"ทำไงไม่อ้วน?" บทสนทนาจาก "วันอ้วนโลก" จุดเริ่มต้นของจุดสิ้นสุด "โรคอ้วน"
หลายมุมมองต่อ “โรคอ้วน” ที่เพิ่งเกิดขึ้นใน “วันอ้วนโลก" น่าจะเป็นจุดสตาร์ทของการเปลี่ยนแปลงเพื่อตัวเอง และเพื่อสังคมสุขภาพดีต่อไป
ความอ้วนอาจเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่สำหรับ โรคอ้วน คือปัญหาระดับโลกที่มีชีวิตของผู้ป่วยเป็นเดิมพัน ใน วันอ้วนโลก (World Obesity Day) ที่เพิ่งผ่านไป เครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย จึงได้ร่วมกับบริษัท โนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์ม่า (ประเทศไทย) จำกัด จัดเสวนา “เรื่องอ้วน…เราคุยกันได้นะ - Let’s talk about obesity” เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2566 ณ Eden Zone ชั้น 3 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อร่วมรณรงค์กิจกรรมวันอ้วนโลก
สถานการณ์ "โรคอ้วน" ในประเทศไทยมีแนวโน้มน่าเป็นห่วงมากขึ้น หลังจากมีการสำรวจข้อมูลเมื่อปี 2562-2563 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปมีภาวะอ้วน 42.2 เปอร์เซ็นต์ และล้วนลงพุง 39.4 เปอร์เซ็นต์ และที่น่าตกใจคือมีคนไทยป่วยเป็นโรคอ้วนกว่า 20 ล้านคนเลยทีเดียว
ศาสตราจารย์เกียรติคุณแพทย์หญิง วรรณี นิธิยานันท์ ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าเมื่อตีกรอบมาที่คนกรุง พบว่ามีคนอ้วนมากที่สุดถึง 47 เปอร์เซ็นต์ ที่น่าวิตกคือผู้หญิงในกรุงเทพฯ มีภาวะอ้วนลงพุงถึง 65.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคในกลุ่ม NDCs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคระบบหัวใจ หลอดเลือดและมะเร็ง
“ตอนนี้ถือว่าน่าเป็นห่วงมาก เพราะทุกครั้งที่เราสำรวจสุขภาพคนไทยทุกๆ 5 ปี จะมีคนอ้วนจำนวนมากขึ้น โดยเราคิดจากคนอายุ 15 ปีขึ้นไป เพราะเด็กๆ จะมีอัตราอ้วนน้อยกว่าผู้ใหญ่”
หลังจากสถานการณ์ค่อนข้างแย่ลง และเทรนด์การดูแลสุขภาพไปพร้อมๆ กับตัวเลขผู้ป่วยที่มีผลพลวงจากภาวะอ้วนสูงขึ้น ทำให้ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยหันมาสนใจและศึกษาเกี่ยวกับโรคอ้วนมากขึ้น ทั้งเพื่อดูแลไม่ให้ก้าวไปสู่การเป็นโรคอ้วน ไปจนถึงคนที่ต้องการการรักษาหลังจากเป็นโรคอ้วนแล้ว
