'วันสารทจีน' 2566 สิ่งที่ต้องระวังเกี่ยวกับสุขภาพ
'วันสารทจีน' 2566 ตรงกับวันที่ 30 สิงหาคม มีสิ่งที่เกี่ยวกับสุขภาพต้องระวัง ทั้งในส่วนของโรคและภัยสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้น
วันสารทจีน 2566 ตรงกับวันที่ 30 สิงหาคมที่เป็นวันไหว้ โดยตรงกับวันที่ 15 เดือน 7 ตามปฏิทินจีน ส่วนวันจ่าย 29 สิงหาคม ซึ่งสารทจีนถือเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดให้วิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้ และเป็นวันสำคัญที่ลูกหลานชาวจีนจะแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษด้วยพิธีเซ่นไหว้
ข้อห้ามปฏิบัติในวันสารทจีน
- ห้ามแต่งงาน : ชาวไทยเชื้อสายจีนถือเป็นเดือนปล่อยผี เดือนที่ไม่เป็นมงคล
- ห้ามเดินทางไกล : ความเชื่อของชาวจีนเชื่อว่าวันสารทจีนเป็นวันประตูนรกเปิด การออกเดินทางไกลอาจจะทำให้มีโอกาสประสบอุบัติเหตุได้มากกว่าช่วงอื่นๆ
- ห้ามออกจากบ้านช่วงกลางคืน : ความเชื่อเรื่องประตูนรกเปิดในวันสารทจีนว่า วิญญาณของคนตายจะออกมาเดินตามถนนในตอนกลางคืน จึงไม่ควรออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น เพราะอาจพบเจอวิญญาณได้
- ห้ามซื้อบ้านหรือย้ายบ้าน : เพราะเชื่อว่าวิญญาณอาจไปสิงอยู่ในที่เหล่านั้นในขณะที่มันว่างอยู่
- ห้ามเริ่มงานก่อสร้างใดๆ : เพราะเชื่อว่าอาจรบกวนวิญญาณของบรรพบุรุษที่อยู่ที่บ้านได้
- ห้ามดำเนินการเริ่มธุรกิจใดๆ : เพราะมีความเชื่อว่าเป็นเดือนที่มีวันประตูผีเปิด จะทำให้ธุรกิจ กิจการต่างๆไม่ราบรื่น
- ห้ามว่ายน้ำตอนกลางคืน : เพราะเชื่อกันว่าวิญญาณที่จมน้ำตายมักจะออกมาหาตัวตายตัวแทนในช่วงวันสารทจีน
อาหารต้องสะอาด-ปลอดภัย
ทั้งนี้ ในแง่ของสุขภาพแล้ว ช่วงวันสารทจีนมีสิ่งที่ควรต้องระมัดระวังและไม่ประมาท เพราะอาจนำสุขภาพที่ไม่ดีและอันตรายมาสู่ร่างกายได้
การเลือกซื้ออาหารเซ่นไหว้ให้ปลอดภัย ควรเลือกซื้ออาหารจากร้านค้า ตลาด หรือแหล่งจำหน่ายที่สะอาด มีสุขลักษณะที่ดี หรือได้รับการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานราชการ เช่น ตลาดสดที่มีป้ายสัญลักษณ์ ตลาดสด น่าซื้อของกรมอนามัย
ส่วนการเลือกซื้อสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ ต้องสดใหม่ ไม่มีสีคล้ำ ผิวหนังหรือ เครื่องในไม่มีจ้ำเลือด ไม่มีการทาสีตามตัว ไม่มีกลิ่นเหม็น หมูต้องมีสีแดงตามธรรมชาติ เมื่อกดดูเนื้อไม่กระด้าง ไม่มีเม็ดสาคูหรือตัวอ่อนของพยาธิตัวตืด ไข่ไก่และไข่เป็ดควรเลือกฟองที่สดใหม่ เปลือกไข่ไม่แตกหรือบุบร้าว ไม่มีมูลไก่หรือเป็ดติดอยู่ที่เปลือก
เจ้าของฟาร์มหรือผู้จำหน่ายสัตว์ปีก หากสัตว์ที่เลี้ยงไว้มีอาการป่วย เช่น หงอย ซึม ผิวหนังมีสีคล้ำมีจุดเลือดออกตามหน้าแข้ง ให้สงสัยว่าเป็นโรคได้ และห้ามนำมาชำแหละขายโดยเด็ดขาด
ผู้ชำแหละไก่หรือสัตว์ปีกอื่น ควรสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันร่างกาย เช่น พลาสติกหรือผ้ากันเปื้อน ผ้าปิดปาก จมูก ถุงมือ แว่นตา และต้องนำไปซักให้สะอาด ผึ่งกลางแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้อีกครั้ง
วัตถุดิบต่างๆ ก่อนปรุงควรนำมาล้างให้สะอาด โดยเฉพาะผักและผลไม้ ต้องล้างด้วยน้ำสะอาด 2-3 ครั้ง ผักบางชนิด เช่น คะน้า กะหล่ำ ถั่วฝักยาว หากมีคราบขาวจับที่กาบใบหรือฝักมากเกินไปให้ล้างน้ำหลายๆ ครั้ง และคลี่ใบถูหรือล้างด้วยการเปิดน้ำไหลผ่านผักสดอย่างน้อย 2 นาที
การเก็บรักษาวัตถุดิบ ประเภทไก่ หมู จะต้องเก็บในภาชนะที่สะอาดแยกเป็นสัดส่วนเฉพาะ และเก็บไว้ในที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส ส่วนการปรุงประกอบอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ต้องปรุงให้สุกทั่วทั้งชิ้น ด้วยอุณหภูมิไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส เพื่อเป็นการทำลายเชื้อโรคประเภทแบคทีเรีย ไวรัส พยาธิใบไม้ในตับ พยาธิตัวตืดที่อยู่ในเนื้อสัตว์
ก่อนนำมาบริโภคควรอุ่นให้สุกอีกครั้ง ส่วนผู้สัมผัสอาหารจะต้องแต่งกายสะอาด สวมเสื้อมีแขน ใส่ผ้ากันเปื้อนและหมวกหรือเน็ตคลุมผม ล้างมือให้สะอาดด้วยน้ำสบู่ก่อนปรุงอาหารและหลังใช้ห้องน้ำห้องส้วมหรือสัมผัสสิ่งสกปรก ใช้อุปกรณ์ในการหยิบจับหรือตักอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว ใช้ช้อนชิมเฉพาะในการชิมอาหาร
ผู้บริโภคควรเลี่ยงอาหารประเภททอดด้วยน้ำมันมากเกินไป ลดอาหาร หวาน มัน เค็ม เลือกใช้เครื่องปรุงรส เช่น ซีอิ๊ว น้ำตาล น้ำปลาที่มีเครื่องหมาย อย. หรือ มอก.รับรอง
การรับประทานอาหารหลังจากพิธีไหว้แล้ว ขอให้ยึดหลัก “สุก ร้อน สะอาด” คือ รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ปรุงสุกด้วยความร้อน และอุปกรณ์บรรจุทุกชิ้นต้องสะอาด ที่สำคัญต้องแยกรับประทาน ไม่รับประทานร่วมกัน และล้างมือก่อนรับประทานอาหาร
ปริมาณแคลอรีในขนมไหว้เจ้า
ผู้ที่นิยมกินขนมเซ่นไหว้ เช่น ขนมเข่ง ขนมเทียน ซึ่งมีส่วนประกอบหลักเป็นแป้งและน้ำตาล จะต้องจำกัดปริมาณในการกิน เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไป ซึ่งปริมาณแคลอรีในขนมไหว้เจ้าต่างๆ อาทิ
- ขนมเข่ง ชีวิตราบรื่น อุดมสมบูรณ์ 200 kcal / ขนาด 50 – 60 กรัม
- ขนมเทียน รุ่งเรือง สว่างไสวเหมือนแสงเทียน 80 kcal / ขนาด 30 กรัม
- ขนมเปี๊ยะไส้ถั่ว ครอบครัวสามัคคี เป็นสิริมงคล 120 kcal / ขนาดเล็ก 1 ชิ้น
- ขนมปุยฝ้าย ชีวิตเฟื่องฟู เจริญงอกงาม 72 kcal / ขนาดกลาง 1 ชิ้น
- ซาลาเปาหมูสับ-หมูแดง โชคลาภ เงินทอง 190 kcal / ขนาดกลาง 1 ลูก
ป้องกันจากโรคติดต่อ
ช่วงเวลานี้มีโรคติดต่อทางเดินหายใจระบาด อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ โรคโควิด-19 และโรคRSV ซึ่งวันสารทจีนสามารถป้องกันได้ ด้วยการ
- หากผู้สูงอายุต้องไปซื้อของที่ตลาดควรให้ลูกหลานไปแทน โดยเลือกซื้อของไหว้ที่ “สด สะอาด” คือ เลือกบริโภคเนื้อไก่หรือเป็ด และไข่ที่ปรุงสุก สะอาดหากไปตลาดค้าสัตว์ปีก ผู้บริโภคควรเลือกซื้อสัตว์ปีกจากร้านที่สะอาด ปลอดภัย และมีทะเบียนการค้าสัตว์ปีกที่ออกโดยกรมปศุสัตว์
- หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์เจล 70 % ทุกครั้ง ก่อนปรุงประกอบและรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ สัมผัสสิ่งสกปรก หรือหยิบจับสัมผัสสิ่งของต่างๆ โดยเฉพาะหลังจากสัมผัสสัตว์และสารคัดหลั่งของสัตว์ และก้านธูป
- สวมหน้ากากอนามัย 100 %ตลอดเวลา แยกของใช้ส่วนตัว แยกการรับประทาน งดการร่วมวงทานอาหารร่วมกัน แยกแก้วน้ำ รวมทั้งแยกสิ่งของใช้แล้วใส่ถุงขยะ เพื่อป้องกันการนำเชื้อไปสู่คนในครอบครัว
- ควรเว้นการกอดหรือหอมผู้สูงอายุในบ้านโดยตรง ลดการพูดคุยกัน เว้นระยะห่างระหว่างกัน โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว หญิงตั้งครรภ์และเด็ก
ระวังเรื่องจุดประทัด
หากมีการจุดประทัดตามความเชื่อ ต้องไม่จุดใกล้วัตถุไวไฟ หรืออาคารบ้านเรือน ควรเตรียมภาชนะบรรจุน้ำไว้ใกล้บริเวณที่จุดเพื่อใช้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
ห้ามให้เด็กจุดประทัดเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายบาดเจ็บรุนแรงจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
และหากเกิดอุบัติเหตุให้ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยให้รีบห้ามเลือดและใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผลหรือพันผ้าเหนือบาดแผลให้แน่นเพื่อลดการเสียเลือด และรีบโทรแจ้งขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพ โทร. 1669 ทันที
เผากระดาษ-ควันธูปในที่โล่ง
นอกจากนี้ ต้องระมัดระวังการเผากระดาษเงิน กระดาษทอง การจุดธูปเทียน ควรเผากระดาษฯในที่โล่งแจ้ง เผาทีละน้อยๆ และอยู่เหนือลม ป้องกันการสูดไอระเหยของสารพิษ เป็นอันตรายต่อสุขภาพต่อผู้จุดหรือผู้เผารวมถึงผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง
ควันจากการเผาไหม้อาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตาและระบบทางเดินหายใจ ส่วนธูปแนะนำให้ใช้ชนิดสั้น เพื่อลดควัน และระยะเวลาเผาไหม้ ควรจุดในที่อากาศถ่ายเท หลีกเลี่ยงปักธูปลงบนอาหารที่ไหว้ เนื่องจากสารเคมีที่เคลือบก้านธูป จะปนเปื้อนในอาหาร อาจเป็นอันตรายเมื่อรับประทานอาหารเข้าไป
ห้องที่ทำพิธีไหว้ ให้เปิดพัดลมเพื่อช่วยระบายอากาศหรือควันธูปเทียน และให้หลีกเลี่ยงการพักผ่อนนอนหลับในห้องและบริเวณที่จัดพิธี และเมื่อธูปเทียนดับแล้วควรทิ้งเวลาสักระยะหนึ่งก่อนเข้าไปใช้ห้องหรือบริเวณดังกล่าว
อ้างอิง :กรมอนามัย ,กรมควบคุมโรค ,คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล