'วันตระหนักรู้โรคออทิสติกโลก' เลี้ยงลูกอย่างไร? เมื่อเป็นเด็กออ

'วันตระหนักรู้โรคออทิสติกโลก' เลี้ยงลูกอย่างไร? เมื่อเป็นเด็กออ

วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้เป็น 'วันตระหนักรู้โรคออทิสติกโลก' (World Autism Awareness Day) หนุนให้สังคมเกิดความเข้าใจ ยอมรับบุคคลที่เป็นออทิสติก ส่งเสริมให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข

Keypoint:

  • ออทิสติกโลกที่รู้จักกันมายาวนานกว่า 80 ปี 'วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก' ปี 2566 มุ่งเน้นการก้าวสู่โลกที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ยอมรับ สนับสนุน และอยู่ร่วมกัน แม้ว่าจะมีความแตกต่าง
  • พูดช้า พูดภาษาแปลก ๆ ไม่สบตาขณะพูด เล่นของเล่นซ้ำๆ ชอบเล่นลำพัง มองซ้ำ ๆ สนใจในรายละเอียดมากเกินไป  หรือพฤติกรรมก้าวร้าว อยู่ไม่นิ่งหรือขาดสมาธิ พ่อแม่ต้องสังเกตรีบปรึกษาแพทย์
  •   โรคออทิสติกเป็นโรคทางสมองที่ส่งผลต่อพัฒนาการ การรักษาจำเป็นต้องใช้ความทุ่มเททั้งกายและใจอย่างมาก

ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2550 องค์การสหประชาชาติ  ได้กำหนดให้วันที่ 2 เมษายนของทุกปี เป็น 'วันตระหนักรู้ออทิสติกโลก (World Autism Awareness Day)' เพื่อเชิญชวนให้ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติ และองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ตลอดจนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ร่วมรณรงค์ให้สังคมได้ตระหนักและเห็นความสำคัญของโรคออทิสติก ให้เกิดความเข้าใจ เกิดการยอมรับ สร้างความเท่าเทียม และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข

นอกจากนี้ ยังมีบางประเทศจัดเป็นสัปดาห์ตระหนักรู้ออทิสติก (World Autism Awareness Day) ช่วงสัปดาห์เดียวกับวันที่ 2 เมษายน เช่น สหราชอาณาจักร และในบางประเทศจัดเป็นเดือนตระหนักรู้ออทิสติก ตลอดเดือนเมษายน เช่น สหรัฐอเมริกา

\'วันตระหนักรู้โรคออทิสติกโลก\' เลี้ยงลูกอย่างไร? เมื่อเป็นเด็กออ

องค์กรออทิสติกแห่งอเมริกา กำหนดให้ใช้ริบบิ้นรูปจิ๊กซอร์ (puzzle ribbon) เป็นสัญลักษณ์สากลของการตระหนักรู้ออทิสติก ซึ่งอาจทำเป็นเข็มกลัดติดเสื้อ แม่เหล็ก หรือสติกเกอร์ก็ได้ นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์โดยใช้สีฟ้าเป็นสัญลักษณ์อีกด้วย เช่น ใส่เสื้อผ้าสีฟ้า หรือตกแต่งสถานที่เป็นสีฟ้า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เลี้ยงลูกเด็กพิเศษ ให้กลายเป็น“ศิลปิน”ดิจิทัลอาร์ท

ดูซีรีส์ ทำความเข้าใจ "ออทิสติก สเปกตรัม" ผ่านทนายสาวอัจฉริยะ "อูยองอู"

เลี้ยงดู "เด็กพิเศษ" ต้องเริ่มจากพ่อแม่ คัดกรองให้ไว เสริมพัฒนาการรอบด้าน

 

Toward a Neuro-Inclusive World for All ธีมปี 2566 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้กำหนดธีมเฉพาะเจาะจงของวันตระหนักรู้ออทิสติกโลก ในแต่ละปี ดังนี้

พ.ศ. 2555 “Awareness Raising”
พ.ศ. 2556 “Celebrating the ability within the disability of autism”
พ.ศ. 2557 “Opening Doors to Inclusive Education”
พ.ศ. 2558 “Employment: The Autism Advantage”
พ.ศ. 2559 “Autism and the 2030 Agenda: Inclusion and Neurodiversity”
พ.ศ. 2560 “Toward Autonomy and Self-Determination”
พ.ศ. 2561 “Empowering Women and Girls with Autism”
พ.ศ. 2562 “Assistive Technologies, Active Participation”
พ.ศ. 2563 “The Transition to Adulthood”
พ.ศ. 2564 “Inclusion in the Workplace”
พ.ศ. 2565 “Inclusion Education”
พ.ศ. 2566 “Transformation: Toward a Neuro-Inclusive World for All”

\'วันตระหนักรู้โรคออทิสติกโลก\' เลี้ยงลูกอย่างไร? เมื่อเป็นเด็กออ

แนวคิด “Transformation” หรือ “การเปลี่ยนแปลง” ซึ่งกำหนดเป็นธีมในปีล่าสุด ได้ขยายความว่า “Toward a Neuro-Inclusive World for All” คือ การก้าวสู่โลกที่เหมาะสมสำหรับทุกคน ยอมรับ สนับสนุน และอยู่ร่วมกัน แม้ว่าจะมีความแตกต่าง ร่วมตอกย้ำเจตนารมณ์ในเรื่องสิทธิที่เท่าเทียมของบุคคลออทิสติก ช่วยให้มีศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจ เป็นสมาชิกที่มีคุณค่าของครอบครัวและสังคมได้อย่างสมบูรณ์

'ออทิสติก' เป็นความผิดปกติของพัฒนาการเด็กรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว โดยเด็กไม่สามารถพัฒนาทักษะทางสังคมและการสื่อความหมายได้เหมาะสมตามวัย มีลักษณะพฤติกรรม กิจกรรม และความสนใจ เป็นแบบแผนซ้ำๆ จำกัดเฉพาะบางเรื่อง และไม่ยืดหยุ่น ปัญหาดังกล่าวเป็นตั้งแต่เล็ก ส่งผลให้เกิดข้อจำกัดในการดำรงชีวิต

 

รู้จัก 'ออทิสติก' เช็กอาการบุคคลที่เป็นออทิสติก

ออทิสติกเป็นโรคที่รู้จักมาเป็นเวลาเกือบ 80 ปีแล้ว มีชื่อเรียกหลากหลาย และมีการเปลี่ยนแปลงการเรียกชื่อเป็นระยะ มีทั้ง ออทิสติก (Autistic Disorder) ออทิสซึม (Autism) ออทิสติก สเปกตรัม (Autism Spectrum Disorder) พีดีดี (Pervasive Developmental Disorders) พีดีดี เอ็นโอเอส (PDD Not Otherwise Specified) และแอสเพอร์เกอร์ (Asperger’s Disorder) จนในปัจจุบันนักวิชาการตกลงใช้คำว่า “Autism Spectrum Disorder” ตามเกณฑ์คู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชฉบับล่าสุด DSM-5 สำหรับในภาษาไทย ควรจะเรียก “ออทิสติก” เหมือนกันในทุกกลุ่มย่อย เนื่องจากเป็นคำที่ใช้มานานแล้ว และระบุอยู่ในกฎหมายเกี่ยวกับคนพิการด้วย

โดยโรคออทิสติก (autistic disorder) หรือกลุ่มอาการออทิสติก (autistic spectrum) เป็นความผิดปกติทางจิตเวชเด็กที่เกี่ยวข้องกับพัฒนาการ ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางด้านภาษา สังคม และพฤติกรรม ส่งผลให้กลุ่มคนเหล่านี้มีความพร่องทางพัฒนาการ ซึ่งอาการแสดงพบได้ตั้งแต่ระดับรุนแรงเพียงเล็กน้อยจนถึงระดับที่รุนแรงมาก

ในกลุ่มเด็กออทิสติกจะมีพัฒนาการล่าช้า 2 ด้าน ได้แก่ 

1.ด้านภาษาเพื่อสื่อสารทางสังคม โดยผู้ป่วยจะมีปัญหาในด้านการพูดและการสื่อสารทางกาย ได้แก่ ในเด็กเล็ก การที่ไม่สบตา ไม่ยิ้มตอบ ไม่มองหน้าคน ไม่สนใจเวลาเรียกชื่อ พูดได้ช้ากว่าเด็กคนอื่นๆในวัยเดียวกัน หรือพูดไม่เป็นภาษา หรือเมื่อโตขึ้น จะเห็นว่าไม่รู้วิธีเริ่มต้นบทสนทนา ขาดความสามารถในการเข้าหาเด็กคนอื่น มักเล่นตามลำพังหรือแยกตัว จนพอเข้าวัยเรียน อาจมีปัญหาไม่เข้าใจสีหน้าท่าทางและอารมณ์ของผู้อื่น ทำให้ไม่เข้าใจสถานการณ์ทางสังคมได้

2.ด้านพฤติกรรม เช่น มีพฤติกรรมซ้ำๆที่ไม่เหมาะสม ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เช่น มีการสะบัดมือซ้ำๆ พูดซ้ำๆ ชอบมองพัดลมหมุนๆ ยึดติดอาหาร กินอาหารซ้ำๆ ไม่ยืดหยุ่น ต้องทำตามขั้นตอน หรือแบบแผนที่วางไว้ มีความไวต่อการรับรู้ทางประสาทสัมผัสมากหรือน้อยผิดปกติ เช่น ไม่ชอบเสียงบางอย่าง ชอบเข้าไปดมมากผิดปกติ

ซึ่งอาการของออทิสติกนั้นมีหลากหลายมาก ตั้งแต่มีอาการรุนแรงเห็นชัดเจน จนถึงอาการเป็นน้อยต้องเฝ้าติดตามอาการจนเด็กโตขึ้นอาจจะเห็นได้ชัด หรือ กลุ่มที่มีลักษณะสนใจเรื่องใดเรื่องนึงเป็นพิเศษจนมีความรู้ลึกซึ้งและเป็นความสามารถพิเศษ อย่างที่เราเห็นและคุ้นเคยกัน ตามรายการต่างๆ เช่น ความสามารถด้านการวาดรูป การร้องเพลง การคำนวน

\'วันตระหนักรู้โรคออทิสติกโลก\' เลี้ยงลูกอย่างไร? เมื่อเป็นเด็กออ

วิธีสังเกตอาการว่าลูกเป็นออทิสติกหรือไม่?

หากสังเกตพบอาการที่สงสัยว่าลูกจะเป็นออทิสติก อาทิ

  • พัฒนาการด้านการสื่อสาร เช่น พูดช้า พูดภาษาแปลก ๆ ไม่ส่งเสียงเรียก บอกความต้องการโดยการชี้นิ้ว ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ไม่ได้
  • พัฒนาการด้านการเข้าสังคม เช่น ไม่สบตาเวลาพูด ดูเฉยเมยไร้อารมณ์ ปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ลำบาก ไม่แสดงอารมณ์ดีใจหรือเสียใจ
  • พัฒนาการด้านการเล่น เช่น เล่นซ้ำ ๆ มองซ้ำ ๆ สนใจในรายละเอียดมากเกินไป ชอบเล่นตามลำพัง ไม่สนใจการเล่นกับเพื่อน ไม่สามารถเล่นตามกฎเกณฑ์ 
  • นอกจากนี้โรคออทิสติกสามารถแสดงด้วยอาการอย่างอื่น เช่น พฤติกรรมก้าวร้าว อยู่ไม่นิ่งหรือขาดสมาธิ ร้องกรี้ดเสียงสูง โขกศีรษะ เป็นต้น

ควรรีบนำเด็กไปตรวจประเมินเพิ่มเติมกับจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หรือกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการเด็ก เพื่อให้เขาได้รับการวินิจฉัย และดูแลรักษาในแนวทางที่เหมาะสมโดยเร็วที่สุด เนื่องจากผลลัพธ์ที่ดีขึ้นอยู่กับปัจจัยในเรื่องการได้รับการดูแลรักษาตั้งแต่อายุน้อย และรักษาต่อเนื่อง

นพ.ทรงภูมิ  เบญญากร กุมารแพทย์สุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น คลินิกสุขภาพจิตและพัฒนาการเด็ก รพ.วิภาวดี กล่าวว่าในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของโรคออทิสติกที่แน่นอน เชื่อกันว่าภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์และการคลอด เช่น เลือดออกระหว่างตั้งครรภ์หรือคลอดก่อนกำหนดเป็นสาเหตุสำคัญ นอกจากนี้ปัจจัยทางพันธุกรรมก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่ง ทั้งหมดนี้ทำให้การป้องกันไม่ให้เกิดโรคทำได้ยาก แพทย์จึงมุ่งเน้นไปที่การวินิจฉัยโรคให้ได้ตั้งแต่แรกเริ่มเพื่อผลการรักษาที่ดี

โดยโรคกลุ่มออทิสติกพบได้บ่อยถึงร้อยละ 1  อาการสามารถพบได้ในเด็กตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป ในเด็กที่เริ่มมีอาการเบื้องต้นผู้ปกครองมักคิดว่าเป็นเด็กขี้อาย รักสงบ หรือบางคนเข้าใจว่าเป็นเด็กสมาธิดี จดจ่อของเล่นได้นาน เด็กออทิสติกมักมีอาการที่ชัดเจนมากขึ้นเมื่ออายุ 3 ปี

\'วันตระหนักรู้โรคออทิสติกโลก\' เลี้ยงลูกอย่างไร? เมื่อเป็นเด็กออ

ออทิสติกกับปัญญาอ่อนมีความแตกต่างกัน

หลายคนมักเข้าใจว่าออทิสติกกับปัญญาอ่อนเป็นภาวะเดียวกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วออทิสติกเป็นคนละภาวะกับปัญญาอ่อนสามารถแยกจากกันโดยการส่งประเมินระดับสติปัญญา (IQ test) อย่างไรก็ตามโรคออทิสติกสามารถพบร่วมกับภาวะปัญญาอ่อนได้ร้อยละ 50 ในบางกรณีโรคออทิสติกสามารถมีระดับสติปัญญามากกว่าคนปกติและมีความสามารถพิเศษในระดับอัจฉริยะ (Autistic Savant) เช่น ความสามารถในการวาดรูป หรือความสามารถในการจำปฏิทิน

นพ.ทรงภูมิ กล่าวต่อว่าสำหรับการวินิจฉัยนั้น การจะดูจากลักษณะภายนอกเด็กออทิสติกซึ่งอาจจะไม่แตกต่างจากเด็กปกติทำให้การวินิจฉัยโรคออทิสติกทำได้ยาก การวินิจฉัยโรคออทิสติกทำโดยการประเมินอาการทางคลินิกเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการใด ๆ การประเมินอาการประกอบด้วยการซักประวัติจากพ่อแม่และการประเมินเด็กผ่านทางการเล่น แพทย์อาจขอข้อมูลพฤติกรรมที่โรงเรียนจากครูเพิ่มเติม นอกจากนี้แพทย์จำเป็นต้องส่งประเมินระดับสติปัญญา (IQ test) โดยนักจิตวิทยาคลินิกเพื่อการวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง การส่งตรวจทางคลินิกที่อย่างอื่น เช่น คลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) จำเป็นในกรณีที่มีอาการชักร่วมด้วยเท่านั้น

3 วิธีการรักษาโรคออทิสติก

ทุกวันนี้มีผู้เชี่ยวชาญหลายท่านให้ความเห็นในการรักษาออทิสติกแตกต่างกันไป ผู้เชียวชาญบางท่านให้ความเห็นว่าโรคออทิสติกสามารถรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งจากหลักฐานทางการแพทย์ในปัจจุบันโรคออทิสติกไม่สามารถรักษาให้หายขาดแต่สามารถรักษาให้มีอาการดีขึ้นและปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างเหมาะสม การรักษาออทิสติกสามารถทำได้ 3 วิธีดังต่อไปนี้

  • การกระตุ้นพัฒนาการ เป็นการรักษาที่มีความสำคัญที่สุดในโรคออทิสติก การกระตุ้นพัฒนาการมีหลายวิธี ได้แก่ การกระตุ้นผ่านระบบประสาทรับความรู้สึก (Sensory Integration) กิจกรรมบำบัด (Occupational Therapy) และการฝึกพูด (Speech Therapy) การรักษาทั้งหมดนี้ต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอย่างต่อเนื่อง
  • การปรับพฤติกรรม การปรับพฤติกรรมในเด็กออทิสติกมีวัตถุประสงค์เพื่อลดพฤติกรรมอันตราย เช่น โขกศีรษะหรือก้าวร้าว ซึ่งในเด็กออทิสติกจะมีข้อจำกัดในการสื่อสารทำให้ไม่สามารถใช้ภาษาพูดได้อย่างตรงไปตรงมา การสื่อสารเพื่อปรับพฤติกรรมต้องกระชับเข้าใจง่ายและทำได้จริง ทั้งนี้พ่อแม่ทุกรายควรได้รับการฝึกทักษะในการปรับพฤติกรรมโดยแพทย์
  • การใช้ยา เนื่องจากโรคออทิสติกเป็นโรคทางพัฒนาการของสมอง ดังนั้นยาจึงจำเป็นที่จะช่วยในการควบคุมสารเคมีในสมองให้มีความสมดุลเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแทรกซ้อน การใช้ยาจะพิจารณาตามอาการสำคัญในเด็กออทิสติก เช่น ยา Risperidone ช่วยควบคุมพฤติกรรมก้าวร้าว ยา Methylphenidate ช่วยควบคุมอาการขาดสมาธิและอยู่ไม่นิ่ง ทั้งนี้การรักษาด้วยยาจำเป็นที่จะต้องมีการดูแลและประเมินผลข้างเคียงโดยแพทย์อย่างใกล้ชิด

\'วันตระหนักรู้โรคออทิสติกโลก\' เลี้ยงลูกอย่างไร? เมื่อเป็นเด็กออ

ด้านของการดูแลและรักษาเด็กที่มีอาการออทิสติก จำเป็นต้องได้รับการตรวจดูแลรักษา ส่งเสริมพัฒนาการ ตลอดจนการปรับพฤติกรรมและฝึกทักษะในการเข้าสังคม โดยแพทย์และทีมสหวิชาชีพ หากสามารถพามารับการดูแลรักษาได้เร็วโดยเฉพาะในช่วง 3 ขวบปีแรก จะส่งผลให้มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี ที่จะทำให้เด็กสามารถปรับตัวกับสังคม เข้าโรงเรียน ช่วยเหลือตัวเองได้

อย่างไรก็ตาม ออทิสติกก็เป็นเพียงภาวะหนึ่งที่ทำให้คนเรามีความแตกต่างกัน ดังนั้นหากพวกเราทุกคนมีความตระหนักถึงกลุ่มเด็กที่มีอาการเหล่านี้ ยอมรับ เข้าใจ และให้โอกาส ก็จะมีส่วนร่วมส่งเสริมให้กลุ่มเด็กที่มีอาการออทิสติกมีโอกาสได้รับการศึกษา ประกอบอาชีพ และ สามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงกับคนทั่วไป

นอกจากนี้ เราควรตระหนักด้วยว่าบุคคลออทิสติกเป็นกลุ่มเปราะบาง ที่มีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่พบเห็นได้รอบตัว เช่น โรคระบาด สงคราม และภัยธรรมชาติ

ทุกคนควรได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในสังคม ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ได้ไปในสถานที่ต่าง ๆ มีประสบการณ์ในชีวิตที่สนุกสนาน มีความสุข ไม่แตกต่างกัน ไม่ควรมีผู้ใดถูกทิ้งไว้ข้างหลัง รวมถึงผู้ที่เป็นออทิสติก หากได้รับการดูแลที่ถูกวิธี การยอมรับ การสนับสนุน พวกเขาก็จะเรียนรู้และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

อ้างอิง:คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,ศูนย์วิชาการแฮปปี้โฮม