ทำความรู้จัก โควิด EG.5.1 ตัวเต็งในการจะนำไปสู่การระบาดระลอกปลายปีนี้
"หมอธีระ" ชวนทำความรู้จัก โควิด-19 สายพันธุ์ EG.5.1 ตัวเต็งในการจะนำไปสู่การระบาดระลอกปลายปีนี้ มีรายงานตรวจพบแล้วอย่างน้อย 36 ประเทศทั่วโลก
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กอัปเดตประเด็น "โควิด-19" โดยระบุว่า EG.5.1 ชื่อเต็มคือ XBB.1.9.2.5.1 ชื่อเล่นว่า Eris
มีรายงานตรวจพบแล้วอย่างน้อย 36 ประเทศทั่วโลก ตัวเต็งในการจะนำไปสู่การระบาดระลอกปลายปีนี้
ความรู้จนถึงปัจจุบันแสดงให้เห็นว่า การเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมของไวรัสที่ตำแหน่ง F456L นั้นทำให้มีสมรรถนะหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้มากกว่า XBB เดิมๆ ที่ระบาดมาก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ มีสถิติการตรวจพบในสัดส่วนที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในหลากหลายประเทศทั่วโลก ทั้งอเมริกา อังกฤษ ไอร์แลนด์ สเปน ฝรั่งเศส รวมถึงทวีปเอเชีย อาทิ จีน ญี่ปุ่น (ภาพที่ 1-3)
Topol E. นำเสนอภาพเปรียบเทียบรหัสพันธุกรรมในตำแหน่งต่างๆ ระหว่าง XBB.1.5, EG.5.1, และ BA.5 (ภาพที่ 4)
จะเห็นได้ว่าแม้ทุกตัวจะเป็น Omicron เหมือนกัน แต่ EG.5.1 นั้นมีตำแหน่งการกลายพันธุ์ที่แตกต่างจากสายพันธุ์เดิมๆ อย่าง BA.5 ที่ระบาดมากช่วงปี 2022
แต่ EG.5.1 มีความแตกต่างไม่มากนักจาก XBB.1.5 ซึ่งระบาดมากในช่วงปลายปีก่อนถึงช่วงต้นปีนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ดังนั้น จึงมีการประเมินว่า หากใช้วัคซีนรุ่นใหม่ที่ปรับสายพันธุ์เป็น XBB.1.5 ก็น่าจะทำให้มีประสิทธิภาพในการป้องกันการป่วยรุนแรงได้ดีขึ้นกว่าวัคซีนรุ่นเดิมๆ ที่ใช้กันอยู่ รวมถึง Bivalent ที่ใช้ BA.1 หรือ BA.5 เป็นองค์ประกอบ
ทั้งนี้การประเมินดังกล่าวก็สอดคล้องกับผลการวิจัยทางห้องปฏิบัติการที่ Cao YR จากมหาวิทยาลัยปักกิ่งได้นำเสนอมาเมื่อสองวันก่อน
การวางแผนบริหารจัดการเรื่องวัคซีนให้สอดคล้องกับสายพันธุ์ที่ระบาดจึงมีความจำเป็น
เหนืออื่นใด การระบาดจะปะทุขึ้นมามากน้อยเพียงใดนั้น นอกจากจะมีอิทธิพลจากการเปลี่ยนแปลงของไวรัส และระดับภูมิคุ้มกันจากการได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพแล้ว เราได้เรียนรู้ชัดเจนจากระลอกที่ผ่านมาหลังสงกรานต์และเปิดเทอมว่าไม่ได้เกิดจากฤดูกาล แต่เกิดจากพฤติกรรมการป้องกันตัวที่ไม่เพียงพอ โดยมีกิจกรรมเสี่ยง แออัด ใกล้ชิดกันมาก
ดังนั้น จึงควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องจะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก