"ไขมันในเลือดสูง" ไม่มีอาการ เสี่ยงเสียชีวิตฉับพลันแม้ออกกำลังกาย

"ไขมันในเลือดสูง" ไม่มีอาการ เสี่ยงเสียชีวิตฉับพลันแม้ออกกำลังกาย

"ไขมันในเลือดสูง" เป็นความเสี่ยงแม้อายุยังน้อย มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดี ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ หรือเป็นทั้งนักกีฬา นักวิ่งที่สุขภาพร่างกายแข็งแรงแบบสุดๆ แต่พอมาวันหนึ่งกลับเสียชีวิตแบบฉับพลัน เพราะก่อนหน้านี้ไม่มีอาการอะไรเป็นสัญญาณเตือนทั้งสิ้น

Key Point :

  • "ไขมันในเลือดสูง" ภาวะที่คนไทยตรวจพบแล้วไม่กลัว ไม่มีอาการ ออกกำลังกายหนักเสี่ยงเสียชีวิตฉับพลัน
  • LDL ไขมันร้าย ที่ต้องเช็ก สูงระดับ 160 เป็นเวลานานๆ หรือเกิน 190 ต้องรับประทานยา ปรึกษาแพทย์
  • ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง มาจากกรรมพันธุ์ การรับประทานอาหารผิดหลักโภชนาการ การใช้ยาบางชนิด ตั้งครรภ์ สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะขาดการออกกำลังกาย

  • ปรับไลฟ์สไตล์  หยุดสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย(ไม่หนัก) หมั่นตรวจสุขภาพ รับประทานอาหารสุขภาพ และปรึกษาแพทย์

จากเอกสารนำเสนอข้อมูล “การปรับภูมิทัศน์นโยบายการเข้าถึงการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดในประเทศไทย” ซึ่งจัดทำโดย บุคลากรทางการแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า

"ประเทศไทยมีประชากรที่ป่วยเป็น โรคหัวใจและหลอดเลือดสูง ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยพบจำนวนผู้ป่วย 8.4 รายต่อประชากร 100 คน ซึ่งมี 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และภาวะไขมันในเลือดสูง"

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบ 3 ปัจจัยที่นำไปสู่โรคหัวใจ และหลอดเลือด ผลสำรวจ พบว่า คนไทยตื่นตัวกับ โรคเบาหวาน และ โรคความดันโลหิตสูง เพราะคนไทยได้ยิน และรู้จักเกี่ยวกับสองโรคนี้กันมานาน จึงกลัวว่าตนเองจะเป็น แต่เมื่อตรวจพบไขมันในเลือดสูงกลับไม่ค่อยกลัว

กระทรวงสาธารณสุข ได้ริเริ่มโครงการรณรงค์เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบครอบคลุม ทำให้ในผลการสำรวจระหว่างปี 2547-2557 มีคนไทยเข้าถึงการตรวจคัดกรองภาวะไขมันในเลือดสูงเพิ่มขึ้น โดยอัตราการวินิจฉัยภาวะไขมันในเลือดสูงยังคงต่ำกว่าโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงอยู่ โดยอยู่ที่ 37.5% เทียบกับโรคเบาหวานที่ 69.4% และโรคความดันโลหิตสูงที่ 51.2%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"ไขมันในเลือดสูง" ภัยร้ายสู่ "โรคหัวใจและหลอดเลือด" ที่ถูกมองข้าม

ไขมันในเลือดสูงเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด

รู้จักไขมัน 4 ชนิด ห่างไกลโรคหัวใจและหลอดเลือด

 

นักกีฬาฟิตปั๋งไขมันสูง เสี่ยง Heart attack  หัวใจขาดเลือดรุนแรง

โรคไขมันในเลือดสูง” เกิดจากการมีระดับไขมันในเลือดสูง ซึ่งมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งประวัติครอบครัว การสูบบุหรี่  พฤติกรรมการใช้ชีวิต การรับประทานอาหาร และปัจจัยทางกรรมพันธุ์ 

นพ. อกนิษฐ์ ศรีสุขวัฒนา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์ กล่าวว่าคนที่ไขมันสูงมากและเป็นเวลานาน จะสามารถพบได้ 2 รูปแบบ คือ  

1. ไขมันสูงที่เกิดจากคราบไขมันแบบค่อยเป็นค่อยไป และค่อยๆ หนาขึ้น ค่อยๆ มีหินปูน รูเส้นเลือดหัวใจจากโล่งดีจะค่อยๆตีบแคบ จนเส้นผ่าศูนย์กลางหลอดเลือด ตีบแคบเกิน 80%  ก็จะเริ่มมีอาการเจ็บหน้าอก ขณะออกแรง เป็นๆหาย ออกกำลังเจ็บ พักหาย กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่โชคดี เพราะมีอาการให้เห็นอย่างชัดเจน และมักจะได้รับการตรวจ เมื่อพบแพทย์จะทำการรักษา ทั้งการเดินสายพาน ฉีดสี ทำบอลลูน ใส่ขดลวด ทำให้ไม่เสียชีวิตจาก Heart attack

2.กลุ่มที่มีคราบไขมันมากขึ้น หนาขึ้น มีการอักเสบคราบไขมันแต่เส้นเลือดไม่ตีบ หรือตีบเล็กน้อย

กลุ่มนี้อันตรายอย่างมาก  เพราะไม่มีอาการใดๆ ยังแข็งแรง ความฟิตสูง  เวลาวิ่ง ทำกิจกรรม ออกกำลังกายยังสามารถทำได้ปกติ  แต่เหมือนระเบิดเวลา หากออกกำลังมากกว่าที่เคย หรือไปเล่นกีฬาหนักๆ หลอดเลือดที่มีคราบไขมันที่สะสมอยู่ที่ผนังของหลอดเลือดชั้นใน ผสมพังผืดจับตัวเป็นแผ่นนูนหรือพลัค (Plaque) เยอะๆ หนาๆ เกิดการหลุด เราเรียกว่า Plaque rupture  ที่หลอดเลือด ร่างกายเข้าใจว่าเกิดแผล นำเอาเกร็ดเลือด ก้อนเลือดมาอุด เกิดเส้นเลือดอุดตัน 100%  นักวิ่ง นักกีฬาจะเกิด Heart attack  หัวใจขาดเลือดรุนแรง จนกระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง นำไปสู่หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้ถ้าได้รับการรักษา รวดเร็ว ก่อนหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง ก็รอดชีวิต แต่เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะแล้ว โอกาสเสียชีวิตสูง

 

4 ชนิดของไขมันในเลือดเป็นอย่างไร?

1.คอเลสเตอรอล เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสามารถสังเคราะห์ขึ้นได้เองจากตับและลำไส้ หรือได้รับจากสารอาหารที่รับประทานเข้าไป อาหารที่มาจากพืชจะไม่พบคอเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบ จะพบมากในไขมันสัตว์ ปริมาณไขมันขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร คอเลสเตอรอลมีความสำคัญต่อร่างกาย เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของเซลล์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง แต่หากมีไขมันคอเลสเตอรอลมากเกินไปก็จะเป็นโทษต่อร่างกายเช่นกัน

ไขมันเหล่านี้จะไปสะสมอยู่ตามผนังหลอดเลือดแดงทั่วร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ทำให้เกิดเส้นเลือดแข็งตัว และการตีบตันของหลอดเลือดในอนาคต จะเป็นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปริมาณคอเลสเตอรอล และปัจจัยเสี่ยงร่วมด้วย เช่นความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน การสูบบุหรี่ ความอ้วน และไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น

คนปกติจะต้องมีค่าคอเลสเตอรอลรวมน้อยกว่า 200 มก./ดล. ไตรกลีเซอไรด์น้อยกว่า 170 มก./ดล. ไขมันชนิดดี (HDL) ซึ่งเป็นไขมันที่ทำหน้าที่จับคอเลสเตอรอลจากเซลล์ของร่างกายและนำไปกำจัดทิ้งที่ตับ ควรมีค่ามากกว่า 60 มก./ดล. ส่วนไขมันชนิดไม่ดี (LDL) ควรน้อยกว่า 130 มก./ดล.

2.High-Density Lipoprotein (HDL) เป็นไขมันชนิดดี มีความหนาแน่นสูง ทำหน้าที่จับไขมันคอเลสเตอรอลออกไปทำลายที่ตับ การมีไขมัน HDL สูงจะทำให้มีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดลดลง ซึ่งการทำให้ HDL สูงนั้นต้องออกกำลังกายเท่านั้น

3.Low-Density Lipoprotein (LDL) เป็นไขมันชนิดไม่ดีที่มาจากไขมันสัตว์ ถ้าไขมันชนิดนี้สูงจะไปเกาะผนังหลอดเลือดทำให้ตีบแคบลง การไหลเวียนของเลือดไม่สะดวก ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเสียไป จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคเส้นเลือดตีบตันได้มาก

4.ไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายสร้างขึ้นเองจากน้ำตาล และแป้ง หรือจากอาหารที่รับประทานเข้าไป มีความสำคัญทางด้านโภชนาการหลายประการ นับตั้งแต่ให้พลังงาน ช่วยในการดูดซึมวิตามิน เอ ดี อี และเค ช่วยทำให้รู้สึกอิ่มท้องได้นาน

 นอกจากนี้ ร่างกายยังเก็บสะสมไตรกลีเซอไรด์ไว้สำหรับให้พลังงานเมื่อมีความต้องการ การมีไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง หรือพบว่าไขมันในเลือดสูงในคนที่มีคอเลสเตอรอลสูงอยู่แล้ว เชื่อว่ามีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้น ระดับปกติในเลือด ไม่ควรเกิน 150 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตร (ค่าปกติ 50 – 150 mg/dl)

LDL ไขมันร้าย ที่ต้องรักษาระดับสูงเกิน 190 ต้องรับประทานยา 

“ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่ที่อายุเกิน 35 ปีเสียชีวิต จากการแข่งขันกีฬา จากการวิ่งล้วนไม่ได้เกิดจากคนทีมีโรคประจำตัว อย่าง โรคเบาหวาน หรือหัวใจ เพราะกลุ่มเหล่านี้จะได้รับการดูแล และกำหนดให้ไม่ออกกำลังมากเกินไป แต่กลุ่มที่เสียชีวิตกลับเกิดจากคนที่มีไขมันในเลือดสูงเป็นโรคประจำตัวมานาน ร่างกายยังแข็งแรง เส้นยังไม่ตีบ เมื่อทำกิจกรรมหนักๆ กลับทำให้เสียชีวิต ดังนั้น จึงควรให้ความสำคัญกับไขมันในเลือด ให้มากขึ้น เพราะเป็นโรคที่อันตรายทำให้เสียชีวิตได้ง่าน และไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมา” นพ. อกนิษฐ์ กล่าว

ยิ่งไขมันสูง ตอนอายุน้อย ยิ่งต้องให้ความสำคัญมากกว่าหรือเท่ากับคนอายุเยอะเพราะการเกิดคราบไขมันในหลอดเลือด เกิดจาก 2 ปัจจัย คือ 1.ระดับความสูงของ LDL 2.ระยะเวลา ที่ระดับ LDL สูง เพราะยิ่งสูงมากขึ้น โอกาสเกิดโรคยิ่งเร็ว ระดับLDL สูงแต่อายุน้อยยิ่งต้องดูแลตัวเอง จัดการตัวเองให้มากขึ้น เพราะต้องอยู่กับไขมันสูงไปอีกยาวนานกว่าคนอายุมาก

ดร.พญ.ถิรจิต บุญแสน อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ค่าผลเลือดที่ใช้วัดค่าไขมันนั้น จะมีการรายงานชนิดของไขมันในเลือด อยู่ 4 ประเภทหลักๆ คือ คอเลสเตอรอล  ,High-Density Lipoprotein (HDL) เป็นไขมันชนิดดี , Low-Density Lipoprotein (LDL) ) เป็นไขมันชนิดไม่ดี และไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride)

ไขมันตัวที่ร้ายมากๆ คือ LDL ที่มีการสะสมตามผนังหลอดเลือดตามร่างกาย รวมถึงค่าไตรกลีเซอไรด์ หากมีค่า 2 ตัวนี้ที่สูงมากๆ พบว่าจะทำให้เพิ่มโอกาสเป็นทั้งหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมองอย่างมาก ส่วน HDL ซึ่งเป็นไขมันดี ตัวนี้หากมีมากๆ กลับช่วยลดระดับ LDL ในเลือดและลดอัตราการเกิดหลอดเลือดหัวใจตีบ และหลอดเลือดสมองตีบได้

"กลุ่มที่ไม่มีอาการอะไรเลย แต่อยู่ๆ ค่าไขมันแตกอาจทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้ อยากให้ทุกคนการตรวจสุขภาพ เพื่อทำให้เกิดการรักษาอย่างเหมาะสม แต่ทั้งนี้ สำหรับการรักษานั้น หากค่าLDL อยู่ระดับ160 ไม่สูงเกิน 190 ก็ควรจะรับประทานยา ปรึกษาแพทย์ เช่นเดียวกัน หากมีค่า HDL ที่ต่ำ ค่าคอเลสเตอรอล ค่าไตรกลีเซอไรด์ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ก็ควรจะรีบปรึกษาแพทย์"ดร.พญ.ถิรจิต กล่าว

ปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง

  • กรรมพันธุ์
  • การรับประทานอาหารที่ผิดหลักโภชนาการ อย่าง

        -การรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก เช่น กะทิ เนื้อสัตว์ที่มีไขมันมาก อาหารทอดที่อมน้ำมัน

        -รับประทานอาหารทีมีส่วนประกอบที่มีน้ำตาลมาก

        -รับประทานอาหารเกินความจำเป็นของร่างกายใน 1 วัน

  • การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ในปริมาณมากและเป็นประจำ
  • โรคของต่อมไร้ท่อ เช่น เบาหวาน ไทรอยด์ และโรคของต่อมหมวกไตบางชนิด
  • โรคตับ โรคไตบางชนิด
  • การใช้ยาบางชนิด หรือโรคบางอย่าง เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาคุมกำเนิด โรคเบาหวาน โรคต่อมไทรอยด์ทำงานได้น้อย โรคไต เป็นต้น
  • การตั้งครรภ์
  • การดื่มแอลกอฮอล์
  • ภาวะขาดการออกกำลังกาย

“ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่น ที่สามารถใช้วัดค่าไขมันได้ โดยมีทั้งของไทยและต่างประเทศ ซึ่งของไทยได้แก่แอปฯ Thai CV Risk Score สามารถวัดได้ง่ายๆ เพียงกรอกข้อมูล แต่ในกลุ่มของผู้หญิงถ้าไม่ใส่ผลตรวจเลือด ข้อมูลอาจจะไม่แม่นยำมาก  และแอปฯของสหรัฐอเมริกา ASCVD PLUS แอปนี้จะมีความครอบคลุม และแม่นยำมากขึ้น  หรือไปตรวจที่โรงพยาบาล เพื่อจะได้ทราบผลค่าไขมันในเลือด อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือการดูแลตัวเอง" ดร.พญ.ถิรจิต กล่าว

เมื่อมีภาวะที่มีระดับกลุ่มไขมัน LDL สูง ถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือด และอัมพฤกษ์ อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง จากการที่ไขมันในเลือดสูงไปทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่แข็งตัว ซึ่งเรียกว่าโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)

ฉะนั้น  ผู้ที่ควรตรวจระดับไขมันในเลือด ควรตรวจเมื่ออายุเกิน 35 ปีขึ้นไป ถ้าปกติ และไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดตีบอื่นๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ และอายุยังไม่เกิน 45 ปี (ผู้ชาย) หรือ 55 ปี (สำหรับผู้หญิง) ไม่มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจในครอบครัวตั้งแต่อายุน้อย (ผู้ชายไม่เกิน 55 ปี และผู้หญิงไม่เกิน 65 ปี) และยังไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง ควรตรวจซ้ำในอีก 5 ปีข้างหน้า หากมีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวแล้วและตรวจพบไขมันในเลือดปกติก็ตรวจซ้ำในอีก 1-3 ปี

ปรับไลฟ์สไตล์เมื่อเป็นผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง

“การจะทำให้ HDL เพิ่มขึ้น สามารถทำได้จากการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์  อย่าง ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารสุขภาพ  เช่น ผัก ผลไม้ มะเขือเทศ หรืออาหารที่มีโอเมก้า 3 ซึ่งจะช่วยลดหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจอย่างชัดเจน มากกว่าการกินยาลดไขมันอย่างเดียว” ดร.พญ.ถิรจิต กล่าว

สิ่งที่ต้องทำเมื่อทราบว่าเป็นผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงมีดังนี้ 

1.เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร

- ลดปริมาณอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง ได้แก่ สมองสัตว์ ไข่แดง หอยนางรม ปลาหมึก กุ้ง เครื่องในสัตว์ โดยจำกัดให้ได้รับได้ไม่เกินละ 300 มิลลิกรัม ต่อวัน

- ลดอาหารที่มีปริมาณไขมันสูง เช่น ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ หมูสามชั้น หนังเป็ด – ไก่

- หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว

- การปรุงอาหารที่ใช้วิธี นึ่ง ต้ม  อบ ย่าง แทนการทอดหรือการใช้น้ำมันผัด

- งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์

2. ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

3. งดการสูบบุหรี่

4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เช่น วิ่งเหยาะ ๆ เดินเร็ว ปั่นจักรยาน ว่ายน้ำ อย่างน้อยวันละ 30 – 45 นาที สัปดาห์ละ 3 – 5 ครั้ง

5. หลีกเลี่ยงภาวะเครียด

อะไรควรทาน - ควรงด อาหารสำหรับผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูง

อาหารที่รับประทานได้      

  • เนื้อสัตว์และถั่วเมล็ดแห้ง อย่าง เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน เช่น ปลา อกไก่ หมูเนื้อแดง ถั่วเหลือง  ถั่วแดง เต้าหู้    
  • ธัญพืช เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต ก๋วยเตี๋ยวมันชนิดต่างๆ
  • ผักสด ผักต้ม หรือผักที่ทำให้สุกโดยไม่ใช้น้ำมัน ถั่วลันเตา ข้าวโพดอ่อน       
  • ผลไม้สด เช่น ส้มเขียวหวาน กล้วยส้มโอ ฝรั่ง มะม่วง แอปเปิ้ล  ลูกแพร์   ผลไม้แห้ง เช่นลูกพรุน
  • ไขมันจากพืช เช่น น้ำมันเมล็ดทานตะวัน น้ำมันข้าวโพด น้ำมันงา น้ำมันดอกคำฝอย น้ำมันสลัด ที่ทำจากพืชในปริมาณจำกัด
  • ขนมเค้กชนิดต่าง ๆ คุกกี้พายขนมหวานใส่กะทิ ขนมที่ทอดด้วยน้ำมัน ซุปอื่นๆ ช็อกโกแลต ทอฟฟี่ ลูกกวาด แกงกะทิ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

อาหารที่ควรลด

  • เนื้อสัตว์ติดมันทุกชนิด เครื่องในสัตว์ สมองสัตว์ หมูสามชั้น อาหารทะเล เช่น หอยนางรม ปลาหมึก
  • ข้าวมันไก่ กล้วยทอด มันทอดเผือกทอด ปาท่องโก๋ ข้าวเกรียบ
  • ผักที่ทำให้สุกโดยใช้น้ำมัน เช่นผักทอด ผักผัดน้ำมัน ผักราดกะทิ
  • อโวคาโด
  • ไขมันสัตว์ เช่น แคบหมู น้ำมันหมูน้ำมันมะพร้าว
  • วุ้นธรรมดา เยลลี่ ซุปใส(เอาไขมันออก) ซุปผัก      

รับประทานยาลดไขมันอย่างไร?

ยาลดไขมันมีหลายรูปแบบ อย่าง ยาสแตติน(Statin) เป็นยาที่นิยมในปัจจุบัน เพราะประสิทธิภาพดีที่สุดในการลดไขมัน ซึ่งไม่ได้ลดLDL จากการกิน แต่เป็นการลดไขมันที่สร้างที่ตับ แต่ทั้งนี้ ถึงแพทย์จะสั่งยาให้ทานก็ต้องควบคู่กับอาหารร่วมด้วย

สำหรับข้อควรทราบในการใช้ยาสแตติน

1. แม้ค่าไขมันจะอยู่ในระดับปกติ แต่ผู้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือสมองยังจำเป็นต้องได้รับยาสแตตินตลอดไป เพื่อป้องกันการกลับเป็นซ้ำของโรค

2. ผู้ที่ยังไม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองที่มีไขมันแอลดีแอลสูงในเลือดและมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคเท่านั้น ที่จะได้รับประโยชน์จากสแตติน โดยประเมินจากระดับแอลดีแอล และเอชดีแอล ร่วมกับเพศ อายุ ประวัติการมีภาวะความดันเลือดสูง การเป็นโรคเบาหวาน และการสูบบุหรี่ เป็นต้น

3. ผู้ที่ประเมินแล้วมีโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจหรือสมอง (Thai CV risk score) ต่ำกว่า 10% ในระยะเวลา 10 ปี โดยทั่วไปมักไม่จำเป็นต้องได้รับสแตติน

อ้างอิง: โรงพยาบาลสมิติเวช ศรีนครินทร์, โรงพยาบาลเปาโล