'นมแม่ เดย์แคร์' ตอบโจทย์แม่ยุคใหม่ทำงานนอกบ้าน
การสำรวจโดย องค์การยูนิเซฟ พบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยอยู่ที่ 14% ถือเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง เกิดเป็นโมเดลเลี้ยงดูเด็กช่วง1-3 ปีแรกอย่างมีคุณภาพ 'สวนเด็กสุทธาเวช' โดยคณะแพทย์ฯ ม.มหาสารคาม ตอบโจทย์แม่ที่ออกไปทำงานนอกบ้าน
Key Point :
- การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นขบวนการให้อาหารและการเลี้ยงดูตั้งแต่เริ่มต้นของชีวิต แต่จากการสำรวจโดย องค์การยูนิเซฟ พบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยอยู่ที่ 14% เท่านั้น
- 'สวนเด็กสุทธาเวช' โมเดลเลี้ยงดูเด็กช่วง1-3 ปีแรกอย่างมีคุณภาพ จึงเกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ยุคที่แม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ห้องให้นมแม่ แม่สามารถแวะมาให้นมลูกหรือมาบีบนมให้ลูกได้ รวมถึงมีพื้นที่สนามเด็กเล่น
- ทั้งนี่้ 'สวนเด็กสุทธาเวช' ได้เข้าร่วมขบวนการพัฒนาสถานพัฒนาเด็กแบบ 'นมแม่ เดย์แคร์' ต้นแบบที่เน้นนมแม่ พัฒนาการการเลี้ยงดูคู่การเรียนรู้
สถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำการสำรวจโดย องค์การยูนิเซฟ พบว่า การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของไทยอยู่ที่ 14% เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ลาว อยู่ที่ 44% กัมพูชา 66% มาเลเซีย 40% อินโดนีเซีย 51% 'สวนเด็กสุทธาเวช' โมเดลเลี้ยงดูเด็กช่วง1-3 ปีแรกอย่างมีคุณภาพ จึงตอบโจทย์ยุคที่แม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านได้ส่วนหนึ่ง
เนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนมาจากกฎหมายให้สิทธิลาคลอดแก่แม่ไม่เกิน 98 วัน แต่ช่วงเวลานั้นไม่เพียงพอสำหรับแม่ที่ต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ประกอบกับ แม่ที่ต้องกลับไปทำงานหลังใช้สิทธิลาคลอด ส่วนใหญ่ตัดสินใจใช้นมผสมหรือให้อาหารอื่นทดแทนนมแม่
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
การให้ความรู้และทักษะแก่แม่ยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นในตนเองที่มีต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ บุคลากรบางส่วนยังขาดทักษะดูแล ให้ความช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สุดท้ายสถานพยาบาลบางแห่งยังไม่สามารถดำเนินงานตามแนวทางโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก (BFHI) ได้สำเร็จ
พัฒนาคนต้องเตรียมตัวตั้งแต่เด็ก
ขณะที่ พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย กล่าวถึงการพัฒนาคนในศตวรรษที่ 21 ว่าทุกประเทศให้ความสำคัญและมีการเตรียมตัว โดยเฉพาะการเตรียมตัวตั้งแต่เด็ก ให้เด็กมีต้นทุนสุขภาพที่ดี ซึ่งการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นขบวนการให้อาหารและการเลี้ยงดูที่เริ่มต้นตั้งแต่เริ่มต้นของชีวิต ซึ่งการเตรียมเด็กไทยให้พร้อมมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 นอกเหนือจากการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แล้ว จะต้องมีการดูแลที่ดีด้วย รัฐบาลไทยดูแลเด็กตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป มีให้รายหัว มีค่าอาหาร มีงบประมาณให้ท้องถิ่นดูแลเด็ก รวมทั้งต้องมีมาตรการดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีลงมาอย่างเป็นรูปธรรม
สวนเด็กสุทธาเวช-นมแม่ เดย์แคร์
แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน 'สวนเด็กสุทธาเวช' สถานส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยก่อน 3 ขวบที่ จ.มหาสารคาม ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลเด็ก ที่ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ตั้งใจจัดเป็นศูนย์เรียนรู้ ร่วมขบวนต้นแบบโมเดลการเลี้ยงดูเด็ก ให้เด็กยังคงได้รับนมแม่ และมีการเลี้ยงดูอย่างมีคุณภาพ ในช่วง 3 ขวบปีแรก
ศ.คลินิก พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวรเลขาธิการศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สวนเด็กสุทธาเวช” มีห้องให้นมแม่ ที่แม่ทำงานแวะมาให้นมลูกหรือมาบีบนมให้ลูกได้ มีพื้นที่สนามเด็กเล่น ที่เด็กสามารถเลือกเล่นตามที่ชอบ และกิจกรรมรายวัน ที่ให้เด็กได้มีส่วนร่วม เป้าหมาย 3 ขวบปีแรก เด็กเกิดความภาคภูมิใจ เกิดการสร้างตัวตนที่แข็งแรง ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการเกิดทักษะที่จะนำไปสู่คุณลักษณะเด็กพร้อมอยู่ในโลกใบใหม่
โดย 'สวนเด็กสุทธาเวช' ได้เข้าร่วมขบวนการพัฒนาสถานพัฒนาเด็กแบบ 'นมแม่ เดย์แคร์' ต้นแบบที่เน้นนมแม่ พัฒนาการการเลี้ยงดูคู่การเรียนรู้ ให้แม่สามารถนำน้ำนมมาฝากใส่ตู้เย็นไว้ที่ สวนเด็กสุทธาเวช มีพี่เลี้ยงดูแลเด็กที่ผ่านการอบรมหลักสูตรครูพี่เลี้ยง เน้นการเลี้ยงดูเด็กช่วงปฐมวัยที่อาศัยการเล่น ควบคู่การเรียนรู้ การให้อยู่กับธรรมชาติมากที่สุด และการปลูกฝังพฤติกรรมสุขภาพในเด็กเพื่อป้องกันการเกิดกลุ่มโรคแห่งศตวรรษที่ 21 เป็นต้นแบบ และเป็นคำตอบของยุคที่แม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านได้
ตอบโจทย์แม่ยุคใหม่ทำงานนอกบ้าน
ดร.สวาสฎิพร แสนคํา ผู้จัดการ โครงการ“สวนเด็กสุทธาเวช” คณะแพทยศาสตร์ ม.มหาสารคาม กล่าวว่า แม่ยุคใหม่ที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ต้องเลือกเดย์แคร์ที่มีคุณภาพ มีครูที่มีทักษะ มีความรู้ทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มีความเข้าใจเด็กเป็นอย่างดี ทำหน้าที่เป็นแม่คนที่สองเวลาให้นมเด็กได้ ซึ่งโมเดลของ ”สวนเด็กสุทธราเวช” กำหนดให้ผู้ปกครองที่นำลูก 3 เดือนขึ้นไปมาให้ดูแล ต้องหาเวลามาป้อนนมลูกด้วยตัวเอง หรือปั๊มนมมาให้เก็บไว้ในตู้เย็น โดยเด็กอายุตั้งแต่ 3-6 เดือน จะต้องดื่มแต่ “นมแม่” เท่านั้น และดื่มแทนน้ำ
“เด็กที่ดื่มนมแม่น้อยจะไม่เพียงพอต่อการพัฒนาสมอง เพราะนมแม่เป็นแหล่งอาหารที่มีประโยชน์มากสุด เราจึงส่งเสริมเรื่องนมแม่มากกว่าดื่มน้ำจนกว่าจะเลย 6 เดือนขึ้นไป รวมไปถึงครูพี่เลี้ยงจะมีความรู้ ความเข้าใจ ทำหน้าที่ได้เหมือนกับแม่คนที่สอง มีเทคนิคขณะให้นมเด็ก รู้ว่า ควรอุ้มอย่างไร สายตาสื่อสารแบบไหน และมีการพูดออกเสียงภาษาอย่างชัดถ้อยชัดคำเพื่อให้เกิดการฟังซ้ำ ๆ เพราะเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบเป็นวัยที่มีสำนึกต่ำ จะยึดเอาตัวเองเป็นสำคัญ สิ่งที่เด็กช่วงวัยจะเรียนรู้ได้เร็วคือ ภาษา และ การเคลื่อนไหว ครูเคลื่อนไหวแบบไหนเด็กก็จะทำตาม” ดร.สวาสฎิพร กล่าว
โมเดล “สวนเด็กสุทธาเวช” กำลังถูกผลักดันไปสู่ สถานพัฒนาเด็กเล็ก ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในจังหวัดมหาสารคาม โดยร่วมกับหน่วยงานองค์กรต่างๆ ทั้งภายในมหาวิทยาลัย คือ คณะศึกษาศาสตร์ และคณะสถาปัตยกรรม และ องค์การบริหารการปกครองท้องถิ่น สปสช เขต 7 สำนักงานสาธารณสุขมหาสารคาม รวมทั้งมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เพื่อช่วยสนับสนุนประเทศในการสร้างคนไทย 4.0 ที่มีต้นทุนวิธีคิด วิธีปฏิบัติ คุณลักษณะ ที่พร้อม ในศตวรรษนี้ “นมแม่” และ“การเลี้ยงดู” มีส่วนสำคัญ
มิติใหม่พัฒนาเด็กสมวัยแท้จริง
ขณะที่ ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. กล่าวถึงโมเดล “สวนเด็กสุทธราเวช” ที่ส่งเสริมการเลี้ยงเด็กด้วยนมแม่ว่า “สวนเด็กสุทธาเวช” เป็นมิติใหม่ของการพัฒนาเด็กที่เริ่มจากการเอาเด็กเป็นตัวตั้ง เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการสมวัยอย่างแท้จริง เป็นการสร้างให้เด็กมีความรัก รู้จักรักตัวเอง และรักผู้อื่นตั้งแต่ยังแบเบาะ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วสามารถสร้างได้ตั้งแต่เด็กยังอยู่ในท้องแม่ การสร้างให้เด็กมีความรัก รู้จักรักตัวเอง และรักคนอื่น เมื่อโตขึ้นเขาจะหลีกเลี่ยงหรือไม่เอาตัวเองไปเสี่ยงอันตราย ไม่กล้าทำให้พ่อแม่หรือครอบครัวเสียใจ และไม่กล้าทำร้ายคนอื่น
ดังนั้นการจะสร้างคนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพได้ จึงต้องเริ่มจากการปลูกฝังและสร้างให้เขามีความรักก่อน และ”นมแม่”คือคำตอบ เพราะนมแม่เป็นเป็นสายใยแรกที่ก่อให้เกิดคนรักตัวเองและรักผู้อื่นเป็น จากการสัมผัส โอบกอด สายตาสื่อความรักจากแม่สู่ลูก ตอบโจทย์การสร้างคนคุณภาพให้กับประเทศ เพราะเป็นเดย์แคร์ แห่งแรก ๆ ที่ส่งเสริมการเลี้ยงเด็กด้วยนมแม่ รับเด็กตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป เป็นต้นแบบเพื่อสร้างคนคุณภาพ กระจายไปสู่พื้นที่อื่น ๆ และถูกผลักดันจนกลายเป็นนโยบายระดับชาติในอนาคต
ผ่าตัดคลอดกระทบแม่ให้นมบุตร
ศ.นพ ภิเศก ลุมพิกานนท์ อดีตคณบดี คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการที่ไทยเสียแชมป์อัตราการให้นมแม่ โดยหล่นมาอยู่ที่ 14 % การดำเนินการระดับนโยบายต้องไม่มีโรงพยาบาลไหนแยกลูกแยกแม่อีก เพื่อให้ลูกได้รับนมแม่หลังคลอดภายใน 1 ชั่วโมงแรก ที่สำคัญต้องลดอัตราการผ่าคลอด (CESAREAN SECTION)ที่ไม่จำเป็นลง ปัจจุบันตัวเลขอยู่ที่ 50 % ลงมาให้เหลือแค่ 20% ให้ได้
“เราต้องช่วยกันลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น เพื่อให้นโยบายการส่งเสริมให้นมแม่อย่างเดียว 6 เดือนไม่ผสมน้ำ ทำสำเร็จ หรือหากแม่ผ่าตัดคลอด ก็ต้องหาวิธีให้แม่สามารถให้นมบุตรให้ได้ ปัจจุบันแม้จีนจะเป็นแชมป์การผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น เขาก็เริ่มมีนโยบายลดการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็นลงแล้ว”ศ.นพ. ภิเศก ระบุ และว่า ประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายกว่า 2 พันล้านบาทต่อปี ในการผ่าตัดคลอดที่ไม่จำเป็น ซึ่งสามารถนำเงินจำนวนนี้มาส่งเสริมการให้นมบุตร หรืออะไรได้อีกมากมาย
ส่วนดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส.กล่าวว่าระยะเวลาที่เหมาะสมที่เด็กแรกเกิดควรกินแต่นมแม่คือ 180 เดือน แต่ปัจจุบันกฎหมายให้สิทธิลาคลอดได้ 90 วัน สสส. จึงสนับสนุนให้เกิดการใช้สิทธิลาคลอดได้เพิ่มขึ้นเพื่อให้แม่ได้อยู่กับลูกได้นานที่สุด โดยรณรงค์ให้แม่เห็นความสำคัญ ให้สถานประกอบการจัดสถานที่ และภาครัฐจัดนโยบายไปช่วยเสริม ไม่ใช่ดูแค่เงินที่จะจ่ายเป็นเงินเดือน ต้องดูในแง่ผลิตภาพที่ดีขึ้นประเทศชาติจะดีขึ้น จากเด็กไอคิวสูงขึ้นที่เป็นผลมาจากกินนมแม่ เมื่อคำนวณผลได้จากเงินเดือนของแม่ที่ลาคลอดที่เสียไป ก็คุ้มค่ากับสิ่งที่ สสส. และภาคีที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันผลักดันต่อไป