'หมอธีระ' อัปเดตโควิด-19 กับสมอง ทำให้มีปัญหาด้านสมาธิ อารมณ์ ความคิด ความจำ
"หมอธีระ" อัปเดตโควิด-19 กับสมอง งานวิจัยใหม่พบว่า ผู้ที่มีภาวะ Long COVID โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนไขกระดูกของกะโหลก มีโอกาสที่จะนำไปสู่การทำให้เกิดการอักเสบ รบกวนการทำงานของสมอง หรือทำลายเซลล์ประสาทในสมอง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาอาการผิดปกติของสมอง และระบบประสาท
เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กอัปเดตประเด็น "โควิด-19" โดยระบุว่า
- ไวรัสโรคโควิด-19 กับสมอง
เป็นที่ทราบกันดีในปัจจุบันว่า การติดเชื้อไวรัสโรคโควิด-19 หรือ SARS-CoV-2 นั้น ไม่ได้ติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจเท่านั้น แต่สามารถกระจายไปได้แทบทุกระบบในร่างกาย โดยมีงานวิจัยจากทั่วโลกได้ทำการพิสูจน์ให้เห็นแล้ว
ผู้ป่วยจำนวนไม่น้อย หลังจากที่หายป่วยจากการติดเชื้อในช่วงแรกไปแล้ว กลับมีอาการผิดปกติที่คงค้าง หรือเกิดขึ้นใหม่หลังจากหายป่วย และเป็นไปอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ที่ทราบกันในชื่อว่า Long COVID หรือ Post-COVID conditions
อาการผิดปกติที่เกิดขึ้นระยะยาวนั้น เกิดได้ทุกระบบในร่างกาย โดยส่งผลให้เกิดการป่วย บั่นทอนสมรรถนะการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ทั้งเรื่องเรียน ทำงาน และชีวิตส่วนตัว รวมถึงเกิดค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นภาระต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม
อาการที่พบบ่อยนั้น มีทั้งเรื่องอ่อนเพลียเหนื่อยล้า ปวดกล้ามเนื้อและข้อ รวมถึงปัญหาในระบบสำคัญของร่างกาย ทั้งหัวใจและหลอดเลือด ระบบทางเดินหายใจ ระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินปัสสาวะ และที่สำคัญมากคือสมองและระบบประสาท ที่มักมาด้วยเรื่องปัญหาด้านสมาธิ อารมณ์ ความคิดความจำ เป็นต้น
กลไกการทำให้เกิดภาวะผิดปกติใน Long COVID นั้น เกิดจากหลายกลไก เช่น การมีเชื้อไวรัสหรือชิ้นส่วนของเชื้อคงค้างอยู่ในอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย, การที่เนื้อเยื่อหรือเซลล์ในระบบนั้นๆ ถูกทำลายจากไวรัส, การมีภูมิต่อต้านตนเอง, การติดเชื้อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรัง, รวมถึงการติดเชื้อโรคโควิด-19 กระตุ้นให้ไวรัสที่ติดเชื้อแฝงอยู่ในร่างกายเกิด active ขึ้นมา เป็นต้น
หนึ่งในงานวิจัยที่พิสูจน์ให้เห็นชัดเจนเกี่ยวกับชิ้นส่วนไวรัสที่คงค้างในสมองภายหลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นมาจากทีมวิจัยประเทศเยอรมัน ที่ได้ทำการเผยแพร่ผลการศึกษาใน bioRxiv เมื่อเมษายนที่ผ่านมา โดยตรวจพบชิ้นส่วนเปลือกนอกของไวรัสทั้งในสมอง ไขกระดูกของกะโหลกศีรษะ และเยื่อหุ้มสมอง จากศพผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ได้ราวครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด ซึ่งนำไปสู่การตั้งสมมติฐานทางการแพทย์ว่า
ชิ้นส่วนของไวรัสที่คงค้างนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนไขกระดูกของกะโหลก มีโอกาสที่จะนำไปสู่การทำให้เกิดการอักเสบ รบกวนการทำงานของสมอง และ/หรือทำลายเซลล์ประสาทในสมอง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาอาการผิดปกติของสมองและระบบประสาทในผู้ป่วย Long COVID ต่อมานั่นเอง
ทีมงานเยอรมันได้มีการศึกษาต่อยอด และนำเสนอว่า กลไกข้างต้นน่าจะสามารถใช้อธิบายการเกิดปัญหาต่อสมองและระบบประสาทจากโรคอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกันได้ด้วย โดยเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์การแพทย์ Cell เมื่อ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา
การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
อ้างอิง
1. SARS-CoV-2 Spike Protein Accumulation in the Skull-Meninges-Brain Axis: Potential Implications for Long-Term Neurological Complications in post-COVID-19. bioRxiv. 5 April 2023.
2. Distinct molecular profiles of skull bone marrow in health and neurological disorders. Cell. 9 August 2023.