หมดเวลา Work From Home ออฟฟิศทำอย่างไร เมื่อพนักงานไม่อยาก "กลับเข้าออฟฟิศ"
องค์กรควรทำอย่างไร? เมื่อพนักงานออฟฟิศ คุ้นเคยและพอใจกับการ Work From Home หรือทำงานจากที่ไหนก็ได้มาตลอด 2-3 ปีในช่วงโควิด-19
หลังจาก Work from home มาตลอด 2-3 ปีเต็ม วาระหนึ่งในการประชุมปลายปีของหลายบริษัทหนีไม่พ้นการบอกให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ หรือไม่ก็เป็นแบบ “Hybrid working” ที่ให้พนักงานทำงานในออฟฟิศสลับกับ Work From Home หรือจากที่ไหนก็ได้ (Remote working) แทนที่การทำงานในออฟฟิศทุกวันเพียงอย่างเดียว
ถึงแม้จะเป็นกติกาสำหรับพนักงานทุกคน แต่ก็ต้องยอมรับว่าลึกๆแล้ว ยังมีพนักงานจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากเข้าออฟฟิศ นั่นเพราะพวกเขามองว่าการเข้าสำนักงานไม่ได้มีผลอันใดต่อประสิทธิภาพการทำงาน เช่นเดียวกับอีกไม่น้อยที่ยังข้องใจต่อมาตรการความปลอดภัยทางสุขภาพเพราะโควิด-19 ไม่ได้หายไปซะทีเดียว
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ในปี 2565 บริษัทในสหรัฐอเมริกาขอให้พนักงานกลับเข้าสำนักงานอย่างเร่งด่วนมากขึ้น ในขณะที่พนักงานต้องการความยืดหยุ่น ซึ่งเป็นปัญหาที่หลายองค์กรประสบ
ตัวอย่างเช่น ในนิวยอร์ก ซึ่งมีข้อมูลระบุว่า การใช้รถไฟใต้ดินเพิ่มขึ้นในย่านที่มั่งคั่งและย่านธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าพนักงานออฟฟิศเดินทางไปที่สำนักงานมากขึ้น ถึงกระนั้นจำนวนการใช้รถไฟใต้ดินคิดได้ประมาณ 67% ของระดับก่อนเกิดโรคระบาด ส่วนการใช้รถไฟใต้ดินในวันหยุดสุดสัปดาห์เข้าใกล้ระดับก่อนเกิดโรคระบาดมากกว่าในวันธรรมดา ขณะที่ในลอนดอนเองก็มีข้อมูล บอกว่า จำนวนผู้คนที่ใช้รถไฟใต้ดิน อยู่ในระดับ 80% เมื่อเทียบกับการเกิดโรคระบาด
อธิบายง่ายๆ ว่า ถ้าเลือกได้ มนุษย์ออฟฟิศ ก็ยังอยากทำงานอยู่กับบ้านมากกว่า ขณะที่องค์กรส่วนใหญ่กลับมองว่าการมาทำงานที่สำนักงานมีประสิทธิภาพมากกว่า นั่นจึงเป็นที่มาของการที่หลายองค์กรพยายามสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน
Microsoft Work Trend Index ได้ทำการสำรวจและหาปัจจัยที่ทำให้พนักงานอยากเข้าออฟฟิศ ซึ่งพบว่า พนักงานส่วนใหญ่ล้วนคิดว่าการจะถูกสั่งเข้าออฟฟิศต้องมีเหตุผลมากกว่าการที่บริษัทอยากให้เข้า เพราะช่วงการทำงานที่ผ่านมาทำให้พนักงานประหยัดเวลาในการเดินทาง สามารถจัดสรรสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ถึงเช่นนั้นปัจจัยที่ทำให้พนักงานอยากกลับเข้าออฟฟิศ คือ “ความสัมพันธ์ทางสังคม” ซึ่งการทำงานที่บ้านไม่สามารถให้ได้ โดยความสัมพันธ์ทางสังคมมีรายละเอียดที่เป็นรูปธรรม ประกอบด้วย
- 85% ของพนักงานจะอยากไปออฟฟิศ หากการเข้าไปในครั้งนั้นได้ช่วยสร้างความผูกพันของทีมขึ้นใหม่
- 84% ของพนักงานจะถูกกระตุ้นให้ไปที่สำนักงานหากพวกเขาสามารถเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมงานได้
- 74% ของพนักงานจะเข้าออฟฟิศบ่อยขึ้นหากรู้ว่าเพื่อนร่วมงานจะเข้าเช่นกัน (ไม่อยากเข้าไปโดยไม่เจอใคร)
- 73% ของพนักงานจะเข้าออฟฟิศบ่อยขึ้นหากสมาชิกในทีมเข้า
นอกจากนี้ หากองค์กรต้องการให้พนักงานเข้าออฟฟิศ ต้องสร้างปัจจัยที่ทำให้พนักงานรู้สึก พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ไม่ว่าจะเป็น การออกแบบสภาพแวดล้อมที่ไม่น่าเบื่อ มีความผ่อนคลาย ตั้งแต่การแต่งตัว ผ่อนปรนกฎระเบียบต่าง
การยืดหยุ่นเวลาในการทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องเข้าทำงานและเลิกงานตรงเวลา เพราะบางคนชอบมาเช้าและกลับเร็ว ขณะที่บางคนถนัดมาสายและยินดีที่จะกลับบ้านค่ำเพื่อชดเชยเวลาที่ตัวเองหายไป
ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมมนุษย์ออฟฟิศ ได้ส่งผลถึงการปรับตัวของธุรกิจสำนักงาน โดยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าสำนักงานได้ปรับเปลี่ยนสัญญาเช่าที่สั้นลง ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ชั้นดีเติบโตขึ้น ในขณะที่อาคารเก่ามีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบ เช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงทางภูมศาสตร์ เช่น ในนิวยอร์ก ซึ่งพบว่าย่านแมนฮัตตันที่เคยมีสำนักงานจำนวนมาก เป็นย่านของสำนักงานได้มีธุรกิจปิดตัวลงและยกเลิกสัญญาเช่า สวนทางกับเมืองที่มีผู้อยู่อาศัยอย่างควีนส์และบรู๊คลินซึ่งธุรกิจเติบโตขึ้น
ถึงตรงนี้ ยังไม่มีข้อสรุปสำเร็จรูปที่จะบอกว่า องค์กรควรทำอย่างไรเพื่อให้พนักงานพึงพอใจในกติกา ซึ่งเป็นหนึ่งในการรั้งพนักงานเอาไว้ หากแต่หลายทัศนะก็ลงความเห็นว่า โมเดลที่องค์กรเลือกจะเป็นตัวกำหนดความน่าดึงดูดใจต่อพนักงาน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความยืดหยุ่นและความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดีขึ้น
ในขณะที่บริษัทต่างๆ สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ จากการทำงานแบบผสมผสาน โดยกำหนดวันที่เข้า และวันที่ทำงานที่บ้านได้ ถึงเช่นนั้นก็ต้องกังวลกับการสูญเสียประสิทธิภาพการทำงาน การทำงานร่วมกัน ไปจนถึงการให้คำปรึกษาและวัฒนธรรมขององค์กร ในภาคส่วนที่ได้รับการควบคุม และบางแผนก เช่น การเงิน การทำงานระยะไกลอาจส่งผลเสียต่อการปฏิบัติตามข้อกำหนด
นอกจากนี้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ คือการตรวจสอบให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมที่ออฟฟิศเอื้อต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล และการสำรวจความคิดเห็นอย่างจริงใจ โดยเป็นการเปิดรับความคิดเห็นของพนักงานว่าคิดเห็นอย่างไร ก่อนที่จะออกแบบนโยบายที่เหมาะสมกับการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย