สัตว์น้ำจืดกินดิบไม่ได้ ! อันตรายถึงตาบอด-เสียชีวิต
อาหารกึ่งดิบกึ่งสุกนั้นสามารถกินได้หากเลือกใช้วัตถุดิบที่ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่กับ “สัตว์น้ำจืด” เพราะเป็นแหล่งรวม “พยาธิปอดหนู” อันตรายต่อมนุษย์ถึงขั้นเสียชีวิต
Key Points:
- เมนูอาหารแบบกึ่งสุกกึ่งดิบที่มีวัตถุดิบหลักมาจาก “สัตว์น้ำจืด” นั้น หากกินเข้าไปจะเพิ่มความเสี่ยงได้รับ “พยาธิปอดหนู” เข้าสู่ร่างกายมากกว่าสัตว์น้ำเค็ม
- หากรับประทานอาหารอย่างเช่น “กุ้งแช่น้ำปลา” ที่ปนเปื้อนพยาธิปอดหนูเข้าไป อาจเป็นอันตรายถึงขั้นตาบอดและเสียชีวิต
- ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อจากพยาธิปอดหนูแบบเฉพาะเจาะจง ทำได้เพียงแค่รักษาตามอาการเท่านั้น
“กุ้งแช่น้ำปลา” ถือเป็นหนึ่งในเมนูโปรดของใครหลายคน เนื่องจากเป็นอาหารที่รับประทานได้ในหลายโอกาส เป็นที่นิยมกันอย่างมากในหลายภูมิภาคของไทย
โดยปกติแล้วกุ้งแช่น้ำปลาจะใช้ “กุ้งแชบ๊วย” ดิบ เป็นวัตถุดิบหลัก เนื่องจากเป็นกุ้งทะเลตัวใหญ่ มีเนื้อหวาน นุ่ม เด้ง แม้ว่าจะมีเปลือกหนา แต่ร่อน และแกะง่าย ในบางครั้งหากไม่สามารถหากุ้งแชบ๊วยได้ บางคนก็มักเลือกใช้กุ้งชนิดอื่นแทน
แต่ทั้งนี้ ต้องระมัดระวังหลีกเลี่ยงการบริโภคแบบดิบใน “กุ้งน้ำจืด” รวมถึง “สัตว์น้ำจืด” ทุกชนิด เนื่องจากเป็นแหล่งรวม “พยาธิปอดหนู” หรือที่เรียกว่า “พยาธิหอยโข่ง” หากรับประทานเข้าไปแล้วจะมีโอกาสเสี่ยงตาบอดได้ และที่อันตรายกว่านั้นคือทำให้ถึงขั้นเสียชีวิต
- พยาธิปอดหนูอันตรายอย่างไร และพบได้ที่ไหน ?
พยาธิปอดหนู มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Angiostrongylus Cantonensis เป็นพยาธิตัวกลม อาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงที่ปอดของหนู มีรูปร่างเรียว ยาวประมาณ 2-3 เมตร ลำตัวสีแดงสลับสีขาว มีทั้งเพศผู้ และเพศเมีย ปกติแล้วเพศเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้ เมื่อหนูถ่ายอุจจาระออกมาจะมีตัวอ่อนของพยาธิปอดหนูปะปนออกมาพร้อมกัน และถ้าหากสัตว์ชนิดต่างๆ กินตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้เข้าไป พวกมันจะไชเข้าสู่ร่างกายของสัตว์เหล่านั้น โดยเฉพาะ “สัตว์น้ำจืด” ไม่ว่าจะเป็น กุ้งแม่น้ำ หอย ตัวทาก หรือ ปูนา เป็นต้น
สำหรับ “พยาธิปอดหนู” นั้นพบได้มากในแถบเอเชีย โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในประเทศไทยพบได้บ่อยทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง
ถ้ามนุษย์นำสัตว์น้ำจืดที่บังเอิญมีตัวอ่อนของพยาธิปอดหนูมารับประทานโดยไม่ปรุงให้สุกเสียก่อน ก็มีความเสี่ยงเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ เพราะถ้าตัวอ่อนของพยาธิไชเข้าสู่ระบบประสาท เช่น สมอง หรือ ไขสันหลัง จะทำให้มีอาการปวดศีรษะ เป็นไข้ คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ชักเกร็ง อ่อนแรง สูญเสียการทรงตัว เป็นอัมพาต และอันตรายที่สุดก็คือ เสียชีวิต และถ้าตัวอ่อนไชเข้าตา ก็จะทำให้ตาอักเสบ ตามัว ไปจนถึงขั้น “ตาบอด” โดยอาการเจ็บป่วยจะแตกต่างกันไปตามตำแหน่งที่พยาธิเข้าไปอาศัยอยู่
จากการเก็บสถิติโดยมหาวิทยาลัยขอนแก่น มีรายงานว่า พบผู้ป่วยพยาธิปอดหนูขึ้นตาครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2505 โดยทั่วโลกพบผู้ป่วยไม่เกิน 50 คน และพบมากที่สุดในประเทศไทย ส่วนมากมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีจำนวนรวมทั้งหมด 18 คน ซึ่งจากการสอบประวัติผู้ป่วยรายล่าสุด ที่มาเข้ารับการรักษาที่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ด้วยอาการพยาธิปอดหนูขึ้นตาจนตาบอดพบว่า ผู้ป่วยรับประทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบเป็นประจำ โดยเฉพาะกุ้งแช่น้ำปลา
- เบื้องต้นต้องทำอย่างไร หากพยาธิปอดหนูเข้าสู่ร่างกาย
หากมีอาการตามที่ได้กล่าวมาแล้วเบื้องต้น และรู้ตัวว่ารับประทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบเป็นประจำ จำเป็นต้องรีบให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบทันที โดยปกติแล้วพยาธิปอดหนูจะมีระยะฟักตัวประมาณ 7-30 วัน หลังจากนั้นผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการป่วยต่างๆ ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน
เบื้องต้นแพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อหาพยาธิปอดหนู ก่อนจะรักษาโดยการวินิจฉัยดังนี้
1. ซักประวัติผู้ป่วย
2. ตรวจสอบหาพยาธิว่าอยู่ตรงส่วนไหน
3. ตรวจทางห้องปฏิบัติการ
4. ตรวจทางภูมิคุ้มกันวิทยา
เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาการติดเชื้อจากพยาธิปอดหนูโดยเฉพาะเจาะจง แพทย์จึงทำได้แค่รักษาตามอาการเท่านั้น เช่น การให้ยาแก้ปวดศีรษะ การให้ยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) ซึ่งเป็นยาในกลุ่มคอร์ติโตสเตียรอยด์ ในผู้ป่วยที่มีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การเจาะระบายน้ำไขสันหลังออกเป็นระยะเพื่อลดความดันของน้ำไขสันหลัง และสำหรับผู้ป่วยที่มีพยาธิไชเข้าไปในตานั้นจำเป็นต้องผ่าตัดเพื่อเอาพยาธิออก
ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงปัญหาที่เกิดขึ้นจาก “พยาธิปอดหนู” นั้น สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทาน โดยเฉพาะ “สัตว์น้ำจืด” และสำหรับบางเมนูที่ต้องการกินแบบดิบนั้นก็ควรเลือกใช้สัตว์น้ำเค็ม ก็ถือว่าป้องกันพยาธิปอดหนูไปได้ในระดับหนึ่ง เพราะปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาที่ทำให้หายได้ 100% จึงอาจทำให้ตาบอดหรือเสียชีวิตได้
อ้างอิงข้อมูล : รพ.เพชรเวช, รพ.สินแพทย์, food trueid, Thailand Plus และ Thai PBS
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์