ความเสี่ยงการเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างมากทั่วโลก
เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2023 ท่านผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร (ผู้ว่าฯ หมูป่า) เสียชีวิตลงด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ด้วยอายุเพียง 58 ปี ข้อมูลใน นสพ.แจ้งว่า ท่านตรวจร่างกายเมื่อปี 2563 ด้วยการส่องกล้องและพบว่า มะเร็งได้แพร่กระจายตามร่างกายแล้ว
แปลว่า การเริ่มเป็นโรคมะเร็งน่าจะเกิดขึ้นหลายปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้าสลดอย่างยิ่ง ที่ได้เกิดโรคมะเร็งขึ้น แม้ว่าอายุจะไม่มากนัก
National Cancer Institute ของสหรัฐให้ข้อมูลว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่นั้น ตรวจพบครั้งแรกมากที่สุดในกลุ่มคนที่มีอายุ 65-74 ปี โดยค่ามัธยฐาน (median) คืออายุ 66 ปี แต่งานวิจัยล่าสุดพบว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา คนที่ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งนั้นอายุน้อยลงไปเรื่อยฯ
ซึ่งได้มีการรายงานข่าวเชิงลึกในหนังสือพิมพ์ Financial Times ในวันเดียวกันที่ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์เสียชีวิต (The unexplained rise of cancer among millennials 22 June 2023) โดยผมขอสรุปประเด็นสำคัญๆ ของบทความดังกล่าว ดังนี้
1.ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อัตราการเป็นโรคมะเร็งเพิ่มขึ้นมากที่สุดในกลุ่มคนอายุ 25-29 ปี โดยที่ยังไม่สามารถหาคำอธิบายได้ว่าเกิดจากปัจจัยอะไร
2.สำหรับกลุ่มอายุ 15-39 ปีนั้น อัตราการตรวจพบโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้นมากถึง 70% ในประเทศกลุ่ม G20 (ปี 1990-2019) เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของการเป็นโรคมะเร็งทั้งหมดในกลุ่มนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 24%
3.ประเภทมะเร็งที่พบมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดในกลุ่มอายุ 15-39 ปีนั้นมีอีกอย่างน้อย 5 ประเภท คือ มะเร็งหลังโพรงจมูก (Nasopharynx cancer) เพิ่มขึ้น 104% มะเร็งต่อมลูกหมาก เพิ่มขึ้น 95% มะเร็งไตเพิ่มขึ้น 88% และมะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid) เพิ่มขึ้น 81%
ทั้งนี้ มะเร็งก็ยังเกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุดในกลุ่มผุ้สูงอายุ แต่ประเด็นหลักที่น่ากลัวคือในช่วง 30 ปีที่ผ่านมานั้นพบว่า คนเราเป็นมะเร็งตอนอายุน้อยเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วและตรวจพบโรคร้ายนี้ช้าเกินไป
เพราะแพทย์นึกไม่ถึงว่าจะเกิดขึ้นได้เร็ว จึงมิได้รีบแนะนำให้ไปตรวจหาโรคนี้อย่างทันท่วงที
ผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้อง ตั้งข้อสงสัยว่า สาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่ง น่าจะเป็นเพราะอาหารการกินและการใช้ชีวิตที่ปรับเปลี่ยนไปอย่างมากในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา (“scientists are increasingly convinced that changes in nutrition and ways of living that began in the mid 50s are part of the answer”)
การกินอาหารมากเกินไป จนทำให้น้ำหนักตัวสูงเกินเกณฑ์ เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของการเป็นโรคมะเร็งในลำไส้ใหญ่ แต่นอกจากนั้น ผู้เชี่ยวชาญก็ยังตั้งข้อสงสัยว่า อาหารการกินดังกล่าว ยังอาจส่งผลให้ความสมดุลของแบคทีเรียในลำไส้ (gut microbiome) ซึ่งมีทั้งแบคทีเรีย “ดี” และแบคทีเรีย “ไม่ดี” ได้รับผลกระทบในเชิงลบ
ทั้งนี้ในกระเพาะของมนุษย์นั้น จะมีจุลินทรีย์จำนวนหลายสิบล้านล้านตัว และมีส่วนสำคัญในการย่อยอาหาร การทำงานร่วมกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และการดูแลสุขภาพโดยรวม (มีงานวิจัยที่ค้นพบว่ากระเพาะอาหารนั้นก็เป็น “สมอง” แห่งที่ 2 ของร่างกาย ที่ทำงานร่วมกับสมองที่อยู่ในหัวของเรา)
ประเด็นคือ การกินอาหารที่ “ไม่ดี” กล่าวคือ มีน้ำตาลและไขมันจำนวนมาก ทำให้จุลินทรีย์ในระบบย่อยอาหารของเรา (gut microbiome) ปรับเปลี่ยนความสมดุลไปในทิศทางที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ทั้งนี้ สำหรับการกินอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงจากการเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่นั้นมีดังนี้
1.การกินเนื้อแดงในปริมาณมาก
2.การกินเนื้อสัตว์ปรุงแต่ง (เช่น ไส้กรอก) เป็นประจำ
3.การกินเนื้อสัตว์ปิ้งย่างโดยใช้อุณหภูมิสูง
4.การไม่ค่อยกินผัก ผลไม้และกากอาหาร (fiber)
5.การสูบบุหรี่
6.การดื่มสุราเกิน 2 แก้วต่อวันสำหรับผู้ชายและเกิน 1 แก้วสำหรับผู้หญิง
นอกจากนั้น การไม่ออกกำลังกาย และการมีน้ำหนักตัวเกินหรือการเป็นโรคอ้วนก็เพิ่มความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งอย่างมากเช่นกัน ตรงนี้ผมต้องขอย้ำว่าการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (วันละ ½ ชั่วโมงทุกวันหรือ ประมาณ 3-4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) จะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคมะเร็ง 13 ประเภท
ที่สำคัญคืองานวิจัยตีพิมพ์เมื่อปี 2019 ในวารสาร Medicine & Science in Sport & Exercise โดยนักวิจัยที่สหรัฐ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ และเยอรมนี ที่ติดตามผลการรักษาโรคมะเร็งเต้านมของคนไข้ 1,340 คน
พบว่าเมื่อรักษาโดยคีโมแล้ว คนไข้ที่ออกกำลังกายตามเกณฑ์ ทั้งก่อนการเป็นโรคมะเร็ง และหลังการรักษา จะลดความเสี่ยงที่มะเร็งจะกลับมาอีกได้มากถึง 50% เมื่อเทีบกับคนไข้ที่ไม่ออกกำลังกาย
นอกจากนั้น คนไข้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำต่อเนื่องไปอีก 2 ปี จะลดความเสี่ยงที่มะเร็งจะกลับมาได้ถึง 55% และลดความเสี่ยงจากการเสียชีวิตจากมะเร็งได้มากถึง 68% กล่าวคือ หากต้องต่อสู้กับโรคร้ายดังกล่าว การออกกำลังกายอย่างเป็นประจำจะเป็น “ยารักษา” ที่สำคัญอย่างยิ่ง
ประเด็นที่ต้องทิ้งท้ายเอาไว้คือ แนวโน้มที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว (กลุ่ม G20) ที่กล่าวถึงข้างต้นนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่า จะตามมาเกิดขึ้นได้ในประเทศกำลังพัฒนาในอีก 10-20 ปีข้างหน้า เมื่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตปรับเปลี่ยนไป ในทิศทางเดียวกันกับประเทศพัฒนาแล้ว
ข้อมูลที่นำเสนอมาทั้งหมดนี้ คงจะต้องรอการยืนยันจากการวิจัยในอนาคตต่อไป แต่อาจถือได้ว่า เป็นการส่งสัญญาณเตือน ให้เราทุกคนที่ยังอายุไม่มาก ควรระมัดระวังตัวมากขึ้น ในการดำเนินชีวิต เพื่อสุขภาพที่ดีคือ กินอาหารดี แต่อย่างกินมากเกินไปเพื่อควบคุมน้ำหนักตัว (เอวต้องไม่เกิน 0.45-0.50 ของความสูง)
งดสูบบุหรี่ และดื่มสุราอย่างจำกัด ตลอดจน การออกกำลังกายเป็นประจำสัปดาห์ละ 3-4 ชั่วโมง และนอนหลับให้เพียงพอ (โดยเฉพาะ deep sleep) ทุกคืนครับ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร