'ดีมาก-หลากหลาย-24 ชั่วโมง' สู่เป้าหมายชีวิต 'คุณภาพ'
ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เผยเคล็ดลับบริหาร มหาวิทยาลัยคุณภาพ ตอบโจทย์ด้านทั้งวิชาการ และ ทักษะชีวิตที่หลากหลาย พร้อมเปิดพื้นที่การเรียนรู้เต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง
Key point :
- การบริหารให้มหาวิทยาลัยมีคุณภาพ มีความแข็งแกร่ง บุคคลากรภายในมหาวิทยาลัยต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีและทำงานอย่างมีความสุข
- ขณะเดียวกัน ในส่วนของนักศึกษา อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า จะต้องได้ทั้งวิชาการและทักษะชีวิตที่หลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับความต้องการเรียนรู้ของนักศึกษาทุกด้านกับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
- เป็นเหตุผลที่ว่า แม้ว่าเด็กเกิดใหม่น้อย แต่ ม.รังสิต กลับมานักศึกษาเพิ่มมากขึ้นโดยปี 2564 มีจำนวน 6,973 ที่นั่ง ปี 2565 จำนวน 8,628 ที่นั่ง ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาต่างชาติ 20 %
หน้าที่ของมหาวิทยาลัย คือ การพัฒนานักศึกษาให้มีคุณภาพ และความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ทั้งทักษะวิชาชีพและวิชาชีวิตที่หลากหลายไม่ได้เรียนเพียงแค่ทฤษฎี แต่สามารถลงมือปฏิบัติได้จริง ที่สำคัญเรียนในสิ่งที่ต้องการได้โดยไม่มีการปิดกั้น เพื่อเตรียมพร้อมสู่โลกของการทำงานได้อย่างมืออาชีพ การเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้นักศึกษาได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ตลอด 24 ชั่วโมง จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น
"การบริหารให้มหาวิทยาลัยมีคุณภาพ มีความแข็งแกร่ง บุคคลากรภายในมหาวิทยาลัยต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีและทำงานอย่างมีความสุข จึงต้องดูแลเหมือนดั่งคนในครอบครัวทุกคน ทั้งสิทธิการรักษาพยาบาล สวัสดิการค่าตอบแทนและสิทธิการดูแลด้านต่างๆเมื่อพวกเขาได้รับการดูแลและมีความสุข ก็จะทำงานออกมามีคุณภาพ" ดร.อรรถวิท อุไรรัตน์ เปิดเผยกับ กรุงเทพธุรกิจ หลังจากรับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตได้ 11 เดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกันนักศึกษาที่มาเรียน ณ สถาบันแห่งนี้ก็จะได้รับการดูแลเฉกเช่นเดียวกันทั้งด้านวิชาการและทักษะชีวิตที่หลากหลาย โดยให้ความสำคัญกับความต้องการเรียนรู้ของนักศึกษาทุกด้านกับการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย สามารถเรียนรู้ทุกสาขาวิชาการที่ต้องการจาก 33 คณะได้โดยเสรี เพื่อสร้างสมรรถนะใหม่ในด้านอาชีพสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของ Digital Transformation ที่ครอบคลุมทุกหลักสูตร และการเรียนรู้ที่เพิ่มความหลากหลายในวิชาชีพ
กำหนดอนาคตเรียนในสิ่งที่อยากเป็น
"การปรับรูปแบบการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับเทรนด์การศึกษาในปัจจุบัน โดยที่ผู้เรียนสามารถออกแบบอนาคตที่ต้องการได้ด้ด้วยตัวเอง เลือกเรียนในสิ่งที่อยากเรียนได้ เช่น เรียนหมอแต่อยากเรียนดนตรีควบคู่ไปด้วยก็ได้ เรียนวิศวะแต่อยากทำสื่อเป็นก็สามารถเลือกเรียนนิเทศศาสตร์เป็นวิชาโทได้ เรียกว่าเป็นการผสมผสานหลายวิชาแบบองค์รวม โดยก้าวข้ามข้อจำกัดทางการศึกษา เป็นการเติมเต็มการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้เรียนรู้สิ่งใหม่ที่และสามารถนำความรู้ไปสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง ใช้ทำงานประกอบอาชีพได้"
