"ฝุ่น PM 2.5" หนากว่าหมอก! ต้องรู้ "หน้ากากอนามัย" แบบไหนป้องกันได้จริง?
เมื่อ "ฝุ่น PM 2.5" กลับมาพุ่งสูงอีกระลอก คนเมืองต้องรู้! ควรเลือกใช้ "หน้ากากอนามัย" แบบไหนดี? ชวนดูวิธีเลือกหน้ากากอนามัยที่สามารถป้องกัน "ฝุ่นพิษ" PM 2.5 ได้ดีมีประสิทธิภาพ พร้อมเผยวิธีดูแลตัวเองในเบื้องต้น
กลับมาอีกครั้งกับฝุ่นพิษตัวร้าย ที่ชื่อคุ้นหูอย่าง "ฝุ่น PM 2.5" เชื่อว่าในสองสามวันที่ผ่านมานี้ ใครหลายคนคงเป็นกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ฝุ่นพิษ และงัดทุกวิธีมาต่อสู้กับฝุ่นละอองพิษ PM 2.5 และดูแลสุขภาพให้ปลอดภัย แน่นอนว่าไอเท็มที่ขาดไม่ได้อีกครั้งสำหรับช่วงนี้ก็คือ "หน้ากากอนามัย"
ว่าแต่.. มีหน้ากากอนามัยชนิดไหนบ้าง? ที่สามารถป้องกันฝุ่นพิษได้เป็นอย่างดี กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ชวนเปิดลิสต์หน้ากากกันฝุ่นชนิดต่างๆ ที่สามารถป้องกันได้ดี พร้อมข้อแนะนำสำหรับการดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากฝุ่นพิษในเบื้องต้น
ไม่นานมานี้ มีการเปิดเผยจาก กรมอนามัย ว่า สถานการณ์ฝุ่นละอองพิษ มีค่าที่เกินมาตรฐานใน 56 พื้นที่ และจะมีความรุนเเรงที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้คน ใน 5 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรสงคราม นครพนม เชียงใหม่ และลำพูน เนื่องจากสภาพอากาศปิดและนิ่ง เนื่องด้วยสภาพอากาศเช่นนี้ เราจึงควรเลือกซื้อหน้ากากอนามัยให้ถูกชนิด และมีประโยชน์ต่อเราในการป้องการฝุ่น PM 2.5 ได้จริงๆ
มาเช็กดูกันว่าหน้ากากอนามัยตามท้องตลาดในปัจจุบัน มีชนิดไหนบ้าง และแต่ละชนิดจะมีคุณสมบัติในการป้องกันฝุ่นพิษได้มากน้อยขนาดไหน เพื่อให้สามารถเลือกซื้อได้อย่างถูกประเภทและมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดย "กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข" ได้ให้ข้อมูลเอาไว้ ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
1. หน้ากากอนามัยทางการแพทย์
สามารถป้องกันเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ และสารคัดหลั่งจากผู้อื่น ผลิตจากพลาสติกพอลิโพรพิลีน ที่มีความปลอดภัย และป้องกันเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัสจากคนสู่คนได้ถึง 99% แต่ไม่สามารถป้องกัน PM 2.5 ได้
2. หน้ากากคาร์บอน
สามารถป้องกันเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ และสารคัดหลั่งจากผู้อื่น สามารถกรองกลิ่นได้ มีคุณสมบัติไม่ต่างจากหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ แต่จะมีความพิเศษขึ้นมา คือมีชั้นคาร์บอนที่สามารถกรองกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้ดีกว่า และช่วยกรองฝุ่นละอองขนาด 3 ไมครอน ได้ถึง 66.37% ไม่สามารถป้องกัน PM 2.5 ได้
3. หน้ากาก N95
สามารถป้องกันเชื้อไวรัส แบคทีเรีย ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ และสารคัดหลั่งจากผู้อื่น สามารถกรองกลิ่นได้ ทั้งยังดักจับอนุภาคขนาดเล็กได้ ไม่น้อยกว่า 95% และสามารถป้องกันเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพสูงกว่าหน้ากากอนามัยแบบทั่วๆ ไป สามารถป้องกัน PM 2.5 ได้ในระดับดีมาก
4. หน้ากากผ้า
สามารถป้องกันฝุ่นละออง และน้ำมูก น้ำลาย จากการไอหรือจามได้ แต่ไม่สามารถกรองเชื้อโรคที่มีขนาดเล็กมากๆ ได้ จึงไม่สามารถป้องกัน PM 2.5 ได้
5. หน้ากากฟองน้ำ
สามารถป้องกัน แบคทีเรีย ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ หน้ากากชนิดนี้ใช้สำหรับกรองอากาศโดยเฉพาะ สามารถซักทำความสะอาดได้ แต่ประสิทธิภาพน้อยที่สุดและ ไม่สามารถป้องกัน PM 2.5 ได้
6. หน้ากาก FFP1
สามารถกรองฝุ่นควัน และเชื้อโรคได้ดีพอๆ กับหน้ากาก N95 สามารถดับจากอนุภาคขนาดเล็ก PM 2.5 และ PM 10 ได้ไม่น้อยกว่า 94% นอกจากนี้ยังสามารถป้องกันสารเคมีโฟมโลหะ ได้อีกด้วย จึงสามารถป้องกัน PM 2.5 ได้ในระดับดีมาก
7. หน้ากาก Super 3D
หน้ากากกันฝุ่นสัญชาติญี่ปุ่น ที่มีความยืดยุ่นของสายคล้องหูสูง สามารถป้องกันเชื้อไวรัส อีกทั้งสามารถป้องกัน PM 2.5 ได้อีกด้วย
8. หน้ากากแบบมีวาล์ว
มีประสิทธิภาพที่ใกล้เคียงกับ หน้ากาก N95 สามารถช่วยป้องกันอนุภาคต่างๆ เมื่อไอ จาม หรือหายใจ ละอองน้ำลายก็จะออกมาตามวาล์วที่อยู่ด้านหน้าได้ จึงสามารถป้องกัน PM 2.5 ได้เป็นอย่างดี
จากข้อมูลข้างต้นจึงสามารถสรุปได้ว่า หน้ากากอนามัยที่สามารถช่วยป้องกันฝุ่นพิษ PM 2.5 ได้ ก็คือ หน้ากาก N95, หน้ากาก FFP1, หน้ากาก Super 3D และหน้ากากแบบมีวาล์ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หน้าหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ก็สามารถป้องกันฝุ่นพิษได้ในระดับเบื้องต้น และมีข้อแนะนำว่าควรสวมถึง 2 ชั้น จึงจะช่วยป้องกันได้ ดังนั้นเราจึงควรตระหนัก และดูแลตัวเองให้ปลอดภัยก่อนที่ผลกระทบอันร้ายแรงจะตามมา
สำหรับความอันตรายของ "ฝุ่น PM 2.5" ที่เกินมาตรฐานนั้น อย่างที่รู้กันว่ามันสามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้อย่างชัดเจน เช่น แสบตา คันตา น้ำตาใหล คัดจมูก มีน้ำมูกแสบจมูก แสบคอ ไอแห้ง คันตามร่างกาย รวมถึงอาการในระดับรุนแรง เช่น แน่นหน้าอก ทำให้หายใจลำบาก หรือหายใจมีเสียงหวีด และเหนื่อยง่ายขึ้น
เมื่อทราบถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเราและคนในครอบครัว ตั้งแต่ระดับความรุนแรงปกติ ไปจนถึงระดับความรุนแรงที่อันตรายแล้ว เราจึงควรเฝ้าระวังและป้องกันตนเองจากฝุ่นพิษ โดยมีคำแนะนำในการดูแลตัวเองเบื้องต้น ดังนี้
1. ติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศ จากสื่อหรือช่องทางต่างๆ เช่นโทรทัศน์ วิทยุชุมชน หรือสื่อโซเชียลมีเดีย
2. ประเมินตนเองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ เช่น อาชีพที่อยู่กลางแจ้ง ต้องสัมผัสฝุ่นเป็นระยะเวลานาน หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง รวมทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงมีครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
3. ในช่วงที่ฝุ่นละอองสูง ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมนอกบ้านให้น้อยลง การอยู่บ้านจึงปลอดภัยที่สุดในช่วงเวลาแบบนี้
4. ถ้าจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่ ที่ต้องเสี่ยงต่อฝุ่นสูง ให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่นไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัย N95 หน้ากาก FFP1 หน้ากาก Super 3D หน้ากากแบบมีวาล์ว และหน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบสวมสองชั้น
5. ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดในช่วงที่ค่าฝุ่นสูง ควรทำความสะอาดบ้านอยู่เสมอ โดยการเช็ด และถู
6. สังเกตอาการผิดปกติของร่างกายตัวเอง และคนในครอบครัว
ทั้งนี้ทั้งนั้นการเลือกใช้หน้ากากอนามัยชนิดต่างๆ สามารถช่วยป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้ก็จริง แต่การดูแลตัวเอง รวมถึงปฏิบัติตามคำแนะนำเบื้องต้นร่วมด้วย จะสามารถป้องกันภัยจากฝุ่นพิษได้มากยิ่งขึ้น
--------------------------------
อ้างอิง : anamai.moph, multimedia.anamai, listsothebysrealty, tropmedhospital