‘วิ่งตามแผนที่’ ป้องกัน ‘สมองเสื่อม’นักวิทย์ฯ เผย ฝึกสมองจดจำ-วิเคราะห์
วิ่งตามแผนที่ไม่ใช่แค่เพียงการออกกำลังกายธรรมดา แต่ยังเป็นการฝึกให้สมองได้จดจำและวิเคราะห์เส้นทางแทนอุปกรณ์นำทางต่างๆ ซึ่งสามารถป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้
Key Points :
- การออกกำลังกายนอกจากทำให้ร่างกายแข็งแรงแล้ว ยังช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ด้วยการ “วิ่งตามแผนที่”
- วิ่งตามแผนที่ คือการวิ่งไปยังจุดหมายโดยการใช้เพียงเข็มทิศและแผนที่เท่านั้น จึงสามารถช่วยฝึกสมรรถภาพสมองในเรื่องความจำของมนุษย์ได้
- สำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวันทั่วไปบางครั้งหากลองใช้แผนที่แทนอุปกรณ์นำทางบ้าง ก็ช่วยทำให้ห่างไกล “ภาวะสมองเสื่อม” ได้มากขึ้น
การออกกำลังกายด้วยการ “วิ่ง” ไม่ได้ส่งผลดีแค่กับสุขภาพร่างกายและหัวใจ เท่านั้น แต่ยังช่วยป้องกัน “สมองเสื่อม” ได้อีกด้วย ข้อมูลล่าสุดจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย McMaster พบว่า การ “วิ่งโอเรียนเทียริง” หรือ “วิ่งตามแผนที่” ซึ่งเป็นกีฬาที่ผสมผสานความเป็นนักกีฬา ทักษะการเดินเรือ และความจำ ที่อาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้
เนื่องจากการวิ่งตามแผนที่เป็นการบูรณาการการออกกำลังกายและการใช้ความจำในการนำทาง ทดแทนการนำทางด้วย GPS หรือ Google Map เนื่องจากการใช้ความจำนั้นมีความสำคัญในการกระตุ้นเซลล์สมองและพัฒนาระบบประสาทของมนุษย์ได้
- รู้จักการวิ่งตามแผนที่หรือ โอเรียนเทียริง
สำหรับการวิ่งโอเรียนเทียริงมีต้นกำเนิดมาจากช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในประเทศสวีเดน โดยมีชื่อที่มาจากคำในภาษาสวีดิชว่า orientering แปลว่า การข้ามดินแดนที่ไม่รู้จักโดยใช้แผนที่และเข็มทิศนำทาง ในช่วงแรกนั้นโอเรียนเทียริงเป็นกีฬาที่เล่นอยู่เฉพาะในกองทัพเท่านั้น จนเมื่อปี 1897 จึงได้เปิดให้พลเรือนเข้าร่วมแข่งขันเป็นครั้งแรก
หลังจากนั้นไม่นานโอเรียนเทียริงก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะมีการประดิษฐ์เข็มทิศที่ราคาไม่แพงแต่มีความแม่นยำ ดังนั้นเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง โอเรียนเทียริงก็เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก และมีการจัดตั้งสมาพันธ์โอเรียนเทียริงนานาชาติ (IOF- International Orienteering Federation) ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการแข่งขันโอเรียนเทียริง มีสมาชิกแล้วทั้งหมด 76 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
ความจริงแล้วโอเรียนเทียริงนั้น เป็นคำเรียกรวม ของกีฬาประเภทที่ต้องเดินทางในพื้นที่แห่งหนึ่ง เพื่อไปยังจุดหมายที่กำหนด โดยอาศัยแผนที่และเข็มทิศนำทาง ซึ่งการเดินทางจะเป็นแบบใดก็ได้ เช่น เรือแคนู เรียกว่า Canoe orienteering, จักรยานเสือภูเขา เรียกว่า Mountain bike orienteering แต่สำหรับโอเรียนเทียริงที่ระบุในงานวิจัยนั้นคือ การเดินทางด้วยเท้า ซึ่งมีชื่อเต็มว่า Foot orienteering โดยทั่วไปแล้วการแข่งขังมักจัดในพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ป่าโปร่ง ป่าทึบ ลำธาร บึง โขดหิน เนินเขา เป็นต้น เพื่อทดสอบการตัดสินใจและทักษะการใช้แผนที่และเข็มทิศ
- ทำไมการ “วิ่งตามแผนที่” จึงป้องกัน “สมองเสื่อม” ได้?
แม้ว่าปัจจุบันนักวิ่งหลายคนมักใช้อุปกรณ์นำทางในการวิ่ง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว แต่ ประธานการวิจัยด้านสุขภาพสมองและผู้สูงอายุแห่งมหาวิทยาลัย McMaster อย่าง เจนนิเฟอร์ ไฮส์ซ ระบุว่า “ชีวิตสมัยใหม่อาจขาดความท้าทายด้านการรับรู้และความท้าทายด้านร่างกายที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งสมองต้องการสิ่งนั้นเพื่อการเจริญเติบโต” และถ้าหากวันหนึ่งมนุษย์ไม่มีอุปกรณ์นำทางคอยอำนวยความสะดวก ก็อาจส่งผลเสียต่อระบบประสาทด้านความทรงจำ เพราะฉะนั้น การนำทางเชิงพื้นที่เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ความจำดีขึ้น ด้วยการเพิ่มองค์ประกอบของการหาเส้นทางในการออกกำลังกายเป็นประจำ นั่นอาจมีประโยชน์ตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์
สำหรับเป้าหมายของการวิ่งโอเรียนเทียริงนั้นคือ “วิ่งให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย” โดยใช้เพียงแผนที่และเข็มทิศ ดังนั้นนักกีฬาจะต้องมีทักษะในเรื่องความจำเป็นอย่างดี พร้อมกับมีความสามารถในการเคลื่อนไหวร่างกายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเอกลักษณ์ของกีฬาชนิดนี้เกี่ยวข้องกับความทรงจำเป็นหลัก ทำให้สมองต้องประมวลผลข้อมูลเชิงพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ เช่น การอ่านแผนที่ ขึ้นอยู่กับมุมมองของบุคคลที่สามซึ่งสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม และต้องแปลข้อมูลนั้นอย่างรวดเร็ว โดยสัมพันธ์กับตำแหน่งของตนเองในสภาพแวดล้อมตามเวลาจริงขณะแข่งขัน
นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ทักษะที่ระบบ GPS สร้างขึ้นจากชีวิตสมัยใหม่นั้น อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการนำทางของมนุษย์ ไม่เพียงเท่านนั้น ยังส่งผลต่อการประมวลผลเชิงพื้นที่และหน่วยความทรงจำอีกด้วย เนื่องจากหน้าที่การรับรู้เหล่านี้ต้องอาศัยโครงสร้างระบบประสาทที่ทับซ้อนกัน
ดังนั้นนักวิจัยจึงมีข้อเสนอสำหรับการใช้ชีวิตประจำวันทั่วไปว่า ให้ลองปิดอุปกรณ์นำทางสำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวัน และใช้แผนที่เพื่อค้นหาเส้นทางแทน เพราะนอกจากจะเป็นการท้าทายตัวเองแล้วยังเป็นการฝึกฝนในเรื่องของความทรงจำเพื่อป้องกันภาวะสมองเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย
อ้างอิงข้อมูล : Scitechdaily และ oorrunningblog