มีหลักสูตร 2 ภาษา (Bilingual) ให้เลือกเรียนถึง 18 สาขาวิชา หรือโครงการ Passage to ASEAN (P2A)ที่ร่วมกับมหาวิทยาลัยนอร์ตัน ประเทศกัมพูชา มหาวิทยาลัยดอย ตัน ประเทศเวียดนาม มหาวิทยาลัยแห่งชาติ สปป.ลาว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และบริษัทเมียนม่า คอมพิวเตอร์ จำกัด ประเทศพม่า รวมทั้งมีการเปิดรายวิชาเสรีใหม่ อาทิ วิชาเลือกเสรี RSU 102 ความรู้เบื้องต้นการเดินทางในกลุ่มประเทศอาเซียน และ RSU103 การเดินทางในกลุ่มประเทศอาเซียน ไปร่วมกิจกรรมและเรียนรู้สภาพแวดล้อมจริงซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาตนเองในการใช้ภาษาอังกฤษ หรือ ภาษาอาเซียนได้เป็นอย่างดี
แม้ว่าเด็กเกิดใหม่น้อยทว่านักศึกษากลับเลือกเรียนที่นี่เพิ่มมากขึ้นโดยปี 2564 มีจำนวน 6,973 ที่นั่ง ปี 2565 จำนวน 8,628 ที่นั่ง ในจำนวนนี้เป็นนักศึกษาต่างชาติ 20 % ส่วนปีนี้ในรอบแรกนี้ยื่นความจำนงมาแล้ว 4,000 ที่นั่ง ซึ่งปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น อธิการบดี ม.รังสิต อธิบายว่า ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากช่วง 8 ปีที่ผ่านมานี้ ได้รับการจัดอันดับจาก Webometrics Ranks ให้เป็นอันดับ 1 ของมหาวิทยาลัยเอกชน
ผลการจัดอันดับ “Webometrics Ranking of World Universities” จัดทำโดย Cybermetrics Lab หรือ Internet Lab เป็นกลุ่มวิจัยของสภาวิจัยแห่งชาติ ประเทศสเปน ดำเนินการตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2004 ประกาศผลการจัดอันดับช่วงเดือนมกราคมและช่วงเดือนกรกฎาคม ของทุกปี ผ่านทางเว็บไซต์ www.webometrics.info ซึ่งผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย http://www.webometrics.info/en/Asia/Thailand พบว่า มหาวิทยาลัยรัฐ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อันดับ 1 กลุ่มราชภัฎ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา อันดับ 1 กลุ่ม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี อันดับ 1 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ส่วนมหาวิทยาลัยรังสิต อันดับ 1 มหาวิทยาลัยเอกชน จากอันดับ Webometrics Ranking First edition of 2020: Web data collected during January 2020
นวัตกรรม ควบคู่งานวิจัยใหม่ๆ
ทั้งนี้ การจัดอันดับเว็บไซต์นั้นเพื่อวัดผลงานทางวิชาการที่มีการเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต นอกเหนือจากผลงานที่มีการตีพิมพ์ลงในวารสาร หรือ อื่นๆ วัดความสามารถในการเป็น มหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (E-university) อย่างไรก็ตามการทำให้มหาวิทยาลัยมีความแข็งแกร่ง
ดร.อรรถวิท บอกว่า สิ่งสำคัญคือต้องมี นวัตกรรม และงานวิจัยใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ และความต้องการของตลาด โดยจากนี้ไปจะเน้นส่งเสริมให้มีนวัตกรรม ด้าน เภสัชกรรม วิศวกรรมชีวการแพทย์ เพื่อนำมาพัฒนาการเรียนการสอนให้นักศึกษาให้มีความรู้ความสามารถที่สูงขึ้น จะไม่ได้เรียนเพียงแค่ทฤษฎี แต่สามารถลงมือปฏิบัติได้จริง เตรียมพร้อมสู่โลกของการทำงานได้อย่างมืออาชีพ ตามแบบฉบับ Practical University โดยเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้นักศึกษาได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่
กว่า 20 ปีที่ผ่านมา ดร.อรรถวิท ทำงานที่มหาวิทยาลัยรังสิต มาโดยตลอด ก่อนมารับตำแหน่งอธิการบดี ได้ทำงานมาหลายหน้าที่ ทั้งในส่วนกลาง และการบริหารคณะ เคยเป็นคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้อาศัยประสบการณ์มาบริหารในตำแหน่งอธิการบดี
อย่างไรก็ตามการทำงานต้องมีความสมดุลของชีวิต ได้ให้นโยบายบุคลากรทุกคนว่าให้ทำงานอยู่บนพื้นฐานของความดี ความยุติธรรม ร่วมกันผลักดันและทำงานโดยยึดหลักสังคมธรรมาธิปไตย และในฐานะที่เป็นอธิการบดีก็จะร่วมทำงานผลักดันให้ออกมาอย่างดีที่สุด
ปัจจุบัน วิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้สร้างอาชีพให้เด็กๆ ได้เป็นหมอ รุ่นละ 100 คน 150 คน มาตลอดระยะเวลา 30 ปี ซึ่งนับรวมได้เป็นหลักพันคน รวมทั้งทันตแพทยศาสตร์เทคนิคการแพทย์และคณะทัศนมาตรศาสตร์, ซึ่งเปิดสอนเป็นที่แรกๆ ถือเป็นหน้าที่ของสถาบันการศึกษาที่ต้องทำเพื่อตอบโจทย์และความต้องการของประเทศ ที่ยังคงต้องการบุคลากรทางการแพทย์มากมายในส่วนของนักศึกษานอกจากจะสอนทักษะวิชาการและอาชีพแล้ว ยังต้องสอดแทรกความเป็นสังคมธรรมาธิปไตยต้องสอนทักษะความดีให้แก่พวกเขาด้วย
สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ 5 ปี
โดย 5 ปีหลังจากนี้จะสร้างความเป็นเลิศทางการศึกษาและการผลิตบัณฑิตสร้างความเป็นเลิศทางวิจัย งานสร้างสรรค์ และนวัตกรรม สร้างความเป็นเลิศด้านการบริการวิชาการและการฝึกอบรม การรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม และบริหารจัดการให้เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศและองค์กรแห่งความสุข ซึ่งต้องอาศัยบุคลากรร่วมกันขับเคลื่อนทั้งคุณภาพการศึกษา และความพร้อมในทุก ๆ ด้าน เพื่อเป้าหมาย“ดีมาก-หลากหลาย-24 ชั่วโมง
นอกจากเป็นองค์กรที่สมาร์ท สามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่มีข้อจำกัด สื่อสารกันได้ตลอด แล้วยังได้ปรับวิธีการพิจารณาศาสตราจารย์โดยใช้ระยะเวลาพิจารณา 4-9 เดือนเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันศาสตราจารย์ 33 คน โดยล่าสุดได้ เสนอขอกำหนดตำแหน่ง ศาสตราจารย์ สาขาวิชาจักษุวิทยา และ ศาสตราจารย์ สาขาวิชาฟิสิกส์ โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาโปรดเกล้าฯ
ทำงานจริงพักสะสมพลังเพื่อวันต่อไป
การแต่งตั้งศาสตราจารย์ในประเทศไทย จะต้องผ่านกระบวนการตาม พระราชบัญญัติระเบียบบริหารข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย ทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย (ก.ม.) และทบวงมหาวิทยาลัย จะเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ แล้วการแต่งตั้งก็นำเข้าคณะรัฐมนตรี เพื่อผ่านไปโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์ ศาสตราจารย์พิเศษที่แต่งตั้งจากบุคคลภายนอกซึ่งไม่ใช่เป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัย จะต้องได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เพื่อแต่งตั้งเช่นกัน
"เวลาทำงานก็ต้องทำงานอย่างจริงจัง เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด ถึงเวลาพักก็ต้องพัก เพื่อให้ผ่อนคลายมีกำลัง มีแรงมาทำงานต่อในวันรุ่งขึ้น เชื่อว่าบุคคลากรของม.รังสิตทุกคนที่ได้รับการดูแลเหมือนคนในครอบครัว จะมีความสุขและทำงานอย่างเต็มที่เพื่อเป้าหมายการเติบโตของมหาวิทยาลัยต่อไป เพื่อจะได้ทำหน้าที่ของสถาบันการศึกษาเอกชนที่มีส่วนในการผลิตบุคคลากรในสาขาที่ขาดแคลนตามความต้องการของประเทศและสอดคล้องกับ การเปลี่ยนแปลงของ Digital Transformation และผลิตบุคลากรให้มีทักษะความหลากหลายในวิชาชีพ " อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวทิ้งท้าย