เรื่องนี้ พ.อ.หญิง แพทย์หญิง สิรกานต์ เตชะวณิช กรรมการเครือข่ายคนไทยไร้พุงฯ หน่วยโภชนศาสตร์คลินิก กองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มองว่าทุกวันนี้คนให้ความสำคัญเกี่ยวกับโรคอ้วนมากขึ้น แต่ก็ยังมีคนอีกมากที่เขินอาย ไม่ยอมพูดถึงเรื่องนี้ จึงเป็นเหตุให้เกิดกำแพงสำหรับผู้ป่วยโรคอ้วน รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่เอื้อให้เกิดโรคอ้วนด้วย การให้ความรู้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างทัศนคติที่ถูกต้องให้แก่คนกลุ่มนี้
“ปัญหาสุขภาพเป็นความรับผิดชอบส่วนบุคคลก็จริง ในการที่เราต้องตระหนักว่าเราต้องได้รับการแก้ไขปัญหานั้น แต่ยกตัวอย่างว่าในหนึ่งวันเราไม่ได้อยู่กับตัวเองอย่างเดียว เราออกไปทำงานอย่างน้อยก็ 8-12 ชั่วโมงที่ต้องอยู่นอกบ้าน สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อเรามากเลย เพราะฉะนั้นการรับผิดชอบตัวเองเป็นสิ่งที่ดี แต่อาจจะยังไม่พอ จึงจำเป็นต้องทำให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะแนวนโยบาย กฎหมายบังคับ หรือความมีจิตสำนึกของเราด้วยกันเองที่จะช่วยแก้ปัญหานี้”
นอกจากความอวบอ้วนที่เห็นทางกายภาพแล้ว หลายคนยังสงสัยว่าอ้วนแค่ไหนถึงเรียกว่าอ้วน เพราะยังมีปัจจัยต่างๆ ที่จะบ่งชี้ว่าบุคคลนั้นอ้วนหรือไม่ได้อีก เช่น ส่วนสูง, น้ำหนัก, ปริมาณไขมันในร่างกาย, มวลกล้ามเนื้อ ฯลฯ ซึ่งในทางการแพทย์ นายแพทย์ สิระ กอไพศาล สาขาวิชาอายุรศาสตร์โรคต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี อธิบายว่าให้ดูที่ดัชนีมวลกาย (BMI) โดยคำนวณได้จากสูตรง่ายๆ คือ น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง จะได้เลข BMI ซึ่งตามมาตรฐานคนเอเชียถ้ามากกว่า 25 ถือว่าเข้าข่ายเป็นโรคอ้วน เป็นต้น
“หลายคนบอกว่าดัชนีมวลกายไม่ใช่ทั้งหมด แต่ ณ ปัจจุบันข้อมูลยังบอกว่าดัชนีมวลกายเป็นตัวเลขที่คิดง่าย ทุกคนคำนวณได้ ยังสัมพันธ์ต่อสุขภาพได้
ส่วนหลักการดูแลเรื่องน้ำหนัก หลักๆ ยังคงเป็นเรื่องการกินน้อย แล้วออกกำลังกายเยอะขึ้น แต่จริงๆ มีมากกว่านี้ ไม่ใช่แค่กินเท่าไร ออกกำลังกายเท่าไร ยังมีเรื่องพันธุกรรม เช่น ในครอบครัวมีคนเป็นโรคอ้วนก็มีโอกาสเป็นโรคอ้วนมากขึ้น ในร่างกายมีฮอร์โมนเยอะมาก ฮอร์โมนบางอย่างทำให้เรากินไม่อิ่มสักที เหล่านี้คือปัจจัย รวมไปถึงสิ่งแวดล้อม พูดง่ายๆ คือ สลัดจานหนึ่ง 2-3 ร้อยบาท แต่เบอร์เกอร์ชิ้นละ 30 บาท นี่เป็นปัจจัยง่ายๆ ที่บ่งบอกว่าไม่ใช่แค่เรากินน้อยและออกกำลังกายเยอะ แต่มีปัจจัยมากมายที่ส่งผลให้เราลดน้ำหนัดได้มมากน้อยแค่ไหน”
สำหรับผู้หญิง แม้จะไม่พูดไปถึงโรคอ้วน แต่ความอ้วนคือปัญหาที่หลายคนกังวล เพราะมองว่าความอ้วนคือความไม่สวย เพราะมาตรฐานความสวยของคนถูกจำกัดความอยู่แค่ความผอม ซึ่ง แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส Miss Universe Thailand 2021 ให้ความเห็นว่าค่านิยมของคำว่าสวยของแต่ละคนอาจแตกต่างกัน ขอให้เรารักและเห็นคุณค่าในตัวเอง เรามั่นใจในรูปร่างของตัวเองไปพร้อมๆ กับความมั่นใจว่าเรากำลังหันมาดูแลสุขภาพที่ดีได้ ปกติแอนจะไม่ได้ดูแค่ค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI เพียงอย่างเดียว แต่จะดูเรื่องของปริมาณกล้ามเนื้อในร่างกายด้วย
“ผู้หญิงมักจะมองว่าผอมแล้วสวย แต่แอนคิดว่าเรากำลังมองผิดมุมมองมากกว่า เราออกกำลังกายแล้วเราสวยในแบบของเราได้โดยที่เราอาจจะไม่ได้ผอม ถ้าเราดูแลตัวเอง กินอาหารที่เสริมร่างกาย เราจะมีความสวยในแบบของเราเอง
แอนเป็นคนที่ออกกำลังกายเยอะอยู่แล้ว และแอนไม่ใช่คนที่มีพันธุกรรมของโครงสร้างเล็ก แต่ไม่ได้แปลว่าแอนไม่ได้ดูแลตัวเอง แอนออกกำลังกายแล้วบางทีน้ำหนักขึ้น มันมาจาก Muscle Mass (มวลกล้ามเนื้อ)”
ในเรื่องการดูแลน้ำหนัก ปัจจุบันมีหลายสูตรที่กำลังนิยม โดยเน้นเรื่องการกินอาหาร เช่น คีโต, IF ฯลฯ แน่นอนว่าสูตรลัดเหล่านี้ยังเป็นข้อถกเถียงถึงผลดีผลเสียที่อาจจะตามมา สำหรับบางคนอาจเห็นผลดี แต่ในระยะยาว พ.อ.หญิง แพทย์หญิง สิรกานต์ ชวนคิดว่าถึงแม้ข้อมูลของการกินคีโตหรือการทำ IF จะลดน้ำหนักได้จริง แต่ยังเป็นผลการศึกษาระยะสั้น เพราะฉะนั้นในระยะยาวยังไม่มีผลการศึกษามารองรับ
“ของที่ดีจริงต้องดีแบบไม่มีเงื่อนไข เช่นการรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มีเงื่อนไขว่าจะดีหรือไม่ดี แต่คีโตหรือ IF อาจจะยังมีเงื่อนไขในบางกรณี และอยู่ภายใต้การควยคุมของแพทย์และนักกำหนดอาหารอย่างใกล้ชิด”
ด้าน นายแพทย์ ณัฐดนัย รัชตะนาวิน MD CEO&Founder FitSloth บอกว่าการแก้ไขเรื่องความอ้วนหรือโรคอ้วนต้องทำความเข้าใจว่าเป็นโรคเรื้อรัง การแก้ไขต้องทำในระยะยาว จึงต้องค่อยๆ ทำ ค่อยๆ ลด
“ถ้าเราค่อยๆ ลด จะเป็นการปรับระยะยาว เพื่อให้ค่ามาตรฐานของเราลดลงมาเรื่อยๆ ที่เราแนะนำคืออาจจะไม่เกินเดือนละ 2-4 กิโลกรัม มาจนถึงจุดที่ดีแล้วค่อยทำให้มันทรงตัว จะได้ไม่มีโยโย่เอฟเฟกต์”
นอกจากความตระหนักถึงปัญหาโรคอ้วน หรือการดูแลตัวเองแล้ว ปัจจัยภายนอกก็ส่งผลให้เกิดโรคอ้วนได้กับหลายคน เช่นสิ่งแวดล้อมอย่างที่นายแพทย์สิระกล่าวไปแล้ว ประเด็นนี้เครือข่ายคนไทยไร้พุงมีโครงการ Healthy Organization รณรงค์ให้เกิดสุขภาพดีในพนักงาน ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ได้แก่ Healthy Policy สถานประกอบการต้องมีนโยบายให้พนักงานมีสุขภาพดี, Healthy Workshop มีการให้ความรู้แก่พนักงานในองค์กรเรื่องการดูแลสุขภาพ,Healthy Meeting ประชุมอย่างมีประสิทธิภาพ จำกัดอาหารว่างที่กินเข้าไป ไม่นั่งนานเกินไป, Healthy Canteen ทำอย่างไรให้สถานประกอบการมีโรงอาหารหรือจัดอาหารที่ดีต่อสุขภาพให้พนักงาน, Healthy Space เปลี่ยนพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เป็นสถานที่เพื่อกิจกรรมสุขภาพแก่พนักงาน และ Healthy Tournament เพิ่มความสนุกสนานด้วยการจัดกิจกรรมดูแลสุขภาพ
สำหรับคนที่กำลังไม่รู้ว่าจะลดความอ้วนทำไม หรือจะเริ่มต้นอย่างไร แอนชิลี ยกตัวอย่างตัวเองว่าไม่ได้ดูแลร่างกายเพียงเพื่อสวยตามมาตรฐานที่คนอื่นวางไว้ แต่จะทำเพื่อตัวเองมีสุขภาพที่ดี และมีความสุขกับการใช้ชีวิต
“แอนไม่ได้ดูแลร่างกายเพราะอยากสวย แต่แอนดูแลร่างกายเพราะอยากไปกินข้าวกับเพื่อนได้อย่างสบายใจ หรือไปวิ่งเล่นกับพี่ๆ น้องๆ ของเราได้ ดูแลตัวเองเพื่อชีวิตที่มีความสุข แอนอยากให้มองว่าไม่ต้องมองเรื่องความสวยงาม แต่มองเรื่องว่าเสริมชีวิตเรามากกว่า แล้วจะทำไปได้เรื่อยๆ นอกจากนี้จะสร้างสังคมสุขภาพดีได้ด้วยค่ะ”
ด้าน นายแพทย์สิระ ฝากถึงคนที่กำลังหันมาใส่ใจสุขภาพทุกคนว่า “ผมอยากให้คิดว่าน้ำหนักเหมือนอุณหภูมิในร่างกาย เวลาร่างกายมีไข้ เราก็จะทำทุกอย่างให้อุณหภูมิลดลงมาเท่าเดิม น้ำหนักก็เช่นเดียวกัน ร่างกายจะทำทุกวิถีทางให้น้ำหนักกลับมาเท่าเดิม เพราะฉะนั้นถ้าคุณทำอะไรอยู่แล้วลดน้ำหนักได้ ต้องทำต่อ
ข้อต่อมาที่อยากฝากคือการลดน้ำหนักหรือการดูแลตัวเองมันเปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งสปรินท์ 100 เมตร มันอยู่ที่ความสม่ำเสมอ ต้องทำทุกวัน ทำไปเรื่อยๆ หาวิธีที่ทำได้ยาวๆ แล้วเราแฮปปี้”
เอ็นริโก้ คานัลบรูแลนด์ รองประธานบริหารและผู้จัดการทั่วไป บริษัทโนโว นอร์ดิสค์ ฟาร์ม่า (ประเทศไทย) กล่าวทิ้งท้ายว่า คนที่มีโรคอ้วนยังต้องแบกรับ การตัดสินจากสังคม และความรู้สึกลบที่ต้องเจอทุกวัน ในฐานะบริษัทวิจัยและพัฒนายาเพื่อผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วน มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงของโรคอ้วนไปสู่ทิศทางที่ดี “เราพร้อมที่จะร่วมมือกับภาครัฐและเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานด้านนี้ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ เป็นกำลังใจและรณรงค์ให้คนเข้าใจถึงแนวทางที่ถูกต้องตามหลักการแพทย์ เพื่อลดโรคอ้วน เพราะการใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ต้องควบคู่ไปกับการมีสุขภาพที่ดี”