ตรวจเช็ก!!สุขภาพกล้ามเนื้อที่คนวัยทำงานไม่ควรพลาด
ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเป็นสิ่งสำคัญ ในคนทั่วไปการมีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะช่วยให้กระดูกและข้อต่อต่างๆ แข็งแรงเคลื่อนไหวได้ดี ไม่เสี่ยงต่อการล้ม ไม่ปวดเมื่อย ทำกิจวัตรประจำวันได้เองไม่ต้องให้ผู้อื่นช่วยเหลือ
Keypoint:
- ทุกๆ การเคลื่อนไหว การใช้ชีวิตล้วนมีความเกี่ยวข้องกับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพราะหากมีอาการปวดเมื่อย หรือล้มลงย่อมส่งผลต่อการใช้ชีวิต การทำกิจวัตรประจำวันของทุกคน
- กล้ามเนื้อมีความเชื่อมโยงกับสุขภาพตั้งแต่หัวจรดเท้า โดยเริ่มจากสุขภาพหัวใจ การช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย ยิ่งในกลุ่มอายุมากขึ้น ร่างกายก็ต้องการโปรตีนที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการออกกำลังกายช่วยทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงได้
- เมื่อปวดกล้ามเนื้อนั้นสามารถแก้ได้ เพียงปรับลักษณะท่าท่างที่ผิดปกติ เช่น ไหล่ห่อ ไหล่งุ้ม การนั่งทำงาน หรือนั่งเขียนหนังสือหลายชั่วโมง การใช้โต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะสม ภาวะความเครียดไม่ว่าจะเป็นกายและใจ เรื่องเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาได้เบื้องต้น
นอกจากนั้น การมีมวลกล้ามเนื้อที่แข็งแรงจะช่วยให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินได้ดี ลดโอกาสเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคอ้วน โรคเบาหวาน เป็นต้น
ทั้งนี้ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ (Muscle Strength) คือ ความสามารถในการทำงานของกลุ่มกล้ามเนื้อในการออกแรงสูงสุด โดยกล้ามเนื้อที่หดตัวเพียงครั้งเดียวโดยไม่จำกัดเวลา เช่น การยกน้ำหนัก เป็นความสามารถของกล้ามเนื้อ หรือกลุ่มกล้ามเนื้อที่ออกแรง เพื่อต้านกับแรงต้านทาน ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ จะทำให้เกิดความตึงตัว เพื่อใช้แรงในการดึงหรือยกของต่างๆ ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ จะช่วยทำให้ร่างกายเกิดความแข็งแรง เพื่อรักษาให้ร่างกายทรงตัวต้านกับแรงโน้มถ่วง เช่น การวิ่ง การออกกำลังกาย การเล่นกีฬาต่างๆ ที่ใช้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อ เช่น การเคลื่อนไหวแขนและขา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
หมอเผยคนไทยป่วย วัณโรค พุ่งปีละกว่า 1 แสนคน ล่าสุดพบเคสเป็นที่กระดูกสันหลัง
เปิดหมด..ปม 'หมอลาออก' ชี้ทางออกก่อนจะถึงทางตันไร้แพทย์
แยกความต่าง อาการ ‘โควิด19' – 'ไข้เลือดออก’ 15 มิถุนายนวันไข้เลือดออกอาเซียน
การวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วย Push up
การวัดความแข็งแรงสำหรับผู้ชาย
- เริ่มต้นด้วยการนอนคว่ำ วางมือห่างกันประมาณหัวไหล่ เหยียดแขนทั้งสองข้างให้ตรงระนาบกับลำตัว หัวเข่ากว้างเท่ามือ ยกขาขึ้น ใช้นิ้วหัวแม่เท้าเป็นจุดหมุน และเหยียดหลังตรงตลอดการทดสอบ
- หายใจเข้า ผ่อนแรง และย่อตัวลงมาจนหน้าอกเกือบถึงพื้น หน้าอกควรอยู่ระหว่างมือทั้งสองข้าง
- หายใจออก ออกแรงดันลำตัว กลับมาสู่ตำแหน่งเดิม
การวัดความแข็งแรงสำหรับผู้หญิง
- เริ่มต้นด้วยการวางมือห่างกันประมาณหัวไหล่ หัวเข่าทั้งสองข้างกว้างเท่ามือ สำหรับผู้หญิงสามารถปรับโดยให้ขาสองข้างชิดกันแล้ววางราบไปกับพื้นก็ได้ โดยให้เข่าเป็นจุดหมุนแทน ข้อเท้าเหยียดราบไปกับพื้น หลังเหยียดตรง
- หายใจเข้า ผ่อนแรง และย่อตัวลงมาจนหน้าอกเกือบถึงพื้น หน้าอกควรอยู่ระหว่างมือทั้งสอง
- หายใจออก ออกแรงดันลำตัว กลับมาสู่ตำแหน่งเดิม
การทดสอบจะมีการนับคะแนนจำนวนครั้งที่ทำได้ นับตั้งแต่ครั้งที่เริ่มทดสอบ จนถึงครั้งที่ผู้ทดสอบรู้สึกเริ่มฝืนแรง หรือไม่สามารถทดสอบต่อได้ สามารถลองทดสอบจำนวน 2 เซต แล้วเลือกคะแนนที่ดีที่สุด เพื่อมาดูผลการทดสอบได้เลย
4 เรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ
ในเรื่องของกล้ามเนื้อนั้น มี4 เรื่องที่น่าสนใจที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์รองรับในการดูแลสุขภาพของกล้ามเนื้อตั้งแต่หัวจรดเท้า
1. ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อเชื่อมโยงกับสุขภาพหัวใจ
จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขของไทยในปี พ.ศ. 2565 การเสียชีวิตทั่วโลกมีสาเหตุสำคัญจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึง 32% หรือประมาณ 18 ล้านคน สำหรับประเทศไทยพบผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดมากถึงปีละ 7 หมื่นราย โดยที่ผู้ป่วยหลายคนไม่ได้มีอาการบ่งชี้ของโรคจึงไม่ทราบว่าตนกำลังประสบกับภาวะโรคหัวใจและหลอดเลือด
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารThe Lancet พบว่าความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ประเมินจากแรงบีบมืออาจระบุความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือดร้ายแรงได้แม่นยำกว่าการตรวจความดันโลหิตซิสโตลิก (ค่าความดันช่วงบน ซึ่งเป็นแรงดันสูงสุดขณะที่กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัว) นอกจากนี้ มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Current Opinion in Clinical Nutrition and Metabolic Care แนะว่าอัตราส่วนของมวลกล้ามเนื้อต่อมวลไขมันเป็นตัวบ่งชี้สุขภาพโดยรวมที่ดีกว่าดัชนีมวลกาย (BMI)
ดังนั้น ในการเริ่มดูแลสุขภาพกล้ามเนื้อควรเน้นในเรื่องของการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและโภชนาการสำหรับเสริมสร้างกล้ามเนื้อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะนำว่า ควรทานโปรตีน 0.8 ถึง 1 กรัม ต่อ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าน้ำหนักตัว 60 กิโลกรัม ปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับคือ 48-60 กรัม ต่อวัน เพื่อกล้ามเนื้อและร่างกายที่แข็งแรง
2. เมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายก็ต้องการโปรตีนที่เพิ่มขึ้น
