mRNA กับการรักษาโรคมะเร็ง | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ผมสนใจเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เรียกว่า messenger RNA (mRNA) มานานหลายปีแล้ว เพราะผมเชื่อว่าจะเป็นเทคโนโลยีประเภทหนึ่งที่จะเปลี่ยนรูปโฉมของการรักษาโรคในอนาคต
กล่าวคือ mRNA คือการที่เราจะสามารถส่ง “คำสั่ง” ไปให้กับเซลล์ในร่างกายให้ผลิตโปรตีนอะไรก็ได้ ที่จะสามารถนำเอาไปใช้ในการรักษาโรคประเภทต่างๆ หมายความว่า แทนที่จะต้องกินยาที่ผลิตจากโรงงานภายนอก เซลล์ของเราจะกลายเป็นโรงงานภายในร่างกายที่จะผลิตยาตามความต้องการของเรา
ผมเคยคิดจะลงทุนซื้อหุ้นของ 2 บริษัทที่แข่งกันพัฒนาเทคโนโลยีนี้ ได้แก่ Moderna และ BioNTech (ขอย้ำว่าบทความนี้ไม่ใช่การจะแนะนำให้ไปลงทุนซื้อหุ้นบริษัทใดๆ เลย)
ผมจำได้ว่าคิดไม่ตกว่าควรลงทุนดีไหมตอนปลายปี 2562 ตอนนั้นราคาหุ้นของ Moderna ประมาณ 20 ดอลลาร์ ต่อมาเมื่อโควิด-19 ระบาด ราคาหุ้นก็ปรับเพิ่มขึ้นไปถึงจุดสูงสุดที่ 449 ดอลลาร์ในเดือน ก.ย.2564 และก็ได้ปรับลดลงมาเหลือเพียง 127 ดอลลาร์ในต้นเดือน มิ.ย.
คำถามที่น่าสนใจคือ ราคาหุ้นปัจจุบันกำลังสะท้อนปัจจัยพื้นฐานอะไรบ้าง
ข้อที่ 1 คือกำไรของบริษัทคงจะต้องลดลงอย่างต่อเนื่องในอนาคตที่ความต้องการวัคซีนโควิด-19 ลดลงไปอย่างมาก ดังนั้น P/E ปัจจุบันที่ 10 เท่าจึงไม่มีความหมายอะไร ข้อที่ 2 คือหุ้นนี้คงจะปรับขึ้นได้อีกในอนาคตหากมีโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่เกิดขึ้นอีก
อย่างไรก็ดีช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พิสูจน์แล้วว่าเทคโนโลยี mRNA นั้น “ทำได้จริง” คำถามที่ตามมาคือ “แล้วจะทำอะไรต่อไป” คำตอบคือ ทั้ง Moderna และ BioNTech ตัดสินใจทุ่มเทกำไรที่ได้มาไปลงทุนค้นคว้าหาแนวทางที่จะใช้เทคโนโลยี mRNA รักษาโรคมะเร็ง
Moderna ร่วมมือกับบริษัทยายักษ์ใหญ่คือ Merck ในการพัฒนาวัคซีนเพื่อรักษาโรคมะเร็งผิวหนังที่อันตรายถึงชีวิตคือ Melanoma
ส่วน BioNTech นั้นก็ร่วมกับสถาบันมะเร็ง Memorial Sloan Kettering และบริษัทยา Roche ในการพัฒนาวัคซีนเพื่อรักษามะเร็งในตับอ่อน
โรคมะเร็งมีหลายประเภทมากและเป็นโรคที่รักษายากมาก เพราะเซลล์มะเร็งนั้นเดิมทีก็เป็นเซลล์ปกติที่เกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะ “มองไม่เห็น” ว่าเป็น “ผู้ร้าย” แต่ยังมองว่าเป็น “พวกเดียวกัน”
ดังนั้น ยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง เช่น ยารักษา Melanoma ของ Merck ชื่อว่า Keytruda จึงเป็นยาที่ใช้เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันให้กำจัดเซลล์มะเร็งที่หลงเหลือ หลังจากการผ่าตัดที่พยายามเอาเนื้อร้ายออกจากร่างกายให้มากที่สุดได้พ้นไปเป็นผลสำเร็จแล้ว
เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.2566 ได้มีการแจ้งผลการทดลองการใช้ยา Keytruda ร่วมกับวัคซีนของ Moderna กับคนไข้ที่เป็นโรคมะเร็ง 157 ราย ผลปรากฏว่าความเสี่ยงที่มะเร็งจะหวนกลับมาอีกลดลงไปสูงถึง 65% เมื่อเทียบกับการใช้ยา Keytruda เพียงขนานเดียว
แล้ววัคซีนของ Moderna ทำอะไรจึงส่งผลให้ยา Keytruda มีประสิทธิผลเพิ่มขึ้น? กระบวนการคือ
1.นำเอาเซลล์มะเร็งของคนไข้มาลำดับพันธุกรรม (genetic sequencing) เซลล์มะเร็งนั้นจะแตกต่างกันสำหรับแต่ละประเภทของมะเร็งและแตกต่างกันสำหรับคนไข้แต่ละคน
2.จะต้องอาศัยปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) เพื่อคาดการณ์ว่าเซลล์มะเร็งจะพัฒนาการไปในรูปแบบใด (เซลล์มะเร็งจะมี “หน้าตา” เป็นอย่างไร)
3.ประเมินว่าควรจะนำเอาส่วนไหนของเซลล์มะเร็งที่มีความโดดเด่นและแตกต่างจากเซลล์ปกติมาเลียนแบบ แล้วผลิตเป็น mRNA วัคซีนเพื่อฉีดเข้าไปในร่างกายและ “สอน” ให้ระบบภูมิคุ้มกันรู้จัก “ผู้ร้าย” ตัวนี้และปราบให้ราบคาบ หากมีหลงเหลืออยู่หรือกลับมาใหม่อีก
การทำวัคซีนที่ว่านี้ไม่ง่าย ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 8 สัปดาห์ Moderna ไม่ได้บอกว่าใช้เงินเท่าไร แต่ในกรณีของ BioNTech ที่ใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกันนั้น เปิดเผยว่าค่าใช้จ่ายต่อคนประมาณ 100,000 ดอลลาร์ (3.45 ล้านบาท)
แต่กรณีของ BioNTech นั้น เป็นการรักษามะเร็งในตับอ่อน ซึ่งเป็นมะเร็งที่รักษายากมากและกระจายตัวได้รวดเร็วมาก
โดยปกติแล้วหากเป็นมะเร็ง Melanoma อัตราการเสียชีวิตจะประมาณ 10% แต่ในกรณีของมะเร็งในตับอ่อนนั้น อัตราการเสียชีวิตน่าจะใกล้เคียงกับ 90%
อย่างไรก็ดี ในกรณีของ Moderna คณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐได้อนุมัติให้เข้าสู่กระบวนการอนุมัติแบบลัดขั้นตอน โดยกำหนดให้เป็น “break through therapy” เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา
เพราะคาดการณ์ว่าจะมีประชาชนสหรัฐประมาณ 100,000 คนเป็นโรคมะเร็ง Melanoma และคาดว่าจะมีคนในสหรัฐเสียชีวิตเพราะโรคนี้ประมาณ 8,000 คน
สำหรับมะเร็งในตับอ่อนนั้น สถิติคือมีคนอเมริกันเป็นโรคนี้ประมาณ 64,000 คนต่อปี และเสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 51,000 คนต่อปี แต่การทดลองวัคซีนของ BioNTech (ซึ่งเป็นบริษัทของประเทศเยอรมนี) ยังอยู่ในขั้นแรก
คือมีคนไข้เพียง 16 คน แต่ก็ได้ผลดีเกินคาดคือ คนไข้ 50% (8 คน) ไม่พบการกลับมาของมะเร็ง 18 เดือนหลังจากการผ่าตัดและฉีดวัคซีน ซึ่งโดยปกติจะพบว่ามะเร็งกลับมาประมาณ 80%
ผมเชื่อว่าเทคโนโลยีของ 2 บริษัทนี้คงจะเป็นความหวังในการรักษาโรคมะเร็งได้ในอนาคต แต่ ณ ปัจจุบันนี้เราคงต้องดูแลตัวเองก่อน และวิธีดูแลตัวเองที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงจากโรคมะเร็งคือ การไม่สูบบุหรี่ คุมน้ำหนักไม่ให้อ้วน ออกกำลังกายเป็นประจำ และระวังไม่ให้เป็นโรคเบาหวาน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายที่งานวิจัยพบว่าช่วยลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งอย่างน้อย 13 ประเภทและลดความเสี่ยงได้ประมาณ 20% ครับ
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร