แก่ไม่แก่ ก็เสี่ยงได้..'โรคกระดูกสันหลังเสื่อม' ผลร้ายจากพฤติกรรม

แก่ไม่แก่ ก็เสี่ยงได้..'โรคกระดูกสันหลังเสื่อม' ผลร้ายจากพฤติกรรม

จากกรณีที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายรัฐมนตรีของไทย ได้กลับมาถึงประเทศไทยครั้งแรกในรอบ 15 ปี และถูกศาลตัดสินจำคุก 8 ปี ก่อนที่จะถูกส่งตัวคุมขังเรือนจำพิเศษกรุงเทพ

Keypoint:

  • กระดูกสันหลังเสื่อม โรคที่เกิดขึ้นได้ทุกเพศทุกวัย ไม่ได้จำกัดเฉพาะผู้สูงอายุอีกต่อเนื่อง วัยรุ่น วัยทำงานก็สามารถเป็นได้ เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต
  • การก้มมองหน้าจอมือถือ การนั่งทำงานเป็นเวลานานๆ  การสูบบุหรี่ การยกของหนัก ก้มๆ เงยๆคอและหลังเป็นประจำ และน้ำหนักตัวที่มากขึ้น ล้วนเป็นผลที่ทำให้เกิดโรคกระดูกสันหลังเสื่อมได้ทั้งสิ้น
  • แนวทางการรักษา หรือป้องกันโรคกระดูกสันหลังเสื่อม เริ่มจากการปรับเปลี่ยนอิริยาบถประจำวัน การทำกายภาพบำบัด การกินยารักษา และการผ่าตัด

ทางกรมราชทัณฑ์ ได้มีการแถลงอาการป่วยของ 'ทักษิณ ชินวัตร' ที่ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด 4 โรค ได้แก่  

1. กระดูกสันหลังเสื่อม เกิดจากภาวะเสื่อมตามอายุ ซึ่งขณะนี้นายทักษิณ มาอายุ 74  ปี จึงเกิดกระดูกสันหลักเสื่อม กดทับเส้นประสาทปวดเรื้อรัง ทำให้การทรงตัวผิดปกติ

2.โรคกล้ามเนื้อขาดเลือด ซึ่งต้องรับประทานยาอยู่ตลอดเวลา

3. ปอดอักเสบ  เนื่องมาจากติดเชื้อโควิด-19 จึงทำให้เกิดพังผืดในปอด มีความผิดปกติของออกซิเจน

4. ความดันโลหิตสูง ซึ่งมีความดันผิดปกติ ต้องรับประทานยาตลอดเวลา

‘กรุงเทพธุรกิจ’ ได้รวบรวมข้อมูลทางการแพทย์เกี่ยวกับโรคประจำตัวของ ‘ทักษิณ ชินวัตร’  โดยเฉพาะ ‘โรคกระดูกสันหลังเสื่อม’ ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดชึ้นเฉพาะผู้สูงอายุ ทว่าในปัจจุบันเป็นโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคนอายุน้อย อย่างวัยรุ่น วัยทำงาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

"ปวดคอ - ปวดหลัง" อาการป่วยที่ไม่ควรละเลย

"โรคกระดูกสันหลัง" ต้อง "kdms" รักษาด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง นวัตกรรมทันสมัย

5 สัญญาณเตือน 'หัวใจขาดเลือด' อาการแบบไหน ไม่ควรปล่อยผ่าน

สิ่งที่เข้าใจผิด เรื่องดูแลรักษา 'กระดูกและข้อ'

 

โรคกระดูกสันหลังเสื่อมคืออะไร?

รศ.นพ.กู้พงษ์ ศิริบำรุงวงศ์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกระดูกแลข้อ ข้อดีมีสุข อธิบายว่า โรคกระดูกสันหลังเสื่อม เป็นโรคที่สามารถเกิดได้กับใครหลายคน โดยมีปัจจัยมาจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น หรือพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ดังนั้น ตอนนี้ไม่ว่าจะอายุมาก หรืออายุน้อยก็สามารถเป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อมได้  และอาการของโรคสามารถรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี

"โรคกระดูกสันหลังเสื่อม (Spondylosis) คือ ภาวะการเสื่อมของข้อกระดูกสันหลัง โดยข้อกระดูกสันหลังจะประกอบไปด้วย หมอนรองกระดูก (Intervertebral Disc) ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างตัวกระดูกสันหลังปล้องบนและล่าง ทำหน้าที่เป็นตัวรับน้ำหนัก และข้อต่อ Facet (Facet Joint) ซึ่งจะอยู่บริเวณด้านหลังของกระดูกสันหลัง โดยจะเป็นส่วนที่ใช้ในการขยับก้มเงย หมุน หรือ เอียงตัว โดยเมื่อภาพถ่ายรังสีพบข้อกระดูกสันหลังเสื่อม ผู้ป่วยจะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นข้อกระดูกสันหลังเสื่อม"

แก่ไม่แก่ ก็เสี่ยงได้..\'โรคกระดูกสันหลังเสื่อม\' ผลร้ายจากพฤติกรรม

กระดูกสันหลัง (Spine) เป็นโครงสร้างตามธรรมชาติของร่างกายที่สร้างขึ้นเพื่อปกป้องระบบประสาทส่วนกลาง ในที่นี้คือไขสันหลัง และเส้นประสาท และในมนุษย์จะมีรูปร่างแตกต่างจากสัตว์ชนิดอื่น ๆ เพราะสามารถยืนตั้งตัวตรงได้ และช่วยในการเคลื่อนไหว โดยกระดูกสันหลัง ประกอบไปด้วย

  • ปล้องกระดูกสันหลัง (Vertebra)
  • หมอนรองกระดูกสันหลัง (Intervertebral disc)
  • ข้อต่อระหว่างกระดูก (Facet joint)
  • เอ็นยึดข้อต่อ (Ligament)

นอกจากนี้ ยังมีกล้ามเนื้อข้างเคียงที่ช่วยพยุงและยึดโยงกระดูกสันหลังชิ้นต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเคลื่อนไหวของร่างกายอีกด้วย  

 

สาเหตุโรคกระดูกสันหลังเสื่อมและลักษณะอาการ

สาเหตุการเสื่อมของกระดูกสันหลังส่วนใหญ่ เกิดจากอายุที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เกิดการเสื่อมสภาพของข้อต่อ หรือ หมอนรองกระดูกสันหลัง ส่วนสาเหตุอื่นนอกเหนือจากอายุ ได้แก่ การใช้งานที่มากเกินไป เช่น ยกของหนัก หรือมีการติดเชื้อ หรือ อุบัติเหตุ มาทำลายข้อต่อของกระดูกสันหลัง ซึ่งจะทำให้พบการเสื่อมของข้อต่อในคนอายุน้อยได้ โดยโรคกระดูกสันหลังเสื่อมที่พบได้บ่อย มี 2 ลักษณะ ดังนี้

  • ผู้ป่วยกระดูกสันหลังส่วนคอเสื่อม มักจะมาด้วยอาการปวดต้นคอ ปวดสะบัก หรือปวดศีรษะ โดยถ้ามีการกดทับรากประสาท จะทำให้เกิดอาการปวดร้าวลงแขน แขนชา แขนอ่อนแรงได้ แต่ที่อันตราย คือ ถ้าเกิดการกดทับที่ไขสันหลังอาจส่งผลให้เกิดอาการแขนขา อ่อนแรง เป็นอัมพาต การใช้งานมือผิดปกติไม่เหมือนเดิม หรือ การเดินที่ผิดปกติ โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะเดินช้า ล้มง่าย และขาจะเกร็งแข็ง หรือมีปัญหาต่อระบบขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ
  • ผู้ป่วยกระดูกสันหลัวส่วนเอวเสื่อม มักจะมาด้วยอาการปวดหลังด้านล่าง ปวดเมื่อมีการใช้งานแต่พอได้พักอาการปวดจะดีขึ้น ถ้ามีการกดเบียดรากประสาท จะส่งผลให้มีอาการปวดร้าวลงขา ขาชา หรือขาอ่อนแรง ในกรณีที่การกดทับมากขึ้นจนโพรงไขสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis) จะส่งผลต่อการเดิน โดยจะทำให้ระยะทางที่เดินได้สั้นลง ต้องหยุดพักก่อนที่จะเดินต่อได้ หรือถ้าการกดทับรุนแรงมาก จะส่งผลให้มีผลต่อระบบขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะได้

นอกจากนี้ การเสื่อมของกระดูกสันหลัง จะทำให้ผู้ป่วยตัวเตี้ยลงจากหมอนรองกระดูกที่ทรุดตัว และทำให้กระดูกสันหลังเริ่มค่อม และตัวจะโน้มไปด้านหน้ามากขึ้น ซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้บ่อยในผู้สูงอายุที่หลังค่อม และเดินแล้วตัวจะโก่งไปด้านหน้า ในกรณีที่ข้อกระดูกสันหลังซ้ายขวาเสื่อมไม่เท่ากัน จะส่งผลให้เกิดการทรุดตัวของข้อไม่เท่ากัน ส่งผลให้เกิดกระดูกสันหลังคดเอียงในผู้สูงอายุได้

ข้อกระดูกสันหลังเสื่อม ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยทั้งรูปลักษณ์ภายนอก คือ กระดูกหลังคด  ค่อม เอียง และ ยังก่อให้เกิดอาการปวดหลังร้าวลงขา ปวดคอร้าวลงแขน อาการชา และอ่อนแรงได้

แก่ไม่แก่ ก็เสี่ยงได้..\'โรคกระดูกสันหลังเสื่อม\' ผลร้ายจากพฤติกรรม

พฤติกรรมแบบไหน? เสี่ยงเกิดโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

1.อายุที่มากขึ้น

2.น้ำหนักตัวที่มากเกินไป

3.การอยู่ในท่าใดท่าหนึ่งต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ เช่น นั่งทำงาน หรือยืน

4.การทำงานใช้งานหลังที่ไม่เหมาะสม เช่น ทำงานในท่าก้มเป็นประจำ เช่น ช่างซ่อมรถยนต์ หรือการแบกของหนัก ๆ เกินเกณฑ์เป็นเวลานาน ๆ

5.วิถีชีวิตที่ใช้งานกระดูกคอมากขึ้น เช่น การก้มดูโทรศัพท์มือถือ การใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน  การยกของหนัก  งานที่มีการก้มเงยคอหรือหลังเป็นประจำ  การเล่นกีฬาที่มีการสะบัดคอหรือหลังเยอะ กีฬาที่มีการกระแทก การสูบบุหรี่ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการเสื่อมของข้อกระดูกสันหลัง

หมอนรองกระดูกจะเริ่มมีร่องรอยความเสียหาย จากนั้นก็จะเริ่มมีการสูญเสียน้ำ และมีการยุบตัวลง เกิดการไม่มั่นคงของโครงสร้างเกิดขึ้น กล้ามเนื้อข้างเคียงพยายามพยุงโครงสร้างเหล่านี้ และร่างกายตอบสนองด้วยการสร้างกลุ่มกระดูกงอก เพื่อรองรับโครงสร้างที่ไม่มั่นคงดังกล่าว ผู้ป่วยจะเริ่มปวดเมื่อมีการคลอนของโครงสร้างเกิดขึ้น ถ้าหมอนรองกระดูกที่ยุบและกลุ่มกระดูกที่งอกนี้ไปกดเส้นประสาทข้างเคียงก็จะทำให้เกิดอาการทางระบบประสาท

แก่ไม่แก่ ก็เสี่ยงได้..\'โรคกระดูกสันหลังเสื่อม\' ผลร้ายจากพฤติกรรม

วิธีการวินิจฉัยโรคกระดูกสันหลังเสื่อมตามลำดับ

ก่อนเริ่มการรักษา สำหรับผู้ป่วยที่สงสัยว่ามีอาการกระดูกสันหลังเสื่อม แพทย์จะมีแนวทางในการวินิจฉัย ดังนี้

  • การซักประวัติ เริ่มจากการซักถามประวัติ รูปแบบอาการปวด ลักษณะอาการปวด มีอาการปวดร้าวหรือไม่ โดยส่วนใหญ่ถ้าปวดคอต้องระวังเรื่องการปวดร้าวลงแขน ถ้าปวดเอวต้องระวังเรื่องการปวดร้าวลงขา ซึ่งอาการปวดร้าวมักจะแสดงถึงอาการของการกดทับเส้นประสาท อาการชา อาการอ่อนแรง โดยอาการที่สำคัญ คือ อาการเกี่ยวข้องกับปัญหาระบบขับถ่าย เช่น กลั้นปัสสาวะ หรืออุจจาระไม่ได้ ซึ่งบ่งบอกถึงการกดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลังที่รุนแรง ซึ่งต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
  • ตรวจร่างกายเบื้องต้น ต่อมาคือตรวจร่างกายเบื้องต้น โดยสังเกตจากลักษณะการเดินของผู้ป่วย ดูจุดกดเจ็บ และ ให้ผู้ป่วยขยับหลัง เพื่อดูท่าทางที่ทำให้เกิดอาการปวด และ ดูการขยับของหลังว่ามีการจำกัดหรือไม่ รวมถึง การตรวจการรับรู้ทางการสัมผัสเพื่อตรวจสอบอาการชา ตรวจสอบกำลังของกล้ามเนื้อในกรณีที่สงสัยการกดทับเส้นประสาท หากพบความผิดปกติ
  • ใช้ภาพถ่ายรังสี เบื้องต้นแพทย์จะทำการส่งภาพถ่ายรังสี (X-ray) เพื่อตรวจลักษณะความผิดปกติของข้อกระดูกสันหลัง โดยภาพถ่ายรังสีจะเห็นลักษณะความผิดปกติของกระดูกเป็นหลักเช่น ลักษณะกระดูกงอก ข้อกระดูกสันหลังเคลื่อน หมอนรองกระดูกเตี้ยลง แต่ภาพถ่ายรังสีจะไม่เห็นรายละเอียดของหมอนรองกระดูก และการกดทับของเส้นประสาท
  • การตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์แม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) เป็นการตรวจที่ละเอียดที่สุด และปลอดภัย เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้รับผลกระทบจากการได้รับรังสี เนื่องจากเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจึงไม่ส่งผลต่อร่างกาย และยังเป็นการตรวจที่ทำให้แพทย์เห็นรายละเอียดของหมอนรองกระดูก ข้อต่อกระดูกสันหลัง และ การกดทับเส้นประสาทที่ชัดเจนที่สุด

แก่ไม่แก่ ก็เสี่ยงได้..\'โรคกระดูกสันหลังเสื่อม\' ผลร้ายจากพฤติกรรม

แนวทางการรักษาโรคกระดูกสันหลังเสื่อมมีอะไรบ้าง? 

แนวทางการรักษาโรคกระดูกสันหลังเสื่อมแตกต่างกันตามความรุนแรงของโรค ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  • การปรับเปลี่ยนอิริยาบถประจำวัน เช่น หลีกเลี่ยงการก้มเงย การยกของหนัก หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่มีการกระแทก ลดน้ำหนัก และหยุดสูบบุหรี่
  • การทำกายภาพบำบัด ได้แก่ ประคบร้อน การทำอัลตราซาวนด์ (Ultrasound) การใช้ช็อกเวฟ (Shock Wave) การดึงคอ หรือ ดึงหลัง เพื่อลดอาการปวด รวมถึงการบริหารกล้ามเนื้อเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลัง
  • ใช้ยาลดอาการปวดและยากลุ่มต้านการอักเสบ การใช้ยาช่วยเพื่อลดอาการปวดตั้งแต่ยาพาราเซตตามอล และยาในกลุ่มต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs) ซึ่งเป็นยาแก้ปวดและลดการอักเสบที่มีประสิทธิภาพที่ดี อย่างไรก็ตาม ต้องระวังเรื่องการใช้ยาที่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน เนื่องจากจะมีผลต่อไต
  • การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง ถ้าอาการไม่ดีขึ้น วิธีถัดมาที่แพทย์จะเลือกใช้ คือ การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลังช่วยลดอาการปวด และการอักเสบของเส้นประสาท (Epidural Steroid Injection) โดยวิธีนี้มีข้อดี คือ ความเสี่ยงต่อการทำหัตถการน้อย แต่ข้อเสียคืออาจจะไม่หาย และตัวยาออกฤทธิ์ได้ประมาณ 3-6 เดือนเท่านั้น 
  • การผ่าตัด วิธีสุดท้ายที่แพทย์จะแนะนำให้ใช้ในการรักษา คือ การผ่าตัด โดยข้อบ่งชี้ของการผ่าตัด ได้แก่ อาการไม่ตอบสนองต่อการรักษาข้างต้น มีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนหรือขา มีความผิดปกติต่อระบบขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะ

วิธีการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยกระดูกสันหลังเสื่อมหลังรับการรักษา

ผู้ป่วยจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงการก้มเงยหลังมากๆ ลดน้ำหนัก ลดการสูบบุหรี่ และผู้ป่วยควรต้องฝึกบริหารกล้ามเนื้อแกนกลาง (Core Muscle Strengthening) ได้แก่ การบริหารกล้ามเนื้อคอ กล้ามเนื้อหน้าท้อง และ กล้ามเนื้อหลัง

การป้องกันหรือหลีกเลี่ยงโรคกระดูกสันหลังเสื่อม

การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกสันหลังเสื่อมสามารถทำได้มากมาย เช่น 

  • การนั่งในท่าที่เหมาะสม นั่งในท่าที่ดี หลังตรง มีการพักเพื่อยืดเหยียดเป็นระยะ 
  • ไม่ทำกิจกรรมในท่าใดท่าหนึ่งเป็นเวลานาน 
  • ระมัดระวังอุบัติเหตุ ที่มีการกระเทือนต่อกระดูกสันหลัง
  • ส่วนเรื่องคอ บางครั้งเราก็จะเผลอในการที่จะก้มคอดูโทรศัพท์ หรืออ่านหนังสือ หรือดูจอโน๊ตบุ๊ค เราจะต้องคอยรู้ตัวตลอดเวลา ว่าคอเราควรจะตั้งตรง ตามองตรง และมองสิ่งที่เราจะมองลงไปประมาณ 15-20 องศา ก็จะช่วยทำให้อาการปวดคอลดลงได้
  • ไม่ควรใช้หลังในท่าเดิม ๆ นานเกินไป ควรหยุดพักยืดเส้นยืดสาย เช่น การนั่งเกิน 45 นาที ควรมีเวลาพักเปลี่ยนอิริยาบถประมาณ 10-15 นาที
  • ออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรง และเสริมความยืดหยุ่น เช่น การฝึกเกร็งหน้าท้องและกล้ามเนื้อหลัง ทั้งในเวลาที่มีการใช้งาน หรือจัดเวลาการออกกำลังกายเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อกลางลำตัว เช่น Planking นอกจากนี้ก็ยังต้องมีการออกกำลังเพื่อเสริมความยืดหยุ่นให้กับร่างกายด้วย
  •  ลดการใช้งานหลังที่ไม่เหมาะสม งดการยกของหนัก หรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงบาดเจ็บที่บริเวณหลัง
  • การควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินเกณฑ์
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่  

อย่างไรก็ตาม ใน 2-3 ปีผ่านมา พบว่าโรคกระดูกสันหลังเสื่อม มีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากคนไข้แสดงตัวมากขึ้น และเกิดขึ้นในคนที่อายุน้อยลง ดังนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ชีวิตเป็นอีกหนึ่งวิธีการป้องกันไม่ให้เป็นโรคกระดูกสันหลังเสื่อมได้

อ้างอิง: โรงพยาบาลนวเวช , โรงพยาบาลกระดูกแลข้อ ข้อดีมีสุข