ยังไม่แก่ก็มี ‘ผมหงอก’ ได้ เปิดสาเหตุทำไมบางคนผมขาวก่อนวัย?
แน่นอนว่าเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเข้าสู่วัยกลางคนหรือวัยผู้สูงอายุ สิ่งที่แทบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือปัญหา “ผมหงอก” แต่สำหรับบางคนกลับพบปัญหา “ผมหงอกก่อนวัยอันควร” ที่เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ
Key Points:
- สาเหตุหลักของ “ผมหงอก” เกิดขึ้นจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น และถือว่าเป็นเรื่องปกติ
- ปัญหา “ผมหงอกก่อนวัยอันควร” นอกจากเกิดจากพันธุกรรมแล้ว พฤติกรรมส่วนบุคคลก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ผมหงอกได้
- ความเชื่อที่ว่าหากถอนผมหงอกแล้ว เส้นผมที่งอกขึ้นมาใหม่จะมีสีดำไม่เป็นความจริง เนื่องจากกลไกการสร้างเม็ดสีถูกรบกวนไปแล้ว
“ผมหงอก” คือหนึ่งในปัญหาที่หลายคนต้องพบเจอเมื่อมีอายุมากขึ้น เนื่องจากเมื่อคนเราเข้าสู่ช่วงอายุที่ผ่านพ้นวัยเจริญพันธุ์ไปแล้ว สำหรับผมหงอกในผู้สูงอายุเกิดจากการสร้างเม็ดสีจากรากผมก็จะลดลงทำให้เส้นผมไม่มีสี กลายเป็นเส้นผมสีขาวหรือเทาเงินเมื่อสะท้อนแสง โดยในทางการแพทย์มีคำอธิบายว่า ผมหงอกเกิดจากเม็ดสีเมลานินของเส้นผมทำงานลดลงหรือหยุดทำงานนั่นเอง
ในปัจจุบันไม่ใช่แค่ผู้สูงอายุที่มีผมหงอกเท่านั้น แต่วัยรุ่น วัยทำงาน หรือแม้กระทั่งวัยเด็ก กลับต้องเจอกับปัญหา “ผมหงอกก่อนวัยอันควร” ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ และที่สำคัญยังเป็นปัจจัยสะท้อนถึงโรคร้ายที่กำลังเป็นอยู่หรืออาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
- นอกจากอายุที่เพิ่มขึ้น “ผมหงอก” เกิดจากอะไรได้อีกบ้าง ?
สาเหตุสำคัญของปัญหาผมหงอกก่อนวัยอันควร ส่วนมากเกิดจากพฤติกรรมและโรคบางชนิด รวมไปถึงพันธุกรรมที่มีติดตัวมาตั้งแต่เกิดด้วย โดยสามารถแบ่งสาเหตุได้ดังนี้
- พฤติกรรมที่ทำลายสุขภาพ ได้แก่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่น่าเป็นห่วงคือในกลุ่มผู้ที่สูบบุหรี่จะมีแนวโน้มของผมขาวเร็วกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 4 เท่า และยังทำให้จำนวนอนุมูลอิสระบริเวณรากผมเพิ่มมากขึ้น ทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีผมอ่อนแอลง นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการโหมทำงานหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ มีความเครียดสะสม และรับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ หรือขาดสารอาหารโดยเฉพาะวิตามินบี 12 ธาตุเหล็ก ทองแดง และ สังกะสี ทำให้รากผมไม่แข็งแรง
- พันธุกรรม และ เชื้อชาติ โดยปัญหาของผู้ที่มีผมหงอกนั้นส่วนมากมาจากกรรมพันธุ์ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ในส่วนของเชื้อชาตินั้น อายุของผู้ที่เริ่มมีผมหงอกจะแตกต่างกันออกไป ดังนี้ คนต่างชาติผิวขาว (เช่น ยุโรป อเมริกา) ผมจะเริ่มหงอกครั้งแรกตั้งแต่อายุ 24 - 44 ปี คนผิวสีจะเริ่มหงอกเมื่ออายุ 34 - 54 ปี และคนเอเชีย จะเริ่มมีผมหงอกตั้งแต่อายุ 30 - 40 ปี โดยผมที่หงอกในช่วงอายุดังกล่าวของทุกเชื้อชาติจะไม่สามารถกลับมาดำได้อีก
- สภาพแวดล้อมทำร้ายสุขภาพของเส้นผม ได้แก่ มลภาวะทางอากาศ แสงแดด รังสีอัลตราไวโอเลต เป็นต้น
- การเกิดโรคบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคโลหิตจาง โรคต่อมไทรอยด์ โรคด่างขาว รวมทั้งการบาดเจ็บและโรคของระบบประสาท เป็นต้น
- ผมหงอกก่อนวัยอันควรแก้ไขได้อย่างไร
กรณีผมหงอกก่อนวัยอันควรที่เกิดจากปัญหาทางพันธุกรรมนั้น ในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขได้ แต่หากเกิดจากปัจจัยอื่นๆ ยังสามารถหาทางป้องกันและแก้ไขได้ไม่มากก็น้อย ดังนี้
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ และ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายของต่อมรากผมที่อาจทำให้เกิดผมหงอก
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบทั้ง 5 หมู่ เพื่อป้องกันการขาดสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเน้นไปที่อาหารที่มีวิตามินบี 12 โอเมกา 3 ธาตุเหล็ก ทองแดง และสังกะสีสูง ไม่ว่าจะเป็น เนื้อสัตว์ เนื้อปลา ตับ ไข่ นมไขมันต่ำ ผักใบเขียว ถั่วและธัญพืชชนิดต่าง ๆ
- ในผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือสงสัยว่ามีอาการของโรคที่เกี่ยวข้องกับการเกิดผมหงอกก่อนวัย เช่น โรคทางพันธุกรรม โรคไทรอยด์ หรือโรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างเหมาะสม
- ความเชื่อเกี่ยวกับการถอนผมหงอก
นอกจากปัญหาผมหงอกที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีความเชื่อที่ว่า หากถอนผมหงอกออกไปแล้ว จะทำให้ผมที่งอกขึ้นมาใหม่กลับมามีสีดำเหมือนเดิม แต่แท้จริงแล้วความเชื่อดังกล่าวไม่เป็นความจริง ซึ่งข้อมูลจากโรงพยาบาลพญาไท ระบุว่า กลไกของการเกิดผมหงอกเกิดจากระบวนการสร้างเม็ดสีที่ถูกรบกวน และมีการสร้างเม็ดสีลดลง แม้ว่าจะถอนผมเส้นที่หงอกออกไปแล้ว เส้นผมที่งอกขึ้นมาให้ก็จะยังเป็นสีขาวเหมือนเดิม
ท้ายที่สุดแล้วปัญหา “ผมหงอก” อาจจะเป็นสิ่งที่คนส่วนมากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามปกติเมื่ออายุมากขึ้น แต่ปัญหา “ผมหงอกก่อนวัยอันควร” ยังเป็นเรื่องที่ป้องกันได้ โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้เหมาะสมเพื่อสุขภาพเส้นผมที่แข็งแรง
อ้างอิงข้อมูล : RAMA Channel, Herb for Hair, รพ.พญาไท และ พบแพทย์