ยิ่งแก่ ไม่ได้แปลว่ายิ่งดื้อ แต่ผู้สูงอายุย่อมมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป
ดื้อ ขี้หงุดหงิด เอาแต่ใจ ไปจนถึงความเจ็บป่วยที่ไม่มีสาเหตุของผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามเพราะนอกจากปัญหาสุขภาพทางกายแล้วจิตใจของผู้สูงอายุก็เป็นเรื่องสำคัญ
Key Points:
- สุขภาพจิตผู้สูงอายุ หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ผู้ดูแลต้องคอยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด
- พฤติกรรมของผู้สูงอายุที่เปลี่ยนแปลงไปไม่ได้เกิดจากนิสัยแต่เป็นเพราะการเปลี่ยนแปลงของร่างกายที่ไม่ควรมองข้าม
- การดูแลผู้สูงอายุนั้นจำเป็นต้องใช้ความรักควบคู่ไปกับความใส่ใจเพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุต้องมีสภาพจิตใจที่แย่ลง
นอกจากปัญหาทางด้านร่างกายที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุแล้วนั้นปัญหาทางใจหรือ “สุขภาพจิตผู้สูงอายุ” ก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่คนใกล้ตัวต้องให้ความสำคัญและใส่ใจไม่แพ้กัน เนื่องจากสภาพทางด้านร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ผู้สูงอายุหลายคนมีสภาวะทางอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงตามไปด้วยและอาจนำไปสู่บ่อเกิดของโรคทางสุขภาพจิตได้อีกด้วย
ผู้ที่มีความใกล้ชิดกับผู้สูงอายุอาจเริ่มสังเกตได้ว่า ผู้สูงอายุหลายคนเริ่มมีพฤติกรรมและบุคลิกที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอารมณ์ที่อาจขี้หงุดหงิด โมโห น้อยใจ รวมถึงเรียกร้องความสนใจมากขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุนอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลง เช่น ภาวะความเครียด ความวิตกกังวล และบางคนอาจมีภาวะโรคซึมเศร้าแอบแฝงอยู่โดยไม่รู้ตัว ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงสำหรับสุขภาพจิตผู้สูงอายุ
- ขี้หงุดหงิด เรียกร้องความสนใจในผู้สูงอายุเกิดจากอะไร?
ลักษณะของพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปค่อนข้างชัดเจนในผู้สูงอายุส่วนมากย่อมหนีไม่พ้น พฤติกรรมขี้หงุดหงิด และ พฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ ทั้งสองพฤติกรรมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากนิสัยส่วนตัวแต่อย่างใด แต่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในร่างกาย
1. การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุระดับฮอร์โมนในร่างกายจะลดลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพของร่างกาย และสภาวะทางจิตใจ ทำให้ผู้สูงอายุมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย
2. การเปลี่ยนแปลงของความจำ เนื่องจากผู้สูงอายุมักลืมหลงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้น ทำให้เกิดการสื่อสารผิดพลาดที่อาจก่อให้เกิดความรำคาญใจ ทั้งตัวผู้สูงอายุและคนใกล้ชิด นอกจากนี้หากมีอาการหลงลืมมากขึ้นจนกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวันนั้นจำเป็นต้องพาไปพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยโดยด่วนเพราะอาจเป็นสัญญาณของโรคอัลไซเมอร์หรือโรคสมองเสื่อม
3. เริ่มได้ยินและมองเห็นไม่ชัดเจน เนื่องจากสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลงทำให้ประสาทการรับรู้ด้านการมองเห็นและรับฟังเริ่มไม่ชัดเจน และหากมีการอธิบายซ้ำๆ ก็อาจนำไปสู่อารมณ์หงุดหงิดของทั้งสองฝ่ายได้เช่นกัน
4. โรคซึมเศร้า สำหรับในผู้สูงอายุนั้นมักเกิดจากความเครียด ความเหงา ความกลัวว่าจะถูกทอดทิ้ง รวมถึงอาการเจ็บป่วยทางร่างกาย โดยจะแสดงอาการออกมาให้เห็นได้ เช่น กระวนกระวายใจ ไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นาน นอนไม่หลับหรือนอนมากขึ้น กินอาหารได้น้อยลง รู้สึกไร้ค่า ไม่อยากพบเจอใคร เป็นต้น
- อาการแบบไหนควรดูแลเฝ้าระวังใกล้ชิด?
สำหรับผู้ที่ต้องดูแลผู้สูงอายุนั้นควรจะต้องหมั่นสังเกตพฤติกรรมและลักษณะของผู้สูงอายุอยู่ตลอดว่ามีแนวโน้มเปลี่ยนไปในทางที่แย่ลงหรือไม่ อาจเริ่มสังเกตได้ง่ายๆ ดังนี้
1. มีวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันผิดแปลกไป เช่น กินอาหารผิดปกติทั้งกินมากเกินไปและกินน้อยลงจนผิดสังเกต ร่างกายเริ่มซูบผอมลงทั้งที่ไม่ได้มีปัญหาทางด้านร่างกาย หรือในบางคนมีอาการท้องอืด แน่นท้อง ท้องเฟ้อ หรือเริ่มมีอาการหลงลืมเล็กน้อยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ
2. เริ่มมีรูปแบบการนอนผิดปกติและแปลกไปจากเดิม ส่วนมากมักนอนมากกว่าปกติแต่ก็ยังมีอาการง่วงซึมและอยากนอนต่อตลอดเวลา หรือในทางตรงข้ามก็คือนอนน้อยลงกว่าเดิมมากเนื่องจากนอนไม่หลับหรือสะดุ้งตื่นกลางดึกแล้วไม่สามารถหลับต่อได้ ในบางคนอาจฝันร้ายติดกันหลายคืนจนทำให้กระทบกับการนอนหลับ
3. มีอารมณ์ที่ผิดปกติมากขึ้นไปจนถึงมีบุคลิกเปลี่ยนไป เช่น จากที่เคยเป็นคนร่าเริ่มแจ่มใส ช่างพูด มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ก็กลายเป็นคนที่หงุดหงิดบ่อย เคร่งเครียด เงียบขรึม ซึมเศร้า ไม่พูดไม่คุยกับใคร รวมถึงมีอาการวิตกกังวลเพิ่มมากขึ้นจนคนรอบข้างสังเกตได้ชัด
4. เจ็บป่วยทางกายแบบไม่มีสาเหตุ ได้แก่ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดท้อง แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าเกิดจากอะไร ตรงนี้จำเป็นจะต้องสังเกตให้มากเพราะอาจนำไปสู่โรคร้ายแรงบางชนิดในอนาคตได้
- ดูแลสภาพจิตใจผู้สูงอายุอย่างไร ไม่ให้เราห่อเหี่ยวตาม
แม้ว่า “สุขภาพจิตผู้สูงอายุ” นั้นจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่สุขภาพใจของผู้ดูแลที่จำเป็นต้องอยู่ใกล้ชิดผู้สูงอายุตลอดนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นการจะพูดคุยกับผู้สูงอายุโดยเฉพาะในผู้ที่มีความเจ็บป่วยนั้นการแสดงออกด้วยความรักเป็นเรื่องสำคัญ หลีกเลี่ยงที่จะโต้เถียงแต่พยายามใช้เหตุผลในการอธิบายและต้องใช้ศิลปะในการพูด เพื่อไม่ให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่า “ถูกสั่งห้าม” หรือ “ถูกปฏิเสธ” แต่ควรแสดงออกให้พวกเขารู้สึกว่าเราเป็นห่วงและหวังดีก็จะสามารถช่วยให้ผู้สูงอายุมีความใจเย็นลงได้
นอกจากนี้ยังมีแนวทางในการดูแลผู้สูงอายุทั้งทางร่างกายและจิตใจที่ผู้ดูแลสามารถนำไปปรับใช้ได้ดังนี้
1. ให้เกียรติและยอมรับในการตัดสินใจ ให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ คอยซักถามเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ ชวนคุย อยู่เสมอ
2. พยายามมองหากิจกรรมให้ผู้สูงอายุทำ โดยเฉพาะสิ่งที่พวกเขาชอบหรือเคยชอบ รวมถึงทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อกระตุ้นให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญรวมถึงยังเป็นที่ปรึกษาให้ครอบครัวได้
3. หมั่นสังเกตความผิดปกติและสอบถามถึงสาเหตุหรือปัญหาที่ทำให้ผู้สูงอายุเกิดความวิตกกังวล โดยการพูดคุยและรับฟังรวมถึงแปลกเปลี่ยนวิธีแก้ไขปัญหาร่วมกัน ป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุเก็บปัญหาหรือความไม่สบายใจไว้เพียงคนเดียวจนเกิดปัญหาสุขภาพใจตามมา
4. สร้างสังคมให้ผู้สูงอายุ โดยการพาไปพบปะพูดคุยกับคนที่คุ้นเคยหรือชื่นชอบ เช่น ลูกหลาน กลุ่มเพื่อน รวมถึงเพื่อรบ้าน เพื่อปรับเปลี่ยนบรรยากาศให้รู้สึกสดชื่นและผ่อนคลายมากขึ้น
แม้ว่าการดูแล “ผู้สูงอายุ” อาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายคน เพราะจะต้องเตรียมรับมือกับบุคลิกและอารมณ์ที่เปลี่ยนไปอย่างเอาแน่เอานอนไม่ได้ของผู้สูงอายุ แต่ความรักและความเข้าใจก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้สูงอายุและผู้ดูแลสามารถหาจุดร่วมเพื่ออยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข แต่ถ้าหากพบว่ามีปัญหาหนักเกินกว่าจะรับไหวการพูดคุยหรือปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจเพราะนอกจากจะสามารถดูแลผู้สูงอายุได้อย่างถูกวิธีแล้วยังช่วยให้สภาพจิตใจของเราไม่แย่ตามไปด้วย
อ้างอิงข้อมูล : บ้านลลิสา, รพ.นครธร และ Thaisenior Market