โควิด-19 อาการ Long COVID เสี่ยงต่อการไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา
รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิด-19" เรื่องของผลกระทบจากการเป็น Long COVID กับการทำงานซึ่งอาจจะเป็นปัญหา เช่น ความคิด ความจำ และอาจเสี่ยงต่อการไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา
(19 พฤศจิกายน 2565) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กประเด็น "โควิด-19" เรื่องของผลกระทบจากการเป็น Long COVID กับการทำงานซึ่งอาจจะเป็นปัญหา เช่น ความคิด ความจำ และอาจเสี่ยงต่อการไม่สามารถทำงานได้เต็มเวลา
เมื่อวาน ติดโควิดทั่วโลก เพิ่ม 266,736 คน ตายเพิ่ม 627 คน รวมแล้วติดไป 642,435,193 คน เสียชีวิตรวม 6,623,352 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดคือ
- ญี่ปุ่น
- เกาหลีใต้
- ฝรั่งเศส
- ไต้หวัน
- ออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 89.67 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 82.61
การระบาดในอเมริกา
ล่าสุดข้อมูลจาก US CDC ชี้ให้เห็นว่า สายพันธุ์ย่อยที่ครองการระบาดมากที่สุดคือ BQ.1.x ซึ่งเพิ่มขึ้นสูงถึง 49.7% ในขณะที่ BA.5 นั้นเหลือเพียง 24% นอกจากนั้นยังมีอีกหลายสายพันธุ์ที่ตรวจพบในสัดส่วนรองๆ ลงมา เช่น BF.7, BN.1, BA.4.6
อัปเดตผลของ Long COVID กับการทำงาน
Trujillo KL และคณะ จากประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิเคราะห์ผลการสำรวจประชากรกว่า 15,000 คน อายุ 18-69 ปี ตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2564 ถึงกรกฎาคม 2565 เผยแพร่ใน medRxiv วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565
สาระสำคัญพบว่า กลุ่มประชากรที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 และเกิดอาการผิดปกติ Long COVID นั่น เกือบครึ่งหนึ่ง (45.9%) มีปัญหาด้านความคิดความจำ (brain fog, impaired memory)
ทั้งนี้ วิเคราะห์พบว่า การเกิดปัญหา Long COVID นั้นเพิ่มความเสี่ยงต่อการตกงาน/ไม่มีงานทำ 44%, และเพิ่มความเสี่ยงต่อการไม่สามารถทำงานเต็มเวลา (full-time work) 27%
นอกจากนี้ การที่มีปัญหาด้านความคิดความจำ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการไม่สามารถทำงานเต็มเวลา 29%
ผลการวิจัยนี้ตอกย้ำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัญหา Long COVID กับการทำมาหากิน/การทำงาน และช่วยให้เราเห็นถึงความสำคัญของการป้องกัน เพราะการติดเชื้อไม่ได้จบแค่ชิลๆ หาย ป่วย หรือตาย แต่ยังทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออาการผิดปกติระยะยาวตามมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวัน และการทำงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมา
การป้องกัน Long COVID ปัจจุบันมีเพียง 3 วิธีหลัก ได้แก่
1.การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิด Long COVID ได้ราว 15-40%
2.การได้รับยาต้านไวรัส Paxlovid ตั้งแต่ช่วงแรกที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ จะช่วยลดความเสี่ยง Long COVID ได้ราว 26%
3.วิธีที่ดีที่สุดคือ การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ให้ติดเชื้อซ้ำ เพราะการติดเชื้อแต่ละครั้งย่อมเกิดความเสี่ยงเป็นเงาตามตัว
การหมั่นอัปเดตสถานการณ์ และความรู้ที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ที่สำคัญที่สุดคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างดำรงชีวิตประจำวัน ทำงาน เรียน หรือท่องเที่ยว จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
Trujillo KL et al. Association between long COVID symptoms and employment status. medRxiv. 18 November 2022.