อาการโรคโมโนนิวคลิโอซิส ติดต่อผ่านการจูบ เช็คกลุ่มเสี่ยง วัยไหนควรระวัง
หมอมนูญ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ โพสต์ถึงอาการโรคโมโนนิวคลิโอซิส โรคติดต่อผ่านทางการสัมผัสนํ้าลาย การจูบ และละอองเสมหะของผู้ที่มีเชื้อ เช็คกลุ่มเสี่ยง วัยไหนควรระวัง
18 พ.ค.2566 หมอมนูญ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ถึงอาการโรคโมโนนิวคลิโอซิส โรคติดต่อผ่านทางการสัมผัสนํ้าลาย การจูบ และละอองเสมหะของผู้ที่มีเชื้อ (droplet transmission) โดยยกเคสผู้ป่วยหญิงวัย 31 ปี
ผู้ป่วยหญิงอายุ 31 ปี ปกติแข็งแรงดี วันที่ 20 เมษายน 2566 เริ่มมีไข้สูง ปวดศีรษะ ไอแห้งๆ มาพบแพทย์หลังจากป่วย 4 วัน ตรวจร่างกายพบ ต่อมน้ำเหลืองรอบคอโตเล็กน้อย ไม่มีแผลในคอ ตับ ม้ามไม่โต เจาะเลือดพบเม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำเล็กน้อย 3,670 (4,500-11,000) เกล็ดเลือดต่ำเล็กน้อย 131,000 (140,000-400,000) เอกซเรย์ปอดปกติ ส่งตรวจรหัสพันธุกรรมไม่พบไวรัสไข้เลือดออก ชิคุนกุนยา ไข้ซิกา ตรวจ PCR 22 สายพันธุ์ไม่พบไวรัสทางเดินหายใจ เจาะเลือดติดตาม พบเม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์สูงขึ้น 65% (ปกติ 20-45%) และมีเอทิปปิเคิลลิมโฟไซต์ (atypical lymphocyte) 8%
10 วันหลังเริ่มป่วย ยังมีไข้ ปวดหัวลดลง แต่เริ่มเจ็บคอมาก มีแผลสีขาวที่บริเวณต่อมทอนซิลทั้ง 2 ข้างหลังจากเริ่มป่วย 2 สัปดาห์ (ดูรูป) เจาะเลือดตรวจหาแอนติบอดีต่อเชื้อ EB ไวรัส Heterophile Antibody positive, EBV-VCA IgM positive, EBV-VCA IgG negative (VCA=viral capsid antigen)
วินิจฉัยเป็นโรค Infectious mononucleosis โมโนนิวคลิโอซิสจากการติดเชื้อ Epstein-Barr virus (EBV) ไวรัสเอ็ปสไตน์บาร์ (อีบีไวรัส) หรือ human herpesvirus-4 (HHV-4) ซึ่งจัดอยู่ในไวรัสกลุ่ม human herpesvirus
ผู้ป่วยรายนี้มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ไอแห้งๆ ต่อมน้ำเหลืองรอบคอโตเล็กน้อย 10 วันต่อมาเจ็บคอ และมีแผลสีขาวที่ต่อมทอนซิลทั้ง 2 ข้างยืนยันว่าเป็นโรคโมโนนิวคลิโอซิส ติดเชื้ออีบีไวรัส ด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ heterophile antibody บวก และ EBV-specific antibody IgM บวก เป็นการติดเชื้อครั้งแรกแบบเฉียบพลัน ต้องใช้เวลา 3 สัปดาห์กว่าอาการไข้ ปวดหัว เจ็บคอ แผลในคอจะหายไป
โรคนี้พบบ่อยในเด็กวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี ติดต่อผ่านทางการสัมผัสนํ้าลาย การจูบ และละอองเสมหะของผู้ที่มีเชื้อ (droplet transmission) คนไข้รายนี้ป่วยเป็นโรคโมโนนิวคลิโอซิสครั้งแรกเมื่ออายุ 31 ปี ถือว่าค่อนข้างช้า ไม่มีการรักษาจำเพาะ ส่วนใหญ่รักษาตามอาการ ในที่สุดหายเอง
cr เฟซบุ๊ก หมอมนูญ