กว่า20ปีทำงานที่เดิมแบบไม่ Burn out ฉบับ 'วิโรจน์ CEO ฟิลิปส์ไทย'
เกิดจุดพลิกสำคัญทำให้หันมาดูแลสุขภาพตนเองด้วยการวิ่งเป็นประจำทุกวัน บนความคิดที่ว่า “ถ้ารอเวลา จะไม่มีทางมีเวลา” และทำงานที่เดิมนานกว่า 20 ปีได้อย่างไร โดยไม่มีภาวะ Burn out แบบฉบับของ “วิโรจน์ วิทยาเวโรจน์ ประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด”
“อาจจะใช้ผมเป็นมาตรฐานไม่ได้ เพราะทำงานที่ฟิลิปส์มา 20 กว่าปี ส่วนตัวในฐานะผู้บริหารจะใช้เวลาเข้าไปบริหารจัดการงานในภาพรวม ภาระหนักของผู้บริหารคือความรับผิดชอบ จึงสามารถปลีกเวลาในทุกเย็นหลังเลิกงานไปออกกำลังกาย”วิโรจน์ออกตัว
ย้อนไปช่วงปลายปี 2560 ด้วย “ฟิลิปส์”ต้องการมุ่งเน้นส่วนของธุรกิจเฮลท์แคร์(HealthCare) จึงมีนโยบายให้ฟิลิปส์ทั่วโลก เริ่มต้นด้วยการ “ส่งเสริมสุขภาพพนักงาน” ส่วนของฟิลิปส์ (ประเทศไทย) ขณะนั้นมีพนักงานราว 200 คน จัดให้มีการทดสอบสมรรถภาพร่างกายทุกคน
“ผมเข้าทดสอบสมรรถภาพร่างกายด้วยการวิ่งบนลู่ 10 นาที เกือบตาย” วิโรจน์เล่าพร้อมกับบอกว่านี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจว่าจำเป็นที่ต้องหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายตัวเองอย่างจริงจัง เริ่มด้วยการวิ่งรอบสนามกีฬา ระยะต้นครั้งแรก 1 รอบก็แทบจะแย่ แต่โชคดีได้เพื่อนที่สนามแนะนำ ทำให้วิ่งได้ดีมากขึ้น
และวิ่งหลังเลิกงานเป็นประจำทุกวันเรื่อยมารอบสนามกีฬาบ้าง รอบหมู้บ้านบ้าง ผ่านไปไม่กี่เดือนก็ขยับมาเป็น 5 กิโลเมตรดีใจมาก เพราะในชีวิตไม่เคยวิ่งได้มาก่อน จนวิ่งระยะ 10 กิโลเมตร ใช้เวลา 50 กว่านาทีได้ใน 2561
ไม่มีทางมีเวลาว่างออกกำลังกาย
วิ่งเรื่อยมาเป็นเวลา 6 ปีแล้ว ยังคงใช้เวลาในทุกเย็นแทบทุกวัน อาจจะมีวันพักบ้าง 1 วันต่อสัปดาห์ และช่วงสถานการณ์โรคโควิด-19ระบาด มี virtual run ในเดือนส.ค. 2563 เดือนเดียววิ่งได้ 800-900 กิโลเมตร จนหลังโควิด-19อาจจะลดลง เหลือระยะ 10 กิโลเมตร
อย่าออกกำลังกายในเวลาว่าง เพราะจะไม่มีทางว่าง ส่วนตัวจะไม่รอเวลาวันนี้ว่างแล้วค่อยไปออกกำลังกายแต่จะกำหนดเวลาการออกกำลังกายชัดเจนเลยว่าต้องเป็นวันนี้ ช่วงเวลานี้ จะต้องกำหนดให้ชัดเลยว่าใน 1 สัปดาห์จะออกกำลังกายกี่วัน วันละกี่นาทีและทำอย่างสม่ำเสมอ
"คนที่บอกว่ามีเวลาว่างแล้วค่อยออกกำลังกาย คุณจะไม่ได้ทำแน่นอน เพราะจะไม่มีทางมีเวลาว่าง" วิโรจน์กล่าว
อาหารเหมาะตามวัย
คุณวิโรจน์ ให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่เหมาะสมตามวัยด้วย โดยไม่ทานมื้อเย็นมาหลายปีแล้ว หากมาทำงานจะทานอาหารเช้าและกลางวัน แต่หากอยู่บ้านจะทานมื้อเดียวราว 9 โมงเช้า เพราะอายุที่มาก ไม่จำเป็นต้องทานมาก
เพียงดูแลอาหารที่จำเป็นให้ครบ ทานผัก ทานปลาหรือโปรตีนให้พอ เพราะคนสูงอายุกล้ามเนื้อจะสลายต้องทานโปรตีนให้เพียงพอ ซึ่งก็ทำให้สามารถควบคุมน้ำตาล ความดันโลหิตได้ ทว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วย
สร้างบรรยากาศทำงานแบบที่ชอบ
เมื่อผู้บริหารให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพ ในส่วนของการส่งเสริมสุขภาพพนักงานให้เกิดสมดุลย่อมไม่ถูกละเลย จะมีการจ้างเทรนเนอร์มาเป็นผู้นำในการออกกำลังกายให้กับพนักงานสม่ำเสมอ รวมถึง ดูแลสวัสดิการพนักงานด้านต่างๆ เช่น เอ็นเตอร์เทนเรื่องต่างๆ และทุกสัปดาห์สุดท้ายของปีจะมีการเลี้ยงข้าวพนักงานฟรีทุกวันทุกมื้อเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพราะการที่ยังทำงานอยู่ในช่วงเวลานั้น ถือว่าเสียสละให้บริษัท
นอกจากนี้ ในฐานะเบอร์ 1 ของฟิลิปส์(ประเทศไทย) แนวคิดที่คุณวิโรจน์ ยึดถึอเป็นหลักในการบริหารงาน คือ “การเป็นช่างทาสี”
“ถ้าทาสีดำห้องนั้นก็จะเป็นสีดำ ถ้าทาสีขาวก็จะเป็นสีขาว ในฐานะผู้บริหารจึงต้องตัดสินใจให้ดีว่าต้องการให้บริษัทกลายเป็นห้องดำมืด หรือดูสว่างสดใส อยู่ที่เราที่เป็นช่างทาสี”วิโรจน์กล่าว
อย่าจมอยู่กับปัญหาจะไม่Burnout
ทั้งนี้ “คุณวิโรจน์” เข้าร่วมงานกับฟิลิปส์มาตั้งแต่ปี 2543 ในตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปกลุ่มธุรกิจเครื่องมือแพทย์ ดูแลธุรกิจจนประสบความสำเร็จ สร้างความแข็งแกร่งให้กลุ่มธุรกิจ จนได้รับความไว้วางใจให้ดำรงตำหน่งประธานและกรรมการผู้จัดการบริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารสูงสุด
กว่า 20 ปีที่ทำงานกับฟิลิปส์ที่เดียว ขณะที่ปัจจุบันคนจำนวนไม่น้อยจะมีภาวะหมดไฟในการทำงาน(Burn out)โดยเฉพาะหากทำงานที่เดิมมาเป็นเวลานาน แต่คุณวิโรจน์ บอกว่า แนวทางที่จะทำให้ไม่เกิดภาวะดังกล่าวคือ อย่าจมอยู่กับปัญหา
และในฐานะผู้บริหารที่เปรียบเหมือนพี่ดูแลน้อง จึงเปิดโอกาสให้พนักงานเข้ามาพูดคุยบอกเล่าเรื่องราวต่างๆได้เสมอ บางครั้งแม้จะยังเล่าไม่จบก็จะเข้าใจแล้ว เพราะมองเห็นอยู่ ก็จะชี้แนะให้บ้างส่วนหนึ่งตามประสบการณ์ของผู้ที่ทำงานมานาน ถือเป็น Value ของคนแก่ ทำให้อัตราการ turn overของที่นี่ค่อนข้างต่ำ เฉลี่ยไม่มีสั้นกว่า 5 ปี ส่วนทีมขายไม่ต่ำกว่า 10 ปี
“ถ้าขลุกอยู่กับปัญหา ก็จะจมอยู่กับปัญหา ถ้ามีปัญหาหนักๆมากๆก็ดีดตัวเองออก มายืนมองจากวงข้างนอก”วิโรจน์กล่าว
บางครั้งจึงมีน้องๆเข้ามาร้องไห้ด้วยจากภาวะงานหนักที่ ก็จะบอกว่า ก็อก ก็อก ออกมาจากเรื่องนั้นก่อน ปล่อย แล้วลองมองจากวงข้างนอกเข้าไป ก็จะเห็นวิธีแก้
ผู้บริหารจึงถือว่ามีส่วนสำคัญมากต่อการทำให้พนักงานมีภาวะBurnoutหรือคลี่คลายจากภาวะนี้ ที่ฟิลิปส์(ประเทศไทย) จะมีผู้บริหารราว 10 คนจะมีการประชุมร่วมกันทุกเช้าวันจันทร์ เพื่อสรุปปัญหาและตัดสินใจร่วมกัน
นโยบายที่ใช้ในการทำงานที่นี่ คือ “ทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ภายใต้กรอบ อำนาจที่มี ดังนั้น ใครชอบทำอะไร และทำแล้วได้ประสิทธิผลของงานที่ดีก็ไปทำ ใครที่ทำแล้วเครียดมากๆก็เรียกมาคุยกันก่อน ไหวหรือไม่ ถ้าไม่ไหวก็เปลี่ยน”
สื่อสารปิดGAPคนต่าง Gen
คุณวิโรจน์ ในวัย 62 ปี ขยายความ “Value ของคนแก่” ว่า ประสบการณ์ของการทำงานมานานอาจจะจับต้องไม่ได้ แต่มีประโยชน์ในระดับหนึ่ง แม้เรื่องการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆอาจจะสู้คนรุ่นใหม่ไม่ได้ ทว่า เมื่ออายุมากขึ้น มีประสบการณ์การทำงานมากขึ้น จะทำให้มีความนิ่งมากขึ้น ไม่ค่อยตื่นตระหนก ตื่นเต้นกับอะไรที่เข้ามาปะทะ จะตั้งสติและดูจ่ากประสบการณ์ที่ผ่านมา
สำหรับที่ฟิลิปส์(ประเทศไทย) มีพนักงานอายุใกล้ 50ปี ราว 1-2 คน ส่วนใหญ่ในออฟฟิตตำแหน่งหัวหน้าจะอายุ 30 กว่าปี แน่นอนย่อมมี GAPของวัย ซึ่งการทำงานร่วมกับคนต่าง Gen จึงต้องใช้ “การสื่อสาร”มาปิด GAP โดยเฉพาะในฐานะคนที่อายุมากกว่า และเป็นประชากรกลุ่มน้อยในออฟฟิต คุณวิโรจน์ บอกว่า ต้องเป็นฝ่ายเข้าไปหาสื่อสารกับคนอายุน้อยกว่าก่อน ถ้าไม่เข้าใจตรงไหน ก็ต้องขอให้รุ่นน้องสอนในเรื่องนั้น ให้เข้าใจ
“ผู้บริหารต้องทำให้GAPระหว่างวัยหายไป ถ้าลดตรงนี้ได้จะรู้ปัญหาชีวิตของพนักงานก็เข้าไปช่วยได้ระดับหนึ่ง ส่วนตัวจะชอบเดินทั่วทั้งออฟฟิตทุกชั้น จะช่วยให้เห็นบรรยากาศการทำงาน รวมถึงจากที่จบการศึกษา สาขากายภาพบำบัด จึงรู้ว่าการนั่งนานๆไม่ดี จะบอกน้องๆทุกคนอย่านั่งนาน ทุกครึ่งชั่วโมงให้ลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ ป้องกันอาการต่างๆที่จะเกิดขึ้น”วิโรจน์กล่าว
Work Life Balanceสิ่งต้องมี
ท้ายที่สุด คุณวิโรจน์ บอกว่า Work Life Balance เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ง่าย แต่จะพยายามทำให้ที่ดีให้เกิดขึ้นทั้งในส่วนของตัวเองและดูแลพนักงาน เพราะเคยได้อ่านข้อความที่ระบุว่า
ถ้าคุณเป็นอะไรไป อย่างมากบริษัทก็หาคนมาแทนคุณ แต่พ่อแม่ ครอบครัวจะหาคุณมาจากไหนได้อีก ไม่มี แม้บริษัทจะจ่ายให้เดือนละเป็นหมื่น เป็นแสน เป็นล้าน คุ้มกับการนำไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือไม่ ไม่คุ้ม สุดท้ายต้องดูแลตัวเอง
"ในเวลาทำหน้าที่ให้ดีที่สุด นอกเวลางานไม่ว่าจะอย่างไร ต้องมีเวลาให้ตัวเองดูแลสุขภาพ”วิโรจน์กล่าว