อย่าให้ภูมิแพ้คุกคามช่วงหน้าฝน | อรพรรณ โพชนุกูล
โรคภูมิแพ้เป็นโรคยอดฮิตในหน้าฝน โรคภูมิแพ้ที่มีอาการมากในช่วงหน้าฝนและพบได้บ่อยที่สุด คือ โรคภูมิแพ้ทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคโพรงจมูกอักเสบภูมิแพ้ (แพ้อากาศ) และโรคหืด
อาการคือน้ำมูกใส คัดจมูก จาม คันจมูก เป็นหวัดบ่อย คันตา และนอนกรน ส่วนคนที่เป็นโรคหืด จะมีอาการไอบ่อย เหนื่อยง่าย หายใจเสียงดังวี้ด และแน่นหน้าอก
อาการเหล่านี้มักเกิดขึ้นเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นด้วยสารก่อภูมิแพ้ เช่น ไรฝุ่น เชื้อรา กลิ่นควัน ความชื้น และอากาศเย็น โดยสภาพความชื้นที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของไรฝุ่นและเชื้อราคือ ร้อยละ 70-80
ซึ่งบ้านเราค่าเฉลี่ยความชื้นสัมพัทธ์ตลอดทั้งปีอยู่ที่ร้อยละ 73-75 และในช่วงหน้าฝนสูงจนถึงร้อยละ 85 ทำให้สารก่อภูมิแพ้ไรฝุ่น เชื้อรา รวมถึงเชื้อไวรัส/แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดี ทำให้คนที่แพ้สารก่อภูมิแพ้เหล่านี้มีอาการเพิ่มมากขึ้น ติดเชื้อ และเป็นหวัดได้ง่าย
อาการภูมิแพ้มักเกิดช่วงเช้าและกลางคืน ซึ่งเป็นช่วงสัมผัสกับไรฝุ่นในห้องนอน อากาศชื้นยังกระตุ้นการไอได้อีกด้วย สิ่งกระตุ้นอื่น ๆ เช่น ฝุ่น ควันบุหรี่ อากาศเย็น และการติดเชื้อไวรัส
หากเป็นหวัดจากการติดเชื้อไวรัสนานเกิน 7-10 วัน อาจจะกลายเป็นไซนัสอักเสบได้ โดยอาการมักเกิดขึ้นหลังเป็นหวัด ไอมีเสมหะสีเหลือง เขียว มักเกิดขึ้นช่วงก่อนนอนและช่วงเช้า อาจมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดหน้า นอนกรน ลมหายใจมีกลิ่น และจมูกไม่ได้กลิ่น
คนที่เสี่ยงต่อการเป็นไซนัสอักเสบ ได้แก่ เด็กเล็กในเนอสเซอรี่ คนที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ที่ติดหวัดง่ายและหายยาก ทำให้เป็นไซนัสได้บ่อย
อาการคัดจมูก/นอนกรน เป็นอีกอาการที่พบได้บ่อยในคนไข้ที่เป็นจมูกอักเสบภูมิแพ้ โดยส่วนใหญ่มักจะเป็นช่วงกลางคืน ตอนนอนหลับไปแล้ว ทำให้นอนกรน อ้าปากหายใจ นอนหลับไม่สนิท ในบางคนอาจไม่รู้ตัวว่าคัดจมูก หรือคัดมานานจนชิน
นอกจากนี้คนที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ มักจะคัดจมูกสลับข้าง ทำให้ไม่ทราบว่าคัดจมูก ในเด็กที่เป็นหวัดบ่อย ทำให้ต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดีนอยด์โตไปอุดกั้นทางเดินหายใจ ส่งผลทำให้นอนกรนได้
อาการ sick building syndrome หรือโรคตึกเป็นพิษ เป็นอีกกลุ่มอาการที่เกิดจากภูมิแพ้ จากการใช้ชีวิตในอาคาร ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงานหรือที่อยู่อาศัย
โดยกลุ่มโรคนี้จะสัมพันธ์กับมลภาวะทางอากาศ ความชื้น เชื้อรา และฝุ่นในอาคาร มักเกิดกับคนที่ทำงานอยู่ในตึกที่เก่า ระบบระบายอากาศไม่ถ่ายเท มีพรม มีความชื้นสูง และมีรอยรั่วซึมซึ่งทำให้เกิดเชื้อราตามฝาผนัง
ส่งผลให้คนที่อยู่ในอาคารมีอาการอ่อนเพลียง่าย ปวดหัว ไอ จาม คลื่นไส้ หายใจไม่สะดวก เวียนหัว เพลีย แสบคอ คันตา คันจมูก และคันผิวหนัง อาการเช่นนี้เกิดจากการใช้ชีวิตอยู่ในอาคารเป็นเวลานาน และมักจะดีขึ้นเมื่ออยู่นอกอาคาร
จะดูแลดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเกิดภูมิแพ้กำเริบในหน้าฝน อย่างแรกคนที่เป็นภูมิแพ้ โรคหืด ควรใช้ยาสม่ำเสมอ ไม่ลดหรือหยุดยาในช่วงนี้ ควรล้างทำความสะอาดเครื่องปรับอากาศอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 6 เดือน
และปรับอุณหภูมิห้องให้เหมาะสม ไม่เย็นจนเกินไป ประมาณ 25 องศาเซลเซียส เนื่องจากอุณหภูมิที่เย็นมากเกินไปอาจทำให้คัดจมูก บางครั้งอาจทำให้จมูกแห้งและมีเลือดกำเดาออก หรือไอได้
กรณีที่มีอาการทางจมูกแนะนำให้ล้างจมูกด้วยน้ำเกลือและใช้ยารักษาสม่ำเสมอ จะช่วยลดอาการดังกล่าวได้
ในกรณีที่ภายในบ้านมีความชื้นสูง ควรใช้ระบบปรับคุณภาพอากาศ เพื่อลดความชื้นภายในบ้าน และไม่ควรปลูกต้นไม้ภายในบ้าน เพราะอาจทำให้ความชื้นเพิ่มขึ้นและเกิดเชื้อราได้ ควรปรับสภาพแวดล้อมในอาคารให้เหมาะสม
ไม่ควรมีพรม ตุ๊กตา หรือของเยอะเกินไป ซึ่งจะเป็นแหล่งสะสมของตัวไรฝุ่น ซักเครื่องนอนด้วยน้ำร้อนอุณหภูมิอย่างน้อย 60 องศาเซลเซียส นอกจากนั้นนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ที่สำคัญฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่มากับหน้าฝน เช่น ไข้หวัดใหญ่ และปอดอักเสบ เป็นต้น
แอปพลิเคชัน Allergy Care หรือ Asthma Care ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยผู้เขียน ช่วยให้ท่านสามารถประเมินอาการของโรคภูมิแพ้และโรคหอบหืดเบื้องต้นได้
แอปพลิเคชัน Allergy Care จะช่วยประเมินอาการของโรคแพ้อากาศ (จมูกอักเสบภูมิแพ้) โรคลมพิษ และโรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง ช่วยติดตามความรุนแรงของโรค รวมถึงประเมินดัชนีคุณภาพอากาศ เพื่อทำนายว่าอาการที่เกิดขึ้นนั้นสัมพันธ์กับมลพิษหรือไม่
ส่วนแอปพลิเคชัน Asthma Care สำหรับผู้ป่วยโรคหืด จะช่วยประเมินอาการของหืดกำเริบและระดับความรุนแรงของโรค บอกวิธีการดูแลตนเองเบื้องต้น เทคนิคการพ่นยา และช่องทางส่งต่อถึงแพทย์
นอกจากจะสามารถประเมินอาการเบื้องต้นแล้ว แอปพลิเคชันยังมีวิดีโอสอนพ่นยา เนื้อหาเกี่ยวกับโรค คำเตือนการใช้ยา และการนัดพบแพทย์อีกด้วย ท่านสามารถดาวน์โหลดได้ฟรี และติดตั้งได้ทั้งในระบบ iOS และ Android เพื่อรับมือกับโรคภูมิแพ้ที่มาในช่วงหน้าฝนนี้.