"คัดกรองมะเร็งเต้านม"ด้วยแมมโมแกรม รู้ไว รักษาได้

"คัดกรองมะเร็งเต้านม"ด้วยแมมโมแกรม รู้ไว รักษาได้

ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรม เป็นอีกหนึ่งวิธีที่มีความแม่นยำ ถ้าพบว่าเป็นมะเร็งระยะแรกสามารถรักษาให้หายได้

"มะเร็งเต้านม"เป็นโรคร้ายที่ไม่สามารถป้องกันได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด คือ "ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม" (screening) เพื่อค้นหาเซลล์มะเร็งตั้งแต่ระยะที่ยังไม่แสดงอาการ  (preclinical phase) ทำให้สามารถเริ่มการรักษาได้เร็ว หรือใช้การรักษาได้หลายวิธี ก็สามารถหายขาด ส่งผลให้อัตราการตายจากมะเร็งลดลง 

คัดกรองด้วยแมมโมแกรม 

การใช้แมมโมแกรม ซึ่งเป็นการถ่ายเอกซเรย์ด้วยเครื่องเฉพาะ จะมีการกดเต้านมแต่ละข้างระหว่างการถ่ายภาพ ซึ่งมีระบบดิจิตอลแมมโมแกรม 3 มิติ

แมมโมแกรม เป็นเครื่องมือทางรังสีวินิจฉัยในด้านการตรวจคัดกรองมะเร็ง โดยมีงานวิจัยที่รายงานจากทั่วโลก สรุปไว้ว่า แมมโมแกรมเป็นเครื่องมือตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเพียงชนิดเดียวที่สามารถลดอัตราตายจากมะเร็งเต้านมได้ 20 - 30 เปอร์เซ็นต์

โดยปกติแล้วรอบๆ ตัวเราประกอบด้วยรังสีมากมาย ไม่ว่าจากแสงแดด, รังสีจากชั้นบรรยากาศ, จากอาหารที่ผ่านการฆ่าเชื้อด้วยรังสี  

เราเรียกรังสีเหล่านี้ว่า Background radiation ซึ่งปริมาณรังสี (radiation dose) เหล่านี้ ทุกคนได้รับอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 2.0 millisievert (mSv) ต่อปี 

ปริมาณรังสีที่เป็นอันตราย

มีการวิจัยระบุว่า ถ้าคนเราได้รังสี >50.0 mSv จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็ง ปริมาณรังสีที่ได้รับจากการตรวจทางการแพทย์ในแต่ละวิธีในการทำ CT Scan หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ในส่วน CT brain หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ที่สมอง จะได้รับรังสี 2.0 mSv

ส่วน CT abdomen หรือเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ในช่องท้องจะได้รับรังสี 10.0 mSv ถ้าเป็นChest X-Ray หรือเอ็กซเรย์ปอด จะได้รับรังสี 0.02 mSv

ส่วนการแมมโมแกรม (ทั้ง 2 ข้างรวมกัน) จะได้รับรังสี 0.7 mSv ซึ่งน้อยกว่าที่เราได้รับในแต่ละวันตลอดทั้งปี

เมื่อนำค่าเหล่านี้คิดรวมกันในคนที่ทำแมมโมแกรม เป็นประจำทุก 1-2 ปี ตามข้อบ่งชี้ไปคำนวณความเสี่ยงตลอดอายุขัย พบว่าจะเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง 0.01 - 0.001% ในขณะที่ CT abdomen จะมีความเสี่ยงอยู่ที่ 0.1 - 0.01%  ซึ่งแมมโมแกรมมีความเสี่ยงน้อยมาก 

เมื่อเปรียบเทียบระหว่างข้อดีกับข้อเสีย ตามสถิติพบว่า การทำแมมโมแกรมเป็นประจำมีประโยชน์มากกว่าข้อเสีย  

อีกเรื่องที่น่าสนใจ ก็คือ การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมจะมีโอกาสพบความผิดปกติในเต้านมที่ซ่อนอยู่ ซึ่งในบางครั้งจำเป็นต้องใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ เพื่อนำมาวินิจฉัยว่าเป็นอะไรแน่ 

การตรวจแมมโมแกรมเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตามมาตรฐานโลก ประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าสหรัฐอเมริกาและประเทศในยุโรป ยังใช้การตรวจแมมโมแกรมให้ผู้หญิงทุก 1-2 ปี โดยเป็นสวัสดิการของรัฐบาลที่ให้แก่ประชาชน 

สำหรับประเทศไทย เนื่องด้วยเรายังไม่พบอุบัติการณ์มะเร็งเต้านมสูงเท่าชาวต่างชาติ ประกอบกับประเทศเรายังมีทรัพยากรทางการแพทย์จำกัด การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมจึงยังคงเป็นลักษณะสมัครใจตรวจ 

คัดกรองมะเร็งเต้านมทุก 1-2 ปี

อย่างไรก็ตาม แนวทางการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมของประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ แนะนำให้หญิงไทยเริ่มตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยแมมโมแกรมตั้งแต่อายุ 40 ปี และตรวจทุก 1-2 ปี ตามความเสี่ยงในสตรีแต่ละคน 

อย่างไรก็ตาม ไม่มีการกำหนดตายตัวว่า อายุเท่าไหร่จะหยุดตรวจแมมโมแกรมได้  ขึ้นอยู่กับสุขภาพอายุขัยของสตรีแต่ละราย

กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม ได้แก่

  • กลุ่มที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม, มะเร็งรังไข่
  • เคยฉายแสงบริเวณหน้าอกตั้งแต่อายุยังน้อย
  • เคยเจาะชิ้นเนื้อเต้านมพบความผิดปกติบางประเภท
  • ได้ฮอร์โมนเพศหญิงอย่างสม่ำเสมอเกิน 5 ปี จำเป็นต้องตรวจคัดกรองแมมโมแกรมทุก 1 ปี หรือตามแพทย์แนะนำ

นอกจากการตรวจด้วยแมมโมแกรม ยังสามารถตรวจเต้านมด้วย MRI (ภาพสะท้อนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า) ซึ่งมีราคาแพง ปัจจุบันแนะนำให้ทำ MRI ร่วมกับแมมโมแกรม เฉพาะในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่ามีความผิดปกติของยีน BRCA ตั้งแต่อายุ 30 ปีขึ้นไปหรือ เคยมีประวัติได้รับการฉายรังสีปริมาณสูงบริเวณหน้าอกตั้งแต่อายุน้อย

.........

อ้างอิงข้อมูล

-คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

-สาขารังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย