'การนอน' สำคัญอย่างไร ทำไมแม้แต่ 'หมอ' ก็ไม่ควรละเลย
รพ.เมดพาร์ค อาสาดูแลหมอ โครงการ 'หลับดี มีคุณภาพ Save Doctors’ Sleep Quality' ตรวจสุขภาพการนอนแก่แพทย์ทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ยกระดับคุณภาพชีวิตของบุคลากรแพทย์ให้ดีขึ้น
Key Point :
- 'การนอน' เป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกคน การนอนที่ไม่มีคุณภาพ จะส่งผลเสียต่อร่างกาย และภาวะที่พบมาก คือ ภาวะหยุดหลายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ประชากรทั่วโลกป่วยด้วยภาวะนี้ประมาณ 1 พันล้านคน
- ขณะเดียวกัน แพทย์ เป็นอาชีพที่ต้องมีความรับผิดชอบสูง ไทยมีสัดส่วนแพทย์ 5 คน ต่อประชากรราว 10,000 คน ดังนั้น การพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจส่งผลกระทบต่อการทํางานที่ต้องต้องใช้ความแม่นยำ
- รพ.เมดพาร์ค อาสาดูแลหมอ 'หลับดี มีคุณภาพ Save Doctors’ Sleep Quality' ตรวจสุขภาพการนอนแก่แพทย์ทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
แพทย์ เป็นบุคลากรที่สำคัญต่อการดูแลคุณภาพชีวิตของประชากรไทย ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ในปี 2564 ไทยมีแพทย์ 38,820 คน คิดเป็นสัดส่วน 1 ต่อประชากร 1,680 คน ทำให้ภาระหน้าที่ของแพทย์มากขึ้น อีกทั้ง หากมีปัญหาการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคนอนไม่หลับ และไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที อาจทำให้เกิดโรคอื่นๆ ที่มีความรุนแรงสูงสุดถึงขั้นเสียชีวิตได้
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OBSTRUCTIVE SLEEP APNEA: OSA) เป็นเรื่องที่มีการกล่าวถึงกันมากในปัจจุบันเนื่องจากผลร้ายต่อสุขภาพที่ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากนัก จากสถิติของสมาคมโรคจากการหลับแห่งประเทศไทยปี 2563 ประชากรไทยเกือบ 20% มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น และประชากรทั่วโลกป่วยด้วยภาวะนี้ประมาณ 1 พันล้านคนหรือประมาณ 14% ของประชากรทั้งโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- นอนหลับยาก หลับไม่สนิท อาการแบบไหนเข้าข่าย? 'โรคนอนไม่หลับ'
- ‘นอนไม่หลับ’ คืนวันอาทิตย์ เพราะเกลียดวันจันทร์ ทำไมวัยทำงานเป็นกันเยอะ?
- “นอนไม่หลับ” ภัยร้ายใกล้ตัวกว่าที่คิด เสี่ยงอันตรายถึงสมอง
ล่าสุด โรงพยาบาลเมดพาร์ค สานต่อโครงการเพื่อสังคม Save Doctor Save People Save Thailand ปีที่ 3 ภายใต้โครงการเมดพาร์คอาสาดูแลหมอ 'หลับดี มีคุณภาพ Save Doctors’ Sleep Quality' ตอกย้ำการดูแลสุขภาพของแพทย์ไทย เพื่อให้แพทย์ดูแลรักษาประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการตรวจสุขภาพการนอนแก่แพทย์ทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยแพทย์ที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับการตรวจวินิจฉัย คัดกรอง เพื่อค้นหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ และอาการอื่นๆ หากพบปัญหา จะให้คำแนะนำเพื่อทำการรักษาต่อไป
นพ.จิรยศ จินตนาดิลก แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์การนอนหลับ คลินิกเวชศาสตร์การนอนหลับ โรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า ปัญหาการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคนอนไม่หลับ ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เกิดโรคอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงสูงถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น โรคหัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น คนที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง 50% เป็นโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น
นอกจากนี้ ความอ่อนเพลียในตอนกลางวันอันเป็นผลมาจากการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ หรือไม่มีคุณภาพ อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานที่ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้อื่นของแพทย์ รวมทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุขณะทำงาน หรือขณะขับรถได้อีกด้วย
อดนอนส่งผลกระทบต่อร่างกาย
นพ.จิรยศ กล่าวต่อไปว่า การนอนและการตื่นทำงานร่วมกันตลอดเวลา การนอนที่ดี จะช่วยให้วันต่อไปมีประสิทธิภาพในการทำงาน สุขภาพระยะยาวดีขึ้น การที่ทำให้สองสิ่งนี้เกิดขึ้น คือ ต้องมีการนอนที่มีคุณภาพ การนอนที่มีเวลาเพียงพอ 6-8 ชั่วโมง โดยกลุ่มคนไข้ที่มีปัญหาการนอนหลับ สุดท้าย คือ จะลงท้ายด้วยภาวะการอดนอน
ทั้งนี้ การเปลี่ยนเวลานอน นอนหลับไม่สนิท ทำให้เกิดภาวะอดนอน โดยผลข้างเคียงจากการอดนอนนั้น มีผลต่อทุกๆ ระบบในร่างกาย ทำให้เกิดความแปรปรวนในระบบต่างๆ ตั้งแต่หัวจรดเท้า สมองคิดช้า ความจำเสื่อม เป็นโรคจิตเวช ติดเชื้อง่าย หัวใจ ความดันโลหิต น้ำหนักเพิ่ม เบาหวาน เป็นต้น
ผลของการอดนอน 24 ชั่วโมง เท่ากับ 0.1% แอลกอฮอล์ 36 ชั่วโมง หลับใน มีผลกับความจำ และหากอดนอน 48 ชั่วโมง ส่งผลให้มีอาการหลอนได้ นอกจากนี้ มีการประมาณการณ์ว่าทั่วโลกราว 1,000 ล้านคน มีปัญหาภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ดังนั้น การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสร้างความแข็งแรงกระฉับกระเฉงของทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อความพร้อมต่อการทำหน้าที่อย่างยาวนานและยั่งยืน
“โดยทั่วไปแพทย์เป็นอาชีพที่มีเวลาพักผ่อนไม่เพียงพออยู่แล้ว หากมีปัญหาการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคนอนไม่หลับ ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทําให้เกิดโรคอื่น ๆ ที่มีความรุนแรงสูงสุดถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น โรคหัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูง เป็นต้น การตรวจคุณภาพการนอนหลับจึงเป็นเหมือนการตรวจวินิจฉัยเพื่อป้องกันการเป็นโรคอันตรายที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้ ความอ่อนเพลียในตอนกลางวันอันเป็นผลมาจากการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ หรือไม่มีประสิทธิภาพ อาจส่งผลกระทบต่อการทํางานที่ต้องรับผิดชอบชีวิตผู้อื่นของแพทย์ เพราะแพทย์เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความแม่นยำและประสิทธิภาพ โครงการนี้จึงมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของบุคลากรแพทย์ให้ดีขึ้น” นพ.จิรยศ กล่าว
ดูแลแพทย์ไทยทั่วประเทศ
ด้าน นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค กล่าวว่า การมีส่วนร่วมในการทำประโยชน์ให้สังคมเป็นสิ่งที่เมดพาร์คได้วางแนวทางไว้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ในฐานะโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง สิ่งที่องค์กรของเราทำได้คือการอาสาเข้าไปดูแลหมอ เพื่อให้หมอสามารถดูแลประชาชนต่อไปอีกนับไม่ถ้วน จึงเป็นที่มาของโครงการเพื่อสังคมที่เราตั้งใจทำมาตลอดสามปีตั้งแต่โรงพยาบาลเปิดดำเนินการ โดยแพทย์เป็นอาชีพที่ทำงานหนัก มีเวลาพักผ่อนน้อย ดังนั้นการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ จึงทำให้แพทย์ปฏิบัติหน้าที่รักษาผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของโครงการตรวจการนอนหลับให้แพทย์ทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่ายในปีนี้ เชื่อว่าการที่ทำให้แพทย์สุขภาพดี 1 คน จะช่วยผู้ป่วยได้มากกว่า 10,000 คน
สำหรับโครงการ 'หลับดี มีคุณภาพ Save Doctors’ Sleep Quality' กลุ่มเป้าหมาย คือ แพทย์สัญชาติไทยอายุ 30 – 75 ปี ในทุกสาขาทั่วประเทศ ที่ยังปฏิบัติงานทางการแพทย์อยู่ และไม่มีประวัติการตรวจปัญหาการนอนหลับมาก่อน ตั้งเป้าอย่างน้อย 300 คนในสิ้นปีนี้ แพทย์ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดได้ที่ คลิก ตั้งแต่วันที่ 24 กันยายน - 31 ธันวาคม 2566