'ลงทุนเฮลท์แคร์ -ดูแลผู้ป่วยแบบใหม่' เทรนด์ดูแลสุขภาพแบบยั่งยืน
'การรักษาโรค อาการเจ็บป่วย การเข้าถึงบริการทางการแพทย์' ถือเป็นสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรจะได้รับ ยิ่งปัจจุบันสภาพภูมิอากาศแปรปรวน เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว และการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ อาจเป็นสาเหตุทำให้ผู้คนเจ็บป่วย เกิดโรคหลายชนิด
Keypoint:
- 'รายงาน Future Health Index(FHI)2023 ระบุผู้บริหารเฮลท์แคร์ใช้โมเดลการดูแลสุขภาพแบบใหม่ นำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ เพื่อป้องกัน ดูแล รักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด รับมือกับปัญหาด้านบุคลากรและต้นทุนที่มากขึ้น
- สร้างระบบนิเวศด้านเฮลท์แคร์ มุ่งสู่สมาร์ทดิจิทัลเฮลท์ ขยายระบบออนไลน์ ผู้ป่วยต้องเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
- 'ฟิลิปส์ เอเชีย-แปซิฟิก และฟิลิปส์ ประเทศไทย' ย้ำเฮลท์แคร์ไทยและทั่วโลกยั่งยืนได้ต้องรับผิดชอบต่อสังคมและดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเทศไทยต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ แพทย์ทางเลือก และลงทุนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเฮลท์
'วงการเฮลท์แคร์'ของไทยและทั่วโลกต่างพยายามคิดค้นยารักษาโรค นวัตกรรมเทคโนโลยีในการดูแลรักษาผู้ป่วย หรือมองหาแนวทางในการป้องกันไม่ให้ผู้คนในประเทศล้มป่วย
'ฟิลิปส์ เอเชีย-แปซิฟิก และฟิลิปส์ ประเทศไทย' ได้รายงาน Future Health Index(FHI)2023 ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หัวข้อ 'Taking Healthcare Everywhere' ซึ่งเป็นการสำรวจครั้งที่ 8 โดยสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างเกือบ 3,000 คน ครอบคลุมผู้บริหารแถวหน้าในวงการเฮลท์แคร์ และบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ 14 ประเทศ อาทิ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ พร้อมเปิดเทรนด์การลงทุนด้านเฮลท์แคร์ในปัจจุบันและอนาคต เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2566 ณ ประเทศสิงคโปร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
มข. จับมือ ลิลลี่ ฟาร์มา พัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับอาหาร ยา เครื่องสำอาง
'รพ.เมดพาร์ค' รักษ์โลก ตั้งเป้า Net Zero Carbon Healthcare
WARRIX ลุยตลาด 'Healthcare' รับเทรนด์รักสุขภาพครบวงจร
ส่อง '7 ธีมเมกะเทรนด์' โอกาสเติบโตปี66 'หุ้นพื้นฐานดี ราคาถูก'
‘เฮลท์แคร์’ลงทุนสมาร์ทดิจิทัล
'แคโรไลน์ คลาร์ค' ประธานบริษัท และรองประธานฝ่ายบริหาร ฟิลิปส์ เอเชีย-แปซิฟิก เปิดเผยถึงผลการสำรวจว่า โมเดลการดูแลสุขภาพแบบใหม่กำลังเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดยมีการนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด เข้าถึงการบริการทางการแพทย์ได้มากขึ้น มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รับมือกับปัญหาด้านบุคลากรและต้นทุนที่มากขึ้น
“ผู้บริหารธุรกิจเฮลท์แคร์ในเอเชีย-แปซิฟิกส่วนใหญ่ มีแนวทางนำโมเดลใหม่มาใช้ดูแลผู้ป่วย และกระจายการบริการทางการแพทย์ออกไปด้วยการนำสมาร์ทดิจิทัล เทคโนโลยี และข้อมูลมาใช้ ลงทุนเพิ่มด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเฮลท์ และการขยายระบบออนไลน์ ไปยังส่วนต่างๆในระบบนิเวศด้านเฮลท์แคร์ โดย 48%จะลงทุนเรื่องการบันทึกดิจิทัลด้านสุขภาพมากที่สุด และเกือบ3ใน4 หรือ74%ของผู้บริหารลงทุนในปัญญาประดิษฐ์ หรือAI”แคโรไลน์ กล่าว
ทั้งนี้อีก 3 ปีข้างหน้า ผู้บริหารเฮลท์แคร์สิงคโปร์ (84 %) อินโดนีเซีย(76 % ) และออสเตรเลีย( 63 % )จะนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการคาดการณ์ผลลัพธ์ เช่น 33 % วิเคราะห์แนวโน้มผู้ป่วยต่อการตอบสนองต่อแผนการดูแลรักษา เพื่อความแม่นยำในการดูแลรักษาที่มากขึ้น 35 % นำไปใช้สนับสนุนการตัดสินใจทางคลินิก เช่น ให้คำแนะนำในการตรวจวินิจฉัยหรือการรักษาโรค และ 33 % นำไปใช้ในการบูรณาการด้านวินิจฉัย เช่น การตรวจด้วยภาพและพยาธิวิทยา ประวัติทางคลินิก เป็นต้น
เร่งโมเดลรูปแบบใหม่ประยุกต์ใช้ดูแลผู้ป่วย
รายงาน FHI 2023 เผยว่า 2 ใน 3 หรือ 66 % ของผู้บริหารและบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ บอกว่าพวกเขาพร้อมในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพด้วยโมเดลแบบใหม่ในการดูแลผู้ป่วย และ 63 % เชื่อว่าการดูแลผู้รักษาผู้ป่วยสามารถดำเนินไปพร้อมกับความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน
การนำรูปแบบใหม่มาประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วย พบว่ากว่า 58 % ผู้บริหารเฮลท์แคร์ และบุคลากรทางการแพทย์เห็นตรงกันว่าจำเป็นต้องมีการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ให้มีทักษะที่จำเป็น โดยเกือบ 1 ใน 3 ผู้บริหารเฮลท์แคร์ ระบุว่า 29 % ต้องมีการเพิ่มทักษะในการอ่านและการแปลข้อมูล 29 % ความสมัครใจของบุคลากรที่จะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นปัจจัยสู่ความสำเร็จในการนำโมเดลใหม่ในการดูแลผู้ป่วยมาใช้
รวมทั้ง 44 % ของบุคลากรทางการแพทย์รุ่นใหม่ต้องการฝึกอบรมเพิ่มเติมทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อช่วยในการตรวจวินิจฉัยและลดภาระงาน ขณะที่ 2 ใน 3 หรือเทียบเท่า 56 % ทั่วโลกของผู้บริหารในวงการเฮลท์แคร์ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเฮลท์มาใช้ เพื่อช่วยลดการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยใช้เทคโนโลยี 3 อันดับแรก ได้แก่ 44 % เทคโนโลยีบนคลาวด์ รองรับการเข้าถึงข้อมูลจากที่ไหนก็ได้ 37 % เทคโนโลยีโซลูชั่นเชื่อมต่อภายนอกโรงพยาบาลได้ และ 35 % เทคโนโลยีด้านการจัดการข้อมูล
สร้างระบบนิเวศสาธารณสุขที่สมาร์ทและเชื่อมต่อ
'มาร์ค เบอร์บี' รองประธานบริษัท และผู้อำนวยการกลุ่มธุรกิจ Health Systems and Solutions ฟิลิปส์ เอเชีย-แปซิฟิก กล่าวว่าปี 2565 ฟิลิปส์ใช้งบ 10.5 % ของยอดขายลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อออกแบบผลิตภัณฑ์ โดย 1 ใน 2 ของบุคลากรฝ่ายวิจัยและพัฒนาดูแลด้านซอฟท์แวร์ และวิทยาการข้อมูล
ปัจจุบัน ฟิลิปส์ได้รับสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญา 56,000 รายการ เครื่องหมายการค้า 33,000 รายการ และสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ 114,000 สิทธิ์ โดยปี . 2565 ฟิลิปส์ได้ยื่นขอจดสิทธิบัตรทรัพย์สินทางปัญญาจำนวน 920 รายการ โดยมุ่งเน้นในเฮลท์เทคโนโลยีและโซลูชั่นส์ และปี 2566 ฟิลิปส์ได้รับการจัดอันดับ 1 ใน 100 เป็นบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมจาก Clarivate Top 100 Global Innovator™ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 10
มาร์ค กล่าวต่อว่าฟิลิปส์ ต้องการทำให้เห็นภาพระบบสาธารณสุขในอนาคตภายใต้ระบบนิเวศด้านสาธารณสุขที่สมาร์ทและเชื่อมต่อ โดยมีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ข้อมูลสารสนเทศและเทคโนโลยีดิจิทัลจะทำให้การบริการด้านสาธารณสุขขยายออกจากภายในโรงพยาบาลไปสู่ระบบออนไลน์ หรือสถานที่ที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยมากขึ้น อาทิ บ้านหรือชุมชน เป็นต้น
“ตลาดเฮลท์แคร์ทั่วโลกมีอัตราการเติบโตแบบ Double รวมถึงตลาดเฮลท์แคร์ในไทยซึ่งมีการเติบโตอย่างมาก โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ และแพทย์ทางเลือก หากไทยได้สนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจัง และมีความต่อเนื่องในแต่ละรัฐบาล เชื่อว่าตลาดเฮลท์แคร์ของไทยจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้อย่างมาก ดังนั้น กลุ่มธุรกิจเฮลท์แคร์ไทย และภาครัฐต้องส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ แพทย์ทางเลือก และลงทุนเทคโนโลยีทางการแพทย์มาใช้ให้มากขึ้น” มาร์ค กล่าว
เฮลท์แคร์ยั่งยืน ต้องรับผิดชอบต่อสังคม-สิ่งแวดล้อม
'คีธ ไบรตัน' ผู้อำนวยการฝ่าย Services and Solutions Delivery ฟิลิปส์ Growth Region กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจบริการและโซลูชั่นส์ดิจิทัล เป็นปัจจัยสำคัญนำไปสู่ความสำเร็จในระยะยาวและสร้างความยั่งยืนให้กับวงการเฮลท์แคร์ ดังนั้น กลุ่มผู้บริหารเฮลท์แคร์ จึงเห็นว่าการสร้างกรณีศึกษาทางธุรกิจเพื่อริเริ่มดำเนินงานโครงการ และการแชร์ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กรได้
"ความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เป็นปัจจัยสำคัญในวงการเฮลท์แคร์ ซึ่งฟิลิปส์ให้ความสำคัญในเรื่องนี้อย่างมาก โดย 72% ของยอดขายในปี 2565 ฟิลิปส์ ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นส์สีเขียว เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากกระบวนการทำงาน มีการนำเทคโนโลยีแบบหมุนเวียนเข้ามาใช้ในการดำเนินงาน และมีการจัดการขยะแบบหมุนเวียน รวมถึงโรงงาน 23 แห่งของเรา ไม่มีการปล่อยขยะมูลฝอยออกสู่ภายนอก รวมทั้งให้บริการโรงพยาบาลที่เป็นคู่ค้าของเรา สามารถดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืนได้อีกด้วย เพราะการจะสร้างความยั่งยืนให้แก่วงการเฮลท์แคร์ทุกภาคส่วนต้องขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน"นายคีธ กล่าว