'หมอธีระ' เผยสิงคโปร์-ออสเตรเลีย ติดเชื้อ 'โควิด-19' รายสัปดาห์สูงขึ้นมาก
"หมอธีระ" อัปเดตความรู้ "โควิด-19" สิงคโปร์-ออสเตรเลีย มีจำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์สูงขึ้นมาก ระบุปัญหาโรคหัวใจเพิ่มขึ้นชัดเจนหลังติดโควิด
เมื่อวันที่ 19 มี.ค.66 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 63,755 คน ตายเพิ่ม 202 คน รวมแล้วติดไป 682,428,457 คน เสียชีวิตรวม 6,818,967 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดโควิด-19 คือ
- รัสเซีย
- เกาหลีใต้
- ไต้หวัน
- ฝรั่งเศส
- ญี่ปุ่น
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 85.54 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 86.63
- อัปเดตสถานการณ์ระบาด และความรู้โควิด-19
1. สิงคโปร์มีจำนวนติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ที่สูงขึ้นมาก
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสิงคโปร์ ชี้ให้เห็นว่าจำนวนติดเชื้อใหม่ในสัปดาห์ล่าสุดสูงขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนถึงกว่า 2 เท่า และมีจำนวนผู้ป่วยต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า โดยหากดูตามอายุ จะพบว่าเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอายุ ตั้งแต่วัยเด็ก วัยทำงาน และวัยสูงอายุ
ลักษณะสายพันธุ์ที่ระบาดอยู่นั้น สายพันธุ์ XBB.1.5, XBB.1.9, และ XBB.1.9.1 ดูจะเป็น 3 ตัวหลักที่นำอยู่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
2. ออสเตรเลียตอนใต้รายงานจำนวนติดเชื้อใหม่สูงขึ้นมาก
รายงานจากออสเตรเลียชี้ให้เห็นว่า จำนวนติดเชื้อสัปดาห์ล่าสุดสูงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้าถึง 37% โดยทางทีมมหาวิทยาลัยอะดิเลดประเมินว่าเป็นสัญญาณของระลอกใหม่ในออสเตรเลียตอนใต้ และน่าจะสูงไปถึงพีคราว 6,000 คนต่อสัปดาห์ในช่วงกลางมีนาคมนี้
3. ปัญหาโรคหัวใจเพิ่มขึ้นชัดเจนหลังติด "โควิด-19"
Mabila S และคณะจากสหรัฐอเมริกา ศึกษาในเหล่าทหารอเมริกันเกือบหนึ่งล้านคน ซึ่งมีกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจชนิดต่างๆ จำนวน 15,779 ราย
วิเคราะห์แล้วพบว่า กลุ่มคนที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาโรคหัวใจชนิดต่างๆ โดยรวมเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มคนที่ไม่ติดเชื้อราว 1.64 เท่า
- กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 5.86 เท่า
- เยื่อบุหัวใจอักเสบ 3.08 เท่า
- ภาวะหัวใจเต้นเร็ว 1.72 เท่า
- ภาวะหัวใจล้มเหลว 2.15 เท่า
- ภาวะหัวใจห้องบนสั่นพลิ้ว 1.33 เท่า
ผลการศึกษานี้ย้ำเตือนให้เราเห็นความสำคัญของการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ไม่ประมาท และหากเกิดติดเชื้อมาก่อน ก็ควรหมั่นตรวจตราดูแลสุขภาพของตนเอง คอยสังเกตอาการผิดปกติ รวมถึงการไปตรวจสุขภาพเป็นระยะ เพื่อที่จะตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที
ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ระมัดระวังพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง ไม่ควรแชร์ของกินของใช้ร่วมกับคนอื่นนอกบ้าน
ปรับสภาพแวดล้อมในบ้าน ที่ทำงาน ที่เรียน ที่กินดื่ม ที่เที่ยว ให้มีการระบายอากาศที่ดีขึ้นกว่าในอดีต การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดเสี่ยงลงไปได้มาก ไม่ติดเชื้อหรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
อ้างอิง
1. MInistry of Health. Singapore. 19/3/2023.
2. COVID-19 cases in South Australia jump, signalling start of next wave. ABCNews. 17 March 2023.
3. Post –acute sequalae of COVID-19 and cardiac outcomes in U. S. military members. International Journal of Cardiology Cardiovascular Risk and Prevention. Volume 17, June 2023.