สูงวัย ใส่ใจสายตา รู้เท่าทัน 'ต้อกระจก' ถนอมสายตาก่อนสาย
หนึ่งในโรคที่พบในผู้สูงอายุ คือ 'ต้อกระจก' นอกจากอายุแล้ว ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดต้อกระจกก่อนวัย คือ แสงอัลตราไวโอเลต โรคเกี่ยวกับตา โรคประจำตัว และการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ แล้วเราจะแยกอาการได้อย่างไรว่าตามัวเพราะต้อกระจกหรือเพราะค่าสายตากันแน่
'ต้อกระจก' ซึ่งสาเหตุหลักมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ข้อมูลจาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดต้อกระจกก่อนวัยอันควรว่าเกิดจาก การได้รับแสงอัลตราไวโอเลตเข้าตาเป็นเวลานานๆ รวมถึง โรคเกี่ยวกับตา เช่น ม่านตาอักเสบ ตาติดเชื้อ
โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต่อมไทรอยด์ผิดปกติ การเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตาหรือดวงตาได้รับการกระทบกระเทือนบ่อยๆ ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น เด็กแรกเกิดที่มารดาเป็นหัดเยอรมันขณะตั้งครรภ์ และการใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์
ทำความรู้จัก เลนส์ตา ทำหน้าที่อะไร
นายแพทย์สุวิช รัตนศิรินทรวุธ จักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านสายตา ให้ความรู้ผ่านเพจเฟซบุ๊ก แพทยสภา หัวข้อ หมอชวนรู้โดยแพทยสภา ตอนที่ 182 “ทางเลือกเมื่อไม่อยากผ่าตัดต้อกระจกทำอย่างไร” โดยอธิบายถึง 'เลนส์ตา' ซึ่งทำหน้าที่ปรับระยะการมอง โดยอาศัยการเกร็งตาเพื่อเป็นการเพิ่มกำลังของเลนส์ ใช้ในการปรับระยะการมองวัตถุใกล้ไกล เช่น เวลามองวัตถุใกล้จะมีการเพ่งเพื่อให้ภาพตรงหน้าชัด ขณะที่เวลามองไกลไม่ต้องอาศัยการเพ่งในการมอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตามัวเกิดจากสาเหตอะไรได้บ้าง
1. สาเหตุแรกคือ อายุที่มากขึ้นซึ่งส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทั้งเรื่องการเรียงตัวของเส้นใยในตัวเลนส์ ความยืดหยุ่นของเลนส์ที่น้อยลง ส่งผลให้คนที่อายุมากมีเลนส์ตาที่ขุ่นลง
2. โรคเบาหวาน หากควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี น้ำตาลที่สูงขึ้นในกระแสเลือดและในตาจะทำให้การเปลี่ยนแปลงของตัวเลนส์ขุ่นเร็วขึ้นกว่าคนปกติทั่วไปแม้อายุจะไม่มาก ทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าวัยอันควร ซึ่งเบาหวานถือเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ ดังนั้นคนไข้เบาหวานจึงควรควบคุมน้ำตาลให้ดีเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นบริเวณตา
3. โรคของตาอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่นเรื่องม่านตาดำอักเสบหรือมีการอักเสบภายในลูกตาเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดต้อกระจกเร็วกว่าปกติ ดังนั้นการหยอดยาเพื่อทำให้การอักเสบในลูกตาไม่ลุกลาม หรือไม่เกิดขึ้นบ่อยๆจึงมีความสำคัญมาก เนื่องจากทำให้โอกาสที่จะเกิดต้อกระจกก่อนเวลาอันควรจะน้อยลง
4. ผู้ที่ใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไรก็ตามควรจะมีจักษุแพทย์ช่วยดูแลร่วมกับหมอที่ให้ยาสเตียรอยด์นั้นด้วย เนื่องจากในกรณีที่กินยาปริมาณสูงๆ ก็จะมีโอกาสทำให้เกิดต้อกระจกได้มากขึ้น
5. นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นที่ยังไม่มีการยืนยันด้วยการวิจัยชัดเจน เช่น การสูบบุหรี่ น้ำหนักมาก ความดันโลหิตสูงที่อาจส่งผลต่อสุขภาพตา
หากมีอาการตามัวควรไปพบจักษุแพทย์ เพื่อทำการตรวจตา เพื่อหาสาเหตที่ทำให้ตามัว โดยเฉพาะในคนไข้ที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ควรจะมีการตรวจวัด และตรวจสุขภาพตาทุกปี หากไม่อยากพบแพทย์ ควรไปร้านแว่นตาเนื่องจากมีอุปกรณ์บางอย่างที่สามารถตรวจว่ามีความผิดปกติหรือไม่
ความแตกต่างตามัวจาก ต้อกระจก และ ค่าสายตา
- ลักษณะความมัวที่เกิดขึ้นจากต้อกระจก คือ เวลาออกไปเจอแสงสว่างข้างนอก ตาจะมัวมากกว่าในที่ร่ม
- ความมัวที่เกิดจากค่าสายตาที่ไม่ถูกต้อง เวลาออกไปข้างนอกความมัวจะลดลง เนื่องจากรูม่านตาหดมากขึ้น ทำให้ค่าสายตาที่เพี้ยนไปดีขึ้น
ค่าสายตาที่ดีขึ้นอาจเป็นผลจากต้อกระจก ?
การที่เลนส์มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะจากต้อกระจกทำให้มีการเปลี่ยนแปลงค่าสายตาได้ เวลาเลนส์ตามีความหนามากขึ้น ค่าสายตาจะดูเป็นลบมากขึ้น คนที่มีค่าสายตาเป็นบวกอยู่เดิม มีค่าสายตาเป็นบวกลดลง ค่าสายตาโดยรวมอาจจะดูชัดมากขึ้น ซึ่งความจริงแล้วเป็นผลที่เกิดจากการเป็นต้อกระจก ดังนั้นผู้ที่มีปัญหาสายตายาวตามวัย แต่สามารถกลับมามองเห็นระยะใกล้ได้ชัดเจนขึ้น กรณีเช่นนี้ควรไปตรวจตาเนื่องจากอาจเป็นผลที่เกิดจากต้อกระจกที่เรียกว่า second sight
ถ้าเริ่มเป็นตาต้อกระจกแล้ว จำเป็นต้องผ่าตัดทันทีหรือไม่?
ต้อกระจก เป็นโรคที่มีการดำเนินโรคอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่จำเป็นต้องผ่าตัดในทันที อาจจะเลือกพิจารณาช่วงเวลาที่ต้องการผ่าตัดได้ ยกเว้นกรณีคนไข้ที่เป็นโรคมานาน และทิ้งไว้โดยไม่มีการรักษา จนระดับการมองเห็นแย่มาก อาจมีความจำเป็นต้องรีบทำการผ่าตัด อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปแล้ว คนไข้ต้อกระจกสามารถเลือกได้ว่าต้องการจะผ่าตัดเมื่อไหร่ ตั้งแต่หลักวัน จนหลักเดือน
เมื่อไหร่ต้องผ่าตัด?
โรคต้อกระจก จะรักษาให้หายจำเป็นต้องอาศัยการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ความรีบเร่งในการผ่าตัดขึ้นอยู่กับการดำเนินของโรค และความจำเป็นของสายตาต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการทำงานของผู้ป่วย ซึ่งอาจจะพิจารณาเป็นรายบุคคล โดยสามารถ แบ่งเป็น
1. กลุ่มที่ชัดเจนว่าต้องทำการผ่าตัด ได้แก่ ผู้ที่มีต้อกระจกหนา มีภาวะต้อหินแทรก หรือการมองเห็นย่ำแย่มากๆ
2. กลุ่มที่ระดับการมองเห็นปานกลาง อยู่ที่ประมาณ20-30% ซึ่งจะต้องอาศัยการพูดคุยกับคนไข้ และพิจารณาร่วมกัน
ความสำเร็จในการผ่าตัด เมื่ออาการมาก
- อาจมีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือบางอย่างเพิ่มเติมกว่าปกติเพื่อให้การผ่าตัดปลอดภัยมากขึ้น โดยมีผลเสียหลัก 2 ประการ คือ
1. การผ่าตัดจะทำได้ยากขึ้น
2. อาจมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะต้อหินเฉียบพลัน ทำให้ผลการผ่าตัดไม่ดีเท่ากับปกติ
ดังนั้น ถ้าผ่าได้ในช่วงที่ยังเป็นไม่มากจึงให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการผ่าในตอนที่มีอาการมากแล้ว
การดูแลหลังผ่าตัด
- ภาวะแทรกซ้อนที่ควรระวังมากที่สุด คือ เรื่องของการติดเชื้อ ซึ่งปัจจุบันถือว่ามีโอกาสในการติดเชื้อลดลงมาก เนื่องจากแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก และการผ่าตัดรวดเร็วมากขึ้น
- หลังผ่าตัดอาจหลีกเลี่ยงการโดนน้ำประมาณ2สัปดาห์ และมีการหยอดยาสม่ำเสมอตามที่แพทย์กำหนด
อุปกรณ์ ชะลอความเสื่อมของตา
- กลุ่มอุปกรณ์ลดความสว่างของแสง ได้แก่ แว่นกันแดด แว่นกันแดดสีชา หรือสีออกเหลืองจะมีผลดีมากกว่าสีเทา เนื่องจากสามารถช่วยกรองแสงสีฟ้าได้ดีกว่า ทำให้คนไข้ต้อกระจกมองเห็นได้ดีกว่า อย่างไรก็ตามคนไข้ควรมาตรวจตาอย่างสม่ำเสมอ โดยแนะนำที่ระยะเวลาที่ 6 เดือนถึง 1ปี เนื่องจากการดำเนินของโรคสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ
- การใส่แว่นสายตาอาจมีส่วนช่วยในการทำให้ระดับการมองเห็นดีขึ้น อย่างไรก็ตามต้อกระจก เป็นโรคที่เกิดจากความขุ่นบริเวณเลนส์ตา ดังนั้นการใส่แว่นสายตาจึงไม่สามารถแก้เรื่องคุณภาพการมองเห็นที่ไม่ชัดจากตัวโรคต้อกระจกได้อยู่ดี
- แม้อาจมีอุปกรณ์ที่ช่วยชะลอ หรือทำให้ใช้ชีวิตในขณะที่เป็นตาต้อกระจกได้ดีขึ้น โดยไม่ต้องรีบผ่าตัด อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วการผ่าตัดก็จำเป็นต่อการรักษาอยู่ดี
ข้อควรระวัง
- มีการโฆษณาขายสินค้าหลายชนิด เช่น อาหารเสริมที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ หรือผสม วิตามินเอ วิตามินอี ซึ่งอ้างว่าสามารถช่วยรักษาโรคต้อกระจกได้นั้นไม่เป็นความจริง ไม่ควรซื้อยา หรืออาหารเสริมดังกล่าวรับประทานพร่ำเพรื่อ!!
สามารถใช้น้ำเกลือล้างตาได้หรือไม่
- ไม่แนะนำ นอกจากกรณีที่มีสารเคมี หรือฝุ่นเข้าตาเท่านั้น เนื่องจากปกติผิวตามีสภาพสมดุลของผิวตาที่เหมาะสมอยู่แล้ว ทั้งเรื่องของความเข้มข้นของเกลือแร่ ค่าความเป็นกรด-ด่างเปลี่ยนไป ซึ่งการใช้น้ำยาล้างตาทำให้เซลล์ที่สร้างมูกที่ผิวตาไม่ให้ตาแห้งลดลง หากจำเป็นต้องล้างจริงๆ แนะนำให้ใช้น้ำตาเทียมจะเหมาะสมที่สุด
สิทธิบัตรทอง รักษาต้อกระจก
ทั้งนี้ จากประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับค่าใช้จ่ายเพื่อรับบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ มีรายละเอียดการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ที่เกี่ยวกับตาต้อกระจก ดังนี้
1.การผ่าตัดในรายที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อน สำหรับการผ่าตัดผู้ป่วยระดับสายตามองไม่เห็น และภาวะสายตาเลือนรางรุนแรง (Blinding & Severe low vision) จ่ายอัตราข้างละ 7,000 บาท สำหรับผ่าตัดผู้ป่วยระดับสายตาอื่นๆ ข้างละ 5,000 บาท และสำหรับการผ่าตัดที่มีภาวะแทรกซ้อน จ่ายอัตราข้าละ 9,000 บาท
2.ค่าเลนส์แก้วตาเทียม กรณีเลนส์พับได้อัตราข้างละ 2,800 บา และเลนส์แข็งอัตราข้างละ 700 บาท เฉพาะเลนส์แก้วตาเทียมตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ว่าด้วยรายการอุปกรณ์ อวัยวะเทียม และข้อบ่งชี้ในการบำบัดรักษาโรค
อ้างอิ้ง : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ , แพทยสภา