พบเชื้อแบคทีเรียชนิด อี.โคไลใน "น้ำแข็งหลอด" เจ้าดัง

พบเชื้อแบคทีเรียชนิด อี.โคไลใน "น้ำแข็งหลอด" เจ้าดัง

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบแบคทีเรียชนิดโคลิฟอร์ม มากกว่า 23 ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร ในน้ำแข็งหลอด บริษัท วัชรพลน้ำแข็งหลอด จำกัด เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สุ่มเก็บตัวอย่างอาหารที่ผลิตเพื่อจำหน่าย จากสถานที่ผลิตอาหารชื่อ บริษัท วัชรพลน้ำแข็งหลอด จำกัด เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยฉลากผลิตภัณฑ์ระบุ "น้ำแข็งหลอดใช้รับประทานได้ เลขสารบบอาหาร 10-1-05341-1-0001 ผลิตโดย บริษัท วัชรพลน้ำแข็งหลอด จำกัด ...93/4 ซ.วัชรพล (รามอินทรา 55) แขวงท่าแร้ง เขตบางเขน กรุงเทพฯ"

ส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลการตรวจ พบแบคทีเรียชนิดโคลิฟอร์ม มากกว่า 23 ต่อน้ำ 100 มิลลิลิตร โดยวิธี เอ็ม พี เอ็น (Most Probable Number) และตรวจพบแบคทีเรียชนิด อี.โคไล (Escherichia coli) ซึ่งไม่เป็นไปตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 78 (พ.ศ. 2527) เรื่อง น้ำแข็ง จึงจัดเป็นอาหารผิดมาตรฐาน มีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

อย. อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำความผิด จึงขอให้ผู้บริโภคระมัดระวังการซื้อและบริโภคผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

สำหรับแบคทีเรียชนิด อี.โคไล คือ แบคทีเรียที่พบได้ในลำไส้ของคนและสัตว์ หลายสายพันธุ์ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทว่าบางสายพันธุ์เมื่อเข้าสู่ร่างกายผ่านการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ อาจก่อให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องเสีย หรือมีไข้ ซึ่งอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นและอาจหายเป็นปกติได้เอง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง เช่น อุจจาระมีเลือดปน มีภาวะขาดน้ำ หรือไตวาย ควรรีบไปพบแพทย์ทันที

 

พบเชื้อแบคทีเรียชนิด อี.โคไลใน \"น้ำแข็งหลอด\" เจ้าดัง

การได้รับเชื้อ E. coli แม้ในปริมาณเพียงเล็กน้อยก็อาจก่อให้เกิดอาการป่วยได้ โดยสาเหตุทั่วไปที่อาจทำให้ได้รับเชื้อ มีดังนี้

  • การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเฉพาะอาหารที่ผ่านกรรมวิธีการปรุงที่ไม่สะอาด ปรุงไม่สุก หรือเก็บรักษาอย่างไม่เหมาะสม เช่น เนื้อสัตว์ดิบ อาหารทะเลดิบ ผักและผลไม้สด นมที่ไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์ เป็นต้น
  • การนำนิ้วมือที่สัมผัสกับสิ่งของที่ปนเปื้อนเชื้อเข้าปาก
  • การสัมผัสสัตว์ที่ติดเชื้อหรือมูลสัตว์ที่มีเชื้อปะปน โดยเฉพาะวัว แพะ และแกะ
  • การสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ
  • การว่ายน้ำในสระน้ำหรือแหล่งน้ำที่มีเชื้อปะปน

โรคติดเชื้อ E. coli มีโอกาสเกิดขึ้นกับคนทุกเพศ ทุกวัย ทว่าบุคคลบางกลุ่มอาจเสี่ยงติดเชื้อชนิดนี้ได้มากกว่าคนทั่วไป ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ผู้ที่รับประทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ และผู้ที่มีระดับกรดในกระเพาะอาหารต่ำอย่างผู้ที่กำลังใช้ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร

ข้อแนะนำ

พบผลิตภัณฑ์สุขภาพที่สงสัยว่าจะไม่ปลอดภัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่ สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line@FDAThai, Facebook : FDAThai หรือ E-mail : [email protected] ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ

 

ข้อมูลประกอบจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) , pobpad