วัคซีน ‘HPV’ ผู้ชายก็ฉีดได้แม้ไม่มีมดลูก ช่วยลดเสี่ยงโรคมะเร็ง
หลายคนคงรู้กันอยู่แล้วว่าวัคซีน “HPV” มีไว้ฉีดเพื่อป้องกัน “มะเร็งปากมดลูก” ในผู้หญิง แต่ความจริงแล้วผู้ชายก็ฉีดได้ ป้องกันความเสี่ยงโรคร้ายได้หลายชนิด โดยเฉพาะโรคมะเร็ง
บางคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า ผู้ชายก็จำเป็นต้องฉีดวัคซีน “HPV” ทั้งที่เป็นวัคซีนป้องกันความเสี่ยง “มะเร็งปากมดลูก” สำหรับผู้หญิง! แต่ความจริงแล้ว.. ผู้ชายเองก็มีความเสี่ยงจะเกิดโรคต่างๆ จาก เชื้อไวรัส HPV หรือ Human Papilloma Virus (ภาษาไทยเรียกว่า เชื้อแปปิโลมา) ได้เช่นกัน โดยเฉพาะโรคมะเร็ง
เชื้อไวรัส HPV เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อเนื้อเยื่อบุผิว รวมถึงก่อโรคที่บริเวณอวัยวะเพศและทวารหนัก ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในผู้หญิงและผู้ชาย จากการสัมผัสเชื้อโดยตรงหรือจากการมีเพศสัมพันธ์ ที่สำคัญผู้ที่มีเชื้อไวรัส HPV อยู่ในร่างกายตัวเองมักจะไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมา ทำให้อาจแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้โดยที่ไม่รู้ตัว
โดยทั่วไปสายพันธุ์ของ “เชื้อไวรัส HPV” มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่เป็นอันตรายกับร่างกายมนุษย์มากที่สุดคือ สายพันธุ์ 16 และ 18 ข้อมูลจาก รพ. วิชัยเวชฯ ระบุว่า ปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อ HPV มากกว่าปีละ 1 แสนคน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นทุกปี
- เชื้อไวรัส HPV อันตรายต่อผู้ชายอย่างไรบ้าง?
ไม่ใช่แค่การก่อโรค “มะเร็งปากมดลูก” ในผู้หญิงเท่านั้น แต่เชื้อไวรัส HPV ยังเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคหูดหงอนไก่, มะเร็งทวารหนัก, มะเร็งอวัยวะเพศ ไปจนถึงมะเร็งในช่องปากและลำคอ ในผู้ชายได้ด้วย โดยการติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ และการมีเพศสัมพันธ์ด้วยการใช้ปาก นอกจากนี้หากผู้ชายติดเชื้อดังกล่าวมาจากใครคนหนึ่งแล้ว แต่แม้ยังไม่แสดงอาการ แต่ก็ถือว่าคนๆ นั้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นพาหะนำเชื้อไปสู่คู่นอนคนอื่นๆ ได้อีกด้วย
เนื่องจากเชื้อไวรัส HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีบางสายพันธุ์ที่สามารถติดต่อไปยังผู้ชาย และก่อให้เกิดโรคร้ายตามมาได้ หมายความว่าแม้ผู้ชายจะไม่มีมดลูกเหมือนกับผู้หญิง แต่ก็เสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากเชื้อไวรัส HPV ได้ ไม่แพ้ผู้หญิงเลย
- รู้ไว้ปลอดภัยกว่า! วิธีป้องกันเชื้อไวรัส HPV ในผู้ชาย ทำแบบนี้
ในปัจจุบันการป้องกันการติดเชื้อจากไวรัส HPV ที่ดีที่สุด คือการฉีด “วัคซีน HPV” เนื่องจากสามารถป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้มากกว่าหนึ่งชนิด ซึ่งหนึ่งในนั้นคือไวรัสที่ผู้ชายสามารถติดได้ แต่ถ้าหากต้องการฉีดวัคซีนให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด ควรฉีดวัคซีนในช่วงอายุระหว่าง 9-26 ปี หรืออาจขยายระยะเวลาได้ไม่เกินอายุ 45 ปี เพราะสามารถลดโอกาสในการติดเชื้อได้มากถึงเกือบ 100% แต่ถ้าหากไม่สามารถฉีดได้ในช่วงอายุดังกล่าว ก็สามารถฉีดหลังจากนั้นได้ แต่ประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสก็อาจลดลงตามอายุที่มากขึ้น
สำหรับการฉีดวัคซีน HPV ที่ได้ประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ควรฉีดตามอายุที่เหมาะสมเท่านั้น แต่การฉีดวัคซีนให้ครบโดส ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
- เข็มที่ 1 กำหนดวันที่ต้องการฉีดได้เอง
- เข็มที่ 2 ห่างจากเข็มแรก 1-2 เดือน
- เข็มที่ 3 ห่างจากเข็มที่ 1 ประมาณ 6 เดือน
สุดท้ายแล้วการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อไวรัส HPV นั้น ไม่ได้มีความสำคัญสำหรับผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญต่อสุขภาพร่างกายของผู้ชายอีกด้วย หากใครสนใจฉีดวัคซีนดังกล่าว สามารถเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ได้เพื่อให้ได้รับการฉีดวัคซีนที่เหมาะสม
อ้างอิงข้อมูล : รพ. วิชัยเวช อินเตอร์เนชั่นแนล หนองแขม, รพ. เปาโล, รพ. เพชรเวช และ รพ. ศครินทร์