13 กุมภา 'วันถุงยางอนามัยสากล" ป้องกันท้อง ป้องกันโรคติดต่อทางเพศ

13 กุมภา 'วันถุงยางอนามัยสากล" ป้องกันท้อง ป้องกันโรคติดต่อทางเพศ

เริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก หลายคนจะนึกถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ วันนี้ 'กรุงเทพธุรกิจ' ชวนมารู้จัก ' 13 กุมภาพันธ์ 'วันถุงยางอนามัยสากล  หรือ International Condom Day'  

 

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่าก่อนวันวาเลนไทน์ 1 วัน วันที่ 13 กุมภาพันธ์ ของทุกปี จะเป็น "วันถุงยางอนามัยสากล" ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิ เอดส์ เฮลท์ แคร์ (เอเอชเอฟ) เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทั่วไป เห็นถึงความสำคัญของการใช้ถุงยางอนามัยเพื่อการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยที่สำคัญเพื่อสร้างความตระหนักว่าการใช้ถุงยางอนามัยนั้นเป็นเรื่องปกติที่ไม่น่าอาย แต่คือการดูแลตัวเองและมีเพศสัมพันธ์อย่างรับผิดชอบ

ประวัติถุงยางอนามัย มีประวัติการใช้มายาวนานตั้งแต่สมัยโรมันและอียิปต์โบราณ ระยะแรกทำจากลำไส้ของแกะหรือแพะ ต่อมาทำด้วยยางธรรมชาติและพลาสติกพอลิเมอร์ ปัจจุบันถุงยางอนามัยมีการพัฒนาและการผลิตในรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เพื่อสนองรสนิยมและความต้องการที่หลากหลาย

ข้อมูลจากการสำรวจเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี (BSS) ของกองระบาดวิทยาปี 2562 พบว่า เยาวชนมีอัตราการใช้ 'ถุงยางอนามัย' เมื่อมีเพศสัมพันธ์ครั้งล่าสุด ประมาณร้อยละ 80 ซึ่งยังมีบางส่วนที่ยังไม่ใช้ 'ถุงยางอนามัย' เมื่อมีเพศสัมพันธ์   

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

"ถุงยางอนามัย" ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ว่ากันว่า การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกันก่อให้เกิดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มากมาย ซึ่งจากการสำรวจ พบว่าสถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ของประเทศไทย ในปี 2563 อัตราป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 5 โรคหลัก ในทุกกลุ่มอายุ คิดเป็นร้อยละ 33.6 ต่อประชากรแสนคน

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่มีอัตราป่วยสูงสุดและมีแนวโน้มสูงขึ้น คือ

  1. โรคซิฟิลิส ร้อยละ 16.4 ต่อประชากรแสนคน
  2. โรคหนองใน ร้อยละ 11.9 ต่อประชากรแสนคน
  3. โรคหนองในเทียม ร้อยละ 3.1 ต่อประชากรแสนคน
  4. โรคแผลริมอ่อน ร้อยละ 1.8 ต่อประชากรแสนคน
  5. โรคกามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง ร้อยละ 0.4 ต่อประชากรแสนคน

โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนอายุ 15-24 ปี มีอัตราป่วย

  • โรคซิฟิลิสค่อนข้างสูงในรอบ 5 ปี จากปี 2559 เท่ากับร้อยละ 13.7 เพิ่มเป็นร้อยละ 50.4 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2563
  • อัตราป่วยด้วยโรคหนองในเท่ากับร้อยละ 58.8 ต่อประชากรแสนคน และคาดว่าในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของถุงยางอนามัย นอกจากจะใช้เพื่อคุมกำเนิด ป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ (Unplanned Pregnancy) แล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำหรับป้องกันการติดโรคทางเพศสัมพันธ์ที่ดี เนื่องจากถุงยางอนามัยมีราคาถูก สามารถหาซื้อได้ง่าย และมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสูง

ในประเทศไทยมียอดขายถุงยางอนามัยกว่า 70 ล้านชิ้นต่อปี ทั้งถุงยางอนามัยแบรนด์ไทยและแบรนด์นอก แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าถุงยางอนามัยแจกฟรีหรือที่อยู่ในตู้ขายอัตโนมัตินั้น มีคุณภาพเท่าเทียมกับถุงยางอนามัยที่วางขายตามร้านสะดวกซื้อ เพราะผู้ผลิตถุงยางจะใช้เครื่องผลิตตัวเดียวกัน 

 

แจกถุงยางอนามัย ฟรี ผ่าน แอปเป๋าตัง

ในปี 2566 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดินหน้าสนับสนุนบริการ 'แจกถุงยางอนามัยฟรี' ต่อเนื่อง เบื้องต้นได้เตรียมถุงยางอนามัยจำนวน 94,566,600 ชิ้น และสารหล่อลื่น

สำหรับกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนผู้มีสิทธิบัตรทอง 30 บาทที่อยู่ในวัยเจริญพันธ์ ซึ่งจะได้รับถุงยางอนามัยครั้งละ 10 ชิ้น/คน/สัปดาห์ ไม่เกิน 52 ครั้ง/คน/ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

โดยสามารถเข้ารับบริการถุงยางอนามัยได้ที่หน่วยบริการประจำและหน่วยบริการปฐมภูมิ หน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านเวชกรรม ด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ด้านบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ร้านยา และคลินิกชุมชนอบอุ่น เป็นต้น ด้วยการลงทะเบียนผ่านแอบพลิเคชัน “เป๋าตัง” บนสมาร์ทโฟน และในกรณีผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน สามารถใช้บัตรประชาชนลงทะเบียนรับบริการได้ที่หน่วยบริการโดยตรง

ในส่วนของหน่วยบริการที่มีศักยภาพด้านเอชไอวี สปสช.ยังคงสนับสนุนการให้บริการถุงยางอนามัย สารหล่อลื่น และบริการด้านเอชไอวีตามสิทธิประโยชน์เช่นเดิม

"การรับถุงยางอนามัยผ่าน ตู้จ่ายถุงยางอนามัยอัตโนมัติ” ซึ่งทำได้ด้วยขั้นตอนง่ายๆ เพียงแค่ใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดยืนยันการใช้สิทธิบัตรทอง โดยมีถุงยางอนามัย 4 ขนาด ให้เลือกตามความเหมาะสมของบุคคล คือ 1.ถุงยางอนามัย ขนาด 49 มม. 2.ถุงยางอนามัย ขนาด 52 มม. 3.ถุงยางอนามัย ขนาด 54 มม. และ 4.ถุงยางอนามัย ขนาด 56 มม.  ซึ่งจะได้รับถุงยางอนามัยครั้งละ 10 ชิ้นต่อครั้งต่อสัปดาห์ โดยรับได้ไม่เกิน 52 ครั้ง/คน/ปี"

 

นำร่องเมืองพัทยาตั้ง 'ตู้จ่ายถุงยางอัตโนมัติ'14 ก.พ.นี้

จากข้อมูลโดยกรมอนามัย ปี 2564 ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี ประสบปัญหาท้องไม่พร้อมจำนวน 25 ต่อ 1,000 ประชากร ขณะเดียวกันยังเป็นการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อาทิ โรคซิฟิลิส โรคมะเร็งปากมดลูกจากเชื้อเอชพีวี หนองใน หนองในเทียม และเอดส์ เป็นต้น ให้กับประชาชนทุกลุ่มเพศและวัย

สปสช. ร่วมกับเมืองพัทยา พร้อมผนึกพลังภาคีเครือข่าย เปิดตัวโครงการ 'เลิฟปัง รักปลอดภัย แก้ปัญหาท้องไม่พร้อม ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์' พร้อมเปิดตัว 'ตู้จ่ายถุงยางอัตโนมัติ' นำร่องติดตั้ง 3 จุดบริการเมืองพัทยา สาธิตการรับบริการ ใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดยืนยันใช้สิทธิบัตรทอง  เป้าหมายของการจัดงานในครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้ทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน และประชาชน ร่วมกันตระหนักต่อการแก้ปัญหาท้องไม่พร้อม โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในงานนี้จะเป็นการเริ่มให้บริการถุงยางอนามัยให้กับผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ผ่าน 'ตู้จ่ายถุงยางอัตโนมัติ' เป็นวันแรก เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงบริการถุงยางอนามัยให้กับประชาชนที่ง่าย สะดวกในการเข้ารับบริการ เพียงใช้บัตรประชาชนสมาร์ทการ์ดยืนยันการใช้สิทธิเท่านั้น

โดยขณะนี้ได้ทำการติดตั้งตู้จ่ายถุงยางอนามัยอัตโนมัติแล้วนำร่องในเมืองพัทยาก่อนในพื้นที่ 3 จุดบริการ ได้แก่

  • บริเวณอาคารท่าข้ามเรือแหลมบาลีฮาย
  • โรงพยาบาลเมืองพัทยา
  • ตลาดเทพประสิทธิ์

ซึ่งได้รับความร่วมมือด้วยดีจากเมืองพัทยาและบริษัท เมืองพัฒนา จำกัด (ผู้ดูแลตลาดเทพประสิทธิ์) และในอนาคตจะมีการขยายติดตั้งเพิ่มเติมในจังหวัดอื่นๆ ต่อไป 

 

ทำความรู้จัก ชนิดของถุงยางอนามัย 

ว่ากันว่า 'ถุงยางอนามัย' ในปัจจุบันมีเพียง 2 ชนิด คือ ชนิดที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติและจากสารสังเคราะห์ ส่วนชนิดที่ทำจากลำไส้สัตว์ ปัจจุบันไม่ได้รับความนิยมแล้ว

 

  • ถุงยางชนิดที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติ (rubber condom or latex condom) 

ข้อดี คือ ราคาถูก ยืดหยุ่นได้ดีกว่าชนิดที่ทำจากลำไส้สัตว์ การสวมใส่กระชับรัดแนบเนื้อ สามารถใช้ได้ทั้งเพื่อการคุมกำเนิดและป้องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ข้อด้อย คือ ไม่สามารถใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นประเภทที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม หรือน้ำมันหล่อลื่นผิวหนัง พวก Mineral oil ได้ เพราะจะทำให้โครงสร้างของน้ำยางเสื่อมลง ส่งผลต่อคุณภาพและการป้องกัน แต่ใช้ได้กับสารหล่อลื่นชนิดที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก (water-based lubricant)

 

  • ถุงยางชนิดที่ทำจาก Polyurethane หรือ Polyisoprene (ถุงยางพลาสติก) 

โดยแก้ไขข้อด้อยของถุงยางจากน้ำยางธรรมชาติ คือ เหนียวกว่า ทนต่อการฉีกขาด เหมาะสำหรับผู้ที่กลัวแพ้ยางพารา สามารถใช้สารหล่อลื่นที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม หรือน้ำมันหล่อลื่นผิวหนัง พวก Mineral oil ได้ และที่สำคัญคือสามารถทำให้บางได้ถึง 01 มิลลิเมตร ทำให้รู้สึกเสมือนไม่ได้ใส่อะไรเลย (feels like not wearing anything) แต่ราคาอาจสูงกว่าแบบน้ำยางพารา

 

เลือกขนาดถุงยางอนามัยให้เหมาะกับตัวคุณผู้ชาย

ถุงยางอนามัยที่เหมาะสมกับแต่ละคน สามารถสังเกตตัวเองได้เมื่ออวัยวะเพศมีการแข็งตัวเกิดขึ้น โดยทั่วไปจะขยายได้ใหญ่กว่าเดิม 3-5 เท่า การแข็งตัวเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำเป็นลำยาวตลอดองคชาตที่เรียกว่า corpora cavernosa เริ่มเต็มไปด้วยเลือดที่ถูกสูบฉีดมาหล่อเลี้ยง เมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศ

"การเลือกขนาดถุงยางอนามัย ควรเลือกให้พอดี ไม่หลวม หรือคับแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้ฉีกขาดง่าย หรือหลุดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งขนาดของถุงยางจะแตกต่างกันไปตามแต่ละยี่ห้อ โดยวัดจากเส้นรอบวงองคชาต ไม่ใช่ความยาว"

ถุงยางอนามัยเกือบทุกยี่ห้อ จะทำความยาวมาเท่า ๆ กัน คือประมาณ 6-7 นิ้วเท่านั้น ใครที่มีอวัยวะเพศที่ยาวกว่านี้ก็อาจไม่สามารถครอบได้หมด

ถุงยางอนามัย จะบอกเส้นรอบวงเป็นมิลลิเมตร ดังนี้

  • ถุงยางอนามัย ขนาด 49 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 11-12 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 5 นิ้ว)
  • ถุงยางอนามัยขนาด 52 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 12-13 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 5 นิ้ว)
  • ถุงยางอนามัย ขนาด 54 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 13-14 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 5 นิ้ว)
  • ถุงยางอนามัยขนาด 56 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 14-15 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 6 นิ้วขึ้นไป)

 

ประโยชน์ของ 'ถุงยางอนามัย' ที่ควรรู้

  • คุมกำเนิด ถุงยางจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดถึง 98 % หากใช้อย่างถูกวิธี
  • ป้องกันการติดเชื้อ HIV 70-87 % ในกลุ่มชายรักชายและมากกว่า 90 %ในกลุ่มคู่รักชายหญิง (กลุ่มชายรักชาย ถุงยางอนามัยมีเปอร์เซ็นต์ป้องกันต่ำกว่า เนื่องจากมีการร่วมเพศทางทวารหนักเป็นหลัก ซึ่งอาจมีการฉีกขาดของทวารหนักระหว่างร่วมเพศ จึงมีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อ HIV มากกว่าการร่วมเพศแบบปกติของชายหญิง)
  • ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคเริม โรคตับอักเสบบี โรคหูดหงอนไก่ โรคหนองในแท้และเทียม โรคซิฟิลิส ได้ 50-90%

 

HPV กับโรคที่ไม่ควรมองข้ามในผู้ชาย

เชื้อ human papillomavirus (HPV) เป็นกลุ่มเชื้อไวรัสที่มีมากกว่า 150 สายพันธุ์และสามารถติดได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง การติดเชื้อส่วนใหญ่มักไม่มีอาการและสามารถหายไปได้เอง ในบางรายมีภูมิต้านทานไม่ดี อาจส่งผลให้เกิดหูดที่ผิวหนัง อวัยวะเพศ คอหอย ทวารหนัก แต่ HPV บางสายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่ 16 และ 18 อาจทำให้เกิดมะเร็งได้ เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคอ (จากการใช้ปากกับอวัยวะเพศของฝ่ายตรงข้าม) มะเร็งองคชาต มะเร็งทวารหนัก เป็นต้น

จากรายงานในวารสาร Journal of Lower Genital Tract Disease ปี ค.ศ. 2011 ให้รายละเอียดว่า 90% ของมะเร็งทวารหนักเกิดจากการติดเชื้อ HPV โดยเฉพาะสายพันธุ์ 16 และ 18 และ ประมาณ 6 ใน 10 ของมะเร็งองคชาติและ 7 ใน 10 ของมะเร็งในช่องปากและลำคอมีความเกี่ยวกับของกับการติดเชื้อ HPV ด้วยเช่นกัน และกลุ่มที่เสี่ยงมากในการเกิดมะเร็งเหล่านี้คือกลุ่มชายรักชาย (Men who have sex with men)

แม้การใช้ถุงยางอนามัย จะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ 100% แต่การฉีดวัคซีน HPV ในเด็กชายและหญิงตั้งแต่อายุ 9 ปี จะสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่รุนแรงได้ และสามารถฉีดได้ถึงอายุ 26 ปี หากอายุเกินกว่านี้ วัคซีนจะสามารถป้องกันเฉพาะสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยติดเชื้อมาก่อนเท่านั้น ซึ่งควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมหากต้องการดูแลตนเองด้วยวัคซีน

 

 

อ้างอิง : พญ. สมรรจน์ ลิ้มมหาคุณ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลสมิติเวช