'หมอธีระ' คาดโควิด EG.5.1 ตัวเต็งที่อาจนำการระบาดปลายปีนี้
"หมอธีระ" อัปเดตโควิด-19 สายพันธุ์ EG.5.1 ตัวเต็งที่อาจนำการระบาดปลายปีนี้ พร้อมเปรียบเทียบอาการป่วยของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กอัปเดตประเด็น "โควิด-19" (COVID-19) โดยระบุว่า
- ว่าด้วยเรื่อง EG.5.1 ม้าตัวเต็งที่อาจนำการระบาดปลายปีนี้
เป็นสายพันธุ์ย่อยที่กลายพันธุ์ต่อยอดมาจาก XBB.1.9.2 หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกว่า XBB.1.9.2.5.1
เปรียบแล้วก็เป็นเหมือนเหลนของ XBB และเป็นหลานของ XBB.1.9 อะไรประมาณนั้น
สิ่งที่ทำให้ EG.5.1 เป็นที่กังวลของทั่วโลกขณะนี้คือ การที่มีอัตราการตรวจพบเพิ่มขึ้นเร็วกว่าสายพันธุ์ต่างๆ ที่ระบาดมาก่อนหน้า ทั้ง XBB.1.5, XBB.1.16, รวมถึง XBB.1.9.1/1.9.2
จนถึงนาทีนี้ ข้อมูลชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ว่าเป็นไปตามที่คาดกันไว้
ข้อมูลจาก US CDC ล่าสุด ประเมินว่าจนถึง 5 สิงหาคม 2566 นั้น Omicron สายพันธุ์ย่อย EG.5.1 ครองสัดส่วนการตรวจพบสูงสุดที่ 17.3% แซงหน้าสายพันธุ์ย่อยอื่นๆ เช่น XBB.1.16 (15.6%), XBB.2.3 (11.2%), XBB.1.5 (10.3%)
ในขณะที่ UK HSA ออกรายงานเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า EG.5.1 นั้นก็ครองสัดส่วนการตรวจพบในสหราชอาณาจักร 12% แล้ว และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ภาพรวมตอนนี้ พบราว 20% ในเอเชีย 10% ในยุโรป 7% ในทวีปอเมริกาเหนือ (ยกเว้นในอเมริกาที่สูงไปถึง 17.3%)
- เหตุใด EG.5.1 จึงนำตัวอื่นๆ?
ข้อมูลล่าสุดเมื่อคืนนี้ จาก Cao YR มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ชี้ให้เห็นว่า EG.5.1 นั้นมีการเปลี่ยนแปลงพันธุกรรมที่ตำแหน่ง F456L ซึ่งทำให้มีสมรรถนะในการหลบหลีกภูมิคุ้มกันมากขึ้นไปกว่าสายพันธุ์ต่างๆ ก่อนหน้านี้
ที่น่าสนใจคือ แม้ทดสอบด้วยภูมิคุ้มกันในซีรั่มของคนที่เคยติดเชื้อสายพันธุ์ XBB มาก่อน ก็พบว่าดื้อต่อภูมิคุ้มกันเช่นกัน
นอกจากนี้ Cao YR ยังทำการศึกษาพบว่า สายพันธุ์ย่อยต่างๆ ที่เกิดขึ้นมา โดยมีการเปลี่ยนแปลงที่ตำแหน่ง F456L ร่วมกับ L455F นั้น ก็ต้องมีการติดตามเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน เพราะมีสมรรถนะทำให้ทั้งดื้อต่อภูมิคุ้มกันมากขึ้น และจับกับตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์เป้าหมายได้แน่นขึ้นอีกด้วย ซึ่งอาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อแพร่เชื้อได้ง่ายขึ้น หรือป่วยรุนแรงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ตัวที่น่าจับตามองที่สุดตอนนี้คือ EG.5.1 เพราะชัดเจนว่าระบาดมากขึ้นทั่วโลก
ปัจจัยทั้งเรื่องไวรัสที่พัฒนาสมรรถนะมากขึ้น ประกอบกับเงื่อนเวลาที่เรามักมีแนวโน้มเหมือนประเทศอื่นๆ ใน 6-10 สัปดาห์ และตารางกิจกรรม เทศกาลต่างๆ ช่วงปลายปี
หลังจากตุลาคมเป็นต้นไป ก็อาจมีโอกาสที่จะเกิดปะทุขึ้นมาได้ ควรดำรงชีวิตประจำวันอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ ระวังที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไม่แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
- เปรียบเทียบอาการป่วยของโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ
ทีมงานจากสหราชอาณาจักร นำเสนอผลการศึกษาเปรียบเทียบอาการป่วยของ ผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ต่างๆ ที่ผ่านมาว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Scientific Reports เมื่อ 2 สิงหาคมที่ผ่านมา สังเกตได้ว่า Omicron นั้น ไม่ว่าจะเป็น BA.1, BA.2, BA.5 ก็ล้วนมีอาการป่วยแตกต่างจากสายพันธุ์ก่อนๆ พอสมควร
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาการดมไม่ได้กลิ่น ลิ้นรับรสไม่ได้ จะพบบ่อยในสายพันธุ์ก่อนๆ ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม อัลฟ่า เดลต้า แต่พบน้อยลงในช่วง Omicron
ที่เด่นมากของ Omicron คือ อาการไอ อ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ เจ็บคอ คัดจมูกน้ำมูกไหล
อ้างอิง
Scientific Reports. 2 August 2023