"นอนหลับ" 8 ชั่วโมงต่อคืน อายุยืนขึ้น 2.5-5 ปี แต่ต้องหลับโดยไม่ใช้ยา
"นอนหลับ" 7-8 ชั่วโมงต่อคืน ช่วยให้อายุยืนขึ้น 2.5-5 ปี แต่ต้องหลับเองโดยไม่ใช้ยา! ถ้าไม่อยากจากโลกนี้เร็วเกินไป ต้องเปลี่ยนนิสัยการนอนให้ได้ตามนี้
Key Points:
- วิจัยใหม่ล่าสุด ชี้ หากนอนหลับได้ 7-8 ชั่วโมงต่อคืน และหลับสนิท หลับลึก ตื่นมาสดชื่น พฤติกรรมการนอนแบบนี้จะช่วยให้มีอายุยืนมากขึ้น 2.5 - 5 ปี
- หากไม่สามารถนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเกิดความผิดปกติด้านการนอนหลับ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
- ผู้ที่มีนิสัยการนอนหลับที่ดี (นอนหลับอย่างมีคุณภาพ) มีโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรน้อยกว่าคนที่นอนหลับได้ไม่ดีมากถึง 30%
รู้หรือไม่? งานวิจัยใหม่ล่าสุดจาก Harvard Medical School ชี้ว่า หากคนเรามีพฤติกรรมการนอนหลับที่ดี 5 ประการ จะทำให้อายุขัยของผู้ชายเพิ่มขึ้นเกือบ 5 ปี และอายุขัยของผู้หญิงเพิ่มขึ้นเกือบ 2.5 ปี
“การสังเกตเห็นความผิดปกติของการนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง หากเราเหนความผิดปกตและสามารถปรับปรุงการนอนหลับโดยรวมได้ เราอาจจะป้องกันการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้เช่นกัน”
Dr. Frank Qian แพทย์สาขาอายุรศาสตร์ที่ Beth Israel Deaconess Medical Center ณ เมืองบอสตัน สหรัฐ และเป็นผู้ร่วมวิจัยชิ้นนี้อธิบาย
โดยพฤติกรรมการนอนที่ดีและมีคุณภาพนั้น ต้องประกอบไปด้วย
1. นอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมงในแต่ละคืน
2. นอนหลับง่ายอย่างต่อเนื่องทุกคืน
3. นอนหลับสนิทตลอดคืน ไม่ตื่นกลางดึก (หรือตื่นกลางดึกไม่เกิน 2 ครั้ง/สัปดาห์)
4. นอนหลับเต็มอิ่ม เมื่อตื่นเช้าแล้วรู้สึกว่าได้พักเต็มที่อย่างน้อย 5 วัน/สัปดาห์
5. นอนหลับได้เองโดยไม่ใช้ยานอนหลับ
หากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนให้ได้คุณภาพดีได้ตามทั้ง 5 ข้อข้างต้น จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ ในทางกลับกัน หากไม่สามารถนอนหลับได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือเกิดความผิดปกติด้านการนอนหลับ ก็จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด "โรคหัวใจและหลอดเลือด" ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเป็นอันดับต้นๆ ของวัยทำงาน
ยืนยันจาก Dr.Raj Dasgupta รองศาสตราจารย์ด้านเวชศาสตร์คลินิกแห่ง Keck School of University of Southern California ที่อธิบายเพิ่มเติมว่า การนอนหลับที่มีคุณภาพ ไม่ใช่แค่การนอนในปริมาณที่เพียงพอเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความสม่ำเสมอในการนอนหลับที่ดีเหมือนเดิมทุกคืน
การศึกษาเมื่อเร็วๆ นี้ แสดงให้เห็นว่า ความไม่สม่ำเสมอของการนอนหลับ เชื่อมโยงกับความผิดปกติของการเผาผลาญของร่างกาย และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ จากการสำรวจข้อมูลประจำปีดำเนินการโดย CDC และศูนย์สถิติสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐ ยังพบข้อมูลด้วยว่า เมื่อเปรียบเทียบกับบุคคลที่มีปัจจัยการนอนหลับที่ดีตั้งแต่ 0 ถึง 1 ปัจจัย ผู้ที่มีปัจจัยการนอนหลับทั้ง 5 ประการข้างต้น มีโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรน้อยกว่า 30% โดยแบ่งเป็น
- มีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยกว่า 21%
- มีโอกาสเสียชีวิตจากมะเร็งน้อยกว่า 19%
- มีโอกาสเสียชีวิตจากสาเหตุอื่นที่ไม่ใช่โรคหัวใจหรือมะเร็งน้อยกว่าถึง 40 %
อีกทั้งการศึกษาดังกล่าวยังพบอีกว่า ผู้ชายที่ปฏิบัติตามนิสัยการนอนที่ดีต่อสุขภาพทั้ง 5 ข้อข้างต้น จะมีอายุขัยที่ ยืนยาวมากขึ้นถึง 4.7 ปี (เมื่อเทียบกับคนที่นอนหลับไม่มีคุณภาพ) ส่วนในผู้หญิงที่ปฏิบัติตามนิสัยการนอนที่ดี 5 ประการข้างต้น จะช่วยให้มีอายุยืนยาวขึ้น 2.4 ปี (เมื่อเทียบกับคนที่นอนหลับไม่มีคุณภาพ)
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนที่มีปัญหา “นอนไม่หลับ” หรือนอนหลับไม่ได้คุณภาพ คงอยากรู้แล้วว่าจะมีวิธีการปรับเปลี่ยนนิสัยการนอนได้อย่างไรบ้าง? เรื่องนี้ Dr.Raj Dasgupta มีคำแนะนำว่า
การมีนิสัยนอนหลับที่ดีสามารถฝึกฝนกันได้ง่ายๆ โดยมีวิธีการดังนี้
1. ต้องเข้านอนเวลาเดียวกันเกือบทุกคืนและตื่นนอนเวลาเดิมเกือบทุกเช้า แม้แต่ในวันหยุดสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
2. ตรวจสอบให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมการนอนของคุณเหมาะสมที่สุด อากาศเย็นสบายและปิดไฟมืดสนิท และลดเสียงรบกวนให้น้อยที่สุด
3. หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าก่อนนอน การดื่มเหล้าแล้วเมาอาจดูเหมือนว่าช่วยให้หลับง่ายขึ้นก็จริง แต่เมื่อตับของคุณเผาผลาญแอลกอฮอล์เสร็จตอนตี 3 ร่างกายของคุณจะตื่นขึ้น ซึ่งถือเป็นการรบกวนการนอนหลับอยู่ดี
4. กำหนดกิจวัตรการนอนหลับ โดยก่อนนอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต้องไม่ดูจอมือถือเพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจอทำให้รบกวนการนอน หรือนอนไม่หลับ
5. ก่อนนอนให้ลองทำสมาธิ โยคะ ไทเก็ก อาบน้ำอุ่น หรืออะไรก็ได้ที่ทำให้ร่างกายของคุณผ่อนคลายได้ดีมาก
6. พ่อแม่ควรปลูกฝังนิสัยเหล่านี้ให้แก่ลูกๆ ตั้งแต่เด็ก จะช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น
สุดท้ายนี้ หากเราสามารถพัฒนานิสัยการนอนที่ดีเหล่านี้ได้ ก็จะทำให้ร่างกายสามารถนอนหลับได้เพียงพอ ซึ่งการมีสุขอนามัยในการนอนที่ดีโดยรวมจะส่งผลดีต่อสุขภาพในระยะยาวโดยรวมอย่างมาก และมีส่วนทำให้ลดความเสี่ยงการเกิดโรคร้าย จึงทำให้เรามีอายุยืนขึ้นได้มากขึ้นนั่นเอง
--------------------------------------
อ้างอิง : CNN