเพราะมีกิจกรรมที่มากกว่าราว 30 มคก./ลบ.ม. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือราว 25 มคก./ลบ.ม. แต่ในสภาพากาศปิดในฤดูหนาว ทั้งจากปิดเล็กน้อย และปิดเหมือนมีฝาชีครอบในเมือง ทำให้สถานการณ์ฝุ่นสะสมอยู่ในพื้นที่ ดังนั้น เมื่ออากาศปิดจะทำให้ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน และเริ่มมีผลกระทบในบางพื้นที่

 

“ภาคเหนือจะอยู่ที่ประมาณ 40 มคก./ลบ.ม. กทม. 60 มคก./ลบ.ม. ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 40 มคก./ลบ.ม. แต่วันนี้ที่เกิน อย่างที่บอกว่ามีมาจากแหล่งกำเนิดการเผา บวกกับสภาพอากาศปิด ทำให้ค่าฝุ่นเกินค่ามาตรฐานค่อนข้างเยอะ โดยภาคเหนือ อีสาน และ กทม. เกือบ 100 มคก./ลบ.ม. ในบางพื้นที่”

 

คาดเผชิญฝุ่น ถึงวันที่ 7 ก.พ.

 

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อไปว่า จากการคาดการณ์ในอนาคตอีก 3-4 วัน นั้นปัจจัยมี 2 อย่าง ที่จะสะท้อนค่าฝุ่น คือ สภาพอุตุนิยมวิทยา และ แหล่งกำเนิด สภาพอากาศปิดมีผลกระทบต่อการสะสมของฝุ่นค่อนข้างเยอะ และมีผลกระทบให้เราคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าสถานการร์ฝุ่นจะเป็นอย่างไร

 

จากโมเดลการคาดการณ์ของกรมควบคุมมลพิษ พบว่า ฝุ่นจะมากถึงวันที่ 4 ก.พ. 66 และ สภาพอากาศ เริ่มเปิด ฝุ่นละลดลงในวันที่ 5-8 ก.พ. 66 และจะดีขึ้นได้มาตรฐานในวันที่ 8 ซึ่งเกิดขึ้นทั้งใน กทม. และ 17 จังหวัดภาคเหนือ ดังนั้น จะต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น

 

“ช่วงนี้ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้น เพราะระดับสีส้มเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ สำหรับคนทั่วไป กลุ่มเปราะบาง สุขภาพไม่ดี ก็จะได้รับผลกระทบมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในส่วนของ กทม. นั้น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้บูรณาการความร่วมมือทางกรุงเทพมหานคร มีการเตรียมาตรการระหว่างฤดูฝุ่น และช่วงที่เกิดปัญหา ทุกอย่างมีการเตรียมการไว้ ตอนนี้เราอยู่ระดับ 3 และในบางเขตอยู่ในระดับ 4”

 

รับมือ PM2.5 อย่างไร เมื่อเราอาจต้องเผชิญกับฝุ่นพิษถึง 7 ก.พ. 66

 

เป็นเหตุให้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ แถลงมาตรการเข้มข้นขึ้นของทางกทม. และที่สำคัญ คือ การทำงานที่บ้าน Work from home นอกจากจะเป็นการลดผลกระทบ ลดการเคลื่อนที่ ฝุ่นจากการจราจร และยังช่วยปกป้อง สุขภาพของคนด้วย ทำให้ไม่มีความเสี่ยงในการออกไปพื้นที่โล่งและมีฝุ่น

 

ดังนั้น ความร่วมมือกับ กทม. ชัดเจนตั้งแต่อดีต ที่มีตั้งแต่แคมเปญดูแลเรื่องรถยนต์ ตั้งด่านตรวจควันดำ ร่วมกับ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจโรงงานที่มีความเข้มข้นของฝุ่นสูง ส่วนใน โรงเรียน ในบางพื้นที่ยังไม่ปิด แต่จำเป็นต้องงดกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพของเด็ก

 

เข้มการเผา ลดปัญหาฝุ่น

 

ขณะที่พื้นที่อื่นๆ ซึ่งปัญหาไม่ได้มาจากการจราจรอย่างเดียว แต่การเผาก็สำคัญ โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เห็นชอบแผนเฉพาะกิจในการแก้ไขปัญหาฝุ่นในปีนี้ ที่ได้รับบทเรียนมาจากปีที่ผ่านมา ได้นำแผนเฉพาะกิจแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบถึงแนวทางให้หน่วยงานปฏิบัติ โดย นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทส. ก็ได้กำชับเข้มข้นขึ้นในเรื่องของจุดความร้อนในเรื่องของภาคเกษตร การเผาป่า

 

โดยในวันที่ 6 ก.พ. 66 จะมีการลงพื้นที่ไปกำชับด้วยตัวเอง โดย กระทรวง ทส. จะตั้งศูนย์ส่วนหน้า ในการช่วยศูนย์ปฏิบัติการเฉพาะกิจในแต่ละพื้นที่ ที่ผ่านมา มีในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และแต่ละจังหวัดจะมีกาประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ แก้ไขปัญหา ผู้ว่าเชียงใหม่ ทำงานกับหลายจังหวัดเพื่อทำงานอย่างไร้รอยต่อ

 

ลงทะเบียนก่อนเผา

 

“ดร.ปิ่นสักก์” เน้นย้ำว่า ใน 1-2 วันนี้ ที่อากาศมีผลกระทบ หัวใจของการจัดการไฟ จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการเชื้อเพลิง ที่ผ่านมาในอดีต เราจะมีมาตรการงดการเผาถาวรในบางช่วงเวลา แต่กลับสร้างปัญหาในบางช่วงเวลาเช่นกัน เพราะคนจะรุมกันเผา ทำให้ควันไฟสะสม สูงขึ้นในช่วงเวลานั้น ดังนั้น หลักวิชาการไม่ควรทำ

 

ดังนั้น ในปีนี้ นโยบายได้ชี้แจงไปกับทางจังหวัด การบริหารจัดการเผา ไม่ว่าจะเผาในป่า ในพื้นที่การเกษตร จะต้องลงทะเบียนและมอบอำนาจให้จังหวัด เป็นคนอนุญาต เห็นชอบในการเผา โดยใช้ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ว่าสถานการณ์ไฟในภาพรวม PM2.5 ในภาพรวมควรจะอนุญาตได้เท่าไหร่ เป็นแอปฯ "Burn Check" การบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อลดปัญหาด้านมลพิษทางอากาศ และ แอปฯ FireD แก้ไขปัญหาฝุ่นควันและไฟป่า ปัจจุบันมีจุดความร้อนกว่า 1,200 จุด ดังนั้นจะต้องลดให้ได้ อย่างน้อย 50-60%”

 

"ที่ผ่านมา ภาคราชการไม่ได้นิ่งนอนใจ ใน 2 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์ดีขึ้นเรื่อยๆ ในแง่ของจำนวนวันที่ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน และ จุดความร้อนลดลง แต่เมื่อยังไม่ดีพอก็จะต้องลดลงไปอีกในปีนี้ตามมาตรการ อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ก่อนจะสามารถเปลี่ยนหรือทำให้ต่ำกว่าค่ามาตรฐานแบบถาวร ประชาชนจะต้องดูแลตัวเองโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง"

 

โดยหนึ่งในสิ่งที่ต้องทำ คือ การเรียนรู้การดูค่าสถานการณ์ฝุ่น ไม่ว่าจะเป็นโปรแกรม Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ AirBKK ของกทม. หรือแอปฯ อื่นๆ ทุกอันเป็นประโยชน์ทั้งหมดเพื่อให้ทราบว่าค่าฝุ่นเกินมาตรฐานหรือไม่และเราควรจะปฏิบัติตัวอย่างไรในพื้นที่และเวลานั้น

 

“ถัดมา คือ เมื่อไม่สามารถอยู่ในบ้านได้ตลอด หากไปในพื้นที่โล่งแจ้งควรสวมหน้ากากอนามัย หากสวมอย่างถูกต้องจะลดได้กว่า 50-60% รวมทั้งหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่งแจ้งจะสามารถลดความเสี่ยงผลกระทบระยะยาว ทั้งนี้ หากมีปัญหาสุขภาพ แนะนำให้พบแพทย์” ดร.ปิ่นสักก์ กล่าว

 

ระดับสีค่าฝุ่น PM2.5 เท่าไหร่ถือว่าเสี่ยง 

 

1) สีฟ้า ระดับดีมาก (0 – 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

ประชาชนทุกคนสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตามปกติ

2) สีเขียว ระดับดี (26 – 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

ประชาชนทั่วไปสามารถทำกิจกรรมนอกบ้านได้ตามปกติ สำหรับกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง 

3) สีเหลือง ระดับปานกลาง (38 – 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน และเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง สำหรับกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นและผู้มีโรคประจำตัวควรเฝ้าระวังสุขภาพตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ 

4) สีส้ม ระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ (51 – 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

ประชาชนทั่วไปควรลดหรือจำกัดการทำกิจกรรมนอกบ้าน กลุ่มเสี่ยงควรลดเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม 

5) สีแดง ระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ (91 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป)

ควรลดหรืองดการทำกิจกรรมนอกบ้าน เปลี่ยนมาออกกำลังกายในบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และสังเกตตนเอง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ สำหรับกลุ่มเสี่ยงให้งดออกนอกบ้าน ถ้าออกนอกบ้านให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นทุกครั้ง หากมีอาการผิดปกติให้รีบไปพบแพทย์ และผู้มีโรคประจำตัวควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นอย่างน้อย 5 วัน

 

ดูแลตัวเอง และคนที่รักจากฝุ่นพิษ

 

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กรมอนามัย นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย มีความห่วงใยกับสถานการณ์ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับแนะนำประชาชนป้องกันตนเอง และบุคคลในครอบครัวเพื่อรับมือกับฝุ่น PM2.5 ด้วยวิธีดังนี้

1) ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศอย่างใกล้ชิดก่อนออกจากบ้าน ได้ที่เว็บไซต์ air4thai.pcd.go.th หรือแอปพลิเคชัน “Air4Thai” ของกรมควบคุมมลพิษ หรือ “AirBKK” ของกรุงเทพมหานคร และปฏิบัติตนตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด

2) สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น เช่น หน้ากากอนามัย หรือหน้ากาก N95 ขณะอยู่กลางแจ้ง

3) ควรหลีกเลี่ยงการออกไปทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายกลางแจ้งให้เปลี่ยนมาออกกำลังกายภายในอาคารแทน

4) ดูแลสุขภาพให้ร่างกายแข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มากๆ

5) สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรสำรองยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์

6) สังเกตตนเองและบุคคลในครอบครัว หากพบอาการผิดปกติ เช่น ไอบ่อย หายใจลำบาก หายใจถี่ หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงวี้ด แน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น คลื่นไส้ เมื่อยล้าผิดปกติ หรือวิงเวียนศีรษะ ให้รีบไปพบแพทย์

 

ห้องปลอดฝุ่น ลดความเสี่ยง

นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถทำห้องปลอดฝุ่น เพื่อลดความเสี่ยงในการสูด PM2.5 เข้าสู่ร่างกายได้ โดยเฉพาะในบ้านที่มีสมาชิกที่เป็นกลุ่มเด็กเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางต้องดูแลเป็นพิเศษโดย

1) ทำความสะอาดห้องโดยใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ เช็ดตามบริเวณต่างๆ เป็นประจำ ไม่ควรใช้ไม้กวาดหรือเครื่องดูดฝุ่นเพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย

2) ควรงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นหรือควันเพิ่มมากขึ้น เช่น เผาเศษวัสดุทางการเกษตร จุดเทียน จุดธูป รวมทั้งกิจกรรมอื่นๆ ที่เป็นแหล่งก่อกำเนิดควัน สำหรับห้องที่มีเครื่องปรับอากาศควรตรวจสอบและทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศทุกเดือน ล้างเครื่องปรับอากาศอย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง

3) ปิด ประตูหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อป้องกันอากาศภายนอกเข้าไปในห้อง และอาจเพิ่มประสิทธิภาพการลดฝุ่นในห้อง เช่น การใช้เครื่องฟอกอากาศ ซึ่งอุปกรณ์ดังกล่าวควรมีขนาดที่เหมาะสมกับห้อง