ในร่างกายประกอบด้วยกล้ามเนื้อกว่า 600 มัด คิดเป็น 40% ของร่างกาย และการสลายของกล้ามเนื้ออาจเริ่มต้นไวแบบไม่ทันตั้งตัว ผลการวิจัยพบว่าเมื่อถึงวัย 40 ปี กลุ่มวัยผู้ใหญ่จะเริ่มสูญเสียมวลกล้ามเนื้อไปได้มากถึง 8% ในทุกๆ 10 ปี และอัตราการสูญเสียนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าเมื่ออายุ 70 ปี การสูญเสียกล้ามเนื้อจึงอาจเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในผู้สูงวัย และอาจมีความเสี่ยงต่อการใช้ชีวิตประจำวันและเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น ทำให้เกิดการพลัดตกหกล้มหรือขาดกำลังวังชาในการเดินขึ้นบันได การมีมวลกล้ามเนื้อน้อยยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการดื้ออินซูลินจนอาจนำไปสู่โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ การสูญเสียกล้ามเนื้ออาจนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ต่อการหายใจได้
จากรายงานฉบับล่าสุดเรื่องปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 ของสำนักโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่าประชากรผู้สูงวัยในประเทศไทยมีภาวะเสี่ยงต่อการขาดโปรตีนถึง 42.6% อย่างไรก็ดี เรามีทางเลือกมากมายในการเพิ่มโปรตีนในแต่ละมื้อเพื่อเสริมสร้างสุขภาพกล้ามเนื้อที่ดีและร่างกายที่แข็งแรง
เราจึงควรให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ครบถ้วนจากอาหารหลัก 5 หมู่ โดยเฉพาะโปรตีน และอาจเสริมมื้ออาหารด้วยอาหารสูตรครบถ้วนที่มี HMB สารอาหารสำคัญที่ได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามีส่วนช่วยเสริมสร้างและชะลอการสลายของมวลกล้ามเนื้อ จึงช่วยส่งผลให้กล้ามเนื้อแข็งแรง นอกจากนี้ยังพบ HMB ได้ในปริมาณเล็กน้อยในอาหาร เช่น ไข่ไก่ อกไก่ เนื้อวัว และอะโวคาโด
3. กล้ามเนื้อที่แข็งแรงช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย
ช่วงหลายปีมานี้ ทั่วโลกต้องเผชิญกับเชื้อโรคสายพันธุ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจเรื่องการเตรียมร่างกายให้แข็งแรงเพื่อต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็นเหล่านี้ ดังนั้น หากต้องการเสริมการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อแบคทีเรียและไวรัสต่างๆ เรื่องสุขภาพของกล้ามเนื้อจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม
มีการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อมีบทบาทในการกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกัน หากมวลกล้ามเนื้อลดลงอาจส่งผลให้การทำงานตามปกติของระบบภูมิคุ้มกันลดลงด้วย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงควรรับประทานอาหารที่ให้สารอาหารที่หลากหลายครบถ้วนและเพียงพอในปริมาณที่เหมาะสมโดยเน้นมื้ออาหารประจำวันไปที่โปรตีนที่มีไขมันต่ำ ผัก ผลไม้ เมล็ดธัญพืช ถั่วต่างๆ และนมไขมันต่ำ อาหารเหล่านี้มีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น แคลเซียม วิตามินดี เหล็ก และสารต้านอนุมูลอิสระที่มีส่วนช่วยให้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง
4. การออกกำลังกายช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
การออกกำลังกายเป็นการช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่ง่ายที่สุด เพราะทุกครั้งที่ร่างกายใช้แรงจะเกิดแรงต้านกับกล้ามเนื้อและจะส่งสัญญาณให้ร่างกายหลั่งกรดอะมิโนจากโปรตีนไปยังกล้ามเนื้อเพื่อสร้างความแข็งแรงขึ้นในที่สุด
เพื่อให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพสูงสุด จึงควรทานโปรตีน 25 ถึง 30 กรัมหลังออกกำลังกาย เพราะโปรตีนจะช่วยในกระบวนการซ่อมแซมและเสริมสร้างกล้ามเนื้อ ทั้งนี้ในช่วงอากาศร้อนทำให้มีเหงื่อออกมาก การออกกำลังกายจึงควรเน้นกิจกรรมที่ไม่หนักจนเกินไป เช่น การเดิน โยคะ การปั่นจักรยานเบาๆ และการยืดกล้ามเนื้อ
ดังนั้น เราควรเริ่มดูแลสุขภาพกล้ามเนื้อตั้งแต่วันนี้โดยการให้ความสำคัญกับโภชนาการที่ครบถ้วนจากอาหารหลัก 5 หมู่ ร่วมด้วยการออกกำลังกายที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และเสริมด้วยอาหารสูตรครบถ้วนที่มี HMB และโปรตีนคุณภาพดีที่หลากหลาย HMB มีส่วนช่วยเสริมสร้างและชะลอการสลายของมวลกล้ามเนื้อ* เพื่อช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ให้คุณมีความสุขกับทุกกิจกรรมแบบไม่มีวันเกษียณ
*อาหารทางการแพทย์ ต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์*
เช็กอาการปวดกล้ามเนื้อแก้ได้
กล้ามเนื้อลายเป็นอวัยวะที่หนักถึง 40% ของน้ำหนักตัว และมีถึง 696 มัด ซึ่งต้องทำงานอยู่ตลอดเวลา พบว่าประชากรโดยทั่วไปประมาณ 30% ขึ้นไปมีอาการปวดที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อ เป็นอาการปวดที่พบได้ในชีวิตประจำวันในการทำงานทำกิจกรรมต่าง ๆ
อาการปวดจากกล้ามเนื้อ มีได้หลายลักษณะ เช่น
- ปวดมากจนขยับร่างกายส่วนนั้น ๆ ไม่ได้เลย
- ปวดหนัก ๆ
- ปวดเสียว
- ปวดเมื่อยล้าง่าย
- ปวดตึง
- ปวดหรือเสียวแปล๊บเมื่อเอื้อมแขนหรือยกแขนในบางอิริยาบถ
- ปวดเมื่อเอี้ยวตัว เช่น เอื้อมหยิบของที่อยู่สูง เอี้ยวหยิบของไกลตัว
ฯลฯ
อาการปวดดังกล่าวอาจไม่ได้เกิดตลอดเวลา อาจเกิดบางครั้งบางคราว เป็น ๆ หาย ๆ ปวดเวลาใดก็ได้ เช่น เช้าตื่นขึ้นรู้สึกตึงขยับลำบาก หรือเมื่อยล้ามากในช่วงเย็น ในบางคนอาจมีอาการชายิบ ๆ บริเวณที่ปวดร่วมด้วย จนทำให้กลัวว่าจะเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต
สาเหตุปวดกล้ามเนื้อ
สาเหตุหรือสิ่งกระตุ้นที่ทำให้กล้ามเนื้อรอบข้อไหล่มีการหดรั้ง หรือยึดตึง
- ลักษณะท่าทางที่ผิดปกติ เช่น ไหล่ห่อ ไหล่งุ้ม
- การเกร็งใช้กล้ามเนื้อมัดนั้นนิ่งอยู่นาน เกินขีดความสามารถ (ความแข็งแรง ทนทาน) ของกล้ามเนื้อนั้นที่จะทนได้ เช่น การนั่งเขียนหนังสือนานเป็นหลายชั่วโมง นั่งทำงานคอมพิวเตอร์ตลอดวัน เป็นต้น
- การใช้โต๊ะเก้าอี้ที่ไม่เหมาะสม ผิดสัดส่วน โต๊ะสูงหรือเตี้ยเกินไป แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์หรือที่วางเมาส์วางสูงเกินไป ทำให้ต้องยกไหล่อยู่ตลอดเวลา เอื้อมเกร็งจับเมาส์ที่อยู่ไกล
- ภาวะหรือโรคบางอย่างก่อให้เกิดกล้ามเนื้อยึดตึงกดเจ็บได้ เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ ภาวะขาดสารอาหารหรือได้รับไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขาดวิตามิน โรคกระดูกก้านคอเสื่อมกดทับเส้นประสาทของไหล่ข้างนั้น ๆ
- ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- ภาวะหลังผ่าตัดทรวงอก เช่น ผ่าตัดหัวใจ ผ่าตัดปอด
- ภาวะการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อที่รุนแรงจากอุบัติเหตุ
- ภาวะความเครียดไม่ว่าจะทางกายหรือใจ
จะตรวจพบว่า กล้ามเนื้อที่เป็นสาเหตุของอาการ จะมีจุดกดเจ็บ ซึ่งบางครั้งอาจคลำได้คล้ายก้อน หรือคล้ายมีเชือกที่ขึงตึงอยู่ในกล้ามเนื้อนั้น เมื่อกดนิ้วลงที่จุดกดเจ็บอาจเห็นการกระตุกสั้น ๆ ได้ สิ่งที่มักจะตรวจพบร่วมด้วย คือ มีการติดยึด หดรั้ง ขยับเคลื่อนไปในทิศทางต่าง ๆ ได้ไม่สุด (ในกรณีที่เป็นไม่มาก) เช่น ข้อไหล่ติด หลังแข็ง ก้มลำบาก เป็นต้น
วิธีการรักษาปวดกล้ามเนื้อ
ในส่วนของการรักษาจะต้องทำร่วมกันดังนี้
- ในระยะแรกที่ปวดมากมักให้ยาแก้ปวด ยาคลายกล้ามเนื้อร่วมด้วย
- การคลายจุดกดเจ็บ ซึ่งทำได้หลายวิธี คือ
- การใช้เข็มฉีดยาคลาย อาจจะใช้ยาชาช่วยทำให้ไม่เจ็บขณะทำก็ได้
- การใช้เข็มเล็กบางคลายจุด
- การสเปรย์ด้วยความเย็นพร้อมกับยืดกล้ามเนื้อ
- การนวด เช่น นวดกดจุด นวดคลึง อาจใช้ยานวดร่วมด้วยได้ ผู้ที่มีอาการปวด ๆ เมื่อย ๆ แถวหัวไหล่ ให้ลองคลำหาจุดกดเจ็บเอง ถ้าเป็นไม่มากให้ลองคลายจุดด้วยการใช้นิ้วหัวแม่มือนวดคลึงตามจุดที่แสดงไว้ในกล้ามเนื้อเหล่านี้ นวดเสร็จแล้วก็บริหารยืดกล้ามเนื้อนั้น ๆ จะใช้ประคบผ้าเย็นสัก 20 นาทีก็ได้ จะทานยาพาราเซตามอล (Paracetamol) สักหน่อยก็ดี น่าจะทำให้ทุเลาได้ไม่น้อย ถ้าไม่แน่ใจจึงจะไปพบแพทย์
- การใช้เครื่องมือและเทคนิคทางกายภาพบำบัด ซึ่งจะได้เห็นตัวอย่างในนิทรรศการ “หลากหลายวิธีคลายปวด” เช่น ultrasound, laser therapy, TENS เป็นต้น
3. การฟื้นฟูให้กล้ามเนื้อมัดนั้น ๆ มีความยืดหยุ่นที่ดี และเพิ่มความแข็งแรงทนทานต่องานในชีวิตประจำวันต่าง ๆ ด้วยการบริหารยืดคลายกล้ามเนื้อ แล้วตามด้วยการบริหารต้านน้ำหนักเมื่ออาการปวดลดลงในเวลาต่อมา
4. สิ่งสำคัญที่จะละเลยไม่ได้ คือ การปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไขท่าทางอิริยาบถต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันให้ถูกต้องเหมาะสม เช่น ไม่ควรมีท่าทางไหล่งุ้มหรือห่อไหล่ไปข้างหน้า รวมทั้งเปลี่ยนแปลงหรือจัดวางเฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือ เครื่องใช้ต่าง ๆ รอบตัวให้รับกับท่าทางที่ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดภาวะเครียดตึงต่อกล้ามเนื้อ ไม่ให้เกิดการบิดใช้กล้ามเนื้อที่ผิดแนว การเปลี่ยนอิริยาบถบ่อย ๆ เช่น ทุก ๆ 15 – 20 นาที เพื่อให้กล้ามเนื้อที่หดตัวอยู่ได้ผ่อนคลายออกบ้าง
อ้างอิง: โรงพยาบาลกรุงเทพอินเตอร์เนชั่นแนล ,โรงพยาบาลกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข, แอ๊บบอต