‘ซีเซียม-137’ หายลึกลับ บทเรียนความสะเพร่า
จากกรณี แท่งซีเซียม-137 หายไปจากจุดติดตั้งนั้น แม้ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เฝ้าระวังและให้ข้อมูลคนในพื้นที่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อคือนี่ขนาดไทยยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังเกิดเรื่องได้?
การหายไปอย่างลึกลับของ “ซีเซียม-137” จากโรงงานไฟฟ้าไอน้ำ ที่จังหวัดปราจีนบุรี เป็นข่าวบนหน้าสื่อและคีย์เวิร์ดบนสื่อออนไลน์อยู่หลายวัน ปัญหาอยู่ที่ “ความไม่ชัดเจน” เกี่ยวกับข้อมูลของสารอันตรายที่หายไป และการจัดการของภาครัฐ ทำให้ประชาชนโดยรอบเกิดความกังวล เพราะกัมมันตภาพรังสีนั้นร้ายแรงมาก
แทบทุกคนได้เรียนรู้ถึงความรุนแรงของระเบิดปรมาณูสองลูกที่ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิจนทำให้ญี่ปุ่นยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ยกตัวอย่างแบบนี้ดูจะไกลไป ย้อนอดีตไปหลายสิบปี ตัวอย่างที่ดูง่ายกว่าและถูกพูดถึงกันมากคือ “ภัยพิบัตินิวเคลียร์เชอร์โนบิล” และ “ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะแห่งที่หนึ่ง” แม้เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระ แต่ถูกพูดถึงเสมอ
“ภัยพิบัติเชอร์โนบิล” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2529 ณ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ทางตอนเหนือของกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน ใกล้ชายแดนของเบลารุส ซึ่งในขณะนั้นทั้ง 2 ประเทศยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต อุบัติเหตุเกิดขึ้นระหว่างทดสอบการทำงานของระบบหล่อเย็นและระบบทำความเย็นฉุกเฉินของแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ โดยขณะที่กำลังทดสอบระบบของเตาปฏิกรณ์เครื่องที่ 4 ทีมวิศวกรสังเกตเห็นความผิดปกติในบางระบบของเตาปฏิกรณ์ จึงทำการปิดระบบเหล่านั้น แล้วทดสอบระบบต่อไป ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดหลักความปลอดภัยอย่างร้ายแรง
ต่อมาไม่นาน เกิดแรงดันไอน้ำสูงขึ้นอย่างฉับพลันภายในเตาปฏิกรณ์ ระบบระบายความร้อนไม่ทำงาน ส่งผลให้เกิดความร้อนสูงขึ้นจนแกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 4 หลอมละลาย และระเบิดขึ้น เกิดรูรั่วขนาดใหญ่ สารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ปะทุในปริมาณมหาศาล แพร่กระจายสู่อากาศและพื้นดินโดยรอบอย่างรวดเร็ว และเกิดไฟลุกไหม้เตาปฏิกรณ์นานถึง 9 วัน ส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 5 ล้านคนทั่วยุโรป
ส่วน “ภัยพิบัตินิวเคลียร์ฟุกุชิมะ” เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 มี.ค.เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แมกนิจูด บริเวณนอกชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรโอชิกะ ภาคโทโฮกุของญี่ปุ่น แม้เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะจะปิดอัตโนมัติหลังเกิดแผ่นดินไหว แต่คลื่นสึนามิที่ถาโถมเข้ามา ส่งผลให้เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินที่ใช้ผลิตสารหล่อเย็นสำหรับหล่อเลี้ยงเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หยุดทำงาน แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางส่วนหลอมละลายและเกิดการระเบิดของสารเคมีภายในโรงงานขึ้นหลายครั้ง จนสารกัมมันตรังสีเริ่มรั่วไหลออกสู่บรรยากาศและมหาสมุทรแปซิฟิก
ทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มีระบบดูแลความปลอดภัยเข้มงวด แต่เชอร์โนบิลเกิดเพราะความผิดพลาดของมนุษย์ ฟุกุชิมะเกิดจากภัยธรรมชาติ
ส่วนกรณีไทยปฐมบทมาจากแท่งซีเซียม-137 หายไปจากจุดติดตั้ง คำถามคือหายไปได้อย่างไร ใครเอาไป ทีมค้นหาต้องไปตระเวนตามร้านขายของเก่า การป้องกันดูแลอันตรายเป็นอย่างไร แม้ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เฝ้าระวังและให้ข้อมูลคนในพื้นที่แล้ว แต่สิ่งที่ต้องคิดต่อคือนี่ขนาดไทยยังไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ยังเกิดเรื่องได้ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องกับสารกัมมันตรังสียังสะเพร่าขนาดนี้ ประเทศไทยคงยังห่างไกลกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์