ดูแลตัวเองอย่างไร? ให้ปลอดภัยจากฝุ่นPM2.5

ดูแลตัวเองอย่างไร? ให้ปลอดภัยจากฝุ่นPM2.5

กว่าจะออกจากบ้านในแต่ละวัน สิ่งที่ทุกคนต้องทำ คือ "การเช็กค่าฝุ่นPM2.5"ผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่นขนาดจิ๋วที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย

Keypoint:

  • PM2.5 ฝุ่นจิ๋วตัวร้าย ลอยฟุ้งในอากาศ แม้จะมองตัวตาเปล่าไม่เห็น แต่สัมผัสได้ด้วยผลกระทบต่อร่างกาย
  • พื้นที่ไหนมีฝุ่นPM2.5 มาก จะพบผู้ป่วยมะเร็งปอด โรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ ถึงจะไม่สูบบุหรี่ ก็เป็นโรคเหล่านี้ได้ 
  • วิธีดูแลให้ปลอดภัยจากฝุ่นPM2.5 คือเช็กค่าฝุ่นหากเกิน50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ควรหลีกเลี่ยง ไม่ออกจากบ้าน 

เมื่อเมืองคลุกฝุ่น “ดูแลตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยจากฝุ่น PM2.5” อีกหนึ่งคำถามที่หลายๆ คนสงสัย เพราะต่อให้มีความรู้ว่าฝุ่น PM2.5ส่งผลต่อระบบร่างกายอย่างมาก แต่เมื่อถามถึงแนวปฎิบัติวิธีที่ดีที่สุด คือ ต้องหลีกเลี่ยง ไม่ออกไปเผชิญฝุ่นPM2.5 ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ ทว่าชีวิตของคนเราต้องออกไปทำงาน ไปทำกิจกรรมอีกมากมาย และค่าฝุ่นPM2.5 ก็มีแต่ปริมาณสูงขึ้น ไม่มีท่าทีจะลด ให้หลีกเลี่ยงไปตลอดคงไม่ได้ 

ล่าสุด ทาง  LungAndMe  กลุ่มทำงานมะเร็งปอดเพื่อคนไทย มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย ได้ไลฟ์สด พูดคุย ตอบคำถามกับคุณหมอถึงแนวทางในการดูแล ป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่นจิ๋วภัยร้าย ใกล้ตัวที่รู้ว่ามีแต่มองไม่เห็น 

ดูแลตัวเองอย่างไร? ให้ปลอดภัยจากฝุ่นPM2.5

พ.อ. (พิเศษ) นพ. ครรชิต ปิยะเวชวิรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์โรคปอด โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อธิบายว่า ฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นจิ๋วขนาดเล็ก  ซึ่งจริงๆ มีมานานแล้วโดยเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น น้ำมัน ไม้ ถ่านหิน ล้วนทำให้เกิดฝุ่น หรือการจุดธูป จุดเตา หรือควันรถ เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

อาหารต้านภัยฝุ่น Detox ปอดคนเมือง ในวิกฤติ PM2.5

ศธ.ออกประกาศมาตรการป้องกัน แก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5

กทม.เอาจริง! "ปลัดขจิต" ลงนามกำชับหน่วยงานแก้ไขฝุ่น PM 2.5 ลดผลกระทบ ปชช


เผาผลผลิตทางการเกษตร ฤดูก่อเกิดฝุ่นPM2.5

ปกติเวลามีการเผาไหม้ ทำให้เกิดควันขึ้นมา ซึ่งควันที่เห็นเป็นสีดำๆ เข้มๆ นั้นคือ ฝุ่น PM ขนาดใหญ่ แต่ ฝุ่น PM2.5 นั้น จะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ทุกๆ วันที่เห็นว่าฝุ่นทึบไปหมดเนื่องจากความเข้มข้นเยอะมาก ทำให้เรามองเห็นเหมือนเมืองในหมอก

การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงต่างๆ เวลาเกิดควันขึ้นมา ถ้าในอากาศมีลมพัด ทำให้เกิดการกระจายตัวของฝุ่น เราก็จะเห็นว่าฝุ่นไม่มาก เพราะไม่ได้เห็นว่าเป็นหมอก หรือควัน

"ที่น่าสงสัยคือ ทำไมมีปัญหาช่วงม.ค.-มี.ค. เนื่องจากมีการเผาไหม้ จำนวนมาก ทั้งเผาป่า หรือเกิดขึ้นตามธรรมชาติ คิดเป็นการกำเนิดPM2.5 ไม่มาก แต่ที่เกิด PM2.5 จำนวนมาก เกิดจากการเผาผลิตผลทางการเกษตร เผาข้าวโพด เผาอ้อย ทำให้ฝุ่นลอยขึ้นมาจำนวนมาก ยิ่งช่วงหน้าหนาว ไม่ค่อยมีลม ทำให้ฝุ่นไม่กระจายตัว ขณะเดียวกัน อากาศเย็น จะตกลงมาทำให้กดฝุ่น ฝุ่นจึงไม่กระจายตัวไปไหน ความเข้มข้นสูงจึงส่งผลต่อสุขภาพของทุกคน" พ.อ.พิเศษ นพ.ครรชิต กล่าว

ดูแลตัวเองอย่างไร? ให้ปลอดภัยจากฝุ่นPM2.5

ฝุ่นPM2.5 ถ้ามีการเผาไหม้ยังไง...ก็เกิดขึ้น และจะเป็นปัญหามากเมื่อมีจำนวนฝุ่นมาก ยิ่งช่วงไหนแล้ง เกิดไฟป่ายิ่งทำให้เกิดฝุ่นจิ๋ว PM2.5

 

อาการเมื่อถูกฝุ่น PM2.5 เข้าโจมตี

พ.อ.(พิเศษ)นพ.ครรชิต กล่าวต่อว่าผลกระทบที่เกิดจาก ฝุ่นPM2.5 นั้น มีทั้งระยะสั้น และระยะยาว

โดยระยะสั้น จะมีอาการระคายเคือง แสบตา คัดจมูก แสบคอ คันคอ ไอ หรือผื่นขึ้นตามผิวหนัง เป็นผลที่เกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน

ส่วนผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น  โรคหัวใจ โรคปอด โรคถุงลมโป่งพอง จะมีอาการมากขึ้นกว่าคนทั่วไป  นั่นคือ อาการเหนื่อยมากขึ้น ไอมากขึ้น แน่นหน้าอกมากขึ้น หรืออาการกำเริบได้มากขึ้น

ขณะที่ระยะยาว ถ้าสัมผัสฝุ่นPM2.5 ไปนานๆ ก็จะสามารถเข้าไปสู่ปอดของเราได้ ซึ่งฝุ่นยิ่งเล็กยิ่งเข้าไปในร่างกายได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งฝุ่นเหล่านี้ทำให้เกิดอาการอักเสบ ยิ่งเล็กๆ มากๆ จะยิ่งลงไปได้ถึงถุงลม และสามารถเข้าไปในเลือดของเราได้  ทำให้มีการอักเสบของหลอดเลือดในส่วนต่างๆ ทั้งหลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง เป็นผลกระทบที่น่ากลัว

ดูแลตัวเองอย่างไร? ให้ปลอดภัยจากฝุ่นPM2.5

รับฝุ่นเข้าร่างกาย ผลเหมือนการสูบบุหรี่ 

การหายใจฝุ่นเข้าไป เหมือนการสูบบุหรี่ ซึ่งนอกจากทำให้เป็นถุงลมโป่งพอง แล้วยังทำให้เกิดมะเร็งปอดได้อีกด้วย เพราะถุงลมโป่งพอง อาจจะไม่เกิดจากการสูบบุหรี่อย่างเดียว แต่ควันที่เกิดจากการจุดเตา หรือ ฝุ่นPM2.5  ยากันยุง หรือควันธูป ล้วนทำให้เกิดกระบวนการอักเสบของถุงลมโป่งพองได้

“ฝุ่นPM2.5 เกิดทั้งจากนอกบ้าน อาทิ ควันรถ การเผาป่า ไฟป่า การเผาพืชผลทางการเกษตร และในบ้าน เช่นจุดธูป จุดยากันยุง ดังนั้น วิธีการดูแลตนเองให้ปลอดภัยจากฝุ่นPM2.5 นั่นคือ ความพยายามในการหลีกเลี่ยงให้สัมผัส หรือสูดเอาฝุ่นPM2.5 เข้าสู่ร่างกายในปอดให้น้อยที่สุด และเราต้องรู้ว่าบริเวณไหน วันไหนค่าฝุ่นจำนวนมากก็ต้องไม่ไปอยู่ในสิ่งแวดล้อมเหล่านั้น แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ต้องป้องกัน” พ.อ. (พิเศษ) นพ. ครรชิต

สำหรับค่าฝุ่น PM 2.5 ในชั้นบรรยากาศที่แสดงออกมาให้สาธารณชนรับรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะมีหน่วยเป็นไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ดังนี้

ระดับที่ 1 สีฟ้า คือ มีค่าช่วง 0-25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร คือ ระดับที่ไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ สามารถดำเนินกิจกรรมกลางแจ้งได้ตามปกติ

ระดับที่ 2 สีเขียว คือ มีค่าช่วง 26-37 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพเล็กน้อย แต่สามารถทำกิจกรรมกล้างแจ้งได้ตามปกติ

ระดับที่ 3 สีส้ม คือ มีค่าช่วง 51-90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร มีผลกระทบต่อสุขภาพค่อนข้างมาก จึงควรละระยะเวลาและจำกัดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง แต่หากจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้งควรใส่หน้ากากที่ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก

ระดับที่ 4 สีแดง มีค่ามากกว่า 91 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างาก เลี่ยงทำกิจกรรมนอกบ้านและงดออกกำลังกายกลางแจ้ง แต่หากจำเป็นต้องอยู่กลางแจ้งควรใส่หน้ากากที่ป้องกันฝุ่นละอองขนาดเล็ก

“หากมีการวัดปริมาณฝุ่น เมื่อได้ค่าฝุ่น PM2.5  จะแสดงเป็นไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งแต่ละประเทศมีการกำหนดแตกต่างกัน  ถ้าดูคงยึดตามหน่วยไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร  ซึ่งแอปพลิเคชั่น ที่สามารถดูได้จาก Air4Thai ของกรมควบคุมมลพิษ มีความน่าเชื่อถือแต่อาจจะมีจุดวัดที่น้อย”พ.อ. (พิเศษ) นพ. ครรชิต

อย่างไรก็ตาม ค่าฝุ่นPM2.5 สำหรับพื้นที่ที่ถือได้ว่าไม่กระทบต่อสุขภาพนั้น ต้องไม่เกิน 5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม)ซึ่งในปัจจุบันมีเพียง 6 ประเทศเท่านั้น  โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในแถบประเทศนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย สแกนดิเนเวีย  ฟินแลนด์ ไอร์แลนด์ นอกนั้นเกินหมด

ค่าฝุ่นเกิน 50-100มคก./ลบ.ม ควรหลีกเลี่ยง ไม่ออกจากบ้าน

พ.อ. (พิเศษ) นพ. ครรชิต กล่าวว่าค่าที่ใช้ในแต่ละวัน จะเป็นค่าเฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมง

  • หากไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร สามารถออกไปใช้ชีวิตได้ทุกอย่าง
  • ถ้าเกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และไม่เกิน 100 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ถ้าหลีกเลี่ยงได้ควรหลีกเลี่ยงแต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ให้ใส่แมส 
  • ถ้าเกิน 150 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ไม่แนะนำให้อยู่นอกอาคาร และในอาคารควรจะมีเครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองฝุ่นขนาดเล็กได้ หรืออย่างแมสในปริมาณที่มีฝุ่นเยอะก็ต้องเป็นแมสที่กรองฝุ่นขนาดเล็กได้ หรือ N95

ดูแลตัวเองอย่างไร? ให้ปลอดภัยจากฝุ่นPM2.5

ออกกำลังกายกลางแจ้งหนัก ค่าฝุ่นต้องไม่เกิน35-40มคก./ลบ.ม

ส่วนใครที่จะใช้ชีวิตประจำวัน ถ้าไม่เกิน 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าในแง่ของการแข่งขันออกกำลังกายหนักๆ ค่าฝุ่นPM2.5 ไม่ควรเกิน 35-40 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร เนื่องจากออกกำลังกายหนัก จะทำให้ร่างกายหายใจเร็วขึ้น และหายใจลึกขึ้น  ลมจะผ่านเข้าออกปอดมากขึ้น  เช่น การวิ่งหนักๆ ทำให้ฝุ่นเข้าออกปอดมากกว่าปกติถึง 30 เท่า

พ.อ. (พิเศษ) นพ. ครรชิต ถ้าในวันที่ฝุ่นมาก หากออกกำลังกายจริงๆ ควรออกกำลังกายในร่ม ส่วนการใส่แมสออกกำลังกาย ได้หรือไม่นั้น โดยส่วนตัวไม่แนะนำ เพราะแมสปกติไม่สามารถกันฝุ่นPM2.5 ได้ และการใส่N95 ใช้ชีวิตปกติยังยากลำบากแล้ว ใส่ออกกำลังกายอาจทำให้หายใจได้ลำบากมากขึ้น 

ขณะที่ผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง โรคหัวใจ ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบางอาจจะทนปริมาณฝุ่น ควรจะต้องหลีกเลี่ยง หรือป้องกันให้มากกว่าปกติ เช่น ออกจากบ้านได้เมื่อค่าฝุ่นไม่เกิน 35 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้จริง ต้องใส่แมสN95 ป้องกัน

สำหรับการใช้เครื่องฟอกอากาศนั้น ต้องใช้เครื่องฟอกอากาศที่สามารถกรองฝุ่นได้ทันที คือ ดูดอากาศเข้าไปและปล่อยอากาศที่สะอาดออกมาให้ทันกับการหายใจของเรา ซึ่งเครื่องฟอกอากาศยิ่งเล็ก อย่าง เครื่องฟอกอากาศแบบพกพาห้อยคอ ประสิทธิภาพน้อย และน้อยจนถึงขั้นไม่ช่วยอะไร หรือสู้แมสไม่ได้

ส่วนการฉีดน้ำ หรือฝนตก วันที่ฝนตก ฝุ่นก็ติดมากับน้ำฝน ช่วยลดปริมาณฝุ่นได้จริง  แต่พอฝุ่นตกมาที่บ้าน พอน้ำแห้ง ฝุ่นก็กลับไปในอากาศอีก ดังนั้น เป็นเพียงการลดชั่วคราว

"การดูแลตัวเอง นอกจากเรื่องของการปฎิบัติตัวแล้ว ทุกคนต้องช่วยกันลดการเกิด PM 2.5 เท่าที่ทำได้ เช่น PM 2.5 ที่เกิดจากธรรมชาติ เช่น การป้องกันไฟป่า การเผาพืชผลทางการเกษตร ต้องสอนลูกหลานให้ลดการเผา  ต้องใช้ยานพาหนะที่สร้าง PM2.5 ให้น้อยลง รวมถึงการลดการเผากระดาษ ลดการใช้ธูปต่างๆ เป็นต้น"พ.อ. (พิเศษ) นพ. ครรชิต กล่าว

พื้นที่PM2.5 สัมพันธ์กับผู้ป่วยมะเร็งปอด

รศ.พญ. ธัญนันท์ ใบสมุทร ผู้เชี่ยวชาญสาขาอายุรศาสตร์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลรามาธิบดี  กล่าวว่า ฝุ่นPM2.5 อนุภาคเล็กกว่าเส้นผม 30เท่า  ซึ่งฝุ่น PM2.5 ส่งผลกระทบต่อร่างกายในหลายๆ ระบบ รวมถึงมะเร็งปอด

“ประเทศหรือภูมิภาคที่มี PM2.5 สูง ก็จะทำให้มีผู้ป่วยมะเร็งปอดเพิ่มมากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยีนส์กลายพันธุ์ EGFR ที่มากขึ้น   ซึ่งมะเร็งชนิดนี้ มักจะเกิดในคนไม่สูบบุหรี่ และเทียบประชากรกลุ่มเอเชียและชาวตะวันตก จะเจอในกลุ่มอาเซียนตะวันออกเกือบ 70%"รศ.นพ.ธัญนันท์ กล่าว

ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้การกลายพันธุ์เกิดจากอะไร ไม่ว่าจะเป็น การกลายพันธุ์ของยีนส์เอง หรือปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม อาหาร และมีการตั้งสมมติฐาน และทำวิจัยว่ามีความเกี่ยวกับฝุ่นPM2.5 หรือไม่ เพราะพบว่าประเทศไหนที่มีฝุ่นPM2.5 มากขึ้นจะพบผู้ป่วยมะเร็งปอดมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ยังเป็นการหาความสัมพันธ์ แต่ยังไม่รู้ชัดเจน จนกว่าจะมีการวิจัยมากกว่านี้

ทั้งนี้ บางคนอาจมีความเสี่ยงอยู่แล้ว แต่เมื่อไปสัมผัส PM2.5 หรือสูบบุหรี่ ก็ล้วนทำให้เกิดโรคมะเร็งปอดได้ เป็นเพียงการทดลอง วิจัยอยู่ในเบื้องต้นเท่านั้น

“ผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด อาจจะต้องระวังมากเป็นพิเศษ และต้องเช็กค่าฝุ่น เลือกหน้ากากให้ถูกชนิด และใช้ให้ถูกวิธี นอกจากนั้นควรจะต้องมีการดูสภาพแวดล้อมรอบบ้าน มีเครื่องฟอกอากาศ หรือปลูกต้นไม้ให้ร่มรื่น ก็จะสามารถช่วยได้” รศ.พญ. ธัญนันท์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เรื่องฝุ่นPM2.5 อยากให้ทุกคนตระหนักแต่อย่าตื่นตระหนก เพราะเชื่อว่าหลายคนมีความรู้ ทราบถึงแหล่งกำเนิดอยู่แล้ว แต่ต้องระมัดระวัง รู้จักวิธีการหลีกเลี่ยง ป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง