หน้าร้อนต้องรู้ 'ผดร้อน' สังเกตอาการ รักษา ป้องกันอย่างไร

หน้าร้อนต้องรู้ 'ผดร้อน' สังเกตอาการ รักษา ป้องกันอย่างไร

หนึ่งในอาการที่ตามมากับ 'หน้าร้อน' คือ ผดร้อน ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งผู้ใหญ่ จากการเหงื่อออกมาก ร่วมกับการใส่เสื้อรัด ระบายอากาศไม่ดี และ เด็กทารก เกิดจากระบบต่อมเหงื่อพัฒนาไม่สมบูรณ์ แล้วเราจะมีวิธีสังเกต ป้องกัน รักษาอย่างไร

Key Point :

  • หน้าร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้นทำให้มีโรคที่ต้องระวัง นอกจาก ฮีทสโตรก แล้ว ยังมีโรคผิวหนัง ที่สามารถพบได้อย่าง 'ผดร้อน' โดยเฉพาะช่วงนี้ที่ทำให้เหงื่อออกเยอะ 
  • ผดร้อน คือ โรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากการอุดตันของท่อเหงื่อที่ผิวหนังของเรา ทำให้ไม่สามารถระบายเหงื่อได้ แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ขึ้นอยู่กับการอุดตัน
  • คนไข้สามารถรักษาโดยการทานยาตามอาการหรือปรับพฤติกรรม อยู่ในที่อากาศถ่ายเท ใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี อาบน้ำบ่อย ก็สามารถช่วยลดอาการได้  

 

นายแพทย์พชรวรรธน์ จิระสุทัศน์ นายแพทย์ปฏิบัติการ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวผ่านรายการ รู้ทัน ปัญหาผิว โดยระบุว่า ผดร้อน คือ โรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากการอุดตันของท่อเหงื่อที่ผิวหนังของเรา ทำให้ไม่สามารถระบายเหงื่อได้ ผิวหนังของเราปกติแบ่งเป็น 3 ชั้น ได้แก่ ชั้นบนสุด คือ ชั้นขี้ไคล ผิวหนังกำพร้า และ ผิวหนังแท้ ในผิวหนังแท้มีต่อมเหงื่อและมีท่อเหงื่อระบายขึ้นไปด้านบน เมื่อท่อระบายเหงื่ออุดตันทำให้เกิดผืนที่ผิวหนังขึ้นมา แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ ขึ้นอยู่กับระดับของการอุดตัน ดังนี้

 

ชนิดที่ 1 Miliaria Cystallina ลักษณะคล้ายคริสตัล เป็นตุ่มเม็ดเล็กๆ เหมือนหยดน้ำ เกิดจากการอุดตันผิวหนังชั้นขี้ไคล และหลังจากนั้น ท่อเหงื่อแตกออกทำให้เกิดผื่นคลายหยดน้ำ ขนาดเล็ก สามารถแตกได้ง่าย อาจจะเจอได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก โดยเด็กเจอบริเวณใบหน้าได้บ่อย

 

ชนิดที่ 2 Miliaria Rubra ผดผื่นตุ่มสีแดง เป็นชนิดที่พบบ่อย เป็นตำแหน่งที่มีการกดทับ หากเป็นผู้ใหญ่จะพบบริเวณลำตัว เป็นการอุดตันชั้นผิวหนังกำพร้า ผื่นชนิดนี้มีอาการแดง คัน แสบ ต่างจากผดร้อนชนิดอื่น

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ชนิดที่ 3 Miliaria Profunda เจอได้น้อยที่สุด ส่วนใหญ่จะเป็นผดร้อน Miliaria Rubra และเกิดการอุดตันอย่างยาวนาน จนเกิดภาวะนี้ เจอในบริเวณรอยต่อผิวหนังกำพร้าและผิวหนังชั้นแท้

 

ผดร้อนเกิดจากอะไร

สาเหตุของผดร้อน แบ่งเป็น ผู้ใหญ่ จะเกี่ยวกับการที่มีภาวะที่ทำให้มีเหงื่อออกมามาก ร่วมกับการใส่เสื้อรัด ระบายอากาศไม่ดี เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอุดตัน ปัญหา คือ ชั้นขี้ไคลที่อยู่บนสุด พอเจอทั้งเหงื่อและการอุดตัน หรือการกดทับ จะทำให้ขี้ไคลเปื่อย และอุดรูระบายเหงื่อทำให้เกิดผืนและรอยโรค

ส่วนในเด็กทารก เกิดจากระบบต่อมเหงื่อพัฒนาไม่สมบูรณ์ทำให้เกิดผดร้อนได้บ่อยเช่นกัน ทั้งนี้ ผดร้อนส่วนใหญ่เกิดที่ลำตัว ต้นแขน แต่ในกรณีเด็กจะเกิดที่ใบหน้าได้

 

กลุ่มเสี่ยงผดร้อน

  • กลุ่มที่มีภาวะทำให้เหงื่อออกมามาก แน่นอนว่าอากาศร้อนเป็นปัจจัยทำให้เหงื่อออกเยอะ โดยเฉพาะอากาศชื้น ความชื้นสัมพัทธ์สูง เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดผดร้อนมากขึ้นด้วย 
  • การออกกำลังกายที่ทำให้เหงื่อออกมามาก ยิ่งในภาวะร้อนชื้น ยิ่งทำให้เหงื่อออกมาก โดยเฉพาะการออกกำลังกายกลางแจ้งเป็นความเสี่ยงที่จะเกิดผดร้อนได้
  • ภาวะไข้สูง ทำให้ระบบกลไกของร่างกายพยายามที่จะลดอุณหภูมิกายลง จะมีการทำงานของต่อมเหงื่อมากขึ้น เพื่อระบายเหงื่อ ลดอุณหภูมิแกนกลางของร่างกาย ทำให้มีเหงื่อออกมามากด้วยเช่นกัน
  • การใส่เสื้อผ้ารัด เสียดสี เกิดการอุดตันของท่อเหงื่อได้ง่าย
  • ผู้ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น อยู่เมืองหนาวมาก่อน และมีการย้ายถิ่นฐานหรือมาเที่ยวแถบเส้นศูนย์สูตร ทำให้ระบบเหงื่อทำงานไม่สมบูรณ์ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้คนไข้เกิดผดร้อนขึ้นได้

 

 

รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคผดร้อน

การวินิจฉัยผดร้อน โดยทั่วไป แพทย์ผิวหนังเฉพาะทางเห็นอาการ และประวัติ ตรวจร่างกาย จะสามารถวินิจฉัยได้ โดยเฉพาะตำแหน่งที่เจอบ่อย คือ ตำแหน่งที่มีการกดทับ มีประวัติชัดเจนว่ามีเหงื่อออกมาก มีไข้สูง เป็นต้น ส่วนน้อยที่อาการไม่ชัดเจน ก็มีความจำเป็นในการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพื่อแยกโรคแต่เป็นส่วนน้อย เพราะส่วนใหญ่ดูได้ตา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะสามารถวินิจฉัยได้

 

"ผดร้อนไม่ได้มีภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง แต่สิ่งที่อยากให้รู้ คือ โรคที่มากับผดร้อน หรือ อากาศร้อน สิ่งที่น่ากลัวมากกว่า คือ กลุ่มโรคลมร้อน หรือ ฮีทสโตรก ซึ่งร่างกายปรับตัวกับสภาพอากาศที่ร้อนได้ไม่ดี เหงื่อออกน้อย คนไข้ที่มาจะเป็นกลุ่มออกกำลังกาย ฝึกทหารในช่วงที่มีแดดร้อน อุณภูมิสูง กลางแดดจัด ควรจะมีเหงื่อออกมามากเพื่อระบายความร้อน"

 

แต่ด้วยอาจจะไม่ค่อยได้ออกกำลังกายทำให้กลไกการปรับตัวของร่างกายไม่สมบูรณ์ เหงื่อออกน้อย ไม่เพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิกายลดลง และเกิดฮีทสโตรกได้ ความร้อนที่สูงมากไปทำให้ระบบต่างๆ ของร่างกายล้มเหลวและต้องมา รพ. ด่วน

 

การรักษาผดร้อน

  • อยู่ในสภาวะที่อากาศเย็น เพื่อให้เหงื่อลดลงต่อเนื่อง 1-2 สัปดาห์ อาการต่างๆ จะค่อยๆ กลับมาดีขึ้นเอง สามารถหายได้เองไม่ว่าจะเป็นการรักษาตามอาการหรือปรับพฤติกรรม ดังนี้
  • ปรับพฤติกรรม กำจัดปัจจัยที่ทำให้เกิดการอุดตันของต่อมเหงื่อ เช่น เสื้อผ้าที่เสียดสี รัดรูป เลี่ยงอากาศร้อน งดออกกำลังกายกลางแจ้งที่ทำให้เกิดเหงื่อ ออกในวันที่แดดไม่ร้อนมากนัก
  • พยายามอยู่ในที่อากาศเย็น ไม่ร้อน อาบน้ำ ประคบผ้าเย็นเพื่อลดความร้อน
  • รักษาตามอาการ รับประทานยาแก้แพ้ ทาน้ำยาคาลามายโลชั่น ทาครีมบำรุงผิว
  • ทานยาฆ่าเชื้อหากมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน มีอาการเจ็บ ตุ่มหนอง แดงเยอะ
  • ยาสเตียรอยด์ไม่ใช่ยาหลักในการรักษา แต่ใช้ในบางกรณี ดังนั้นไม่ควรซื้อยาทานเอง

 

ข้อควรระวัง อาบน้ำเย็นจัด ช่วงอากาศร้อน

"อย่างไรก็ตาม การอาบน้ำเย็นจัด ในช่วงอากาศร้อนก็มีข้อควรระวัง ในกรณีที่ ไปออกกำลังกายกลางแจ้ง อุณหภูมิร่างกายกำลังร้อนระอุ และไปอาบน้ำเย็น สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ น้ำเย็นทำให้ผิวหนังหดตัว เส้นเลือดต่างๆ หดตัว การระบายเหงื่อลดลง ไปฝืนกับกลไกธรรมชาติของร่างกาย คนไข้จะมีอุณหภูมิกายสูงขึ้น อาจจะเกิดภาวะลมแดดได้ หรือ ที่เรียกว่า ฮีทสโตรก ต้องระวัง" 

 

คนตั้งครรภ์แล้วเกิดผดร้อน ทายาได้หรือไม่

คนท้องแน่นอนว่าต้องระวังการใช้ยาไม่ว่าจะยากินหรือยาทา ผดร้อน สามารถหายได้เองได้ ดังนั้น ไม่แนะนำให้ใช้ยาทากับยากินหากไม่จำเป็น เพราะการที่อยู่ในสภาวะอากาศเย็น เอาผ้าเย็นประคบ ก็สามารถหายได้

 

การป้องกันผดร้อน

  • ช่วงอากาศร้อนจัดๆ แนะนำให้อยู่ในห้องแอร์ ห้องที่มีอากาศถ่ายเท เหงื่อจะได้ไม่ออกมากเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าหลายชั้น รัดรูป
  • เลือกใส่เสื้อระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าคอตตอน เพื่อไม่ให้เสริมการอุดตันของท่อเหงื่อ
  • หากรู้สึกร้อนมาก สามารถประคบด้วยผ้าเย็น หรือ อาบน้ำได้บ่อยขึ้น จะสามารถลดอาการผดร้อนได้

 

สิ่งกระตุ้นให้เกิดผดร้อนอื่นๆ

"สำหรับ สิ่งกระตุ้นอื่นๆ ที่ทำให้เกิดผดร้อน เช่น ยา ที่ทำให้เกิดผดร้อนโดยตรงยังไม่มี แต่มียาที่ทำเกิดผดร้อนโดยอ้อมได้ เช่น ยาที่ทำให้มีเหงื่อผลิตออกมา ทำให้เหงื่อออกมาก และเกิดผดร้อนได้ ส่วนเรื่องนอนน้อย เครียด ยังไม่มีรายงานว่าเกี่ยวข้องกับผดร้อนได้ ทั้งนี้ แนะนำว่า หากมีผดผื่นใหม่ๆ ขึ้นให้พบแพทย์โดยเร็ว" 

 

ผดร้อน สามารถหายกลับไปเป็นภาวะปกติ แต่มีชนิดหนึ่ง คือ Miliaria Rubra จะมีการแดง อักเสบ การคัน แสบร้อนได้ ดังนั้น หายแล้วมีโอกาสทิ้งรอยดำไว้ได้ กรณีที่ 2 คือ เนื่องจากเป็นผืนคัน หากคนไข้เกา อาจทำให้เกิดแผลถลอก แผลเป็น เป็นผลโดยอ้อมไม่ใช่ผลจากโรคโดยตรง