วิจัยล่าสุดชี้ "Long COVID" ส่งผลให้ "นอนไม่หลับ" แถมความคิดความจำแย่ลง
ใครเพิ่งหายป่วย "โควิด-19" สำรวจตัวเองเป็นแบบนี้ไหม? เมื่องานวิจัยใหม่พบว่า ผู้ที่มีภาวะ "Long COVID" มีปัญหาด้านการนอนหลับราว 1 ใน 4 อีกทั้ง 53.4% ของกลุ่มทดลอง มีปัญหาด้านความคิดความจำแย่ลง
ช่วงนี้คนไทยต้องตั้งการ์ดสูง เพราะโควิด-19 กลับมาระบาดอีกครั้ง (Small wave) แม้หลายคนจะได้รับวัคซีนแล้วแต่ก็มีโอกาสติดได้ และอย่าลืมว่าหลังหายป่วยโควิดจะมีอาการ "Long Covid" ตามมาอีกหลายเดือน ซึ่งส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันไม่น้อย
แถมล่าสุดมีการศึกษาชิ้นใหม่ที่สำรวจจากกลุ่มผู้ร่วมทดสอบ พบว่า ผู้ที่มีภาวะ Long Covid มีปัญหาด้านการนอนมากถึง 1 ใน 4 ทั้งนอนไม่หลับ และนอนหลับมากผิดปกติ และกว่าครึ่งมีปัญหาความจำและความคิดแย่ลง แบ่งเป็น
- 22.2% ของกลุ่มผู้ทดสอบ เกิดอาการนอนไม่หลับ
- 3.1% ของกลุ่มผู้ทดสอบ มีปัญหานอนมากกว่าปกติ
- 53.4% ของกลุ่มผู้ทดสอบ มีปัญหาด้านความคิดความจำที่แย่ลง
โดยรายงานข้างต้น รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ นำมาเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thira Woratanarat” พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า ผลการศึกษาข้างต้น หัวหน้าวิจัยอย่าง Moura AEF และทีมวิจัยจากบราซิล ได้ทำการวิจัยแบบติดตามประเมินกลุ่มผู้ป่วยที่เคยติดเชื้อโควิด-19 และประสบภาวะ Long COVID จำนวน 189 คน จนได้ข้อมูลผลสำรวจชิ้นนี้ออกมา
ทั้งนี้ ผลการศึกษาดังกล่าวก็สอดคล้องกับสิ่งที่พบในปัจจุบัน นั่นคือ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ประสบปัญหาทั้งเรื่อง "นอนไม่หลับ" รวมถึงปัญหาด้านความคิดความจำ ซึ่งกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการเรียนได้
ภาวะ Long COVID นั้นเกิดได้กับทุกเพศทุกวัยไม่ว่าจะติดเชื้อแบบไม่มีอาการ อาการน้อย หรืออาการมาก อีกทั้งผู้ใหญ่เสี่ยงกว่าเด็ก และเพศหญิงเสี่ยงกว่าเพศชาย โดยอาการผิดปกติจากภาวะ Long COVID นั้น เกิดขึ้นได้ทุกระบบในร่างกาย และส่งผลให้เกิดปัญหาโรคเรื้อรังตามมาในระยะยาวได้
ขณะที่งานวิจัยจาก NYU Grossman School of Medicine ที่เผยแพร่ในวารสาร Journal of the Neurological Sciences (JNS) เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ระบุถึงผลกระทบของ Long COVID ที่ส่งผลต่อการนอนหลับที่แย่ลงเช่นกัน
โดยนักวิจัยพบว่า 50% ของผู้ป่วยกลุ่มวัยผู้ใหญ่ที่มี “ความเครียดในชีวิตอยู่แล้ว” หลังจากติดโควิดและมีอาการลองโควิด จะมีแนวโน้มอย่างน้อย 2 เท่าที่จะเกิด ภาวะซึมเศร้า โรคสมองฝ่อ ความเหนื่อยล้า ปัญหาการนอนหลับ และอาการอื่นๆ ในระยะยาว
จากการติดตามผลกับผู้ป่วยโควิด 790 ราย หลังหายจากโควิดในระยะเวลา 6 เดือนและ 12 เดือน (1 ปี) พบว่าผู้เข้าร่วมทดสอบรายงานว่า พวกเขามีความเครียดในชีวิตอย่างมีนัยสำคัญหลังต้องเผชิญภาวะ Long COVID ในระยะเวลา 12 เดือน
โดยปัจจัยที่ทำให้พวกเขาเกิดความเครียดและกังวลมากขึ้น ได้แก่ ตกงาน, ความไม่มั่นคงทางการเงิน, ปัญหาปากท้อง, การเสียชีวิตของผู้สัมผัสใกล้ชิด, ความพิการที่เกิดขึ้นใหม่ (อาการรุนแรงจากการป่วยโควิดจนระบบร่างกายเสียหาย)
ศาสตราจารย์ Jennifer A. Frontera หัวหน้าวิจัยจากภาควิชาประสาทวิทยา NYU Langone Health กล่าวว่า “การรักษาลองโควิด ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาเชิงบำบัดที่ช่วยลดความบอบช้ำจากเหตุการณ์ในชีวิตที่ก่อให้เกิดความเครียด แต่ทั้งนี้ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของแนวทางให้ที่ดีที่สุด”
นอกจากนี้ในการศึกษาซ้ำครั้งที่สอง ทีมนักวิจัยพบว่าผู้ที่มีภาวะ Long COVID มีอาการของกลุ่มโรคที่ระบุใหม่ 3 กลุ่มคือ
กลุ่มที่ 1: มีอาการเล็กน้อย (ส่วนใหญ่ปวดศีรษะ) เข้ารับการรักษาเพียงเล็กน้อยก็หาย
กลุ่มที่ 2: อาการหลายอย่าง เช่น วิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า ที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านอาการซึมเศร้าและจิตบำบัด
กลุ่มที่ 3: อาการทางปอดเป็นหลัก เช่น หายใจถี่ หายใจไม่อิ่ม ปวดศีรษะ ความคิดความจำแย่ลง ส่วนใหญ่ได้รับการรักษาบำบัดทางกายภาพ
จากการวิเคราะห์พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด คือ กลุ่มอาการที่ 2 ซึ่งมีอัตราความพิการสูงขึ้น มีความวิตกกังวล ซึมเศร้า เหนื่อยล้า และการนอนหลับแย่ลง โดย 97% ของผู้ป่วยกลุ่มอาการดังกล่าวเมื่อได้รับการรักษาด้วยการบำบัดทางจิตเวชรายงานว่าพวกเขาอาการดีขึ้นจริง
ดังนั้น วิธีหลีกเลี่ยงภาวะLong COVID ที่ดีที่สุด คงหนีไม่พ้นการป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อโควิดหรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ อีกทั้งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด ก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะป่วยรุนแรง การเสียชีวิต และลดความเสี่ยงของภาวะลองโควิดได้
------------------------------------
อ้างอิง : BioMedCentral, รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์, ScienceDaily