กินเยอะขนาดไหน? ถึงเข้าข่าย 'โรคกินไม่หยุด' อยากกินหรือป่วย
เคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่? ไม่ว่าจะมีความสุข ความทุกข์ ความเครียด หรือไม่ว่าจะเวลาไหนๆ ก็กินไม่หยุด กินตลอดเวลา ซึ่งการกินเหล่านั้นเป็นเพราะความอยากจะกิน หรือจริงแล้ว...เป็น 'โรคกินไม่หยุด' กันแน่
Keypoint:
- 'โรคกินไม่หยุด'เป็นโรคที่มีความสัมพันธ์กับความเครียด มีอาการกินไปเรื่อยๆ ไม่หยุด ต่อให้ไม่มีความอยากกินก็จะกินโดยควบคุมตัวเองไม่ได้
- 11 อาการที่บ่งบอกว่าเข้าข่ายโรคกินไม่หยุด ซึ่งไม่ใช่เพียงการกินอาหารในปริมาณที่มากเกินไปเท่านั้น
- สิ่งที่สำคัญในการรักษาโรคกินไม่หยุด คือ ผู้ป่วยต้องเข้าใจพฤติกรรม หรืออาการป่วยของตัวเองก่อน ว่าตัวเราเองตอนนี้เป็นผู้ป่วย ต้องใช้การบำบัดและต้องเชื่อฟังแพทย์เพื่อรักษาอาการของโรคนี้ให้หาย
จากงานวิจัยพบว่า ประชากรทั่วโลกกว่า 5% กำลังมีอาการที่กินแบบผิดปกติ (Eating disorder) ไม่ว่าจะเป็นโรคคลั่งผอม (Anorexia) หรืออาการที่ไม่กินข้าวเพราะกลัวอ้วน หรือโรคโรคล้วงคอ ที่กินแล้วไปอ้วกออก (Bulimia) ที่เราเคยได้ยินว่ามีดารานางแบบทำตามนิตยสาร แต่มีอีกอาการที่คนอาจจะเป็นแต่ไม่รู้ตัวกันนั้นก็คืออาการของ Binge Eating Disorder : BED หรือโรคกินไม่หยุด
Binge Eating Disorder : BED หรือโรคกินไม่หยุด เป็นโรคทางประสาทที่ทำให้เรากินเรื่อย ๆ ไม่หยุด ในปริมาณที่มากเกินปกติ และมักจะรู้สึกผิดที่หลังกินเสร็จ เพราะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้
จากงานวิจัยพบว่าโรคนี้ยังพบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 20 ตอนต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ธุรกิจ 'อาหารเพื่อสุขภาพ' ยุคใหม่ ทำอย่างไรให้ตอบโจทย์คนทุกวัย
เทรนด์อาหารเทรนด์สุขภาพยุคNew Normal
เทรนด์ดูแลสุขภาพ 'ยุคใหม่' 18ปีลดน้ำหนัก-ฝังเข็มแก้โรคทำงาน
ชู'ตรีผลา' อาหารเป็นยา พร้อมแนะดูแลสุขภาพด้วยสมุนไพรผ่านการกิน
กินขนาดไหน? ถึงเป็น'โรคกินไม่หยุด'
โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder (BED) คือ อาการรับประทานอาหารปริมาณมากผิดปกติ โดยที่ไม่มีความรู้สึกหิวและไม่สามารถควบคุมตนเองได้นับเป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งที่สัมพันธ์กับความเครียด ซึ่งอาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว
โดยอาการที่สังเกตได้อย่างชัดเจน มีดังนี้
- รับประทานอาหารปริมาณมากในเวลาไม่นาน
- รับประทานอาหารแม้ว่าจะอิ่มแล้ว หรือไม่หิว
- รับประทานอาหารเร็วมากในบางช่วง
- รับประทานอาหารคนเดียวหรือเก็บเป็นความลับ
- กักตุนอาหารไว้ใกล้ตัว
- กินได้ทุกเวลาไม่ว่าจะหิวหรือไม่หิว
- กินคนเดียวเพราะรู้สึกอาย
- กินเสร็จแล้วจะรู้สึกผิด โกรธ เศร้า รังเกียจ โทษตัวเอง
- กินไม่หยุดต่อเนื่อง 3 เดือนขึ้นไป
- พยายามควบคุมอาหารโดยที่น้ำหนักไม่ลด
- รู้สึกเครียดจนอาจทำให้รับประทานอาหารมากขึ้น
นพ.จตุรงค์ อมรรัตนโกศล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ศูนย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า โรคกินไม่หยุด (Binge Eating Disorder : BED) เป็นโรคที่เกิดจากการรับประทานอาหารในปริมาณที่มากผิดปกติ ไม่สามารถคุมตัวเองได้ ไม่หิวก็ยังรับประทาน ที่สำคัญจะรับประทานจนอิ่มแบบที่ไม่สามารถรับประทานอาหารอื่น ๆ ต่อได้ หลังจากนั้นจะรู้สึกโกรธตัวเองที่ทำพฤติกรรมแบบนี้ลงไป ที่น่าสนใจคือโรคนี้ไม่มีสาเหตุที่แน่ชัด เกิดขึ้นได้กับทุกคนทุกช่วงวัย
ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคกินไม่หยุด
ถึงแม้จะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่ยังพบว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระตุ้นการเกิดโรคกินไม่หยุดนี้ได้ เช่น
- เกิดเหตุการณ์ที่กระทบความรู้สึก หรือเคยถูกทำร้าย
- การสูญเสียบุคคลรอบตัว
- ความผิดหวังจากการลดน้ำหนัก
- ไม่มีความมั่นใจวิตกกังวลในรูปร่างของตนเอง
- การดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
- มีภาวะทางจิตร่วมด้วย เช่น โรคซึมเศร้า เครียด
- พบได้ในผู้ที่เป็นโรคอ้วน หรือคนในครอบครัวเคยเป็นโรคกินไม่หยุด
โรคกินไม่หยุด เสี่ยงป่วยอะไรได้บ้าง?
โรคกินไม่หยุดจะเพิ่มความเสี่ยงโรคเรื้อรังอย่างโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ยังส่งผลกับระบบทางเดินอาหารโดยตรง ไม่ว่าจะเป็น
ท้องอืด จากการกินอาหารมากเกินไป ทำให้ต้องย่อยอาหารนานมากขึ้น เกิดแก๊สในกระเพาะอาหารมากขึ้น ปวดท้อง แน่นท้อง มีลมในท้อง ซึ่งในระยะยาวอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบได้
อาหารไม่ย่อย เพราะกินไม่หยุดจึงกินมากไป ทำให้ไม่สบายท้อง อึดอัดบริเวณยอดอกหรือใต้ลิ้นปี่ ปวดท้องช่วงบน แสบร้อน ระบบย่อยอาหารทำงานได้ไม่ดี หากร้ายแรงอาจเลือดออกในทางเดินอาหาร หลอดอาหารตีบ กระเพาะอาหารส่วนปลายตีบได้
กรดไหลย้อน หากกินมากไปและโดยเฉพาะกินมากไปแล้วนอนทันทีย่อมเสี่ยงต่อกรดไหลย้อน คือการที่น้ำย่อยจากกระเพาะอาหารไหลกลับขึ้นไปที่หลอดอาหาร อาจรู้สึกแสบร้อนที่ลิ้นปี่มาที่หน้าอกและคอ หากปล่อยให้เรื้อรังจนรุนแรงอาจมีแผลที่หลอดอาหารและนำไปสู่โรคมะเร็งแม้พบน้อยก็ตาม
ท้องร่วง การกินไม่หยุด ทำให้กินมากไป กินหลายอย่าง จนกระเพาะอาหารและลำไส้เกิดการแปรปรวน ส่งผลให้ท้องเสียและท้องร่วงได้เช่นกัน
รู้กินไม่หยุด จะแก้ได้อย่างไรบ้าง?
วิธีรักษาโรคกินไม่หยุด แพทย์จะทำการซักประวัติ ตรวจเช็กร่างกายอย่างละเอียด ก่อนจะรักษาด้วยการปรับพฤติกรรมบำบัดร่วมกับการใช้ยารักษาตามคำแนะนำของแพทย์ ซึ่งต้องอาศัยเวลาในการปรับเปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป และผู้ป่วยแต่ละคนจะมีวิธีการรักษาแตกต่างกันตามปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคและปัญหาสุขภาพที่ต้องเผชิญ 'โรคกินไม่หยุด' อาจต้องใช้ความอดทนในการรักษา แต่สามารถเป้องกันได้ง่ายๆ ดังนั้น
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม : ออกกำลังกาย ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ และไม่ปล่อยให้ตนเองตกอยู่ในสภาวะความเครียด
- การใช้ยา : เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสุดมีจุดประสงค์เพื่อจัดการสมดุลภายในสมอง และลดโอกาสเกิดอาการของโรคกินไม่หยุด แต่ด้วยผลข้างเคียงจากการใช้ยาจึงต้องทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ห่างไกลความเครียด
- การทำจิตบำบัด : มีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ป่วยเรียนรู้สาเหตุ และอาการของโรคเพื่อรับมืออาการและสามารถจัดการกับความคิดด้านลบต่อร่างกายของตนเองได้
- ปรึกษาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
หากกินบางมื้อเยอะเกินไปตามโอกาสพิเศษไม่ถือว่าเป็นโรคกินไม่หยุดแต่ถ้ามีอาการกินไม่หยุดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้งติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 3 เดือน ควรสังเกตตัวเองแล้วรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและเข้ารับการรักษาทันที ก่อนปัญหาสุขภาพจะเรื้อรังและรุนแรง
ถึงแม้ว่าโรคกินไม่หยุด จะไม่ใช่โรคที่ร้ายแรงมากนัก แต่ก็สามารถกระทบกับการดำเนินชีวิตและสภาพจิตใจของผู้ป่วยได้ นอกจากนี้หากไม่รักษาอาการอย่างเหมาะสม พฤติกรรมกินเยอะเป็นช่วงๆ อาจนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ
อ้างอิง : ศูนย์โรคอาหารทางเดินและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ ,โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภากาชาดไทย , โรงพยาบาลรามคำแหง