เตือนระวัง 5 ชนิดพยาธิใน 'ซาชิมิ' กินแล้วเสี่ยงทำลายอวัยวะในร่างกาย
กรมประมง เตือนระวังพยาธิใน 'ซาชิมิ' หากบริโภคเข้าไปสามารถทำลายอวัยวะต่างๆและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต ขอให้บริโภคอย่างระมัดระวัง
กรมประมง เตือนระวัง "พยาธิในซาชิมิ" อาหารเมนูยอดนิยมในช่วงนี้ ชี้หากบริโภคเข้าไปสามารถทำลายอวัยวะต่างๆและอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เลย โดยนายถาวร ทันใจ รองอธิบดีกรมประมง ระบุว่า ซาซิมิ เป็นอาหารที่ได้จากการแล่เนื้อปลา หมึก หรือเนื้อสัตว์อื่นที่ยังสดอยู่เป็นชิ้นบางๆและมักจะรับประทานคู่กับโชยุหรือซีอิ้วญี่ปุ่นและวาซาบิ
โดย ซาชิมิ สามารถใช้ทั้งสัตว์น้ำทะเล สัตว์น้ำจืดและสัตว์น้ำกร่อยเป็นวัตถุดิบได้ แต่การบริโภคอาหารดิบนั้นมีโอกาสที่จะพบพยาธิต่างๆ เช่น
- ซาชิมิจากปลาหรือหมึกทะเลมักพบ
- ตัวอ่อนของพยาธิตัวกลม
- พยาธิตืดปลา
- ซาชิมิจากปลาน้ำจืดและน้ำกร่อย มักพบ
- พยาธิตัวจี๊ด
- พยาธิตืดปลา
- พยาธิใบไม้ตับ
- พยาธิใบไม้ปอด
- พยาธิลำไส้แคปิลลาเรีย
สามารถแยกลักษณะและอาการของผู้ที่บริโภคพยาธิเข้าไปได้ ดังนี้
1.พยาธิตืดปลา เป็นพยาธิตัวแบนยาว ลำตัวเป็นปล้อง ยาวได้มากที่สุดประมาณ 150 เซนติเมตร หากบริโภคเข้าไปและเกิดการสะสมเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดอาการท้องอืด แน่นท้อง เจ็บบริเวณชายโครงขวา ร้อนบริเวณหน้าท้อง ซึ่งหากปล่อยไว้นานจะมีอาการอักเสบของท่อน้ำดี ตัวเหลือง ตาเหลือง ตับโต มีไข้ บางรายอาจกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับและอาจถึงตาย
2.พยาธิตัวจี๊ด มีลักษณะลำตัวกลมยาวประมาณ 1.5 - 3.0 เซนติเมตร หัวคล้ายลูกฟักทอง ทั้งหัว และตัวจะมีหนาม โดยพบตัวอ่อนของพยาธิในปลา เมื่อคนกินปลาซึ่งมีพยาธิระยะติดต่อเข้าไป พยาธิจะคืบคลานหรือไชไปตามอวัยวะต่างๆของร่างกาย หากเข้าสู่อวัยวะสำคัญอาจถึงตาย
3.พยาธิอะนิซาคิส เป็นพยาธิที่พบในปลาทะเลเขตอบอุ่นและเขตร้อน ลำตัวยาวประมาณ 1-2 เซนติเมตร บริเวณปากจะมีหนามขนาดเล็ก บริเวณปลายหางจะมีส่วนแหลมยื่นออกมา พยาธิชนิดนี้จะไชผ่านกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้เกิดแผล และอาจมีเลือดออกในกระเพาะอาหาร ทำให้ปวดท้อง แน่นท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ และท้องอืด
4.พยาธิใบไม้ แบ่งได้ 2 ชนิด ได้แก่
- พยาธิใบไม้ตับ
เกิดจากการกินอาหารประเภทปลาน้ำจืดชนิดมีเกล็ดที่มีตัวอ่อนของพยาธิใบไม้ตับ หากบริโภคปลาที่มีพยาธิชนิดนี้เข้าไปจะเกิดอาการ เช่น ท้องอืด แน่นท้อง เจ็บบริเวณชายโครงขวา ร้อนบริเวณหน้าท้อง และหากปล่อยไว้นานจะมีอาการอักเสบของท่อน้ำดี ตัวเหลือง ตาเหลือง ตับโต มีไข้ บางรายอาจกลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดีในตับ และอาจถึงตายได้
- พยาธิใบไม้ปอด
คนและสัตว์ติดต่อโดยการบริโภคปูและกุ้งน้ำจืดแบบดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ เช่น ปูน้ำตก ปูลำห้วย ปูป่า กุ้งฝอย ที่มีตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิใบไม้ปอดอยู่ เมื่อบริโภคสัตว์น้ำเหล่านี้เข้าไป ตัวอ่อนระยะติดต่อของพยาธิจะไชทะลุผนัง ลำไส้เล็กส่วนต้นออกสู่ช่องท้อง ผ่านกระบังลม และเข้าฝังตัวในปอด ทำให้ปอดอักเสบ คนไข้จะมีอาการเจ็บหน้าอก ไอเรื้อรังบางครั้งมีเลือดปนออกมากับเสมหะพยาธิอาจไชไปอยู่ที่อวัยวะอื่น เช่น ตับ ลำไส้ กล้ามเนื้อ เยื่อบุช่องท้อง และสมอง เป็นต้น ทำให้เกิดอาการผิดปกติของอวัยวะเหล่านั้น
5.พยาธิลำไส้แคปิลลาเรีย เมื่อปลากินไข่พยาธิเข้าไปจะฟักเป็นตัวอ่อนในปลา เมื่อคนบริโภคพยาธิชนิดนี้ พยาธิจะฝังอยู่ที่ลำไส้ ทำให้สูญเสียหน้าที่ในการดูดซึมอาหาร เกิดอาการท้องเสีย อุจจาระมีกากมาก บางรายถ่ายเหลวนานนับเดือน คลื่นไส้ เบื่ออาหารและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
โฆษกกรมประมง กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ประกอบการร้านค้า รวมถึงผู้บริโภค ควรบริโภคอาหารประเภทซาชิมิอย่างปลอดภัยโดยแช่แข็งที่อุณหภูมิ -35 องศาเซลเซียสนาน 15 ชั่วโมง หรือ -20 องศาเซลเซียส นาน 7 วัน ก่อนรับประทาน เพื่อทำให้พยาธิตายและควรเลือกซื้อสัตว์น้ำจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และมาจากฟาร์มที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดี (GAP) จึงจะปลอดภัยกับผู้บริโภค
สามารถสอบถามข้อมูลการบริโภคสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำอย่างปลอดภัย ได้ที่กลุ่มวิจัยความปลอดภัยสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ กองวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสัตว์น้ำ โทรศัพท์ 0 2940 6130 – 45 ต่อ 4209 หรือทางอีเมล [email protected]